PCU Corner : เงื่อนไขชีวิต เงื่อนไขชุมชน ถ้าทำตามได้ เราจะมีความสุข & สนุก


ช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่มีโอกาสเขียนบันทึกเลยครับ เพราะมีเรื่องราวที่ต้องจัดการมากมาย เดือนนี้ทั้งเดือน มีการอบรมที่ อุบลราชธานี ให้แก่เจ้าหน้าที่ pcu ในเขต 14 ทุกแห่ง  เรื่อง " วิถีชุมชน กับการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น " 5 รุ่น  ราว 1,200 คน อาจารย์ผู้สอนคือ อาจารย์ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์กับคณะ  ผมได้แต่เคยอ่านหนังสือ วิถีชุมชน ที่อาจารย์เขียน กับดู VCD  แล้วก็เอา vcd เปิดให้ เจ้าหน้าที่ดูบ่อย ๆ  อ่านแล้วรู้สึกพอจะเห็นแสงนำทางในการทำงานกับชุมชน อยากให้เจ้าหน้าที่ pcu  ได้เข้าใจได้รับรู้ เรื่องราวเหล่านี้ ช่วงนี้สมหวังจริง ๆ

ผมตั้งใจเข้ารับการอบรมเป็นพิเศษทีเดียว ขอผู้จัดเพื่อเข้าร่วมด้วย เพราะสิ่งที่ไม่เก่งเอาเสียเลย ก็เรื่องชุมชนนี่แหละครับ  อยากเรียนรู้มาก ๆ  วันแรกอาจารย์โกมาตร สอนเครื่องมือ 7 ชิ้น ที่จะพาเข้าสู่โลกของชุมชน   และแนวคิดหลัก ปรัชญา  ปฐมภูมิ   วันที่ 2 ออกทำกิจกรรมในหมู่บ้าน   ผมลองถอดคำว่าหมอออก ถอดคำว่าเจ็บป่วยออก เข้าหมู่บ้านด้วยความอยากรู้จักชุมชน อยากรู้ว่าเขาอยู่ เขาเป็นยังไง  เครื่องมือที่อาจารย์สอน มันก็สนุกจริง ๆ อย่างที่อาจารย์ว่าเอาไว้ 


ผมไปกับกลุ่ม ประมาณ 10 คน  มีพี่นก เป็นพี่เลี้ยง  ไปบ้านดอนชี อ.เมือง  ช่วงเช้า ให้ทำแผนที่เดินดิน สำรวจ ฉากของละคร ว่าเป็นอย่างไรบ้าง  ผมเริ่มเข้าใจเลยว่าทำไมต้องเดินทำแผนที่ ไม่นั่งรถทำ หรือขอแผนที่จาก อบต.    เดินไป ดูไป ทักทายคนในหมู่บ้านไป  ตอนบ่าย ก็เลือก คนที่เราอยากคุยด้วย ก็เข้าไปคุยกับตัวละครที่เราเจอเมื่อเช้า

ตอนเช้าระหว่างเดิน มีลุงถนอม มึนมาเล็กน้อยตั้งแต่เช้า เดินตามกลุ่มเรามาตลอด ผมเลยตั้งให้แกเป็น navigator    ผมสังเกตเห็น เสาหลักบ้านอยู่กลางถนนเลยครับ ไม่ได้เป็นวงเวียน แต่เสาปักกลางถนนเลย ก็เก็บความสงสัยไว้

  ลุงถนอม navigator กลุ่มเรา  เสาหลักกลางบ้าน

ผ่านบ้านหลังหนึ่งมีคุณยาย สูงอายุ 2 คน นั่งอยู่น่ารักเชียว ผมเลยเลือกที่จะเข้ามาคุยกับบ้านนี้ตอนบ่าย  กับอีกหลังหนึ่ง ชื่อยายเฮือง ผมเห็น หนังสือร่างรัฐธรรมนูญ เลยถามแกว่า ยายเลือกช่องไหน แกวน ๆ นิ้วสักพักแล้วจิ้มลงอย่างที่เห็นนี่แหละครับ

Pict1138Pict1139 ผมเลยเลือกมาคุยกับแกต่อตอนบ่าย เพราะอยากคุยกับแกต่อ

ตอนบ่าย เข้าไปคุยกับ บ้าน คุณยายรุณ อายุ 95 ปีแล้วครับ กับคุณยาย พู อายุ 86 ปี ยายรุณเป็นแม่เลี้ยงยาย พู ซึ่งไม่มีสามี แกเลยอยู่ด้วยกันมานานจนสนิทกัน ( ดูตามอายุที่อยู่ด้วยกันมา ก็น่าจะสนิทกันจริง ๆ ) ที่บ้านอยู่กับหลานสาว หลานเขย ตอนกลางวันก็อยู่กันสองคน บนแคร่   ยายรุณหูแกหนวกไม่ได้ยินแล้วครับ แกพูดกับ อรรถ ที่มากับผมว่า  " มายังไง เสียเงินจั๊กบาท มีเมียหรือยัง" แล้วก็นอนต่อ สักพักลุกขึ้นมา "เอามาราเซมอน มาให้แม่หน่อยเด้อ " ยายพูนั่งข้าง ๆ ก็พอกันครับ นั่งหัวเราะเอิ๊กอ๊าก  ผมกับอรรถ ต้องการถามเรื่องผังเครือญาติ ของแก ดูท่าทางตระกูลน่าจะใหญ่ อยากรู้จักชีวิตแก  แต่แกจำได้แค่ตอนจบ ป. 6  กับเมื่อเดือนก่อน ถามเรื่องราว ระหว่างนั้นไม่รู้เรื่องเลยครับ  แต่ก็สนุกดี

สักพักผมกับ อรรถกำลัง จนแต้มไม่รู้จะถอดผังเครือญาติ ประวัติชีวิตยังไงดี  ยายเพ็งข้างบ้านเดินเล่นมาพอดี แกอายุ 65 ปี ผมเลยถามแก ได้ความว่า ยายรุณเป็นลูกสาวคนเล็ก พ่อใหญ่แป  พาชนพูล ก็พ่อใหญ่แป นี่แหละ เป็น คนพาชาวบ้านอพยพมาตั้งหลักปักฐานที่นี่ แล้วก็เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ผมเลยถามว่า ยายเห็นเสาหลักบ้าน มาตั้งแต่เกิดเลยหรือเปล่า แกบอกว่าใช่  เมื่อก่อนตอนแกเกิด มีเหตุการณ์   บ้านเดือด คนตายหามออกจากหมู่บ้าน  1 คน กลับมาตายต่ออีก 2 คน พ่อใหญ่แป เลยพาคนย้ายมาอยู่ที่นี่ หมู่บ้านเดิมเลยเป็นป่า เป็นที่ตั้งของศาลปู่ตา เรียกว่า พ่อสุพรรณ   ผมนึกในใจ " บิงโก ! "   พ่อสุพรรณเป็นปู่ตาที่คุ้มครองหมู่บ้าน  ได้เรื่องราวของพ่อใหญ่แป และครอบครัว พอสมควร ได้ประวัติศาสตร์ชุมชน มาด้วย

กลับมารวมกลุ่มที่วัด ผมเห็นคนหนึ่งนั่งตัวดำ อยู่ที่แคร่ เดินไปนั่งด้วยลองถามเพื่อความแน่ใจ  " พี่ ๆ รู้จัก ปู่สุพรรณไหม ? "  แกบอก ทำไมจะไม่รู้จัก เวลาทำอะไรในหมู่บ้านต้องบอกท่านก่อนนะ ทำอะไรไม่ดีไม่ได้นะ ท่านจะมาเตือน  พร้อมชี้ไปที่คนข้าง ๆ " เนี่ย เมียมันชอบด่าคน เมื่อเดือนก่อน ปากเบี้ยวไปเลย ฮึ ฮึ "  คนข้าง ๆ พยักหน้า หงึก ๆ บอก ผู้ใหญ่บ้านพูดถูก    ผมนึกในใจ " อ้าว ผู้ใหญ่บ้านเองหรือนี่  วันนี้ บิงโกบ่อยเหลือเกิน ! "  

 เลยถามถึงหลักบ้าน แกบอกว่า ตอนย้ายมาเมื่อ 64 ปีก่อน ตอนบ้านเดือด ก็มาตั้งหลักบ้าน เรียกว่า " บือบ้าน " เวลาพระจะบิณฑบาตร ต้องเดินไปเริ่มต้นที่บือบ้าน แล้วเดินกลับ ชาวบ้านถึงจะเริ่มใส่บาตรได้ เมื่อก่อน มีสี่เสาเลยนะ เป็นไม้แก่น  ไม่กี่ปีก่อน อยากให้เหลือเสาเดียวทันสมัยหน่อย  ก็ต้องไปหาพ่อใหญ่ตาล แกเป็นคน "เสี่ยง " 

 ผมเลยถามต่อว่าเขาเสี่ยงกันยังไง   แกบอกว่า ก็ ให้พ่อใหญ่ตาลถามท่านว่าจะอนุญาตให้เปลี่ยนเสาไหม เอาไม้ท่อนขนาดยาวเท่า ปลายนิ้วมือซ้าย ถึงปลายนิ้วมือขวา ตอนกางแขนสุด ถ้าอนุญาต  วัดครั้งที่สองก็ทำให้ไม้สั้นลง เลยถามว่าสั้นลงไม๊ล่ะ ผู้ใหญ่บอกว่า ก็สั้นลงไปคืบหนึ่งจริง ๆ เลยได้เปลี่ยนเสา   

 เมื่อปีก่อน รองเจ้าอาวาส  มรณภาพเจ้าอาวาสอยากใช้รถ รับศพไปทำพิธีที่ป่าช้า ก็ต้องเสี่ยง  ผมเลยว่า อ้าว ปกติไม่ได้ใช้รถรับศพไปเผาหรือ  แกบอกว่า ป่าช้าอยู่ออกไป 2 กิโลเมตร เดิมเคยใช้คนแบกศพ เริ่มจาก บือบ้านนี่แหละ ไปเผาที่ป่าช้า เป็นอย่างนี้มาเป็นร้อยปีแล้ว ไม่มีเมรุเผานะ เผากันกับกองฟอนเลย  ก่อนเผา หนึ่งวัน คนแก่ในบ้านจะเดินไป เอาไข่ลองโยนดู ถ้าไข่ไม่แตก แสดงว่าที่ตรงนั้นมีเจ้าของ ต้องหาที่เผาใหม่  ผู้ใหญ่บอกว่า ก็แปลก ทุกครั้งที่ขุดฝังกระดูกไม่เคยเห็นกระดูกคนที่ถูกเผามาก่อนเลย   ปรากฏว่า พ่อสุพรรณอนุญาต ให้ใช้รถรับศพไปเผาได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาเป็นอันสิ้นสุด พิธีแบกศพหันมาใช้รถแทน  ผมลองมองดูที่วัด ก็ไม่มีเมรุเผาศพจริง ๆ   เมื่อ 4 ปีก่อน ได้ งบ  SML มาสร้างศาลาบริเวณป่าช้า ยังต้อง "เสี่ยง"  ถามพ่อสุพรรณก่อนเลย

หันไปเห็นกำแพงวัดมีช่อง เปิดเอาไว้พอคนเดินผ่าน  ผู้ใหญ่บ้านเลยบอกว่าเมื่อก่อนเป็นทางเดินคนเก่านี่แหละ พอสร้างกำแพงวัด ก็เลยต้องเจาะช่องไว้ 3 ช่อง  เพื่อให้พ่อสุพรรณ เดินผ่าน คอยตรวจตรา

ที่นี่เวลาใครจะไปจะมา ต้องมาบอก "เฒ่าจ้ำ " ชื่อ ศุภกิจ  เป็น อบต.ด้วย   เป็นคนที่ พ่อใหญ่ตาลเลือกตาม พ่อสุพรรณ   เวลาจะแจ้งพ่อสุพรรณ เรื่องอะไร  ต้องมาบอก "เฒ่าจ้ำ"  แต่คน "เสี่ยง" คือ พ่อใหญ่ตาล  

ตอนนั่งพัก  ผมแปลกใจเล็กน้อย เรื่องทั้งหมด เกิดที่ อำเภอเมือง ปี 2550


เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

 

1. เพียงแค่วันเดียว ผมได้รับรู้เรื่องราว ของบ้านที่ไม่เคยได้รู้จักมาก่อน จากการใช้เครื่องมือที่ทำให้รู้จักโลกของชาวบ้าน   เหมือนอย่างที่อาจารย์ โกมาตร บอกว่า  ได้ผล แล้วก็สนุกที่จะทำด้วย

2. ถ้าเราถอด หมวก หมอ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ถอดคำว่า สุขภาพความเจ็บป่วยออก  ก่อนเข้าไปเรียนรู้วิถีชุมชน เราจะได้อะไรมากมาย     กว่าที่เราเคยได้เรียนรู้ เมื่อเราเข้าไปในชุมชนเพียงเพราะว่า เราจะเข้าไปหาปัญหาสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ

3. วิถีชุมชน ซับซ้อน มีชีวิต มีเรื่องราวที่ร้อยเรียง  มีเงื่อนไข เหมือนชีวิตคน    ถ้าเราต้องการทำงานที่เกี่ยวกับสุขทุกข์  ของคน ของชุมชน  ให้ได้ความเหมาะสม และพอดี  มีเหตุมีผล    ผมเห็นทางออก ก็คือ  ต้องรู้จักคน รู้จักชุมชน  เป็นอย่างดี เสียก่อน เราถึงจะค่อยมาคิดวางแผนการทำงานให้เหมาะสม ต่อไป 

ทำงานตาม เงื่อนไขชีวิต  เงื่อนไขชุมชน

4. แถมท้าย  !!!   ผมถามคุณยายเฮือง ว่าทำไมเลือกไม่รับรัฐธรรมนูญ  แกบอกว่า จะมาเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่มีมานานตั้งแต่ พ่อแม่ ได้ยังไง ชาติไทยก็จะเปลี่ยนไป  ( แกเข้าใจว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญมีฉบับเดียว ) เลยถามต่อว่าแล้วมีใครมาบอกอะไรยายไหม ว่าให้รับ หรือไม่รับ แกบอก จั๊กแล้ว ยายคิดเอาเอง    เป็นอันสรุปว่า ที่ยายเฮืองไม่รับรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับ อำนาจเก่า อำนาจใหม่ ใด ๆ ทั้งสิ้น

หมายเลขบันทึก: 126670เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2007 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ไม่น่าเชื่อว่าเพียง 1 วัน คุณหมอจะสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลพื้นฐาน ทั้งในด้านภูมิศาสตร์และความเชื่อ ได้เยอะเช่นนี้ อ่านแล้วเห็นภาพของชุมชนในต่างจังหวัด ทำให้ผมได้มีแนวคิดใหม่ในการทำงานระดับชุมชน ขอขอบพระคุณคุณหมอจิ้นมากครับ

ป.ล.ตัวจริงคุณหมอหนุ่มกว่าที่ผมคิดมากๆ เลยครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอจิ้น

อ่านบันทึกคุณหมอแล้วได้ความรู้ใหม่ๆ มากเลยค่ะ  อย่างที่คุณหมอว่ามานั้นเห็นด้วยเลยค่ะว่าการลงพื้นที่จริง ได้ข้อมูลพื้นฐานดีๆ เยอะมาก  

การที่ชุมชนมีหลักมีความเชื่อในการเคารพ"พ่อสุพรรณ" นั้นดิฉันว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนมีความสามัคคี และให้ความเคารพในความคิด และการกระทำของผู้เฒ่าผู้แกที่มีประสบการณ์ดีค่ะ 

ว่าแต่ว่าเครื่องมือ 7 ชิ้นที่ว่าคืออะไรบ้างคะ อยากรู้น่ะค่ะ ถ้ามีเวลาและไม่กวนเกินไปค่อยตอบก็ได้นะคะ ขอบคุณมากค่ะคุณหมอ 

สวัสดีค่ะคุณหมอคะ

การเป็นหมอแบบคุณหมอ มีไม่มากนะคะ

ปกติแล้ว งานจะมากและเหนื่อย จนไม่อยากจะไป เสาะหาข้อมูลอะไรอีกแล้ว

การเข้าไปในชุมชน เราได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ขึ้นมาก

ดิฉันเคยทำโรงงานที่กาญจนบุรี เลยได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านหลายอย่าง บางอย่าง ไม่สัมผัสเองไม่อยากจะเชื่อ

เปลี่ยนความเชื่อและมุมมองของดิฉันไปบางอย่าง แต่ก็ทำความเข้าใจกับวิถีการอยู่กินของเขาด้วย ถ้าเราอยากเข้าใจ ก็เข้าใจไม่ยาก

ดิฉันเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยเคยไปดูในรายละเอียดของวิถีชีวิตที่ต่างมุมกับตัวเองเท่าใด แต่เมื่อมีโอกาส ไปสัมผัส ดิฉันก็ชอบนะ เป็นคนชอบความแปลกใหม่ในชีวิตอยู่แล้วค่ะ

แต่สิ่งหนึ่งที่ประทับใจดิฉัน ไม่มีวันลืม คือคนชนบท มีน้ำใจมากๆค่ะ

ตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ คุณพ่อพาไปเที่ยวเพ็ชรบุรี แล้วรถเราเสียที่อำเภอเล็กๆแห่งหนึ่ง กว่ารถจะซ่อมเสร็จก็เย็น ประมาณ 5 โมงเย็น หิวข้าวมากๆ มีบ้านหลังหนึ่ง ใกล้ๆกับที่เราซ่อมรถ เอาน้ำมาให้ และชวนเราทานข้าว ข้าวเพิ่งหุงเสร็จทานกับเนื้อย่างจิ้มน้ำปลา ดิฉันหิวจนตาลาย ทานข้าวกับเนื้อ จนเนื้อหมดไปครึ่งจาน คุณแม่สะกิดว่า พอแล้ว เกรงใจเขา

แต่เจ้าของบ้านไม่ว่า กลับมองอย่างเอ็นดู

เขาน้ำใจดีจริงๆค่ะ ยังจำได้ และประทับใจมากด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอจิ้น ชีวิตในชุมชนมีเสน่ห์ชวนให้เรียนรู้จริงๆนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนภายนอกที่จะเข้าไปมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนไม่ว่าด้านใด

วิถีและประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แม้บางอย่างจะเป็นที่เข้าใจยากต่อคนยุคใหม่

นับถือคุณหมอโกมาตรอย่างยิ่งเลยค่ะ ที่เป็นหมอที่วิสัยทัศน์ไกล หัวใจเปิดกว้าง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในวงการแพทย์มากมายให้มองชุมชน ผู้ป่วย และการรักษาแบบพื้นบ้านในมุมที่แพทย์สมัยใหม่มักมองข้าม

อ่านบันทึกนี้ของคุณหมอจิ้น นอกจากจะได้รู้จักหมู่บ้านและผู้คนที่มีชีวิตผ่านตัวหนังสือแล้ว ยังได้ยิ้มไปด้วยขณะอ่าน

  • สวัสดีค่ะ
  • รับรู้ได้ถึงความสุขที่บ้านดอนชีของคุณหมอเลย
  • คนอ่านก็เลยพลอยสนุกไปด้วย(นั่งยิ้มอยู่คนเดียวขณะอ่านบันทึก)
  • นี่แหละเสน่ห์ของคนในชนบทที่เป็นกำลังใจให้คนทำงานในชุมชน

สวัสดี ครับคุณธิติ

งานชุมชนมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้ และละเอียดอ่อนกว่าที่คิด  ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อีกมากเลยครับ

สวัสดีครับ อาจารย์กมลวัลย์

ตอนผมนั่งคุย ไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกแบบอาจารย์ว่าเลยครับ  ที่นี่เขามีสิ่งยึดเหนี่ยวคอยกำกับ  สังคมสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ความเชื่อเป็นตัวกำกับ ให้สังคมอยุ่เย็นสุข เพราะคนไม่กล้าทำไม่ดีครับ

เครื่องมือที่ทำให้เราเรียนรู้ชุมชน  เพื่อเข้าใจชุมชนในทุกมิติที่ สนุก และได้ผล อาจารย์โกมาตร สอน

1. แผนที่เดินดิน

2. ผังเครือญาติ ของคนที่น่าสนใจในชุมชน

3. ผังองค์กรของชุมชน ทั้งที่เป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการ

4. ประวัติศาสตร์ของชุมชน

5. ปฏิทินชุมชน

6. ระบบสุขภาพชุมชน

7. ประวัติชีวิต ของคนในชุมชน

เครื่องมือที่ทำ ต้องมีแนวคิด และปรัชญาที่ถูกต้องในการทำด้วยนะครับ ถึงจะมีความหมาย และมีคุณค่า เวลาเราจะทำงานอะไร เราก็ใช้ชุมชนที่เรารู้จักเป็นอย่างดี  เป็นศูนย์กลาง

community base 

ของการดำเนินงาน  แทนการใช้ระบบราชการเป็นศูนย์กลางแต่ ไม่เหมาะกับชุมชนเอาเสียเลย ครับ

 

ชื่นชมในความตั้งใจเพื่อให้บุคคลากร รพ. ให้เข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริงครับ

ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่าเครื่องมีก็มีประโยชน์มากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่เดินดิน ปฏิทินชุมชน ประวัติชุมชน

ผมเชื่อว่าถ้าเข้าใจชุมชนอย่างแท้จริงอาจไม่จำเป็นต้องติดกรอบของเครื่องมือ เครื่องมือมีไว้ใช้ให้เหมาะตามความจำเป็น หากเครื่องมือที่ใช้ไม่เหมาะกับเป้าหมายของงานก็สามารถสร้างเองก็ได้

รูปแบบมีไว้เพื่อความชัดเจนเข้าใจง่ายแต่กรอบมีไว้ฉีก เครื่องมือมีไว้พัฒนาครับ

P
สวัสดีครับ
พอได้มีโอกาสเรียนรู้ชุมชน เพราะจำเป็นต้องทำงานด้านนี้  ได้เจออาจารย์ที่ดี มีความชำนาญ ทำให้มุมมองผมเปลี่ยนไปมากเลยครับ 
ตอนทำงานปีแรก ๆ  ก็ได้อยู่ชนบทมากๆ นะครับอยู่ติดชายแดนลาวเลยครับ แต่ก้แปลก ไม่รู้จักวิถีชีวิต ไม่รู้จักชุมชน  ในมิติที่อาจารย์ดกมาตรสอน เอาเสียเลย เหมือนนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ  
ช่วงนี้เลยต้องมาเรียนใหม่  ก็เริ่มเข้าใจอะไรมากขึ้น คนชนบทมีนำใจมากอย่างที่อาจารย์ว่านั่นแหละครับ ทุกวันนี้ผมยังกลัวว่า ความเจริญจะพาสิ่งเหล่านี้เลือนหายไปเรื่อย  ๆ เสียแล้ว

สวัสดีครับ อาจารย์ยุวนุช

อาจารย์โกมาตร เลือกเรียนสาขา มานุษย์วิทยา เลือกเรียนรู้ชุมชน เลือกที่จะเรียนรู้การดุแลที่มีความละเอียดอ่อน  ในปัจจุบันเราต้องเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้นครับ  โดยเฉพาะบุคคลากรที่ต้องดูแล สุขทุกข์ของคน ของชุมชน

อาจารย์ยุวนุช  ก็เล่าเรื่องราวของธรรมชาติ ของชนบทได้ดีมาก ๆ เลยครับ อีกทั้งยังใช้ชีวิตฝังอยู่ในธรรมชาติ วัฒนธรรม  ผมชอบฟังอาจารย์เล่าจริง ๆ

P
5. Nurat
เมื่อ จ. 10 ก.ย. 2550  

สวัสดีครับ

ใช่แล้วครับ  เรื่องราว เหล่านี้แหละที่ทำให้พวกเรามีกำลังใจ มีความสุขและสนุกกับการทำงาน

เมื่อสัปดาห์ก่อน ไปประชุมที่เชียงใหม่ห้องกำลังคน ของกระทรวงสาธารณสุข    topic humanized health care  &  non financial incentive เราจะมี incentive อะไรที่ไม่ใช่เงินทำให้คนของเรายังอยู่ในระบบ  ก็คงเป็นเรื่องของคุณค่าของงานที่เราทำนี่แหละครับที่ยังดึงพวกเราให้อยู่ในระบบได้

สวัสดี โรจน์

อาจารย์โกมาตร บอกว่า ปรัชญา และแนวคิดสำคัญที่สุด  เราคงมีวิธีการเข้าถึงชุมชนได้หลายวิธี ได้หลายเครื่องมือ เพียงแต่เราต้องรู้ว่า ชุมชนละเอียดอ่อน มีเรื่องราว มีชีวิต มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้ เครื่องมือ ก็คือเครื่องมือ  ใม่ใช่จุดมุ่งหมาย แล้วก็ต้องเลือกเครื่องมือมาใช้ให้เป็นและเหมาะสมด้วย

หลายครั้งที่พี่เห็นบางจังหวัดเอาเครื่องมือเป็น KPI ด้วยซ้ำ  แบกเครื่องมือจนหนัก

เห็นด้วยกับโรจน์ ไม่ควรติดกรอบเครื่องมือ  และวันข้างหน้างานที่ทำ  ก็ต้องดีกว่าทุกวันนี้

 

เห็นเช่นเดียวกับอาจารย์ครับ ยังไงผมว่าโอกาสหน้าไม่รู้จะได้เจออาจารย์หมอจิ้นเมื่อไหร่คงได้เสวนาครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอจิ้น

  มาเยี่ยมค่ะ มิน่าคุณหมอช่างเข้าใจ สถานีอนามัยดีเหลือเกิน ก็ได้ใช้ เครื่องมือ 7 อย่าง ทำมาหากินมาตลอดค่ะ แล้วสิ่งที่พบเจอ ก็ไม่ต่างกัน คุณหมอบรรยาย จนแม้คนที่เขาไม่เคยทำงานแบบนี้ เห็นภาพพจน์เลยค่ะ นึกถึงความยากของตนเอง เวลาอธิบายยาให้ คนอายุ 90 กิน แล้วอยากจะเป็นลมเหมือนกัน ต้องคิดค้น ซองยาเอื้ออาทร ใช้สัญญลักษณ์ พระอาทิตย์ขึ้น เป็นเวลาเช้า พระจันทร์ เป็นเวลากลางคืนแทน ก็เขียนเป็นหนังสือ ยายอ่านไม่ออกค่ะ แล้วจะเข้ามาแลกเปลี่ยนใหม่ค่ะ

P
14. ตันติราพันธ์
เมื่อ ส. 15 ก.ย. 2550  

อาจารย์โกมาตร บอกว่างาน primary care  เป็นศิลปะของการงานชั้นสูง  ถ้าพวกเราที่ทำงานที่ pcu  ตั้งใจทำตามบริบทจริง ๆ ผมเชื่อว่าเราจะเห็นคุณค่าของตัวเอราเองมากขึ้นเรื่อย ๆ 

นวตกรรมที่เกิดขึ้น ก็เพราะเรา ตั้งใจพยายามที่ ทำให้คนไข้ดีกว่าเดิม เหมาะสมกับสิ่งที่เราพบเจอ  ยินดีที่รู้จักครับ

สวัสดีค่ะ พี่จิ้น

  • ได้ยินชื่อเสียงพี่ที่ทำงานเป็นที่พึ่งชาวPCU
  • ภูมิใจและชื่นชมมากเลยค่ะ
  • เป็นกำลังใจนะคะ
  • จะเข้ามาขอเรียนรู้งานชุมชนด้วยนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท