ผู้เชี่ยวชาญแนะ วิธีฮึดสู้ฟัดหวัด2009


เดลินิวส์ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2552 ตีพิมพ์เรื่อง [ ไวรัส'ไข้หวัดใหญ่ 2009'อยู่ไม่ไกลตัวท่าน ] ต้นฉบับเขียนโดยอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง [ เดลินิวส์ ]

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากบทความนี้ เรียนเสนอให้แวะไปอ่านข่าว สาระบันเทิงที่ "เดลินิวส์" เพื่อให้กำลังใจสื่อมวลชนไทยที่ทำดีต่อสังคมไทยต่อไป > [ เดลินิวส์ ] 

...

[ เริ่มต้นข้อความคัดลอก ] > [ เดลินิวส์ ] 

ตั้งชื่อหัวข้อเรื่องในวันนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจจากทุก ๆ ท่านที่อ่านคอลัมน์นี้ว่า เชื้อโรคไวรัสเอช 1 เอ็น 1 (H1N1 Virus) ที่มีข่าวว่าเริ่มมีการติดเชื้อและระบาดที่ประเทศเม็กซิโกเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา

และระบาดไปมากมายหลายประเทศ จนเกิดขึ้นในประเทศไทย มาจนถึงขณะนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในทุกจังหวัดของประเทศไทยแล้ว 

...
    
ดังนั้นขอให้ท่านอย่าได้ตกใจกับข่าวคราวการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เพราะตามสถิติแล้ว อัตราการเสียชีวิตไม่ได้มากกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มีการระบาดกันอยู่ทุกปีเกือบทั่วโลก

จึงทำให้มีการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลออกมาไว้ฉีดป้องกันสำหรับประชาชนทั่วไป และโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

...
    
ผมได้มีโอกาสทำงานให้กับ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทยซึ่งมี นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ เป็นนายกสมาคม และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ เป็นเลขาธิการ ในขณะนี้ทำงานใกล้ชิดกับ กระทรวงสาธารณสุขที่มี นพ.ปราชญ์ บุณย วงศ์วิโรจน์ เป็นปลัดกระทรวงฯ ในการที่จะประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009

ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ก็จะไม่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือถ้าเป็นโรคนี้ ก็จะรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการดูแลตนเอง และรีบไปพบแพทย์ หากไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน

... 

ผมจึงขอนำความรู้เหล่านั้นมาสื่อให้แฟน ๆ คอลัมน์คุยกันวันเสาร์กับหมอไพศาล ได้กรุณาอ่านและหากเห็นว่าเป็นประโยชน์ ขอความกรุณาท่านได้ถ่ายเอกสารส่งต่อให้ผู้อื่นด้วย ก็จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
    
สิ่งที่ท่านและคนในครอบครัวต้องทราบ

...

(1). ไข้หวัดใหญ่ 2009 เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ขณะนี้กำลังแพร่ระบาดเกือบทั่วประเทศและทั่วโลก

ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย

(2). ท่านควรปฏิบัติตัวดังนี้ หากท่านอยู่ในกลุ่มที่

(2.1). ท่านและคนในครอบครัวไม่มีใครป่วยเป็นโรคไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่

  • หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนหรือสถานที่ที่มีคนแออัด
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลหลังไปสัมผัสสิ่งของต่างๆ
  • มีหน้ากากอนามัยพกติดตัวเพื่อสวมใส่หากอยู่ใกล้ชิดผู้เป็นไข้หวัด
  • เช็ดทำความสะอาดบริเวณพิ้นผิวที่มือสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โทรศัพท์ ก๊อกน้ำ ด้วยน้ำสบู่ น้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป
  • ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

(2.2). “ท่านกำลังมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่

  • ควรลาหยุดงาน หยุดเรียนและพักอยู่กับบ้าน ไม่ควรออกไปในที่ชุมชน
  • สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและผู้อื่น
  • ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไอจามด้วยกระดาษทิชชู่แล้วทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
  • ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
  • แยกห้องนอนและรับประทานอาหารแยกจากผู้อื่นหรือใช้ช้อนกลาง
  • ควรรีบไปพบแพทย์ เมื่อมีไข้สูงติดต่อกัน 2-3 วัน หรือทานยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ไอมาก รับประทานอาหารไม่ได้ หรือ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน

(2.3). ท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

  • กลุ่มเสี่ยง หมายถึง ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้วมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง จนอาจเสียชีวิตได้ ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ/ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี/สตรีมีครรภ์/ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (โรคอ้วน ไตวายเรื้อรัง ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ โรคปอด ถุงลมโป่งพอง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ)
  • ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการไข้หวัดใหญ่

(3). ผู้ที่เป็นโรคนี้มีอันตรายหรือไม่?

  • โรคนี้เหมือนไข้หวัดใหญ่ทั่วไปที่ คนเป็นส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วมีอาการไม่รุนแรง หายเองได้ด้วยการรักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ในรายที่มีอาการรุนแรง หากไปพบแพทย์ในช่วง 2-3 วันแรก สามารถรักษาให้หายได้โดยการใช้ยาต้านไวรัสเป็นแบบผู้ป่วยนอก มีบางรายต้องรับไว้เป็นผู้ป่วยในเพราะอ่อนเพลียมาก
  • ในรายที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
  • จากข้อมูลทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และเข้ามารับการรักษาค่อนข้างช้า

(4). โรคนี้มีวัคซีนป้องกันหรือไม่?

  • ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน คาดว่า อาจมีวัคซีนที่ป้องกันโรคนี้ได้ในราวเดือนตุลาคม 2552
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้สำหรับป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีระบาดตามฤดูกาลเท่านั้น

หากท่านมีข้อสงสัย ท่านสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3333 หรือ ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 0-2590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง

หมายเลขบันทึก: 277700เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท