Admin .Journal Club 23 :สุนทรียสาธก(Appreciative inquiry)


เรื่องเล่าที่ดีขององค์กร จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้และเป็นหัวใจของการสร้างพลังขับเคลื่อนที่ให้ชีวิตกับองค์กร

     ในเวทีAdmin. Journal Club เมื่อศุกร์2พ.ค.51 ผู้เขียนได้เป็นผู้นำเสนอ โดยนำเรื่องสุนทรียสาธก(Appreciative inquiry)ในหนังสือองค์กรไม่ใช่เครื่องจักร:การบริหารจัดการกระบวนทัศน์ใหม่(Living Organization)ของนพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์และคณะ มาเล่าในเวทีAdmin.และขออนุญาตคัดลอกบางส่วนมานำเสนอนะคะ

   สุนทรียสาธก (Appreciative inquiry)  เป็นวิธีคิดใหม่ ในการจัดการองค์กรด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรโดยเน้นการสร้างมุมมองด้านบวกต่องานและการเรียนรู้จากประสบการณ์ด้านบวกขององค์กร ด้วยการสร้างความรู้สึกที่ดี  การเห็นคุณค่าความดีงามที่มีอยู่ในองค์กรและการสร้างสรรค์ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานในองค์กร  สุนทรีสาธกหรือ  Appreciative  inquiry ได้รับการพัฒนาโดย  David  CooperridและSuresh  Srivastva  ในปีคศ .1980

     กระบวนการสุนทรียสาธก มีหลักการเบื้องต้นที่ว่า  ยิ่งไปเน้นส่วนขาดและปัญหา  ส่วนขาดและปัญหาที่ว่าจะยิ่งมองเห็นเด่นชัดและปัญหาที่ยิ่งคิดยิ่งปรุงแต่งมากขึ้นนี้จะล้นท่วมและทำให้ระบบล่มสลาย เพราะว่าขวัญกำลังใจก็หดหาย  อุดมคติในการทำงานก็จางคลาย  รวมทั้งคุณค่าในการทำงานก็หมดสิ้นไปด้วย

   สุนทรียสาธก จะเน้นการเห็นศักยภาพว่าสำคัญกว่า การรู้ปัญหา การเห็นปัญหาในองค์กรแม้จะมีความสำคัญ  แต่การพูดถึงแต่ปัญหาตลอดเวลา  ก็ยิ่งเป็นการสร้างปัญหามากขึ้นไปด้วย  และถ้าเราไม่เห็นแง่มุมของศักยภาพองค์กร  เราจะไม่มีทางออกจากวังวนของปัญหาได้เลย ศักยภาพองค์กรที่พูดถึงนี้สามารถค้นหาได้จากเรื่องเล่าของผู้คนในองค์กรเพราะในการเล่าเรื่องนั้น  ผู้คนมักผนวกเอาจินตนาการหรือความใฝ่ฝันเข้าไว้ด้วย

    เรื่องเล่าที่ดีขององค์กร  จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้และเป็นหัวใจของการสร้างพลังขับเคลื่อนที่ให้ชีวิตกับองค์กร  ช่วยให้องค์กรมีพลังมากขึ้น  กล่าวได้ว่า  ถ้าองค์กรไหนขาดเรื่องเล่าที่มีพลัง  องค์กรนั้นก็จะไม่มีพลังที่ขับเคลื่อนฟันฝ่าอุปสรรค์ต่างๆได้

     กระบวนการสุนทรียสาธก  มี4 ขั้นตอน

1.        Discover  เริ่มต้นจากการให้สมาชิกในองค์กรแต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวแง่มุมที่ดีที่สุด   และช่วงเวลาที่ดีที่สุดจากประสบการณ์การทำงานกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ

2.      Dream   จัดประชุมกลุ่มใหญ่ขึ้น  เพื่อให้สมาชิกในองค์กรใช้เรื่องเล่าในการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกขององค์กรที่ต้องการอยากให้เป็นร่วมกัน

3.      Design   คนกลุ่มเล็กๆ  กลุ่มหนึ่งไปคิดวิธีการเพื่อสร้างองค์กรให้เกิดขึ้นจริง  ตามภาพลักษณ์เชิงบวกขององค์กรที่สมาชิกทุกคนเห็นร่วมกัน

4.      Deliver  หรือ  Destiny  ดำเนินการอย่างสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร  ตามวิธีในข้อ3

        เรื่องเล่าในกระบวนการสุนทรียสาธก

            เรื่องเล่า  (เขียนหรือเล่าจากปาก )  ในกระบวนการสุนทรียสาธกเริ่มต้นจากให้คนเล่าคิดว่าจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมามีประสบการณ์  การทำงานใดที่ดีที่สุด  ประทับใจที่สุดในชีวิตการทำงาน  และเขาอยากจะบอกเล่าเรื่องราวให้สมาชิกคนอื่นในองค์กรได้เรียนรู้  อาจจะเป็นเรื่องของเพื่อนร่วมงาน  เรื่องของตัวเองหรือเรื่องราวชีวิตขององค์กรในแง่มุมใดก็ได้

            เมื่อนำเรื่องราวมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนให้สมาชิกคนอื่นในกลุ่มฟัง  เรื่องเล่าจะไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป  แต่จะกลายเป็นเรื่องราวของชีวิตองค์กรที่ไหลเวียนอยู่ในชีวิตการทำงานประจำวันที่คงทำงานในองค์กรไม่เคยสนใจหรือให้ความสำคัญเรื่องราวชีวิตองค์กรเหล่านี้จะสะท้อนเรื่องราวดีๆและศักยภาพองค์กร   แง่มุมดีๆในองค์กรและชีวิตการทำงานที่เขาชื่นชมและเห็นคุณค่า  ตรงจุดนี้เองที่เป็นศักยภาพขององค์กรที่ควรจะได้รับการพัฒนา  และเป็นทิศทางการพัฒนาขององค์กรในอนาคต

               ผู้เขียนได้นำการเรียนรู้นี้ไปต่อยอดในเวทีประชุมผู้บริหารพบหัวหน้างานนหัวข้อเล่าเรื่องความดี โดยพี่กรรณิการ์ โค้วเจริญมาเล่าเรื่องการทำงานกับผู้ป่วยในชุมชนผู้เขียนฟังแล้วก็รู้สึกได้ถึงความสุขและความภาคภูมิใจของทีม

หมายเลขบันทึก: 184668เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2008 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณนะคะ เรามาช่วยกันสร้างสิ่งดีๆให้กับองค์กรกัน พี่ขอชืนชมในความกล้าหาญที่เราจะบอกใครๆว่าเราจะไม่มาสายแล้ว พี่ว่าเราเป็นตัวอย่างในการเปลียนแปลงที่ดีค่ะ

อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยครับ ผมเพิ่งทราบว่า AI เราใช้ชื่อภาษาไทยว่า "สุนทรียสาธก"

ส่วนผมเพิ่งรู้จักคำว่าสุนทรียสาธก

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยนนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท