เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ ICT : SCB ICT YOUTH CONNECT:แนวคิดใช้เว็บไซด์เพื่อพัฒนาสังคม


แนวคิดการใช้เว็บไซด์เพื่อการพัฒนาสังคม

กรณีศึกษาที่ ๑      www.rakdek.or.th โดย คุณเดชา น้อยมะลิวัน  จาก พัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อสิทธิเด็กมูลนิธิรักษ์เด็ก[1]  : The Life Skills Development Foundation

ทำความรู้จัก มูลนิธิรักษ์เด็ก
เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มุ่งทำงานด้านเด็กและเยาวชนสตรี และครอบครัว เพื่อที่จะให้เด็กได้รับประโยชน์ที่สูงสุด โดยให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตาม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เสริมทักษะชีวิต ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนที่มีจิตใจดีงาม มีทัศนคติที่ดีต่อการดำรงชีวิต เสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่สังคม ประกอบกับการมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและความรู้ ตั้งอยู่บนฐานของทักษะชีวิต ขณะเดียวกันก็ได้รับการเอื้ออำนวยจากบุคคลและสถาบันต่างๆ ที่ประสานงานกันอย่างเหนียวแน่นในสังคม

ความเป็นมาของการจัดตั้งมูลนิธิรักษ์เด็ก
ปี ๒๕๓๙ องค์การเซฟเดอะชิลเดร็น (สหรัฐอเมริกา) สำนักงานประเทศไทย เริ่มโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเริ่มจากการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการประเมินความต้องการของ นักเรียน แล้วเสนอให้ครูกรรมการศึกษา จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก และเยาวชนในโรงเรียน และจากการประเมินดังกล่าว จึงเกิดเป็นความร่วมมือ ในการทำงานร่วมกับสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ ในโครงการประสานความร่วมมือพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชนบท
หลังจากนั้นปี ๒๕๔๑ องค์การเซฟเดอะชิลเดร็น (สหรัฐอเมริกา) สำนักงานประเทศไทย ได้ปิดการดำเนินงานในประเทศไทยลงในส่วนผู้บริหารองค์การฯ จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อสานต่องานของ องค์การเซฟเดอะชิลเดร็น (สหรัฐอเมริกา) สำนักงานประเทศไทยต่อไป จึงได้บริจาคงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับการจัดตั้ง มูลนิธิรักษ์เด็ก ให้เน้นการทำงานเรื่องทักษะชีวิตและสิทธิเด็ก แก่ครอบครัว เด็ก เยาวชน และสตรี ที่สนองตอบต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อที่จะทำให้เกิดการขยายงานและความยั่งยืนไปสู่จังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย

จุดเริ่มการทำงานกับมูลนิธิเด็กของคุณเดชา

คุณเดชา  น้อยมะลิวัน ชื่อเล่น ชื่ออุ๋ยเป็นคนง่ายๆสบายๆ ยิ้มง่าย หนุ่มหน้าตาคมเข็มแต่ใจดีคนนี้ มีจุดเริ่มที่น้าสนใจมาก ตอนเด็กได้ทำกิจกรรมกับพี่ๆNGOsสายงานสิ่งแวดล้อมมาเยอะมากเริ่มตั้งแต่อยู่ป.๖ ก็ออกค่ายสิ่งแวดล้อมแล้วก็ทำงานประเด็นเพื่อสังคมต่างๆมาโดยตลอด เช่น การต่อต้านการสูบบุหรี่ สิ่งแวดล้อม พลังงาน เป็นต้นมาเรื่อยๆจนจบมัธยม แล้วก็หยุดทำกิจกรรมไปช่วงเรียนอุดมศึกษา จบการศึกษาด้านสารสนเทศ (IT)  จึงมีแนวคิดว่า จะนำความรู้มาประยุกต์กับการทำงานเพื่อสังคมได้   

แต่ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่มูลนิธิรักษ์เด็ก คูณเดชายังได้กลับไปทำงานกับองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ แล้วหลังจากนั้นก็คิดว่าน่าจะนำความรู้ที่ได้เรียนมา มาประยุกต์กับงานNGOsดูประกอบกับพึ่งจบมาก็อยากหาประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาที่หลากหลายดูบ้าง แล้วปัจจุบันนี้NGOsหลายๆองค์กรก็ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์กรมากขึ้น ซึ่งคุณเดชามองว่าจุดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและดี ก็เลยได้มาทำงานที่มูลนิธิรักษ์เด็ก

จุดเริ่มต้นเว็บไซต์ www.rakdek.or.th

แรกเริ่มเดิมทีเว็บไซต์ของมูลนิธิรักษ์เด็กเกิดขึ้นเพราะว่ามี นิตยสารเพื่อนเด็กสำหรับเครือข่ายโรงเรียนเพื่อนเด็กแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนขององค์การเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ UNICEF และเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของเรามีอยู่ทั่วประเทศ มูลนิธิฯเลยมีแนวคิดว่าจะใช้ระบบสื่อสารออนไลน์ มาเป็นสื่อกลางในการย่นระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย โดยในระยะแรกภายในเว็บไซต์ก็จะมีนิตยสารเพื่อนเด็กซึ่งเป็นไฟล์ PDF และ JPG ให้ดาวน์โหลด แล้วก็มีการแนะนำมูลนิธิฯ และในการพัฒนาเว็บไซต์นี้มูลนิธิรักษ์เด็กเป็นผู้สนับสนุนร่วมในโครงการนี้กับ UNICEF 

และหลังจากนั้นก็ถูกพัฒนามาเรื่อยๆจนถึงเวอร์ชั่นปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาโดย mr.dachi ก็คือ คุณเดชานั่นเอง 
 

  การสร้างเนื้อหาที่เข้าใส่ในเว็บอย่างไรบ้างเอ่ย? 

เนื้อหาในเว็บไซต์จะมีสองส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง ในส่วนที่อัพโหลดครั้งเดียวแล้วก็จบ หรือจนกว่าข้อมูลนั้นจะมีการอัพเดตให้เป็นปัจจุบันที่สุดก็จะทำการอัพเดตอีกครั้ง เช่น ข้อมูลองค์กรในด้านต่างๆ เช่น เราเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน บุคคลากรมีใครบ้าง อย่างนี้เป็นต้น 

ส่วนที่สองคือส่วนที่เป็นคอลัมน์ที่ต้องอัพเดตอยู่ตลอด เว็บไซต์มูลนิธิรักษ์เด็ก www.rakdek.or.th นั้นมีคอลัมน์ที่ต้องอัพเดตอยู่ตลอดคือ คอลัมน์แวดวงการศึกษา ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ข่าวอาสาสมัคร นิตยสารเพื่อนเด็ก และสื่อออนไลน์ (อยู่ระหว่างการพัฒนา) 

โดยเนื้อหาที่จะนำมาอัพเดตนั้น ได้มาโดยคุณเดชาที่ลงพื้นที่กับโครงการต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของแต่ละโครงการที่จัดกิจกรรมเสร็จแล้วก็นำผลมาให้ผมอัพเดตในเว็บไซต์  ในส่วนของแวดวงการศึกษานั้น ทางฝ่ายสารสนเทศเรามีการเปิดรับอาสาสมัครไอซีที เข้ามาช่วยงานโดยส่งข่าวที่เราได้เปิดอ่านอยู่เป็นประจำอยู่แล้วบนอินเตอร์เน็ต แล้วเห็นว่าข่าวไหนมีความน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กก็ส่งมา ซึ่งในแต่ละเดือนอาสาสมัครก็จะส่งข่าวมาให้ทางมูลนิธิฯไม่ต่ำกว่า 50 ข่าวต่อเดือน แต่ทางเราได้เลือกบางข่าวนำเสนอแล้วข่าวที่เหลือจะรวบรวมเป็นรวมข่าวด้านการศึกษาประจำปีไว้ให้ดาวน์โหลดอีกที 

สรุปก็คือ ส่วนหนึ่งมาจากมูลนิธิฯ ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัคร 

วัตถุประสงค์ของ www.rakdek.or.th

๑.       เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่อ่านนิตยสารเพื่อนเด็ก ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ

๒.     เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องของทักษะชีวิตและสิทธิเด็ก

๓.     เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของมูลนิธิฯ

๔.     เป็นสื่อกลางในการระดมความช่วยเหลือให้กับเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบากและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ ทั้งในรูปแบบ สิ่งของช่วยเหลือ  เงินสนับสนุน  การซื้อผลิตภัณฑ์ระดมทุน และการร่วมเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมกับมูลนิธิฯทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นต้น

  กลุ่มเป้าหมายที่เข้าใช้งานในเว็บไซต์

๑.       หน่วยงานภาครัฐ เช่น สพฐ.แต่ละพื้นที่  โรงเรียน  เป็นหน่วยงานที่มูลนิธิฯดำเนินงานด้วย

๒.     เด็กนักเรียน เยาวชน

๓.     บุคคลทั่วไป ที่สนใจงานของมูลนิธิฯ อย่างเช่นเวลามีการประชาสัมพันธ์การรับสมัครอาสาสมัครจัดกิจกรรมต่างๆ  การประกาศรับสมัครงาน ก็จะมีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้เยอะเป็นพิเศษ

๔.     พ่อแม่ผู้ปกครอง

๕.     องค์กรพัฒนาเอกชน

ปัจจุบันนี้เฉลี่ยผู้เข้าชมก็จะตกอยู่ประมาณ ๓,๗๐๐-๔๕๐๐ คนต่อเดือน โดยบางเดือนอย่างที่บอกว่ามีการประกาศรับสมัคร จะมีผู้เข้ามาชมเว็บไซต์เป็นจำนวนมากและในจำนวนนี้ที่เข้าก็จะต้องศึกษาข้อมูลขององค์กรเพื่อเริ่มต้นอย่างแน่นอนและนั่นก็เป็นการขยาย เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับงานที่มูลนิธิฯทำมากขึ้น 

แนวคิดการใช้ ICTเพื่อสร้างประโยชน์สำหรับงานเพื่อเด็กและเยาวชน จากประสบการณ์ของ  คุณเดชา

ในความคิดของผมแล้วผมว่า ICT มีประโยชน์กับคนทุกชนชั้นทุกระดับ แล้วแต่ว่าเราจะนำมาใช้ หรือใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร และในส่วนของเด็กและเยาวชน ผมว่ามีความสำคัญมากที่เด็กจะมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ ICT เพราะอย่างที่รู้กันว่า มันมีทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ถ้าเราเตรียมพร้อมเด็กและเยาวชนให้ดี แน่นอนว่าต้องเกิดสิ่งที่ดีๆตามมาอย่างแน่นอน 

งานICT มีประโยชน์สำหรับงานเพื่อเด็กและเยาวชนอย่างไร สำหรับในส่วนของมูลนิธิรักษ์เด็กแล้วประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กและเยาวชนในโครงการได้รับการช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นทั้งจากการบริจาคและการเข้ามาทำงานอาสาสมัคร เด็กในบางพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและไม่ได้รับสื่อของมูลนิธิฯเช่นนิตยสารเพื่อนเด็ก คุณครูสามารถเข้ามาดาวน์โหลดแล้วปริ้นนิตยสารให้เด็กอ่านได้ เด็กได้รับความรู้ใหม่ๆ ได้เปิดโลกกว้างมากขึ้น ประโยชน์ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนที่เกิดจากการนำ ICT เข้ามาใช้ในงานพัฒนา”  

  อุปสรรคของการทำงาน

ประการแรก คือ จำนวนบุคลากร ในองค์กรเองมีน้อยไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

ประการถัดมา คือ การบริหารจัดการเวลาของทีมงานเองขาดประสิทธิภาพเนื่องจาก ต้องทำงานทั้งในส่วนของมูลนิธิด้วยและต้องทำงานจัดการเว็บไซด์ด้วย ซึ่งปัจจุบัน คนที่ดูแลเว็บไซด์ทั้งหมด คือ คุณเดชาเพียงคนเดียว และมีทีมงานอีกหนึ่งคนที่ดูแลนิตยสารเพื่อนเด็ก  จึงมักพบปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารล่าช้าไม่ทันสมัย หรือ เรื่องของ Spam เป็นต้น

ข้อเสนอแนะสำหรับโครงการเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที

1.       เปิดโอกาสให้องค์กร หน่วยงานต่างๆที่ทำงานด้าน ICT เสนอโครงการหรือโปรเจคต่างๆที่ใช้ ICT ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นการขยายงานต่อในพื้นที่

2.       หลังจากนั้นก็มีเวทีนำเสนองาน เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนางานรูปแบบต่างๆต่อไป



[1] มูลนิธิรักษ์เด็ก ๑๕๙/๒๖ หมู่บ้าน อนุสารวิลล่า ถ. เชียงใหม่-ฮอด ต. ป่าแดดอ. เมือง จ. เชียงใหม่ ๕๐๑๐๐ โทรศัพท์  ๐๕๓ ๒๐๑๒๔๖ โทรสาร   ๐๕๓ ๒๐๑๒๔๗

 

คำสำคัญ (Tags): #ict youth connect
หมายเลขบันทึก: 222238เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2008 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมทำงานเกี่ยวกับพัฒนาเด็กและเยาวชน ในอำเภอหล่มเก่า มีเด็กที่อยู่ในโครงการ 1,800 คน ชาวบ้านประมาณ 1,500 คน เน้นการศึกษาเด็ก และส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน แต่ไม่มีความรู้ด้าน ICT กำลังเรียนรู้เพื่อนำมาพัฒนางานที่ทำ ครับ หากจะเป็นวิทยาทาน แบ่งปันความรู้บ้างก็ดีครับ

ขอบพระคุณครับ

  • น้องเดชาน่ารักมากๆๆ
  • ตั้งใจทำงาน
  • ขอชื่นชมครับ

คุณเปี๊ยก มีอะไรให้อี๋รับใช้บอกได้เลยค่ะ

หารูปน้องเดชาอยู่ เดี๋ยวจะโชว์ให้ดู หน้าตาคนตั้งใจทำงานคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท