การแบ่งแยกการรับรู้ในเรื่องประชาธิปไตยในสังคมไทย : บททดลองนำเสนอ


บทสรุปจากภาคนิพนธ์

หลังจากที่แนวคิดทางการเมืองและสังคมเรื่องวาทกรรม (discourse) ของมิแชล  ฟูโกต์ได้เข้ามาเปิดพรมแดนทางความรู้ให้กับวงวิชาการรัฐศาสตร์ไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา งานศึกษาชิ้นนี้จึงอยากทดลองนำเสนอมุมมองใหม่ๆให้กับวงวิชาการรัฐศาสตร์ไทย โดยผ่านความคิดทางการเมืองและสังคมของฌาคส์  รองสิแยร์ที่กล่าวกันว่ามีอิทธิพลอย่างสูงในวงวิชาการระดับสากลในปัจจุบัน

          การมอง การเมือง ด้วยแนวทางสุนทรียศาสตร์หรือในภาษาของรองสิแยร์ว่าสุนทรีย ศาสตร์ของการเมือง (politics of aesthetics) ซึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้ของการแบ่งแยกการรับรู้ (the partition of the perceptible) ในสังคมการเมือง ทำให้สามารถมองเห็นแนวทางในการครุ่นคิดพิจารณาสภาวการณ์ต่างๆในสังคมด้วยสายตาที่ ลุ่มลึก และ รุ่มรวย มากขึ้น ที่กล่าวเช่นนี้เพราะความคิดของรองสิแยร์สามารถช่วยให้คำถามต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองสมัยใหม่ อาทิคำถาม ที่โรเบิร์ต  เอ. ดาห์ล (Robert A. Dahl) เคยตั้งไว้ อันได้แก่

·                   จะสร้างความเท่าเทียมในสังคมการเมืองให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

·                   จะสร้างการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร?

·                   จะสร้างความเข้าใจในทางการเมืองได้อย่างไร?

·                   จะทำอย่างไรกับการใช้คะแนนเสียงของประชาชนอย่างไม่ชอบธรรม?

·                   จะนับใครบ้างว่าเป็นประชาชน?[1]

ความคิดของรองสิแยร์ ทำให้ต้องคิดถึงความเท่าเทียมในสังคมการเมืองว่าสามารถมีได้ทั้งแบบอัตวิสัย และวัตถุวิสัย และหากสมาชิกในสังคมการเมืองรับรู้ว่าตนเองเท่าเทียมกับผู้อื่นอย่างอัตวิสัยแล้วนั่นย่อมเห็นโอกาสที่จะเข้ามาแสดงตัวในพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ย่อมหมายความต่อไปว่า เมื่อมีสมาชิกในสังคมการเมืองที่มีอัตลักษณ์อันแตกต่างหลากหลายเข้ามาแสดงความคิด และความเห็นในเรื่องเดียวกันมากเท่าใด การแลกเปลี่ยนความรู้/ความเห็น/การรับรู้ย่อมต้องเกิดความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น เป็นการทำให้สมาชิกของสังคมการเมืองได้รับการศึกษาทางการเมือง แม้ในระดับที่ไม่เป็นทางการมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดความเข้าใจในทางการเมืองขึ้น และย่อมทำให้สิ่งที่น่าหวาด กลัวที่สุดของสังคมการเมืองประชาธิปไตย อันได้แก่การเผด็จการไม่ว่าจะด้วยตัวบุคคลหรือคะแนนเสียง โดยไม่สามารถกระทำได้ตามอำเภอใจผ่านการรับรู้เดิมๆที่สังคมเคยมีอีกต่อไป กระบวนการต่างๆเหล่านี้เอง ก็ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมการเมืองอันประกอบด้วยสมาชิกของสังคมการเมือง ได้เข้ามามีส่วนในการสรรสร้างความเป็นไปของสังคมการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณูปการของความคิดของรองสิแยร์ จึงอาจช่วยให้สามารถทำความเข้าใจสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2549 ที่เป็นช่วงเวลาที่ถูกนิยามว่าเป็น วิกฤตการณ์ ครั้งล่าสุดได้ มโนทัศน์สำคัญของรองสิแยร์อย่าง การแบ่งแยกการรับรู้ ที่งานศึกษานี้นำมาใช้ช่วยพิจารณาการกล่าวอ้างต่างๆในทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในฐานะของการรับรู้ในเรื่องอธิปไตยของประ ชาชนซึ่งเป็นมโนทัศน์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสังคมการเมืองประชาธิปไตย ทำให้เห็นว่าแต่ละภาคส่วนของสังคมการเมืองต่างพูดถึง/คิดถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่แตกต่างกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำเอาการตัดสินคุณค่าแบบคู่ตรงข้าม ถูก-ผิด มาเป็นเกณฑ์ จะเห็นได้ว่าการที่แต่ละภาคส่วนของสังคมการเมืองไทยแสดงออกถึงการรับรู้ที่ต่างกันก็คือการเมืองที่เป็นสุนทรียะอย่างยิ่ง

การที่แต่ละฝ่ายสามารถมีพื้นที่ในการแสดงออก ทั้งที่รับรู้ว่าประชาชนว่ามีอำนาจสมบูรณ์ในตนเอง และสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง/ตัวแทนได้ ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าอำนาจนั้นได้ถ่ายโอนมาสู่นักการเมือง/ตัวแทนไปเสียแล้วตั้งแต่ผลของการเลือกตั้งสิ้นสุด, การที่รับรู้ว่าประชาชนเท่าเทียมกันอย่างอัตวิสัย ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นวัตถุวิสัย, การแบ่งแยกการรับรู้ในเรื่องประชาชนมีความสัมพันธ์ทางอำนาจต่อกันแบบที่คอยรับ (passive) ขณะที่อีกฝ่ายรับรู้อย่างตื่นตัว (active), รวมถึงเหตุใดสถาบันกษัตริย์ที่ถูกพูดถึง/คิดถึงว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจึงถูกโยงเข้ามาในพื้นที่ทางการเมืองได้ต่างก่อให้เกิดวิวาทะต่างๆอันจะสามารถนำมาครุ่นคิด และเพื่อสรรสร้างสังคมการเมืองประชาธิปไตย ความไม่ลงรอย (dis-agreememt) ที่เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกการรับรู้ในเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนในสังคมไทย หากมองด้วยสายตาของรองสิแยร์แล้ว ก็คือการที่การเมืองไทยนั้นกำลังนำเอาความเป็นการเมือง (the political) กลับมา

เป็นที่น่าเสียดายว่า การที่สังคมการเมืองไทยมองความไม่ลงรอยครั้งที่ว่าเป็นวิกฤตการณ์ ทำให้ความไม่ลงรอยครั้งนี้ถูกด้อยค่าความเป็นประชาธิปไตยลงไป ไม่ว่าจะผ่านกรอบความรับรู้แบบรัฐประชาติที่ยังติดอยู่กับวาทกรรมเรื่องความมั่นคง, ความสามัคคี, ความสมานฉันท์ ฯลฯ หรือด้วยวัฒนธรรมทางสังคมและการเมืองของไทยที่ไม่ชอบการถกเถียง, ดื้อแพ่ง แต่ยินดีกับการสยบยอมหมอบคารวะให้กับผู้มีอำนาจก็ตาม ทำให้การรัฐประหารโดยเหล่าผู้หวังดี และเชื่อว่าพวกตนไม่ประสงค์ร้ายแต่ไม่เคยคิดจะถามคนอื่นเกิดขึ้น การสรรสร้างสังคมการเมืองประชาธิปไตยไทยจึงหยุดชะงักลงด้วยความหวังดี, ไม่ประสงค์ร้าย และไม่เคยคิดจะถามคนอื่นนั้นเอง

กระนั้นหากมองด้วยสายตาของรองสิแยร์ อาจกล่าวได้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้ก็อาจเป็นการแสดงออกของการรับรู้ในเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนในสังคมไทย ที่เกี่ยวกระหวัดอยู่กับวัฒนธรรมแบบ ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ที่ฝังรากลึกอยู่กับการรับรู้ของสมาชิกในสังคมการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี การก่อรัฐประหารที่ดูเป็นหายนะของประชาธิปไตยไทย จึงอาจเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ได้ทำความเข้าใจการรับรู้เหล่านี้ก็เป็นได้ และเมื่อลองพิจารณาดูแล้วจึงทำให้เห็นว่าประชาชนนั้น สำหรับสังคมการเมืองไทยแล้วยังสามารถกลายร่าง (transform) เป็นพสกนิกรได้อีกด้วย และนี่กระมังที่เป็นอำนาจของภาษาที่เข้ามาจัดการกับการรับรู้ของสมาชิกของสังคมการเมืองไทย ผ่านคำเรียกระบอบการปกครองของตนว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากนี้การรัฐประหารยังเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีเรื่องตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจ (the police) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่งานศึกษาชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้น ได้เกิดปรากฏการณ์คล้ายๆกับที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2549 ขึ้นอีกครั้ง หากจะมองด้วยสายตาของผู้ทำงานทางวิชาการแล้วนี่ก็เป็นสภาวการณ์อันมีประโยชน์ที่จะสรรสร้างสังคมการเมืองประชาธิปไตยที่น่าศึกษา การไม่ลงรอยกันของแต่ละภาคส่วนของสังคมได้เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เนื่องด้วยภาคส่วนต่างๆได้เข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น การ เมืองภาคประชาชน (ไม่เฉพาะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะยังต้องถกเถียงกันต่อไปว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนมากน้อยเพียงใด แต่ไม่ใช่ ณ ที่นี้)ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การแลกเปลี่ยนในวงวิชาการที่หลากหลายมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกการรับรู้ในเรื่องต่างๆมากมายในสังคมการเมืองไทย หากวลีที่ว่า พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เป็นวลีที่ยังดำรงความขลังอยู่ สภาวการณ์ทางการเมืองที่ถูกรับรู้ในสังคมไทยว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองนี้ อาจเป็นคุณูปการต่อวงวิชาการของไทยไม่มากก็น้อย เพียงแต่ว่าต้องตระหนักไว้ว่า การไม่ลงรอยนั้นเป็นการนำความเป็นการเมืองกลับมาสู่การเมือง แต่มิใช่ว่าเป็นเพื่อการเอาชนะคัดคานกัน หรือก็คือสิ่งที่เรียกว่า ชนะ นั้นอาจจะต้องพิจารณาด้วยมโนทัศน์การแบ่งแยกการรับรู้ด้วยเช่นกัน เพราะหากแต่ละฝ่ายรับรู้ว่าการได้รับชัยชนะนั้นเป็นเป้าหมายของตนเอง  ก็ต้องถามว่าเป้าหมายนั้นคือเป้าหมายของสังคมการเมืองประชาธิปไตยหรือไม่

ในที่สุดแล้ว งานศึกษาชิ้นนี้อาจต้องการเพียงตั้งคำถามต่อผู้กระหายชัยชนะที่ป่าวประกาศว่าเป้าหมายของชัยชนะของตนนั้นเป็น ประชาธิปไตยกว่า คำถามต่อพวกท่านก็เป็นคำถามง่ายๆว่าสังคมการเมืองไทยที่พวกท่าน รับรู้ นั้นต้องการ ชัยชนะ หรือว่า ประชาธิปไตย

 

 



[1] Robert A. Dahl. A Preface to Economic Democracy. (Cambridge : Polity Press, 1985), p. 59 – 60. Quote in David Held, ibid, p. 278.

หมายเลขบันทึก: 237911เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

งานชิ้นนี้เขียนด้วยข้อมูลปี 49

และพิจารณาเฉพาะก่อนรัฐประหาร

สถานการณ์หลังจากนั้นจึงไม่ได้ถูกพิจารณาร่วมด้วย

ดังนั้นจะใช้แนวคิดของรองสิแยร์พิจารณาการเมืองไทยได้หรือไม่นั้น

ก็คงต้องดูกันต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท