วิธีแสดงความชื่นชมแบบว่าไม่เชย [EN]


อาจารย์อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กร ตีพิมพ์เรื่อง "คำชมเชยที่มีประสิทธิภาพ" ในบลูมเบิร์ก บิสซิเนสวีค ฉบับเดือนมกราคม 2554 หน้า 77 ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ 
 
.
การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนไทยพูดจากับคนใกล้ตัว (โดยเฉพาะคนที่คุ้นเคย) แย่กว่าคนไกลตัว, เรื่องนี้ตรงกับสำนวนไทยเดิมที่ว่า "เห็นขี้ดีกว่าไส้ (เห็นคนนอกดีกว่าคนใน)" 
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ คนไทยเชื่อว่า การชมมักจะทำให้คนเหลิง และลืมตน
.
ทว่า... ความจริงคือ การชมที่พอเหมาะพอดี มีส่วนเสริมสร้างกำลังใจ และทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อกันมากกว่าการไม่ชม หรือไม่พูดอะไรเลย
.
การแสดงความชื่นชม (กริยา = appreciate; นาม = appreciation; อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวแย้งว่า คำนี้ฟังคล้าย "อัปปรีย์ฉี่เอเชิ่น" ทำให้คนอยากทำดี เนื่องจากรู้สึกว่า "ทำดีแล้วมีคนเห็น"
  • [ appreciate ] > [ อัพ - พรี้ - ฉิ - เอท - t ] > http://www.thefreedictionary.com/appreciate > verb = แสดงความชื่นชม ชมเชย เห็นคุณค่า รู้สึกขอบคุณ
  • คำนี้มาจากภาษาละติน ศัพท์เดิมแปลว่า 'appraise' = ประเมินค่า ตีค่า
  • [ appreciation ] > [ อัพ - พรี - ฉิ - เอ๊ - เชิ่น ] > http://www.thefreedictionary.com/appreciation > noun = การแสดงความชื่นชม ฯลฯ
วิธีแสดงความชื่นชมที่ดีควรทำดังต่อไปนี้
.
(1). ชมเชยอย่างจริงใจ ชมจากส่วนลึกของหัวใจ ไม่เสแสร้งและไม่ชมแบบซังกะตาย (เรียบ-ทื่อ-ซึมกระทือ-ไร้ชีวิตชีวา)
.
(2). ชมเชยทันทีได้ผลมากกว่าชมเชยเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปนาน
.
(3). ชมเชยที่การกระทำ (ทำดี เจตนาที่ดี) มีอานุภาพมากกว่าชมเชยที่ตัวบุคคล เพราะคนส่วนใหญ่มีทั้งส่วนดีและส่วนร้ายปนกันไป การชมที่การกระทำจะบ่งชี้ว่า การกระทำนั้นๆ มีดี
.
(4). ชมทั้งในที่ลับ (รโหฐาน) และที่แจ้ง เพื่อให้คนอื่นเห็นแบบอย่างในการทำดี, ต่างจากการติเตียนที่ควรทำเบาๆ ในที่ลับ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหน้า
.
(5). ชมทั้งต่อหน้าและลับหลัง, การชมต่อหน้าทำให้คนทำดีมีกำลังใจ, การชมลับหลังทำให้คนอื่นรับรู้เป็นแบบอย่าง และเมื่อมีการบอกต่อไปถึงคนทำดี จะยิ่งทำให้คนทำดีมีกำลังใจยิ่งขึ้นไปอีก
.
การชมลับหลังนี้, หากมุ่งจะให้คนทำดีได้กำลังใจแน่นอน... เราอาจขอร้องให้ใครสักคนที่ไว้ใจได้ ช่วยไปชมคนทำดีลับหลังอีกสักครั้ง ซึ่งก็ต้องเลือกคน "บอกต่อ" ดีๆ, ระวังพวกบ่างช่างยุ หรือพวกที่ได้ยินอย่างหนึ่ง-พูดไปอีกอย่างหนึ่ง ชอบยุยงให้คนแตกกันด้วยเสมอ
.
(6). ถ้าเป็นไปได้, ควรชมทั้งออนไลน์(อินเตอร์เน็ต) เช่น แสดงความชื่นชมผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน ฯลฯ และออฟไลน์(นอกอินเตอร์เน็ต) เช่น ชมต่อหน้า ชมลับหลัง ชมในที่ประชุม ฯลฯ
.
(7). ระบุไปว่า มีดีที่ตรงไหน, ไม่กล่าวกว้างเกินไป เช่น ไม่ควรพูดแต่คำว่า "ดีๆ" ฯลฯ, แต่ควรบอกที่มา-ที่ไป
.
ตัวอย่างเช่น นายกอไก่ตั้งใจทำงาน มาทำงานทันเวลาทุกวัน ไม่มีประวัติมาสายหรือขาดงานติดต่อกัน 2 ปีแล้ว, นางขอไข่ให้คำแนะนำต่อผู้มาใช้บริการอย่างมีน้ำใจดีมา 3 ปีแล้ว ฯลฯ
.
(8). ถ้าผู้รับเป็นคนขี้อายมาก, อาจพิจารณาชมเบาๆ ในหมู่คนรู้จักกันไม่มากแทนการชมดังๆ ในที่ชุมชน
.
(9). พัฒนาตัวเราด้วยการฝึกกล่าวแสดงความชื่นชมเสมอ คุณครูภาษาไทยของผู้เขียนสอนไว้ว่า คนไทยชอบคนที่รู้จักพูดคำว่า "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ" อย่างพอเหมาะและพอดี
.
คำชื่นชมที่ควรฝึกไว้ให้ติดปาก คือ คำว่า "ขอบคุณ-ขอบใจ", เพราะจะทำให้คนที่ทำอะไรดีๆ มีกำลังใจ
.
คนสูงอายุที่รู้จักกล่าวคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ" มักจะไม่เหงาง่าย และญาติสนิทมิตรสหายไม่ทอดทิ้ง เพราะคำเหล่านี้พบมากในคนที่มีใจกว้าง มองโลกในแง่ดี มีเมตตา และรู้บุญคุณคน (กตัญญูต่อคนรอบข้าง)
.
การแสดงความชื่นชมในคุณความดีของคนอื่นเป็นการขัดเกลาความตระหนี่คำสรรเสริญอย่างหนึ่ง  (วัณณมัจฉริยะ) ซึ่งถ้าทำด้วยเจตนาดี และทำอย่างพอเหมาะพอดีแล้ว นับเป็นวาจาที่ดี และทำให้ผู้พูดได้บุญด้วย [ thailux ]; [ landham ]; [ 84000.org ]; [ dhammadelivery ]  
.
สมองคนเรามีชุดของเซลล์ที่เป็นวงจรสะท้อนกลับ (mirror neurons), ทำงานคล้ายวงจร "กระจกเงา" คือ เมื่อรับรู้ว่า คนหรือสัตว์ทำอะไรอย่างหนึ่ง คนหรือสัตว์อื่นจะทำการจำลองการกระทำนั้นๆ ขึ้นมาในสมองได้ [ scientificamerican ]; [ wiki ]
.
ขณะที่คนเรารับรู้ว่า คนอื่นทำความดี, วงจร "กระจกเงา" ของเราก็พลอยได้ทำดีไปด้วย (อนุโมทนา สาธุ) ทำให้เกิดความสุขจากการทำดีตามผู้อื่นไปด้วย
.
นี่อาจช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมคนที่รู้จักกล่าวคำ "ขอบคุณ-ขอโทษ-ขอบใจ" อย่างพอเหมาะพอดีบ่อยๆ จึงมีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีความสุข มองโลกในแง่ดี และมีเมตตามากกว่าคนทั่วไป  
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

 > [ Twitter ]                             

  • ขอขอบพระคุณ > บลูมเบิร์กบิซซิเนสวีค. มกราคม 2554. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 20 กุมภาพันธ์ 2554.
หมายเลขบันทึก: 427465เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2011 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Thank you for this useful article.

It is really a mirror for reflection on our own 'actions' and 'intention' ;-)

ธนภร สัตยานุรักษ์

ขอบคุณสำหรับบทความหลากหลายที่เป็นความรู้สู่สมองน้อยๆก้อนนี้

จุดหมายของ"สุขภาพดี" ย่อมมิใช่แต่ร่างกาย...แม้แต่จิตใจก็ย่อมต้องดีด้วย

เชื่อว่าคุณหมอได้ทำแล้วโดยสมบูรณ์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท