งานอะไร ดีกับหัวใจ


ผู้เขียนมีเพื่อนเรียนบาลีด้วยกันที่วัดท่ามะโอ ท่านบอกว่า ท่านไม่ได้ทำงาน เทวดาเลี้ยง...

ผู้เขียนมีเพื่อนเรียนบาลีด้วยกันที่วัดท่ามะโอ ท่านบอกว่า ท่านไม่ได้ทำงาน เทวดาเลี้ยง พูดไปยิ้มไป ถามไถ่ไม่นานได้ความว่า สามีเลี้ยง

ท่านบอกว่า เคารพสามีเหมือนเทวดาในบ้าน ผู้หญิงท่านใดได้งานแบบนี้คงจะเป็นผลดีกับหัวใจ

เราๆ ท่านๆ ที่ต้องทำงานเลี้ยงชีวิตเป็นส่วนใหญ่คงจะสงสัยว่า งานที่เราทำอยู่มีผลดีหรือมีผลเสียกับหัวใจ

วันนี้เรามีข่าวดีครับ... มูลนิธิโรคหัวใจและอัมพาต-อัมพฤกษ์ แคนาดามีข้อมูลเกี่ยวกับงาน และโรคหัวใจ พร้อมมีคำแนะนำดีๆ ที่นำไปใช้การได้จริง

ความเครียดก็คล้ายกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตที่ว่า ทางสายกลางดีที่สุด มากไปหรือน้อยไปก็ไม่ดี (ความเครียด)น้อยไปงานไม่เดิน (ความเครียด)มากไปไม่ดีกับคนทำงาน ผลกระทบแบบนี้คล้ายเส้นโค้งรูประฆังคว่ำ

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ความเครียดที่มากเกินอาจทำให้ไขมันในเลือด(โคเลสเตอรอล)สูงขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น เกล็ดเลือดมีแนวโน้มจะจับตัวเป็นลิ่มเลือดเพิ่มขึ้น

 

ผลสุดท้ายคือ ความเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือดจะเพิ่มขึ้น

งานวิจัยแสดงว่า การมีเจ้านายไม่ยุติธรรม (unfair boss) การทำงานระดับล่าง (low-level job) การทำงานไปหงุดหงิดไป หรือทำงานไปโกรธไป (anger on the job) การทำงานเป็นผลัด (shift work) และการทำงานล่วงเวลา (overtime) ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น

(1). การมีเจ้านายไม่ยุติธรรม:                              

การศึกษาในสหราชอาณาจักร(หมู่เกาะอังกฤษ)ปี 2546 ได้ทำการศึกษาการทำงานของผู้ช่วยงานสุขภาพผู้หญิง (female healthcare assistants)

บุคลากรเหล่านี้ในเมืองไทยคือ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ (nurse aids) หรือที่เรียกกันว่า “ชุดเหลือง” เมื่อให้ไปทำงานกับเจ้านาย 2 ท่าน ท่านหนึ่งเป็นคนยุติธรรม อีกท่านหนึ่งไม่ยุติธรรม(ลำเอียง)พบว่า ผู้ช่วยเหลือคนไข้ที่ไปทำงานกับเจ้านายไม่ยุติธรรมมีความดันเลือดสูงขึ้น

(2). การทำงานระดับล่าง:                                  

  • การศึกษาข้าราชการพลเรือนในลอนดอนนานกว่า 10 ปีพบว่า ข้าราชการระดับล่างสุดเป็นโรคหัวใจมากขึ้น เช่น คนที่เดินหนังสือมีอัตราตายจากโรคหัวใจเพิ่มเป็น 3 เท่าของผู้บริหาร ฯลฯ

(3). การทำงานเป็นผลัด:                                   

  • คนที่ทำงานผลัดบ่าย-ดึกมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง โรคทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น และมีความเครียดจากงานเพิ่มขึ้น คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะสูบบุหรี่ กินเหล้า และมีแบบแผน(อนามัย)ในการกินอาหารที่แย่ลง เช่น กินอาหารมันเพิ่มขึ้น ฯลฯ

(4). ขาดการชื่นชม:                                          

  • การศึกษาคนงานอุตสาหกรรมโลหะในฟินแลนด์ 812 คนทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีสุขภาพดี และติดตามไปนาน
  • ผลการศึกษาพบว่า ความเครียดจากการทำงาน และการขาดความชื่นชม (appreciation) ทำให้อัตราตายจากโรคหัวใจขาดเลือดและอัมพฤกษ์-อัมพาตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
  • นอกจากนั้นยังมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และไขมันในเลือด(โคเลสเตอรอล)เพิ่มขึ้นด้วย

(5). ทำงานไปหงุดหงิดไป:                                    

  • คนที่ทำงานไปหงุดหงิดไป หรือทำงานไปโกรธไปแบบ Two-in-one” คล้ายแชมพูผสมครีมนวดผมในขวดเดียวกัน ทำให้ร่างกายแปรปรวนไปด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเพิ่มขึ้น
  • นอกจากนั้นคนที่หงุดหงิดง่ายยังมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น สูบบุหรี่มากขึ้น ดื่มเหล้ามากขึ้น กินมากขึ้น ฯลฯ

คำแนะนำ:                                                      

อาจารย์นายแพทย์เบรียน เบเคอร์ โฆษกมูลนิธิโรคหัวใจและอัมพาต-อัมพฤกษ์แคนาดาตลอดจนอาจารย์ประจำทีมงานมูลนิธิฯ หลายท่านแนะนำให้คนที่มีความเสี่ยงจากงานหาทางปรับตัวดังต่อไปนี้...

(1). เปลี่ยนงาน หรือปรึกษาเจ้านาย:                     

การเปลี่ยนงาน หรือเรียนปรึกษาท่านเพื่อขอลดความคาดหวังที่มากเกินลง

คำแนะนำนี้ก็คล้ายกับคำแนะนำในเรื่องอื่นๆ ของชีวิตที่ว่า “พูดง่าย ทำยาก” ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจ เพราะยังมีคำแนะนำข้ออื่นอีก...

(2). ฝึกเทคนิคคลายเครียด:                                

ลองฝึกเทคนิคคลายเครียดดู เช่น ฝึกหายใจลึกๆ อย่างน้อยวันละ 20 นาที หายใจเข้าช้าๆ หายใจออกช้าๆ โดยเฉพาะก่อนนอน ฝึกโยคะ ออกกำลังกาย (เช่น เดินเร็ววันละ 30 นาที) ฯลฯ

(3). ลดชา กาแฟ:                                             

ลดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนนอน 4 ชั่วโมงควรงดเด็ดขาด เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับ

(4). กินข้าวเช้า-ข้าวเที่ยง:                                  

มื้อเช้าเป็นมื้อแห่งกำลังวังชา ช่วยให้มีเรี่ยวแรงเล่าเรียน หรือทำงานไปได้ครึ่งวัน

มื้อเที่ยงควรเป็นมื้อแห่งการพักครึ่ง ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการทำงานครึ่งเช้า หรือครึ่งแรกของงาน นอกจากนั้นยังเป็นมื้อแห่งมิตรภาพที่เราจะมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนที่รู้ใจ

ถ้าเป็นไปได้... อาจารย์ท่านแนะนำให้ลองกินข้าวนอกที่ทำงานบ้าง จะได้เปลี่ยนบรรยากาศไปในตัว

(5). ทำสวน:                                                   

การทำสวนช่วยให้เราได้สัมผัสกับมิตรภาพจากธรรมชาติ ได้ชื่นชมแมกไม้ที่เติบโต และได้สัมผัสกับความงดงามของฤดูกาล

การทำสวนง่ายๆ อาจจะเริ่มต้นที่ไม้กระถางสัก 1-3 ต้น ซึ่งจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานก็ได้

(6). ทำงานอาสาสมัคร:                                     

การบริจาคเงินหรือสินทรัพย์ให้ส่วนรวมเป็นเรื่องดี ทว่า... การทำงานอาสาสมัคร ทำประโยชน์ให้สาธารณะ(ส่วนรวม)มีผลดีในอีกหลายมิติ เช่น ทำให้เรารู้สึกดี(ชื่นชม)กับตัวเอง ฯลฯ

การทำงานอาสาสมัครเปิดโอกาสให้เราได้เข้าร่วม “สังคมของคนดี” สังคมที่มีจิตอาสา(สมัคร) และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

งานอย่างนี้ทำให้เรามีจิตใจใหญ่ขึ้น ขยายจากเดิม... คิดหมกมุ่นคับแคบเฉพาะตัว เป็นจิตใจที่ใหญ่ขึ้น รู้จักให้และแบ่งปัน

(7). พักร้อน:                                                    

การทำงานเครียดๆ และไม่พักร้อนเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เราน่าจะมีโครงการพักร้อนดีๆ อย่างน้อยปีละครั้ง

คำแนะนำจากผู้เขียน:                                          

ผู้เขียนมีประสบการณ์ฟังแท็กซี่ท่านหนึ่งบ่นให้ฟังว่า ชีวิตเขาเป็นชีวิตคนขับแท็กซี่ ไม่เคยมีใครชมเลย ไม่เหมือนอาชีพอื่น

ก่อนอธิบายเรื่องนี้ผู้เขียนได้พิจารณาศีล ธาตุ อัธยาศัยของคนถามว่า บุคคลนี้ควรแก่การแสดงข้อคิดหรือไม่

เมื่อพิจารณาแล้วว่า บุคคลนี้เป็นบุคคลที่ควรแก่การแนะนำ จึงน้อมไปที่จะกล่าวข้อคิดต่อ...

ผู้เขียนบอกเขาไปว่า อาชีพบางอาชีพก็ไม่ค่อยมีคนชมตามธรรมชาติ นอกจากนั้นถ้ามีอะไรผิดพลาดก็จะถูกต่อว่าได้ง่าย นี่เป็นธรรมชาติของอาชีพบางสาขา

ตัวอย่างเช่น เช้าขึ้นมา... เราใช้น้ำประปา ส่วนใหญ่เราจะไม่ชมคนที่ทำงานประปา แต่ถ้าน้ำประปาไม่ไหล เรามักจะต่อว่า

ธรรมชาติของงานประเภทนี้เป็นงานประเภทเสมอตัวกับติดลบ ทำดีก็ไม่มีใครชม ทำพลาดก็ถูกบ่นหรือต่อว่า

การขับแท็กซี่ก็คล้ายกัน ถ้าไม่มีใครชม เราควรทำหน้าที่ของเราให้ดี เช่น ขับรถให้สุภาพ ปลอดภัย ทำให้ผู้โดยสารสะดวกสบายจนถึงที่หมาย ฯลฯ

คนขับแท็กซี่ไม่ควรคาดหวังว่า ผู้โดยสารจะชมเชยอะไรเรา เพราะธรรมชาติของผู้โดยสารส่วนใหญ่จะไม่ชมคนขับรถ

เราควรหัดชมตัวเราเองทุกวันว่า วันนี้เราขับรถดี สุภาพ ปลอดภัย และทำให้ผู้โดยสารสะดวกสบายจนถึงที่หมาย ชมตัวเองในที่นี้ให้ชมในใจ ไม่ได้ไปประกาศ หรือไปอวดคนอื่น

ภารกิจของเรา... เราได้ทำดีที่สุดแล้ว เราขอชมเชยตนเอง หัดชมตัวเองให้ได้บ่อยๆ

ถ้าทำดีอย่างนี้ได้ทุกวัน ชื่นชมตัวเองให้ได้ทุกวัน คนอื่นจะชมหรือไม่ชมก็คงไม่ลำบากใจอะไรนัก

ทีนี้ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์... เราควรน้อมไปที่จะเป็นคนเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง ชมเชยลูกน้อง หรือลูกศิษย์ในความดีที่มีจริงให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

การชมลูกศิษย์ ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจลูกน้องหรือลูกศิษย์

อาจารย์บุญ นพสมบูรณ์ อาจารย์บาลีที่วัดท่ามะโอกล่าวถึงความดีของท่านพระอาจารย์ใหญ่(ภัตทันตะ ธัมมานันทะ ธัมมาจาริยะ มหาเถระ อัครมหาบัณฑิต – ชื่อยาว เนื่องจากมีสมณศักดิ์พม่า)ว่า ใครทำดีท่านจะแสดงความชื่นชมด้วยการกล่าวสาธุการ 3 ครั้ง

เมื่อวานนี้หมู่นักเรียนชวนกันนำดอกมะลิไปถวายท่านพระอาจารย์ใหญ่ ท่านถามว่า เรียนอะไรกันบ้าง

ท่านพระอาจารย์ใหญ่กล่าวสาธุการคนที่เรียนทั้งพระอภิธรรมและบาลีว่า “สาธุ สาธุ สาธุ” 3 ครั้งอย่างชัดถ้อยชัดคำ

อักขระบาลีชัดราวกับเสียงบวชพระบวชเณรทีเดียว ใครมีเป็นลูกศิษย์ท่าน และได้ฟังเสียงสาธุการเช่นนี้คงจะปลื้มใจไปนานทีเดียว

ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพดี ได้งานดี มีเจ้านายดี มีคนชื่นชม...

 

ถ้าไม่ได้งานดี และไม่ได้เจ้านายดี(เลว เลวยิ่งกว่า หรือเลวที่สุดก็แล้วแต่)อะไรสักอย่างก็ขอให้ทำส่วนของเราให้ดีที่สุด และหัดชื่นชมความดีของเราให้ได้ทุกวันครับ...

แหล่งข้อมูล:                                                           

Sources (from ww2.heartandstroke.ca)            

      1. S Sauter, L Murphy, M Colligan et al. Stress at Work. The National Institute for Occupational Safety and Health Working Group 1999; Publication No. 99-101.
      2. N Wager, G Fieldman, T Hussey. The effect on ambulatory blood pressure of working under favourably and unfavourably perceived supervisors. Occupational and Environmental Medicine 2003;60:468-474.
      3. M Shields. The health of Canada’s shift workers. Canadian Social Trends 2003;69.
      4. M Marmot, H Hemingway, A Nicholson, et al. Low job control and risk of coronary heart disease in Whitehall II (prospective cohort) study. British Medical Journal 1997;314:558
      5. M Kivimaki, P Leino-Arjas, R Luukkonen, et al. Work stress and risk of cardiovascular mortality: prospective cohort study of industrial employees. British Medical Journal 2002;325:857-860.
      6. S Sauter, L Murphy, M Colligan et al. Stress at Work. The National Institute for Occupational Safety and Health Working Group 1999; Publication No. 99-101.
      7. S Sauter, L Murphy, M Colligan et al. Stress at Work. The National Institute for Occupational Safety and Health Working Group 1999; Publication No. 99-101.
หมายเลขบันทึก: 22334เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2006 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ดีจัง ได้รู้ว่าความเครียดที่มาจากเจ้านายมีความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ...อาจพูดติดตลกว่า บางครั้งเราคงต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง ทำงานให้เต็มที่และยอมรับความคิดเห็นแต่ต้องถูกต้องด้วย บางครั้งก็ไม่ต้องสนใจมากเพื่อความสบายใจ ไม่เครียด เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจทีเดียว  สำหรับการนำไปปรับใช้ตามที่คุณหมอบอกนั้นมีบางข้อที่ทำอยู่เช่น เทคนิคการคลายเครียด เป็นคนที่เล่นโยคะประจำคะ  และไม่ดื่มชากาแฟอยู่แล้ว สำหรับการพักร้อน คงพักแค่สุดสัปดาห์ แต่คงได้ไปสูดอากาศบริสุทิ์ที่ต่างจังหวัดบ้าง ก็คงดี ขอบคุณบทความดีๆ ของคุณหมอ
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์จ๊ะจ๋า และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • การวิจัยทำนองนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องที่แสดงโทษของความลำเอียง(อคติ) และความมักโกรธ
  • เรื่องที่ผมชอบที่สุดในบทความนี้คือ คนที่ขาดคำชมก็มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
  • พออ่านแล้ว... ตั้งใจจะชมคนอื่นให้มากขึ้น เพื่อป้องกันโรคหัวใจทั้งตัวเรา และคนรอบข้าง
  • ขอให้อาจารย์และท่านผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพหัวใจดี จะได้ทำดีไปนานๆ ครับ

ถ้ารู้จัก "ปล่อยวาง" จะลดความเครียดได้เยอะเลยครับ ผมโชคดีที่สมัยเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่เปิดพระธรรมเทศนาให้ฟังเป็นประจำ อยากให้ลองหัดปล่อยวางดูครับ อย่ายึดติดตัวกูของกู เหมือนที่ พระท่านสอน แล้วจะรู้สึกสบายครับ

คุณหมอวัลลภหรือใครกันครับที่เรียนบาลี คุณพ่อผมก็เรียนบาลีด้วยตัวเองอยุ่ครับ

หนังสือแนะนำ

Science of Breath (สำหรับคนรักสุขภาพครับ)

Ten Jakata Stories : A Pali reading (สำหรับผู้สนใจบาลีครับ)

 

 

วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • 1). เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ว่า ถ้ารู้จักปล่อยวางแล้วจะสบายขึ้นมาก...
  • 2). ผมเพิ่งเริ่มเรียนบาลีครับ วัดท่ามะโอเปิดสอนฆราวาสเป็นรุ่นที่ 2 ขอแสดงความเคารพคุณพ่ออาจารย์ที่เรียนบาลีมาก่อน และขอขอบคุณรายการหนังสือแนะนำ...
  • 3). หนังสือแนะนำน่าสนใจมาก ตอนนี้ทั่วโลกสนใจเรื่องการหายใจช้าๆ ลึกๆ กันมาก มีคนนำไปทำเครื่องลดความดันเลือดขาย (www.resperate.com) ถ้าหายใจช้าๆ ลึกๆ เช่น น้อยกว่า 6-8 ครั้ง/นาที จะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นได้ทันที
  • ขอให้อาจารย์เปมิช ท่านผู้แสดงข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพดี มีเจ้านายเที่ยงธรรม และมีความสุขในการทำงาน จะได้มีสุขภาพหัวใจดี ทำงานให้กับส่วนรวมได้นานๆ...

"ท่านพระอาจารย์ใหญ่กล่าวสาธุการคนที่เรียนทั้งพระอภิธรรมและบาลีว่า “สาธุ สาธุ สาธุ” 3 ครั้งอย่างชัดถ้อยชัดคำ"

รบกวนเรียนถามคุณหมอว่า

ทำไมต้อง 3 ครั้งครับ 

 

ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช...                   

  • ท่านพระธัมมานันทะ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต (= สมณศักดิ์พม่า) เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ลำปางกล่าวไว้ในหนังสือ "นานาวินิจฉัย" และท่านให้ให้โอวาทนักเรียนไว้อย่างนี้...

(1). เป็นธรรมเนียมมาแต่พุทธกาลว่า การกล่าวสาธุการ ให้กล่าว 2-3 ครั้ง คล้ายกับการแสดงไตรสรณคมน์ (= เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)

(2). การกล่าวชมเป็นบุญกิริยาวัตถุ มีวัตถุประสงค์เพื่อขัดเกลาวัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่คำสรรเสริญ) ซึ่งเป็นอกุศลสายโลภะ (โลภ = อยากได้ มักมาก หวงแหน ฯลฯ)

การกล่าว 2-3 ครั้ง เพื่อยืนยันเจตนาให้เป็นพหุลกรรม  (= ทำซ้ำหลายครั้ง ต่างวาระ) ให้มีผลมากขึ้น มีอานิสงส์ (= กำไร เป็นบุญ เป็นอุปนิสัยที่ดี) หลายครั้งจะมีผลมากกว่าทำครั้งเดียว

  • คนในอินเดียมีการกล่าวสาธุเหมือนกัน เช่น ขอทานกล่าวขอบคุณคนให้ทาน ฯลฯ นิยมกล่าวครั้งเดียว ฟังดูไม่ดีเท่า 3 ครั้ง

หลวงพ่อวัดท่ามะโอท่านสอนบาลีแบบพม่ามานานแล้ว เข้มงวดมาก

ทว่า... ถ้าใครทำดีจะกล่าวสาธุการทันที เช่น ถ้าสามเณรเรียนบาลี ท่องได้ถูกต้อง ท่านจะกล่าวสาธุดังๆ "สาธุ สาธุ สาธุ" ทำให้สามเณรที่นั่นปรารถนาจะได้สาธุการมากๆ ขยันกันมาก

  • ลูกศิษย์หลวงพ่อหลายรูปไปเรียนต่อที่พม่า สอบได้ธัมมาจริยะเทียบเท่าเปรียญธรรม 9 ประโยคของไทยทั้งๆ ที่ต้องสอบเป็นบาลี และภาษาพม่า

ลูกศิษย์หลวงพ่อรูปหนึ่งคือ ท่านพระคันธสาราภิวงศ์(ท่านพระอาจารย์สมลักษณ์)สอบธัมมาจริยะได้ที่ 1 ของจังหวัดแปร(พม่า) และสอบพระไตรปิฎกชั้นสูง (postgraduate) หรืออภิวังสะของพม่าได้ที่ 2

  • ท่านพระจนกะ (บาลี = ชนก / ออกเสียงแบบพม่า = จะนะกะ) พระภิกษุชาวพม่ากล่าวว่า วงสะ(ออกเสียงบาลี = อภิวังสะ)ของพม่าสอบยากมาก พระพม่าทั้งประเทศสอบได้เพียงปีละ 2-3 รูป

คนที่เป็นครูบาอาจารย์นั้น... ถ้าไม่ตระหนี่คำชม (วัณณมัจฉริยะ) แล้ว จะมีส่วนช่วยให้ลูกศิษย์ที่ "ดีได้" มีส่วนแห่งความ "ได้ดี" ในระยะยาว

  • สัปดาห์ก่อนผมรู้สึกท้อแท้มาก... ช่วงนี้เริ่มเรียน "นามกัณฑ์" ที่ต้องท่องมาก อยากจะไปบอกครูบาอาจารย์(อาจารย์ที่สอนเป็นอดีตพระที่ลาสิกขาบทแล้ว)ว่า ขอเลิกเรียน
  • วันอาทิตย์ที่ผ่านมา... อาจารย์ท่านกล่าวชมนักเรียนในชั้นว่า สาธุ สาธุ สาธุ 3 ครั้ง ชัดถ้อยชัดคำ... เลยไม่กล้าบอกขอเลิกเรียนเลย

ขอกล่าวสาธุ สาธุ สาธุให้กับความใฝ่รู้ของอาจารย์เปมิช

  • ขอให้อาจารย์มีความเจริญในกุศลธรรมทุกๆ ประการ...
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท