คนอ้วนควรระวังหวัด2009 มากเป็นพิเศษ


 

...

คนอ้วนที่มีสุขภาพดีอาจมีความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากโรคหวัด 2009 มากขึ้น ซึ่งทางที่ดี คือ ต้องพกสบู่ ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ พกเจลแอลกอฮอล์ไว้ถูมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไม่เข้าห้องแอร์ และอยู่ห่างคนไอ-จามอย่างน้อย 2 เมตร

การไอแพร่เชื้อในอากาศได้ทันที 6 ฟุตหรือ 1.8 เมตร และจะแพร่เชื้อได้น้อยลงมากถ้าคนที่ไอหรือจามใช้หน้ากาก ผ้าปิดปาก-จมูก ใช้ท่อนแขน หรือกระดาษทิชชูปิดปาก-จมูก

...

อ.ดร.เลนา นาโปลิตาโน และคณะ แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมิชิแกน ทำในคนไข้ 10 รายที่ป่วยหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต 3 ราย

คนไข้อาการหนักมักจะพบในคนอ้วน คือ 9 รายอ้วน (BMI > 30), 7 รายอ้วนมาก (BMI > 40), และ 2 ใน 3 ที่เสียชีวิตก็อ้วน (BMI = ดัชนีมวลกาย หรือ body mass index = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร 2 ครั้ง)

อ.ดร.ทิม อูเยกิกล่าวว่า คนไข้ที่อาการหนัก 5 รายมีลิ่มเลือดอุดตันในปอด ซึ่งไม่เคยพบในโรคไข้หวัดใหญ่แบบอื่นๆ มาก่อน

สาเหตุสำคัญของการเกิดลิ่มเลือดในปอดส่วนใหญ่มาจากเส้นเลือดดำอุดตันที่ขา โดยเฉพาะที่น่องจากการขาดน้ำ(ดื่มน้ำไม่พอ), นั่งๆ นอนๆ นาน, เดินทางไกล, หรือไม่สบาย

...

คนไข้อาการหนัก 9 รายมีปัญหาอวัยวะล้มเหลวพร้อมกันหลายๆ อย่าง ซึ่งพบได้ในคนป่วยไข้หวัดใหญ่ แต่การพบคนอ้วนอาการหนัก, 5 รายมีลิ่มเลือดอุดตันในปอด, 6 รายไตวายนี่ "ไม่ธรรมดา"

ไม่มีคนไข้รายใดฟื้นตัวเป็นปกติได้เลย

ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก, ไข้หวัดหมู (H1N1 swine flu), หรือหวัด 2009 (โรคเดียวกัน) เริ่มระบาดในเม็กซิโกครั้งแรกในเดือนมีนาคม กระจายไปสหรัฐฯ ปลายเดือนเมษายน และกระจายไปทั่วโลกในเดือนมิถุนายน

คนส่วนใหญ่มีอาการเบาๆ สบายๆ คล้ายไข้หวัด และอาจมีอาการทางเดินอาหาร ซึ่งไม่ค่อยพบในไข้หวัดกลุ่มอื่นๆ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ

... 

โอกาสเสียชีวิตใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ทั่วไป คือ ประมาณ 1 ในพัน หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย (2-4 ในพัน)

กลุ่มคนที่เสี่ยงอันตรายมากเป็นพิเศษได้แก่ เด็กเล็ก คนสูงอายุ คนที่มีโรคเรื้อรัง ภูมิต้านทานต่ำ เช่น เอดส์ มะเร็ง ฯลฯ

...

คนทั่วโลกเสียชีวิตจากหวัด 2009 เกือบ 500 ราย ในจำนวนนี้คนสหรัฐฯ ตายไปกว่า 200 คน ซึ่งอาจเป็นผลจากการแพร่กระจายได้ง่าย และเร็วในห้องแอร์ ขนส่งมวลชนติดแอร์ ที่ที่มีคนหนาแน่น หรือคนไม่ล้างมือ

การสวมหน้ากากหรือผ้าปิดปาก-จมูกทั่วไปไม่ช่วยป้องกันการติดหวัด แต่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อหวัดจากคนไข้ไปยังคนรอบข้างได้ดีมาก [ หน้ากากป้องกันหวัดได้หรือไม่ ]

...

การล้างมือด้วยสบู่ การถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การหลีกเลี่ยงไม่เข้าห้องแอร์ ไม่ไปในที่ที่คนชุมนุมกันหนาแน่น นอนให้พอ นอนไม่ดึก ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มหนัก (แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดภูมิต้านทานโรคให้ต่ำลง) เป็นมาตรการหลักในการป้องกันหวัด 2009

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ > แนะนำให้อ่าน [ หน้ากากป้องกันหวัดได้หรือไม่ ]

... 

 > Thank Reuters

ที่มา                                                                      

  • Thank Reuters > Maggie Fox. Mohammad Zargham ed. Obesity emerges as risk factor in severe flu. July 2009. / Source > Advance in the Centers for Disease Control and Prevention's weekly report on death and disease.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >  > 12 กรกฎาคม 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 275921เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2009 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีคะ
  • ข้อมูลดีๆ แบบนี้ ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อนะคะ
  • *_*
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท