Case-Study : ห้องปฏิบัติการสังคมและความรู้เชิงระบบซับซ้อนในงานวิจัยแบบ PAR


การทำกรณีศึกษา : Cased-Study มีบทบาทและความสำคัญต่อการวิจัยในสาขาต่างๆทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แตกต่างกันไปตามลักษณะประเด็นปัญหาทางวิชาการและความต้องการความรู้ความเข้าใจเพื่อนำไปแก้ปัญหาทางการปฏิบัติของสาขานั้นๆ ตัวอย่างเช่น การทำกรณีศึกษาในการวิจัยทางการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ของเด็ก ก็จะมุ่งวินิจฉัยปัญหาเพื่อเข้าใจและแก้ปัญหาให้แก่เด็กได้อย่างถูกต้องเป็นรายกรณี การทำกรณีศึกษาในงานศิลปะประยุกต์ สถาปัตยกรรม หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็จะเป็นการทดลองและตรวจสอบความลงตัวในทุกด้านเพื่อวิเคราะห์ปัญหา วางแผน ปรับปรุงแก้ไขและตรวจสอบสิ่งต่างๆก่อนการทำจริง การวิจัยชุมชนและการวิจัยทางสังคม ก็อาจจะทำกรณีศึกษาเพื่อเข้าถึงความเป็นจริงที่รอบด้านทุกมิติของปรากฏการณ์ที่ศึกษา รวมทั้งระบบวิธีคิดของกลุ่มคนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เหล่านี้เป็นต้น บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นจุดแข็งของการนำเอาการทำกรณีศึกษาไปใช้ทำงาน โดยเฉพาะวิธีคิด ลักษณะปัญหาและโจทย์การวิจัยที่เหมาะสมต่อการทำกรณีศึกษา และเหตุผลเบื้องหลังสำหรับการทำงานระดับออกแบบทางวิธีวิทยาเพื่อนำมาผสมผสานในการวิจัยแบบ PAR ให้ได้ผลอย่างดีที่สุด

  ผลที่จะได้รับที่สำคัญ  จากการทำกรณีศึกษา   

ความเข้มแข็งของการวิจัยโดยวิธีทำกรณีศึกษาในงานวิจัยแบบ PAR และผลที่จะได้รับที่สำคัญ คือ

  • ทำให้สามารถเข้าถึงความเป็นจริงได้อย่างรอบด้าน ทั่วถึง เห็นรายละเอียดอย่างแจ่มชัดมากที่สุด
  • เข้าถึงบทสรุประดับทรรศนะพื้นฐาน ระบบวิธีคิดของปัจเจกและชุมชน รวมทั้งวิธีการปฏิบัติและกระบวนการเชิงพฤติกรรมซึ่งสะท้อนวิธีคิด ทัศคติ ความเชื่อ และระบบค่านิยมต่างๆของสังคม
  • แก้ปัญหาทางการปฏิบัติได้ ในงานวิจัยทุกสาขาที่มุ่งการปฏิบัติและการผลิต ก็จะทำให้เกิดการจำลองสถานการณ์ ทำให้สามารถตรวจสอบความเป็นจริงได้ ป้องกันและลดความผิดพลาด ลดความสูญเสียทรัพยากรและงบประมาณ รวมทั้งสร้างความรู้และทำให้มีบทเรียนทางการปฏิบัติครบถ้วน สำหรับนำไปปฏิบัติในสถานการณ์อื่นๆได้ดียิ่งๆขึ้นต่อไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การรับรู้ของคนทั่วไปเกี่ยวกับการทำกรณีศึกษา มักมิได้พิจารณานัยสำคัญ ความหมาย วิธีคิดและเหตุผลเบื้องหลังของความที่จะต้องพิถีพิถันต่อการทำกรณีศึกษาในสถานการณ์ความจำเป็นต่างๆของการวิจัย จึงมักคิดเอาจากการเปรียบเทียบกับทฤษฎีการสุ่มความเป็นตัวแทนทางประชากรและวิธีคิดพื้นฐานสำหรับการสร้างความรู้ของการวิจัยแบบทั่วไป ทำให้จินตนาการไปตามความเชื่อและการรับรู้แบบกว้างๆว่า การวิจัยแบบทำกรณีศึกษานั้นจะเป็นการวิจัยที่ไม่มีคุณภาพ ให้ความรู้ที่จะนำไปอ้างอิงกับกรณีทั่วไปไม่ได้ เป็นวรรณกรรมและเรื่องแต่งของนักวิจัยเองเพราะกรรมวิธีในการวิเคราะห์และให้ความหมายจากนักวิจัยจะมีบทบาทมาก เหล่านี้เป็นต้น

ความเข้าใจในลักษณะนี้นับว่ายังไม่ถูกต้องนัก อีกทั้งทำให้ความเข้มแข็งของการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การวิจัยทางการศึกษา การวิจัยทางมนุษยศาสตร์ การวิจัยปฏิบัติการสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา ตลอดจนการวิจัยแบบ PAR ที่ดำเนินการบนการทำกรณีศึกษา มักถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่เป็นวิธีวิจัยและปฏิบัติการสังคมโดยวิธีการทางความรู้ที่จะทำให้แก้ปัญหาได้ สามารถสร้างความรู้ให้เห็นถึงวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ รวมทั้งจะสื่อสะท้อนความหมายและสัมผัสความเป็นจริงของสังคม จนโน้มนำให้เกิดการระดมพลังปฏิบัติในวิถีแห่งการใช้ปัญญาสร้างสรรค์ได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง 

  วิธีทำกรณีศึกษา  อย่างเป็นวิธีวิทยาและวางอยู่บนฐานทฤษฎีอันหนักแน่น 

ในความเป็นจริงแล้ว หากเห็นลักษณะความรู้ที่จะได้ อีกทั้งมีวิธีเลือกทำกรณีศึกษาด้วยหลักเกณฑ์เชิงทฤษฎีและดำเนินการอย่างเป็นวิธีวิทยาการวิจัย มากกว่าทำอย่างเป็นเทคนิคการเลือกตัวอย่างในขั้นตอนการเก็บข้อมูลการวิจัยแล้ว การทำกรณีศึกษาในการทำวิจัยแบบ PAR ก็จะทำให้เราสามารถสร้างความรู้และเข้าถึงความจริงของปรากฏการณ์ทางสังคม ตลอดจนปราฏการณ์ของสิ่งที่ต้องการศึกษาที่มีความหนักแน่นเข้มแข็ง อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงได้โดยวิธีการวิจัยแบบอื่นอีกด้วย

การทำกรณีศึกษาในการวิจัยแบบ PAR นั้น เป้าหมายการวิจัยเพื่อทำเป็นกรณีศึกษาจะเป็นมากกว่าตัวอย่างที่สุ่มเลือกอย่างเป็นตัวแทนของประชากรทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากความรู้ที่ต้องการจะเป็นความรู้เชิงปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์กันอย่างเชื่อมโยงต่อเนื่องของเหตุปัจจัยเป็นชุด ก่อเกิดแบบแผนปรากฏการณ์หลากหลายและซับซ้อน หลายระดับ หลายรูปแบบ และหลายแง่มุม มิใช่ความรู้จากการแสดงตนเองของสิ่งที่ถูกทำให้นิ่งอย่างในการวิจัยทั่วไป อีกทั้งมิใช่ความรู้ที่อธิบายผ่านความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ลดทอนความซับซ้อนออกไป

การทำกรณีศึกษาในการวิจัยแบบ PAR นั้น จะทำให้เราสามารถเข้าถึงความรู้ความเป็นจริงที่มีธรรมชาติเป็นพลวัตรและจะผุดบังเกิดขึ้นจากชุดของเหตุปัจจัยซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบซับซ้อน นับแต่ระดับกายภาพ ความเป็นวัตถุ ไปจนถึงระดับนามธรรม วิธีคิด และมิติจิตวิญญาณ ซึ่งลักษณะความรู้อย่างนี้จะไม่สามารถได้จากการวิจัยแบบทั่วไป ขณะเดียวกัน การที่จะเข้าถึงความรู้ในลักษณะดังกล่าวนี้ได้นั้น ก็ด้วยการทำกรณีศึกษาเพื่อสร้างประสบการณ์และนำมาสร้างความรู้ขึ้นอย่างเป็นระบบด้วยการตรวจสอบกัน ๓ จุดยืนในเวลาเดียวกัน อันได้แก่ จากจุดยืนผู้กระทำ จากจุดยืนผู้เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างและเป็นสิ่งที่ถูกศึกษา และจากจุดยืนผู้สังเกตนั่นเอง 

                                                           ภาพที่ ๑ : กลุ่มคน ๘ กลุ่มซึ่งใช้วิธีแก้ปัญหายุงกัด ๘ วิธี
                                                                          ในห้องซึ่งติดมุ้งลวดกันยุงห้องเดียวกัน

 ระดับปรากฏการณ์  กับวิธีวิทยาการเห็นและเลือกกรณีศึกษาด้วยความรู้ที่ลึกซึ้ง

จากภาพ ปัจเจกและกลุ่มคนในภาพ สามารถจำแนกโดยแบบแผนของการมีเครื่องมือและวิธีแก้ปัญหายุงกัด ๘ วิธีได้ ๘ กลุ่ม รวมทั้งเจ้าของบ้านซึ่งใช้วิธีกางกรด ทั้งหมดอยู่ในห้องซึ่งติดมุ่งลวดกันยุงได้อย่างดีห้องเดียวกัน ลักษณะอย่างนี้ หากเป็นการเลือกทำกรณีศึกษาโดยทั่วไปก็จะมุ่งเลือกตัวแทนจากกลุ่มประชาชน ๘ กลุ่มเพื่อเป็นตัวแทนของการใช้เทคโนโลยีและวิธีแก้ปัญหายุงกัด ๘ วิธี หากน้อยไปกว่านี้ก็จะกลายเป็นการเลือกอย่างมีอคติ ไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นรองรับว่าทำไมจึงเลือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและเว้นไปบางกลุ่ม ซึ่งก็ยิ่งจะเป็นจุดอ่อนของการทำกรณีศึกษาในงานวิจัยแบบ PAR

แต่กระนั้นก็ตาม ถึงแม้จะได้เลือกและทำการศึกษาครบทั้ง ๘ กลุ่มแล้ว ก็มักเชื่อกันว่าความรู้จากกรณีศึกษาอย่างนี้จะไม่มีพลังการอธิบายปรากฏการณ์ทั่วไป เพราะไม่เพียงพอที่จะเป็นตัวแทนทางประชากร จะเห็นว่า เทคนิคการวิจัยกลายเป็นศูนย์กลางของการพิจารณา จนบางครั้งอาจทำให้เรามองข้ามเหตุผลและมิติที่สำคัญกว่านั้นของการทำกรณีศึกษา

จากกรณีตัวอย่างเดียวกัน หากเลือกด้วยวิธีคิดอย่างมีวิธีวิทยาและเลือกบนฐานทฤษฎี เราก็จะพบว่า กลุ่มคนทั้ง ๘ กลุ่มนี้ เป็นตัวแทนของความหลากหลายก็จริง ทว่า เราจะอธิบายวิธีแก้ปัญหายุงกัดผ่านประสบการณ์และเทคโนโลยีที่แต่ละกลุ่มมีอยู่ ๘ วิธีนี้ไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงนั้น การที่ไม่มียุงและทุกกลุ่มไม่ถูกยุงกัด หาได้เกิดจากเครื่องมือและวิธีแก้ปัญหาแบบต่างๆแต่อย่างใด ทว่า เกิดจากปัจจัยเชิงระบบที่ใหญ่กว่าชุดเดียวกัน อันได้แก่ห้องที่ติดมุ้งลวดซึ่งแก้ปัญหาส่งผลได้ครอบคลุมทั้งหมด ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีและวิธีการแก้ปัญหายุงกัดอย่างไร ผู้คนทั้งหมดทั้ง ๘ กลุ่มก็จะไม่ถูกยุงกัด อีกทั้งจะไม่เคยเห็นยุงกันเลยทีเดียว ซึ่งก็จะไม่ใช่เนื่องจากเทคโนโลยีและวิธีการทุกแบบได้ผลดีเหมือนกัน แต่เพราะล้วนอยู่ในอาณาบริเวณของห้องเดียวกันซึ่งติดมุ้งลวดเป็นอย่างดีนั่นเอง

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่เราว่าจะสุ่มเลือกอย่างเป็นระบบอันซับซ้อนตามแบบแผนการวิจัยแบบทั่วไป หรือเลือกทำกรณีศึกษาให้ครอบคลุมกลุ่มสังคมที่หลากหลายภายใต้เงื่อนไขนี้อย่างไรก็ตาม ก็ย่อมมีความหมายเท่ากัน เพราะทั้งหมดอยู่ในบริบทของปรากฏการณ์ชุดเดียวกันคืออยู่ในห้องติดมุ้งลวดเหมือนกัน และเป็นระบบที่ใหญ่กว่าซึ่งแก้ปัญหาครอบไปทั่วทุกคน 

ความเป็นห้องติดมุ้งลวดที่เปรียบเปรยในตัวอย่างนี้ก็คือ ระบบและโครงสร้างสังคม ระบบเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม หรือชุดเหตุปัจจัยและเงื่อนไขอันซับซ้อนของปรากฏการณ์สังคมในโลกความเป็นจริง รวมทั้งระบบธรรมชาติและปัจจัยพื้นฐาน หรือองค์ประกอบพื้นฐานและลักษณะความเป็นสามัญที่เป็นจริงทั่วไปในบริบทนั้นๆ เช่น ในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นยุคของทุนนิยมแบบมุ่งผลกำไร ซึ่งเป็นจริงและสะท้อนไปสู่กลุ่มสังคมหรือระบบย่อยๆทั้งโลก, ในบริบททางความรู้และข้อมูลข่าวสาร พลังของข้อมูลและสารสนเทศเป็นจริงในบางระบบสังคม, ในสังคมไทย ประชากรส่วนใหญ่กว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์นับถือพุทธศาสนา ดังนั้น ไม่ว่าจะสุ่มเลือกไปศึกษาเรื่องใด ก็จะมีทรรศนะที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาเข้าไปปนอยู่เป็นพื้นฐานไม่มากก็น้อย เหล่านี้เป็นต้น

ลักษณะอย่างนี้ หากเรามุ่งศึกษาแบบทำกรณีศึกษาเพื่อให้ได้ความลึกซึ้ง เห็นความซับซ้อนและความเชื่อมโยงได้หมดจรดและรอบด้านที่สุด ก็จะได้ความเป็นจริงที่ดีและถูกต้องกว่าการสุ่มเพื่อศึกษาความเป็นจริงจากส่วนย่อยๆให้มาร่วมกันเป็นตัวอธิบาย วิธีคิดเชิงระบบและทำกรณีศึกษาอย่างนี้จัดว่าเป็นการทำอย่างมีวิธีวิทยาหรือใช้ความรู้อย่างรอบด้านและกรอบทฤษฎีต่อปรากฏการณ์ความซับซ้อนที่สะท้อนอยู่ในกรณีตัวอย่างนั้นๆ รวมทั้งเลือกวิธีเข้าถึงได้อย่างถูกต้อง เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา มากกว่าเลือกไปตามเทคนิคการวิจัยโดยมิได้พิจารณาความหมายและความมีเหตุผลเบื้องหลังกำกับอยู่ภายใต้เทคนิคและวิธีการต่างๆ

ในการทำกรณีศึกษาให้เป็นวิธีวิทยาเพื่อเข้าถึงความรู้และความจริง จึงจำเป็นต้องเห็นระบบความซับซ้อนด้วยฐานทฤษฎี ตัวปัญญา ความรอบรู้ ความรู้ลึก ความละเอียดอ่อน เห็นด้วยความสามารถปฏิบัติ อีกทั้งต้องตรวจสอบด้วยการอ่านศึกษาทบทวน ทั้งวรรณกรรมและความรู้สารพัดชนิดซึ่งมากกว่าและรอบด้านกว่าการอ่านเพียงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ ต้องใช้ความรู้จากการอ่านสังคม ความรู้และภูมิปัญญาของชาวบ้าน ความรู้ในวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นซึ่งนักวิจัยต้องมุ่งเรียนรู้ไปกับชุมชน จากนั้น จึงจะสามารถเลือกตัวอย่างเพื่อทำกรณีศึกษาให้มีองค์ประกอบของสถานการณ์จริงที่ต้องการศึกษาอย่างครบถ้วนได้ดีที่สุด

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถกล่าวได้อย่างหนึ่งว่า วิธีเลือกกรณีศึกษาในเชิงวิธีวิทยาเพื่อการวิจัยแบบ PAR นั้น จัดว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นนักวิจัย PAR ได้เป็นอย่างดียิ่ง ทั้งความลุ่มลึกแม่นยำทางทฤษฎี ความกว้างขวางของความรู้และทันความเคลื่อนไหวทางวิชาการ ความมีจินตนาการและวิธีคิดที่เชื่อมโยง ตลอดจนความเป็นนักวิจัยที่สะท้อนความเชื่อมโยงกับสังคม เป็นกำลังความรู้และกำลังทางวิชาการของกลุ่มปฏิบัติการสังคมต่างๆเพื่อสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตไปด้วยกันกับผู้คน

                                                 ภาพที่ ๒ : กรณีศึกษาในเชิงวิธีวิทยา ต้องเลือกให้สามารถสะท้อนปรากฏการณ์
                                                                 ของระบบอันซับซ้อนและเชื่อมโยง

จากตัวอย่างสมมุตินี้ ในจำนวนกลุ่มคน ๘ กลุ่มนั้น จะเห็นว่ามีเจ้าของบ้านอยู่ด้วย และเจ้าของบ้านนั้นก็ใช้กางกรดเป็นวิธีแก้ปัญหายุงกัด ซึ่งข้อมูลการทำกรณีศึกษากลุ่มคนอื่นๆนั้น จะไม่สามารถอธิบายการที่ยุงไม่กัดได้ แต่สำหรับเจ้าของบ้านแล้ว เมื่อพิจารณาเลือกเป็นกรณีศึกษาในเชิงวิธีวิทยา ก็กลับจะเป็นการทำการศึกษาได้อย่างถูกต้องในเชิงวิธีวิทยา เป็น Key Informant อันแท้จริงสำหรับกรณีนี้ที่จะอธิบายระบบต่างๆเกี่ยวกับการแก้ปัญหายุงกัด มิใช่อยู่ที่มีเทคโนโลยีและวิธีการแก้ปัญหาดีกว่าใคร แต่ทว่าเพราะเป็นเจ้าของบ้าน เป็นผู้ติดมุ้งลวด เป็นตัวแทนความจริงได้ครบถ้วนที่สุด มีประสบการณ์ตรงต่อระบบใหญ่และซับซ้อน ครอบคลุมลักษณะย่อยของทุกกลุ่มที่เหลือ ในขณะที่ระดับประสบการณ์ซึ่งมีอยู่ในความเป็นเจ้าของบ้านนี้จะไม่มีในกลุ่มทางสังคมกลุ่มอื่น ดังนั้น แม้เลือกเพียง ๑ กรณีศึกษา ก็สามารถเข้าถึงความรู้จริงได้ดีกว่าและถูกต้องกว่าการเลือกตัวแทนกลุ่มต่างๆอีก ๗ กลุ่มไปตามเทคนิคและขั้นตอนการวิจัยอย่างไม่มีความหมาย ดังนี้เป็นต้น วิธีอย่างนี้ เรียกว่าเป็นวิธีวิทยาทำกรณีศึกษาในงานวิจัยแบบ PAR ซึ่งเมื่อเลือกโดยวิธีวิทยาอย่างนี้ การทำกรณีศึกษาก็จะแม่นยำ งานวิจัยเชิงคุณภาพที่มีชื่อเสียงของโลกหลายชิ้นจะเลือกกรณีศึกษาด้วยวิธีคิดอย่างนี้ และก็ให้ทฤษฎีพื้นฐานเป็นที่อ้างอิงได้อย่างกว้างขวาง

  พลังอันแท้จริง  ของการทำกรณีศึกษาในการวิจัยแบบ PAR 

เมื่อเป็นดังนี้ ก็จะเห็นได้ว่า การทำกรณีศึกษาในการวิจัยแบบ PAR จึงไม่ใช่การเลือกโดยจุดมุ่งหมายเชิงเทคนิคการเก็บข้อมูลให้มีคุณภาพแต่เพียงเท่านั้น แต่จะเป็นภาพสะท้อนของการใช้ความรู้เชิงระบบอันซับซ้อน เลือกโดยมีฐานทฤษฎี ความรอบรู้ สะท้อนประสบการณ์ต่อสังคมและประสบการณ์ต่อความเป็นจริงอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ต้องการศึกษา เพื่อทำกรณีศึกษาและสร้างความรู้ความเป็นจริงในระดับปรากฏการณ์ที่เป็นปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นพลวัตรของชุดปัจจัยและองค์ประกอบอันซับซ้อนต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็จะต้องเห็นด้วยความรู้ เห็นด้วยวิธีคิดและทรรศนะเชิงวิพากษ์ เห็นแจ้งไปจนถึงกระบวนการที่เชื่อมโยงและสะท้อนกันและกันของการปฏิบัติและระบบวิธีคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเห็นด้วยทรรศนะของผู้ที่อยู่ในบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนตัวปรากฏการณ์สังคม ซึ่งจะสามารถเข้าถึงวิถีทรรศนะและความจำเพาะตนที่จะไม่สามารถได้จากงานวิจัยและการทบทวนวรรณกรรมเพื่อสร้างผลสรุปขึ้นจากสังคมอื่นๆหรือบริบทของกรณีอื่นๆมารวมกัน

ดังนั้น การทำกรณีศึกษาในการวิจัยแบบ PAR ในอีกแง่หนึ่ง จึงเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการทางสังคม หรือ Social Lab ซึ่งไม่เพียงเป็นวิธีพิสูจน์ให้เห็นจริงทางการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความรู้ความจริงต่างๆร่วมกันได้เท่านั้น แต่จะสามารถสร้างคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมให้เข้าถึงประสบการณ์ต่อสังคมอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ สามารถหยั่งถึงความเป็นจิตวิญญาณทางสังคมและได้ความละเอียดอ่อนลึกซึ้งเข้มข้นมากกว่าการรับรู้ผ่านการอ่านความรู้บนเอกสารอย่างเดียว ทำให้สามารถออกไปเป็นเครือข่ายนำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆที่ตนเองให้ความสนใจด้วยความความเข้าใจอย่างเชื่อมโยงรอบด้าน อีกทั้งมีมิติความรู้ระดับปฏิบัติได้ ติดตัวออกไปเป็นความรู้จำเพาะตน  

ผลของการวิจัยแบบ PAR จึงครอบคลุมทั้งการได้ร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะชุมชน, ได้กระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาที่ริเริ่มและใช้ได้จริงในสถานการณ์นั้นๆ, ได้การสร้างความรู้ที่ตอบโจทย์ระดับบริบทจำเพาะ, และการได้สร้างคน-สร้างชุมชนให้เกิดประสบการณ์ต่อความเป็นจริงทางสังคมด้วยตนเอง มีภูมิปัญญาปฏิบัติ สั่งสมเป็นทุนทางสังคมไปกับการดำเนินการวิจัย.

หมายเลขบันทึก: 407626เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2010 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ขอบคุณค่ะ..อ่านแล้วมองทะลุไปถึงแก่นแท้ของการวิจัยแบบ PAR ที่เชื่อว่า ผลงานวิจัยย่อมให้ทางออกของการแก้ปัญหาและพัฒนางานปฏิบัติ ได้ตรงจุดที่ต้องการอย่างแท้จริง..พี่รอดูตัวอย่างดีๆของงานวิจัยในลักษณะนี้นะคะ..

    

                           ภาพท้องฟ้าใกล้ค่ำที่ตึก SCB

สวัสดีครับพี่นงนาทครับ

  • จะลองเรียบเรียงและถ่ายทอดไว้แบ่งปันกันเป็นบทเรียนบนรายทางน่ะครับ
  • ภาพถ่ายย้อนแสงบรรยากาศยามเย็นอย่างนี้ให้ความรู้สึกปล่อยวางดีนะครับ
  • ภาพอย่างนี้ สำหรับงานศิลปะแสง-เงา จะเรียกเป็นแนวการทำงานเพื่อโชว์น้ำหนักแสง-เงาโดยตรงในลักษณะนี้ว่าภาพแบบ Sillhouette ครับ มักเป็นเทคนิคของหมู่ผู้วิชาแก่กร้าจนไม่รู้จะเล่นพลิกเพลงอย่างไรแล้ว
  • อีกทั้งเชื่อว่าผู้ยังมือไม่ถึงขั้น ก็จะต้องสร้างความสวยงามผ่านการใช้สีสันเยอะๆ เส้นสายอลังการ และแสง-เงาแพรวพราว ดังนั้น เทคนิคของงานในแนว Sillhouette ก็เลยจะทำในทางตรงกันข้าม โดยทำให้สวยงามและให้ความรู้สึกว่ามีสีสันและเรื่องราวทั้งที่ใความเป็นจริงแล้วแทบจะไม่ใช้สีเลย ใช้แต่น้ำหนักแสง-และเงาย้อนแสง ซึ่งความฉกาจของจอมฝีมือก็คือ เมื่อเป็นภาพย้อนแสงนั้น เรื่องราวทั้งหมดมันก็จะกลายเป็นสัดส่วนของเงาดำมากกว่าส่วนที่เป็นแสง ความเป็นศิลปะก็จะอยู่ตรงนี้ คือ ต้องเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ของการเห็นว่า ในเงาย้อนแสงนั้นก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่มีเรื่องราวและให้ความรู้สึกอันลึกซึ้งในทางศิลปะได้
  • ก่อนนี้กว่า ๓๐ ปีเมื่อแรกเข้ากรุงเทพและเรียนศิลปะนั้น ผมรู้จักและเป็นมิตรกับตึก SCB รวมทั้งย่านประตูน้ำและแกลลอรี่แถวถนนเพชรบุรีเป็นอย่างดีครับ ทั้งที่ไม่ได้มีเงินพอฝากธนาคารเลย แต่ผมและเพื่อนๆมักจะไปเดินดูงานศิลปะทั้งในห้องโถงสำนักงานใหญ่และตามมุมต่างๆของตึก รวมทั้งชอบขอไปดูการทำสไลด์มัลติวิชชั่นซึ่งเป็นที่ทราบกันในวงการของยุคนั้นดีว่า ที่ ๑ ของประเทศอยู่ที่ SCB นั่นแหละครับ นึกถึงแล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ให้ความสุขดีครับ  

อาจารย์วิรัตน์ ครับ

องค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวของอาจารย์ และได้ถูกถ่ายทอดไว้...ผ่านบันทึก

ทุกครั้งที่ได้เข้ามาอ่าน ...(ผมอาจเข้าใจได้ไม่ทั้งหมด ...แต่ในความรู้สึก ผมมองครับว่า องค์ความรู้แบบนี้ มีพลังขับเคลื่อนมากเหลือเกิน)

ดีใจทุกครั้ง ที่เห็นบันทึกของอาจารย์โลดแล่น ...อยู่ ณ ชุมชนแห่งนี้

บันทึกเก็บไว้อ่านแล้วนะครับ

...

อากาศทางนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ

รักษาสุขภาพด้วย นะครับ

..

ด้วยความเคารพรัก

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

  • ขอบคุณกำลังใจและการสะท้อนความประทับใจให้กันอยู่เสมอนะครับคุณแสงแห่งความดีครับ
  • ผมนึกถึงคุณแสงแห่งความดี-ครอบครัว และพี่ๆน้องๆของคุณแสงแห่งความดีทีไร ก็มักจะทำให้นึกถึงญาติพี่น้องที่บ้านนอกไปด้วยทุกทีละครับ จึงต้องขอบขอบคุณคุณแสงแห่งความดีนะครับที่มักแบ่งปันลมหายใจและจิตวิญญาณของชนบทให้กันอยู่เสมอครับ
  • อากาศที่กรุงเทพฯตอนนี้สบายดีจริงๆครับ อยากให้เป็นอย่างนี้สัก ๒-๓ เดือนเลย แต่แถวบ้านของคุณแสงห่งความดีโดนหางเลขของดีเปรสชั่น ฝนตก และน้ำท่วมอย่างหลายๆที่ของภาคใต้หรือเปล่าละครับนี่
  • ขอให้มีสุขภาพดีทั้งกายใจเช่นกันครับ

*พี่มาขอบคุณสำหรับทัศนศิลป์ที่ลุ่มลึกต่อภาพท้องฟ้าใกล้ค่ำที่ตึก SCB จากหน้าต่างห้องทำงานที่ชั้น ๑๙ ..พี่ได้เรียนรู้มุมมองที่น่าสนใจเพื่อนำไปประกอบการถ่ายภาพในครั้งต่อไปด้วยค่ะ..

*ขออนุญาตนำทัศนศิลป์ที่มีคุณค่านี้ของอาจารย์ ไป post ไว้ที่บันทึกชื่อ :

                     "มองฟ้างามทุกยามยลที่ตึก SCB"

http://gotoknow.org/blog/nongnarts2/400243

ชมรมคนรักมวลเมฆ

 

                          Large_dscn2425 

กล้องถ่ายรูปเดี๋ยวนี้ถ่ายภาพแบบย้อนแสงหรือเงาดำได้ดีกว่าเมื่อก่อนนี้นะครับ ผมเองนั้นก็ชอบถ่ายรูปและวาดรูปที่เพิ่มมิติการเล่นแสง-เงา ด้วยการถ่ายภาพย้อนแสงและวาดรูปแบบเล่นน้ำหนักเงาให้เป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราวหลักนะครับ คนเขียนรูปที่ทำงานผ่านภาพย้อนแสงและโชว์ศิลปะของเงาในบ้านเรานั้นมีไม่กี่คนครับ แต่เดิมนั้น ส่วนใหญ่ก็จะทำงานด้วยการปาดเกรยองหรือไม่ก็ภาพดรออิ้งแบบสีดำๆน้ำหนักเดียว

สำหรับคนเรียนศิลปะและช่างเขียนรูปนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าใครปาดเกรยองสวยและเขียนรูปจัดวางแสงเงาแบบย้อนแสงสวย ก็จะเป็นคนที่ตกผลึกและฝึกปรือจนอยู่ในขั้นที่จะทำสิ่งที่ไม่สวยอย่างไร ก็ให้สวยและมีเรื่องราวได้หมด แม้แต่สีดำพื้นๆสีเดียวหรือภาพย้อนแสงมืดๆซึ่งคนทั่วไปหากจัดวางไม่เป็นและไม่มีศิลปะ คนดูก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นรูปเสีย ดังนั้น มือปาดเกรยองและคนทำงานแนว Sillhouette ก็มักจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นคนสร้างสุนทรียภาพและสื่อสะท้อนความงามทางศิลปะด้วยการจัดวางวิธีคิด วิธีมอง และแม่นเรื่องการจัดองค์ประกอบ หรือ Composition ที่คนทำงานศิลปะชอบเรียกกันว่า การจัดคอมโสต์

                            Large_ignite-5

การถ่ายภาพย้อนแสงและทำงานแนว Sillhouette ในทางศิลปะภาพถ่ายจะให้ผลที่แปลกออกไปหลายอย่างครับ ที่สำคัญ น้ำหนักของเงาจะเน้นให้องค์ประกอบภาพแน่น ลงตัว คุมโทนทั้งภาพให้มีแนวคิดเชื่อมโยงกลมกลืน และถ้าหากรู้จังหวะหรือใช้แฟลชช่วยลดความเข้มของเงา ก็จะให้ผลเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ ภายในเงาทึบปื้นๆที่เหมือนกับไม่มีอะไรนั้น เมื่อมองให้ดีก็กลับมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเยอะแยะ และภายในเงาและน้ำหนักทึบๆก็กลับมีสีที่อิ่มตัว เข้มข้น ซึ่งภาษาศิลปะเรียกว่ามีแมส-Mass มากกว่า ด้านที่ให้แสงสว่างแบบแจ๋นๆ

                           

                            Large_drykhuntarn 

รูปวาดแบบเงาดำและย้อนแสง เมื่อจัดวางดีๆก็กลายเป็นมีเรื่องราว ได้ความงามทางศิลปะ ให้การครุ่นคิด และให้ทรรศนะต่อการมองสิ่งต่างๆ ได้ดีมากอีกแนวหนึ่งครับ ในการเขียนภาพแบบเซนและเต๋านั้น เชื่อว่าความงามและความจริงคือตัวกระบวนการทางปัญญาที่อยู่ข้างในของปัจเจกและชุมชน ดังนั้น ก็มักเน้นการสื่อสะท้อนด้วยการเขียนภาพสีเดียว ดำๆ หรือลายเส้นปื้นๆ เพราะมาจากแนวคิดพื้นฐานที่ว่าสีสันและความงามไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่อยู่ในตัวเรา ซึ่งก็จะเป็นวิธีคิดที่ให้ความหมายแก่ศิลปะไปด้วยว่า ศิลปะคือการพัฒนาวิธีมองและการพัฒนาทรรศนะ เทคนิคและวิธีการภายนอกเป็นเพียงเงื่อนไขเพื่อการเข้าถึงภาวะดังกล่าวนั้นเท่านั้น

ก็เลยมีภาพมาอวดกันดูอีกรอบครับ เป็นภาพแนวย้อนแสงและเล่นกับเงาดำ สีเดียว แต่พอเราจัดวางน้ำหนักได้ดี คนดูก็กลับจะไม้ได้มองเห็นอย่างที่รูปภายนอกมันเป็น เพราะเขาจะสามารถเห็นป่า เห็นและรู็สึกได้ถึงความร่มรื่น ความมีสีสัน และบรรยากาศความมีชีวิตชีวา ไม่ได้เห็นเป็นภาพขาวดำแบบทั่วๆ หากอธิบายด้วยแนวคิดที่ใช้ทำงานแนวนี้ก็คือ เป็นการเห็นการตื่นอยู่กับตนเองน่ะครับ

วิธีคิดสำหรับการทำงานแนวนี้ ออกจะต่างจากวิธีคิดแบบทั่วไปสักหน่อย เนื่องจากโดยทั่วไปนั้น ก็จะมีวิธีคิดและวิธีมองอีกชุดหนึ่งว่า ศิลปะและความงามเป็นอิสระออกจากตัวเราที่ผู้อื่นสร้างให้เราบริโภคได้ ดังนั้น ความงามก็อยู่ที่ผู้สร้างและอยู่ที่ชิ้นงานศิลปะอย่างสมบูรณ์ วิถีทรรศนะอย่างนี้ก็จะมีแนวการทำงานไปอีกแบบหนึ่ง และในการดูให้ได้ความซาบซึ้งก็จะต้องเข้าถึงด้วยทรรศนะอีกชุดหนึ่ง  

ส่วนงานในแนวนี้ก็จะมองหลากหลายทรรศนะไปอีกทางหนึ่ง โดยจะเชื่อว่าโลกภายนอกและวิธีทำงานศิลปะนั้น สร้างให้กันอย่างเบ็ดเสร็จไม่ได้ เป็นได้เพียงมีบทบาทเป็นกัลยาณมิตรและสภาพแวดล้อมเพื่อให้ความบันดาลใจที่ดีๆเฉยๆแก่กันได้เท่านั้นครับ ส่วนเรื่องราวและความงอกงามจากการเรียนรู้ภายในจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่ผู้คนเขาจะสร้างขึ้นอย่างเฉพาะตนและอย่างมีความเป็นตัวของตัวเอง การทำงานศิลปะแนวนี้ จึงเปรียบเหมือนการทำงานเพื่อจัดวางปัจจัยแวดล้อมให้ผู้ชมเข้าถึงภาวะแห่งตนด้วยตนเอง หากผู้ชมดูโดยการหาความสวยงามจากข้างนอกอย่างเดียว บางทีก็เลยจะเห็นว่ามันไม่สวยงามอย่างใดเอาเสียเลยละครับ

งานศิลปะในแนวต่างๆก็มีวิธีวิพากษ์และมี Dialogue เพื่อนำเสนอทรรศนะดีๆมากมายเหมือนงานในสาขาอื่นๆเช่นกันครับ ที่สำคัญคือวิธีทำงานศิลปะมักเหมือนช่องทางไหลผ่านของความบันดาลใจจากสังคม สภาพแวดล้อม และการตกผลึกความร่วมสมัยของปรากฏการณ์ ดังนั้น จึงสามารถบันทึกและสะท้อนความเป็นสภาวการณ์ต่างๆของสังคมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงประสบการณอันลึกซึ้งต่อสังคมได้ แต่มันเป็นภาษาศิลปะ คนทำงานศิลปะในบ้านเราและในต่างประเทศใช้ศิลปะทำงานเชิงความคิด และบางทีก็จะไปได้ไกลกว่าวิธีการอื่นมากๆครับ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะโดยมากแล้วจิตรกรและศิลปินจะทำงานที่มีอิสรภาพภายในตนเองจากสิ่งจูงใจและที่ยึดเหนี่ยวภายนอกได้มากกว่าใคร งานความคิดที่มาก่อนกาลหรือก้าวหน้าจนพ้นยุคไปแล้วคนถึงจะถอดรหัสออกหรือตามทัน จึงมักจะเกิดผ่านวิธีทำงานศิลปะอยู่ตลอดมาครับ

ในบ้านเรานั้น บทบาททางศิลปะต่อสังคมอย่างนี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนทำงานศิลปะก็มักจะเบื่อหน่ายที่จะคุยภาษาอื่น ส่วนชาวบ้านคนทั่วไปก็ห่างเหินและปีนขึ้นไปดูงานศิลปะไม่ค่อยถึง อีกทั้ง ความเป็นสังคมบริโภคทางวัตถุและการเลือกสรรประโยชน์เพียงการได้กำไร ซึ่งมีอิทธิพลไปทั่วทุกระบบของทุกสังคมในโลกนั้น อะไรที่แม้เป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ดังเช่นธรรมชาติความงามทางจิตใจอย่างเรื่องศิลปะนี้ แต่มันไม่สามารถเป็นที่มาของการได้ประโยชน์ในรูปของกำไรและประโยชน์ทางวัตถุ สังคมก็จะใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ ก็เลยขาดการสั่งสมวิธีสร้างภูมิปัญญาและการเรียนรู้ตนเองไปอีกวิธีหนึ่ง จะว่าไปแล้วก็คือ เหมือนกับต้องทิ้งความเป็นจิตวิญญาณทางสังคมออกไปเลย

*ขอบคุณอย่างยิ่งค่ะสำหรับศิลป์อรรถกถาธิบายเพิ่มเติม ที่เคลื่อนจินตนาการของพี่ไปตามรูปถ่ายและรูปเขียนงดงามของอาจารย์ ซึ่งคลี่รายละเอียด และความหมาย ภายใต้ความมืดที่ไม่มืดอย่างที่เห็น..เหมือนดั่งคำกล่าวของ Em' ile Zola :

              "  He knows how to covey his impressions "

* เมื่อคืนนี้ พี่ได้กลับไปเปิดหนังสือรวบรวมผลงานศิลป์ ที่เคยชมชอบงานศิลป์ประเภทสีสันสวยงาม เป็นภาพในสวนบ้าง..ริมฝั่งน้ำบ้าง..ในทุ่งหญ้าบ้าง..แต่ครั้งนี้ ได้เลือกหาภาพย้อนแสงที่เคยมองผ่านๆ..ได้พบภาพสีทึมๆ ที่ต้องกลับมาเพ่งพินิจตามแนววิพากษ์ของอาจารย์..ได้เห็นความลึกซึ้งที่แอบแฝงมากขึ้น..

*ขอบคุณค่ะที่ช่วยให้เกิด "ตาถึง" งานประเภทนี้..

         

                             Camille's Souvinir of Italy

 

            

 

                         Renoir's Interpretation of Corot,1897

 

 

  • ภาพชุดนี้ของพี่นงนาทนี่ใช่เลยครับ เป็นภาพที่เล่นกับน้ำหนักของเงา ลูกเล่นของจิตรกรและมือถ่ายภาพเมื่อเล่นภาพในแนวนี้ก็คือ จัดวางน้ำหนักของเงาดำให้เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว นี้แนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งคือ เล่นน้ำหนักภายในเงาดำที่ไม่ใช่ดำทึบ ดูผ่านๆก็จะเห็นความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน แต่พอมองเข้าไปก็มีรายละเอียดลงไปอีก ไม่ได้ดำน้ำหนักเดียว
  • ในศิลปะภาพถ่าย ก็มีคนเล่นภาพแนวนี้ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ จิต จงมั่นคง คนทั่วไปจะเรียกเทคนิคภาพ Monochrome แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่านเล่นสองแนว คือ ภาพ Monochrome และภาพ Monochrome แบบ Sillhouette
  • ตัวอย่างภาพเขียนที่นำมาแบ่งปันกันดู ๒ ภาพข้างบนนั้น ก็เป็นแนวหนึ่งของภาพแบบ Sillhouette ครับ เพราะหัวใจของภาพแบบ Sillhouette คือ การเล่าเรื่องความงามด้วยน้ำหนักของเงาหรือด้านที่คนมักมองไม่เห็นคือด้านที่มองย้อนแสง
  • แนวคิดเดียวกันนี้ แม้ในภาพเขียนที่ไม่ได้เป็น Monochrome ก็เล่นได้สวยงามไม่แพ้กันครับ โดยเฉพาะในกลุ่ม Impressionist เพราะด้านที่เป็นเงาและย้อนแสงนั้น จะให้ความมีบรรยากาศ ซึ่งสื่อความประทับใจได้ดีกว่า อย่างในภาพข้างล่างนี้น่ะครับ

                     File:Monet dejeunersurlherbe.jpg

                             Claude Monet, Le déjeuner sur l'herbe,with Gustave Courbet, 1865-1866, Musée d'Orsay, Paris (คัดลอกภาพจาก Google)
 ภาพนี้เป็นงานของโมเนต์ ซึ่ง Emile Zola ก็ชื่นชมมากครับ เป็นภาพที่เล่าบรรยากาศความประทับใจด้วยไรแดดกับภาษาของเงาและรายละเอียดภายในเงาอีกทีหนึ่ง  สวยดีครับ

*พี่ขอกลับมาสนทนาต่อด้วยความประทับใจในมุมมองของอาจารย์ เรื่อง แสง-เงา และภาพนี้ของ Monet  ที่พี่ชื่นชอบมากค่ะ..รายระเอียดทุกจุดเสริมความสมบูรณ์ของทุก subject อย่างลงตัวที่สุด

*จากภาพศิลป์ ที่พี่เลือกมาอีก  ๒-๓ ภาพ ที่พี่มีความเห็นว่า ภาพเหมือนของสตรีเหล่านี้ ศิลปินได้ใช้จินตนาการของ ความมีชีวิตชีวา เพื่อแต่งแต้มความงดงามอย่างธรรมชาติ ชวนให้เพ่งพินิจครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งกว่ามองภาพถ่ายที่แห้งแล้งกว่ากันมากในเกือบทุกมิติ..สมดังคำกล่าวของ Em' ile Zola ข้างต้นด้วยค่ะ

 

            

                                   Renoir's Madmoiselle Marrie

 

                        

                              Renoir's Rapha Maitre'1871

                                

                  Renoir's Lise (Woman with Parasol) 1867

 

ที่มา : หนังสือรวมภาพศิลป์ของ Renoir: Painter of Happiness

สวัสดีครับพี่นงนาทครับ

  • เพลินเลยครับ สวยครับ ในหมู่คนที่ชอบงานอิมเพรชชั่นนิสต์นั้น ทรรศนะต่อความงามและสิ่งที่เป็นความสุทรีย์ในชีวิตที่สะท้อนอยู่ในรสนิยมทางศิลปะ ก็จะพูดเป็นบทสรุปได้อย่างคำกล่าวของ Em'iel Zola ที่ว่า "  He knows how to cover his impressions " อย่างที่พี่ยกมานี่เลยกระมังครับ เพราะความงามในแนวคิดของอิมเพรชชั่นนิสต์นั้นเป็นกระบวนการทางปัญญาในตัวคนที่เกิดจากการมีประสบการณ์ต่อผู้คน สังคม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในวิถีชีวิต
  • เรอนัวร์เป็นคนหนึ่งที่นำเสนอทรรศนะนี้ว่า มนุษย์นั่นเองคือความงามอันบริสุทธิ์ และการนำเสนอความประทับใจต่อประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ เขาบอกเล่าและนำเสนอด้วยบรรยากาศของแสง-เงา ไรแดด อากาศ ความเป็นชีวิตที่มีความรื่นรมย์ของปัจเจก
  • ขนบของของการเขียนภาพและการจัดองค์ประกอบที่สื่อสะท้อนทรรศนะต่อความงามและความสูงส่งอย่างในยุคก่อนหน้านั้นของยุคเรอนาซองส์ ก็นำเอามาใช้ด้วยครับ แต่เปลี่ยนบริบท ให้ความหมาย และจัดวางตำแหน่งแห่งหนใหม่หมด เช่น ลักษณะการเขียนผ้าที่ดูหรูหราอลังการและการเขียนเทวี-นางฟ้า ในเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนิยาย เรื่องราวในพระศาสนา ฉากในราชสำนัก และวงสมาคมของชนชั้นสูง อย่างคติต่อสิ่งที่เรียกว่างามสูงส่งในอดีต ก็กลายเป็นความอลังการผ่านพลังชีวิตและความรื่นรมย์ในวิถีชีวิตของคนทั่วไป
  • อิมเพรชชั่นนิสต์ในแนวของเรอนัวร์นั้น ภาษาแสง-เงา ไรแดด และการให้สีสันทั้งหลายของเขานั้น  รวมเป็นเอกลักษณ์ความเด่นที่ 'อากาศ' ครับ เขาเขียนความโปร่งและความรื่นรมย์ของชีวิตจนดูเหมือนมันอวลอยู่ในทุกอนูของอากาศ คนเขียนรูปมักต้องอุปมาอุปมัยว่า ขนาดอากาศที่มองเข้าไปใต้ซอกคอ ใบหู รูจมูก ใต้ปีกหมวก เหล่านี้ ยังสวยเลยครับ
  • มาเนต์นั้นต้องยอดของ 'ไรแดด' ครับ ส่วนโมเนต์ก็ต้องยกให้เป็นเจ้าพ่อของแดดที่สะท้อนอยู่ในเงา หรือ 'แสง-สีความสดใสในส่วนที่เป็นเงา'
  • ในบ้านเรามีคนโปรดปรานงานแนวอิมเพรชชั่นนิสต์อยู่จำนวนหนึ่งครับ จิตรกรและครูอาจารย์ที่ถือว่าเป็นคนบุกเบิกงานแนวอิมเพชชั่นนิสต์ของประเทศไทยที่เด่นๆ ก็คือ ศาสตราจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข แห่งสำนักศิลปากร และศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศก์ แห่งสำนักเพาะช่าง มิเซียม ยิบอินซอย ฯพณฯเสนีย์ ปราโมช รวมทั้งภาพฝีพระหัตถ์หลายชิ้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เหล่านี้เป็นต้นครับ
  • ในหมู่คนทำงานศิลปะและคนชมงานศิลปะนั้น คนดูและชอบงานแนวอิมเพรชชั่นนิสต์ หากเป็นเพลงก็เรียกว่าเป็นนักฟังเพลงแจ๊ส หากเป็นหนังสือก็คงเหมือนกับงานแนวประสบการณ์และปรัชญาชีวิตของเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์, คาริล ยิบราน, กราเบรียล กราเซียร์, หลุยส์ ลามูส์ เป็นงานที่สะท้อนรสนิยมและวิถีชีวิตของปัญญาชนคนชั้นกลาง ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่พัฒนาการดูและทำงานศิลปะ มีประสบการณ์จนตกผลึกประสบการณ์ในการเห็นภาษาความประทับใจมาระดับหนึ่งแล้วน่ะครับ

ความท้าทายอย่างหนึ่งของ กลุ่ม theory คือการลงไปเรียนรู้กับพื้นที่ ชีวิตจริงๆ นอกจากความคุ้นชินในตำรา เเละ อ้างอิงวาทกรรมบังคับที่มีกลิ่นเนยนม

เสน่ห์ของ PAR ก็คือ เห็นพลังที่เชื่อมกันระหว่าง คน กับ คน การผุดบังเกิดของความรู้ใหม่ที่ช่วยกันสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ทฤษฏีจะเติบโตเมื่อเราอยู่กับความจริงที่เป็นพลวัต

Unfalsifiable Theory-ism ครับ

  • คุณเอกนี่ก็เป็นมือวิจัยแบบ PAR มือหนึ่งคนหนึ่งนะครับ 
  • ยังไงกลุ่มคนทำวิจัยแนวนี้ที่เชื่อมโยงได้กับชุมชน คนทำมาหากิน รวมไปจนถึงคนทำงานเชิงพื้นที่ ก็ยังมีน้อยมากอยู่ดีครับ ใครที่เล่นแนวนี้ก็ยังมีเรื่องให้ทำให้ริเริ่มช่วยกันได้อีกเยอะครับ

ผมรู้สึกคัดจมูกเลยและความคิดทึบๆชอบกล วิธีหนึ่งที่แก้ได้ผลคือเปล่าขลุ่ยหรือเล่นกีตาร์แหกปากร้องเพลงเพื่อออกกำลังปอดและบริหารทางเดินของลงหายใจส่วนบน แลเวก็ได้อยู่กับตัวเองเพลินๆไปด้วย จนถึงเพลงนิทานหิ่งห้อยของศุ บุญเลี้ยง ผมเพิ่งเคยเอาเพลงนี้มาร้องเต็มๆด้วยตนเอง เคยแต่เล่นกีร์ต้าให้คนอื่นร้อง ไม่เคยฟังเนื้อร้องถนัดๆและเห็นรายละเอียดเลย พอร้อพักผ่อนเล่นแล้ว เนื้อเรื่องในนิทานเพลงหิ่งห้อย ก็ทำให้นึกถึงภาพเขียนแนวเล่นกับแสง-เงาและไรแดด รวมทั้งภาพเขียนแนวย้อนแสงแบบ Sillhouette ......วิธีคิดในเนื้อเพลงถ่ายทอดไว้ว่า......

              ...........เรื่องราวกล่าวขานมานาน
              ว่าใครได้จับหิ่งห้อยมาเก็บเอาไว้ใต้หมอน
              นอนคืนนั้นจะฝันดี จะฝันเห็นดวงดาวมากมาย
              ฝันเห็นเจ้าชายเจ้าหญิง ฝันแสนสวยงาม......

              ..........................................................
              ..........................................................

              .................หลังจากแอบไปจับหิ่งห้อยเอาเก็บไว้ใต้หมอนแล้วคืนหนึ่ง
              รุ่งเช้า  ก็ไม่ยักฝันเห็นอะไร เด็กน้อยเลยรีบไปค้นดูที่ใต้หมอน.....
               พลันก็พบกับหนอนตัวหนึ่งนอนแทนหิ่งห้อย อยู่ในกล่อง
               ไม่สวยเหมือนตอนเป็นหิ่งห้อยเกาะบนต้นลำพูและส่องแสง...........

               คุณยายของเด็กน้อย เห็นเด็กมีประสบการณ์และรับรู้ต่างๆได้ดีแล้ว
               ก็เลยอบรมสอนคิดสอนหลักชีวิตให้ว่า.......
               การมองเห็นความงาม
               ต้องเห็นความเป็นทั้งหมดตามความเป็นจริง
               อย่าขังความจริงเพียงให้ไม่เห็น
               ก็เป็นการไม่ขังความงาม

ได้อารมณ์และหลักคิดเช่นเดียววิธีคิดในศิลปะของแสง-เงามากเลยทีเดียวครับ การเห็นโอกาสในวิกฤติ การเห็นโอกาสสร้างความสุขในการแก้ไขความทุกข์ การเห็นน้ำหนักบนแสงสว่าง และการเห็นสีสันกับความสว่างรื่นรมย์ในเงา ก็เป็นมรรควิถีศิลปะแนวหนึ่งที่น่าสนใจ ลึกซึ้ง.
   

* พี่มาขอแก้คำผิด 2 ที่ในความเห็น ที่ 7 และ 9 ค่ะ : 

Em' ile Zola :

              "  He knows how to convey his impressions "

 

            

    Renoir's " Among the Roses (Madame Le'on Clappison,1882)"

 

* ในโลกใบนี้ มีความงามของธรรมชาติหลากหลายเกินกว่าจะหยิบจับได้หมดในช่วงชีวิตหนึ่ง ซึ่งสำหรับพี่แล้ว..ยังเป็นเสมือนเด็กน้อยกับหิ่งห้อย ที่ต้องเรียนรู้แง่มุมความงามรอบตัวอีกมากมาย..ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่เปิดโลกทัศนศิลป์ที่ G2K แห่งนี้..

*เมื่อเช้านี้ แสงแดดสดใสมาก พี่เก็บดอกชบาสีเหลืองจากบ้านมาฝากค่ะ...

       

 

  • ขอบพระคุณครับพี่นงนาทครับ
  • พี่นงนาทก็ออกตัวมากเลยนะครับ
  • ในหมู่คนดูงานศิลปะนั้น คนสะสมและดูงานเรอนัวร์นี่เขาจะไม่ยอมรับว่าเป็นเด็กน้อยทางประสบการณ์ศิลปะหรอกนะครับ
  • อย่างผมนั้น งานอิมเพรชชั่นนิสต์นี่ ผมมาชอบเอาเมื่อเรียนศิลปะไป๓-๔ ปีแล้วครับ

                                     Stilllife 

  • นอกจากชอบแล้ว ผมเขียนแนวอิมเพรชชั่นนิสต์อยู่ชุดหนึ่งด้วยครับ ภาพข้างบนนี้ก็เป็นชิ้นหนึ่ง ก็เล่นขนบเดียวกับโมเนต์เลยละครับ คือโชว์การอ่านบรรยากาศภายใต้เงา และโชว์การอ่านสีของบรรยากาศภายใต้ภาพย้อนแสง ยุคนั้นพอจะมือขึ้นอยู่ครับ แม่นสีอากาศ แต่ตอนนี้ไม่ได้ความแล้วละครับ ให้เขียนอย่างนี้ก็เขียนไม่ได้อีกแล้ว
  • ปรัชญาและวิธีคิดของงานแนวอิมเพรชชั่นนิสต์มีความลึกซึ้งและให้มุมมองต่อสิ่งต่างๆแหลมคมและมักให้ความบันดาลใจมากๆอยู่เสมอๆในทุกภาพครับ
  • บางคนก็มองว่า พลังปัญญาและการนำเสนอทรรศนะต่อความงามที่ลึกซึ้งที่สุดของงานอิมเพรชชั่นนิสต์ก็คือ (๑)  ความงามของความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงบนงานทัศนศิลป์...หากเทียบกับวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ก็คือ การแสดง ๒ สถานะของพลังงานและมวลสารไปด้วยกัน  (๒) บรรยากาศและสีสันที่ต้องผสมกับในกระบวนการทางสมอง....การทำให้เห็นด้วยกระบวนการทางความคิด ที่ทั้งเป็นและไม่เป็นสิ่งเดียวกันกับองค์ประกอบภายนอก
  •  (๑)  วิธีการก็คือ....ลักษณะทีแปรงและสโตรก มันเหมือนกับไม่ชัด ด้านหนึ่งก็เหมือนกำลังเละๆละลายจากรูปทรงหนึ่ง แล้วก็ทำท่าจะขึ้นรูปไปยังอีกรูปหนึ่ง ยึกยือ-ยึกยือ บอกไม่ได้ว่า รูปทรงที่เป็น Mass และทำท่าจะละลายไป หรือทีแปรงลางๆที่ทำท่าจะเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทีแปรงและสีสันฟอร์มตัวกันขึ้นนั้น ด้านไหนจะเป็นความจริงที่สุด สิ่งที่ผ่านมาแล้วหรือสิ่งที่กำลังจะเป็นคือความจริง ....ดังนั้น ด้วยวิธีการอย่างนี้มิติที่สาม คือความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอน จึงสามารถบังเกิดขึ้นได้
  •   (๒)   ส่วนสีสันและบรรยากาศความประทับใจนั้น ที่เห็นนุ่มนวล สวยงามนั้น พอเพ่งดูเข้าจริงๆก็ไม่มีสิ่งที่เราเห็นอยู่ในรูปเขียนข้างนอกหรอกนะครับ เพราะรูปเขียนแนวอิมเพรชชั่นนิสต์นั้น เขาจะเขียนเหลื่อมสี และทิ้งทีแปรงเพื่อเปิดโอกาสให้มิติความว่างและอากาศเข้ามาเป็นส่วนผสม ดูในรายละเอียดแล้วสีต่างๆก็จะแยกๆกันอยู่นะครับ แต่ดูในภาพรวมแล้วเรากลับเห็นบรรยากาศความประทับใจที่จิตรกรต้องการนำเสนอ นี่แหละครับทีเด็ดของงานแนวนี้

*พี่เพ่งพินิจภาพเขียนของอาจารย์ที่งดงามครบทุกมิติตามที่ได้บรรยายไว้ทุกประการ..เก็บมุมสวยทั้งแสง-เงา-อากาศ ได้ดั่งที่อยากจะแสดงออกอย่าง"แม่นยำ" ตาม theme ที่ต้องการ..ไม่หลุดเลอะเกินเลยแม้แต่น้อยนิด..ทั้ง texture ของกลีบดอกไม้ ตะกร้าหวาย และองค์ประกอบอื่นทุก subject ที่กลมกลืน..สุดยอดจริงๆค่ะ..

*ศิลปินคิดเหมือนกันได้..ผู้ชมเห็นต่างกันได้..แต่มารวมลงอยู่ด้วยความสุขที่รื่นรมย์ในความงดงามนี้เหมือนกันๆนะคะ..

 

                 

                         Renoir's Flowers in a Vase ,1886

ที่มา : หนังสือรวมภาพศิลป์ของ Renoir: Painter of Happiness

  • ชื่อรวมเล่มที่ให้นิยามความเป็นเรอนัวร์ชุดนี้นี่ดีนะครับ Renoir : Painter of Happiness
  • เป็นเหมือนกับวิธีพูดถึงงานแนวอิมเพรชชั่นนิสต์อีกวิธีหนึ่งว่า ความประทับใจ หรือ Impressionist เป็นสายตาและมุมมองแห่งความสุขทั้งต่อตนเองและโลกรอบข้าง

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

  • นึกอยู่พอดีครับ อยากให้คนที่ค้นหาด้วยหัวข้อศิลปะ สามารถหาเจอได้
  • จะขออนุญาตพี่นงนาทไว้ล่วงหน้านะครับ ผมอยากจะดึงข้อมูลและภาพในนี้ไปทำเป็นหัวข้อต่างหากในบล๊อกทางศิลปะอีกรอบน่ะครับ
  • แต่ในนี้ก็จะรักษาไว้อย่างนี้ด้วยครับ มันเป็นการสนทนาต่อเติมความคิด เกิดพัฒนาการ ต่อเติมการเห็นกันและกันที่มีความเป็นธรรมชาติดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท