เส้นทางสีขาวของเซียนเกมเมอร์รุ่นใหม่...สูตรสำเร็จที่ใครก็ทำได้


“การเล่นเกมออนไลน์ ก็เหมือนกับการเล่นกีฬา แทนที่เราจะออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่เป็นการออกกำลังกายทางด้านความคิด ไหวพริบและทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ ”

เส้นทางสีขาวของเซียนเกมเมอร์รุ่นใหม่...สูตรสำเร็จที่ใครก็ทำได้

พลตรี – ICT / โซน 6

 

คุณคิดอย่างไรกับคำว่า “  เกมออนไลน์ ”? ....ความสนุก ความบันเทิง การพักผ่อน การใช้เวลาว่างให้ เป็นประโยชน์  หรือ ความโหดร้าย  ความรุนแรง   เป็นโทษ  ซึ่งความคิดเหล่านี้ไม่มีเครื่องชั่ง ตวง วัดใดที่จะมาวัดปริมาณคุณค่าของความเป็นเกมออนไลน์ได้   และเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าได้ลองผสมคำว่า  “เด็กและเยาวชน ” ในเกมออนไลน์ โลกของเด็กที่ผู้ใหญ่คาดการณ์ว่าจะต้องขาวสะอาดอยู่เสมอ  เกิดมีบางสิ่งที่แฝงเข้ามาไม่รู้ว่าเป็นสีขาว เทา หรือดำ  เป็นต้องตัดสินไปก่อนว่าสิ่งนั้นไม่เหมาะสมกับเด็ก  ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจว่าคำนิยามของเกมออนไลน์คืออะไร  ลองลบด้วยคำว่า “อคติ ”  ก็จะพบคำตอบที่คุณเองไม่เคยรู้ จาก “น้องพล” พลตรี  กวินวัฒน์ ปริญญาตรีบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ (ประชาสัมพันธ์) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักเกมเมอร์ผู้ได้รับตำแหน่ง “ซัมซุง ไซเบอร์ ไอดอล” และผู้ชนะเลิศระดับประเทศไทยจากการแข่งขัน WCG เวิลด์ไซเบอร์เกมส์ 2008 ผู้พลิกเกมให้มีแต่เรื่องดีๆ

การเล่นเกมออนไลน์ ก็เหมือนกับการเล่นกีฬา แทนที่เราจะออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่เป็นการออกกำลังกายทางด้านความคิด ไหวพริบและทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ ”  และนั่นคือคีย์เวิร์ดสำคัญของน้องพล ที่กำลังจะไขคำตอบสิ่งดีดีที่ได้จากเกมออนไลน์  ...ผมก็มีวัยสนุกเหมือนเด็กทั่วไป เพื่อนๆ เริ่มเล่นเกมกัน ผมก็เล่นด้วย    แรกเริ่มจะเป็นเกมแฟมมิลี เกมมินนิ่ง แต่ว่าพอโตขึ้นชั้น ม.4 จะเริ่มเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์มากกว่าเพราะเราไม่ได้เล่นคนเดียวมีผู้คนอีกมากมาย กำลังเล่นไปกับเรา 

เริ่มแรกผมเล่นเกม Counter Strike กำลังเป็นที่นิยมและเป็นกระแส เป็นเกมแนว FPS ( First person shooting ) เป็นเกมแนวแอ็คชั่นที่ยิงๆ กัน ก็เลยเล่นตามเพื่อน ลองเล่นดู ก็สนุก ช่วงเล่นเกมใหม่ๆ ทางบ้านก็ไม่เป็นห่วงกลัวจะเสียการเรียน แต่ผมก็พยายามแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเล่นเกม  แต่การเรียนไม่เสียนะ  “ปกติจะเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมง  ผมรู้จักแบ่งเวลาเล่น แบ่งเวลาเรียน สิ่งนี้สำคัญมากนะครับ” แววตาฉายความจริงจัง ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น ทำให้รู้ว่าการแบ่งเวลาของน้องพล คือปัจจัยที่ทำให้เกมไม่ได้มีอิทธิพลอยู่เหนือชีวิตเขาเลย

ถึงจะเล่นเกม แต่พลก็ยังมีมุมมองที่ดีให้คิดว่า แทนที่จะใช้เวลาไปกับการเที่ยวเตร่ ก็มาเล่นเกมที่ดีๆ ก็เป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ถ้าเรารู้จักความพอดี เล่นแต่พอเหมาะ เกมก็ไม่เป็นโทษอย่างแน่นอน หลายคนอาจมองว่าคนเล่นเกม น่าจะติดเกมงอมแงม ไม่ทำอะไร หมกมุ่นกับเกม  แต่น้องพลพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นนักกิจกรรมตัวยงจริงๆ  “ผมก็ยังมีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วยนะครับ เช่น นักกีฬาบาสเกตบอล   เชียร์ลีดเดอร์ เวลาว่างจริงๆ ผมถึงจะมาเล่นเกมมากกว่า แต่น้องบางคนแบ่งเวลาไม่เป็น เวลาจึงเสียไปกับการเล่นเกมโดยไม่รู้ตัว ”  

ประสบการณ์ทำให้ผมเรียนรู้ทักษะการเล่นเกมออนไลน์ที่ดี จากเพื่อนๆที่รวมกลุ่มกัน ความฝันที่จะสร้างดีมทรีมก็เกิดขึ้น.... “อยากให้มองว่าการเล่นเกมออนไลน์ เป็นกีฬาที่มีฟอร์มทีมคล้ายกีฬาฟุตบอล หรือบาสเกตบอล คนเล่นกีฬาต้อง กฎ กติกา มีการแบ่งเวลาเพื่อมาซ้อมผ่านการเล่นเกมร่วมกันในอินเทอร์เน็ต เป็นช่วงเวลาสั้นๆ 2-3 ชั่วโมง หลังเลิกเรียน เพื่อเตรียมตัวก่อนการแข่งขัน” ในทีมส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนอยู่ครับ  การตั้งกฎ ตั้งระเบียบกัน  เพื่อไม่ให้กระทบต่อผลการเรียน น้องพลได้เล่าต่อถึงเส้นทางดรีมทีมด้วยน้ำเสียงแห่งความสนุกว่า

วันหนึ่งฟ้าก็เปิดโอกาสให้น้องพลและเพื่อนร่วมทีมได้แสดงฝีมือ  “โครงการแข่งขัน WCG  เป็นรายการเดียวที่เปิดพื้นที่ประชันฝีมือหาสุดยอดนักเล่นเกมออนไลน์ตัวแทนระดับประเทศ และแสดงความสามารถในการเล่นเกมของตนในการแข่งขันระดับโลกต่อไป “เป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันของผมและเพื่อนร่วมทีมที่มีชื่อว่า “ Eternal fear ”  โดยเริ่มการแข่งขันตั้งแต่ปี  2004 -2008  การที่เราได้แข่งระดับชาติ ก็เป็นจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ”

ผลของการแข่งขันเกมออนไลน์ WCG ครั้งแรกถือว่าไม่ชนะ ไม่ได้แชมป์ ซึ่งทุกครั้งที่ไปแข่งขันเราคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จ   เราพลาด ต้องดูว่าพลาดเพราะอะไร แก้ไขจุดนั้น ผมเปรียบการแข่งขันเกมออนไลน์เหมือนเกมกีฬา อย่างเช่นฟุตบอล การแข่งขันเกมก็ต้องมีการวางตำแหน่งเหมือนกัน อาจจะมีกองหน้าที่ไปยืนอยู่ฝ่ายตรงข้าม คนที่เป็นกองกลางขึ้นไปสมทบอีกทีหนี่ง คนที่เป็นกองหลังขึ้นไประวังหลังให้เพื่อนนะ กองหน้าโดนยิงตายฟรี  เราจะรู้ได้ทันว่ากองกลางไม่ได้ซัพพอร์ท ทำไมช่วยช้า เป็นต้น

น้องพลขยายความด้วยรอยยิ้มว่า ”ทุกคนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมสำเร็จ ผมทำหน้าที่เป็นทั้งผู้เล่นและโค้ชของทีม เริ่มจากวางแผน จัดตัวผู้เล่น ก็ดูประสิทธิภาพของผู้เล่นว่าหมาะสมกับตำแหน่งไหนอย่างไร”  แม้ว่าหลายปีต่อมามีแพ้ มีชนะสลับกันไปบ้าง ตกรอบบ้าง ...ผมและเพื่อนๆมีจุดมุ่งหมายร่วมกันว่าอยากจะประสบความสำเร็จ อยากให้ สังคม และที่บ้านยอมรับ ว่าเกมออนไลน์ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย มีข้อดีด้วย บุคคลทั่วไปที่เค้าไม่เล่นเกม จะมองว่าเด็กจะติดเกม โดดเรียนบ้าง ไม่สนใจเรียนบ้าง ถ้าน้องๆแบ่งเวลาเป็นจะมีข้อดีอะไรหลายๆ อย่างครับ การที่เราฟอร์มทีมทำให้เราจัดสรรเวลาเป็น และก็เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ทำให้ปรับใช้ในอนาคตได้ การที่เราฟอร์มทีมได้ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองเป็นระบบ คือ เราต้องทำหน้าที่ของเรา รู้จักรับผิดชอบ ฝึกความคิด ระบบประสาทสัมผัส  สิ่งนี้คือสิ่งดีๆที่ได้จากการเล่นเกมออนไลน์ไม่ใช่เหรอครับ

การแข่งขันที่ประทับใจคือการแข่งขัน WCG ที่ได้แชมป์เมื่อปี 2005  และปี 2008 ความประทับใจมันต่างกัน ในปี 2005 ได้ที่ 1 ครั้งแรกไปแข่งที่ประเทศที่สิงค์โปร์ ในปี 2008 แข่งในประเทศแต่ได้แชมป์ถ้วยพระราชทาน ที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นการปลุกกระแสในเมืองไทย เกมกำลังอยู่ในช่วงกำลังเติบโต เราจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

ผมมองดูว่าสิ่งที่อยู่รอบๆตัว เกมหลายอย่างที่จะให้ความรู้กับเราได้ เช่น เกม การ์ตูน แอนนิเมชั่น เว็บไซต์ อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับน้องๆ จะหาประโยชน์กับสิ่งพวกนี้ได้อย่างไรมากกว่า ปัจจุบันน้องพลอาศัยประสบการณ์และความสามารถทำงานเกี่ยวกับเกม G square true visions 26 เป็นสื่อทีวีช่องแรกของประเทศไทย ทำส่วนของเกมและอีเวนท์ แนะนำเกมดีๆ ให้เด็กและเยาวชน พร้อมการเป็นนักเกมเมอร์ที่ดี  

ทุกวันนี้เทคโนโลยี ก็เปรียบเสมือนเป็นเหรียญ 2 ด้าน แล้วแต่ว่าเราผู้กำหนดว่าจะเลือกเดินไปทางด้านไหน เพราะรอบตัวเรามีมุมสีขาว เทาและดำอยู่ปะปน น้องเท่านั้นแหละครับที่จะเลือกๆ สิ่งที่ดี   โดยผู้ใหญ่ควรจะอธิบายเหตุผล และสอนลูกแบ่งเวลาให้เป็น ไม่ให้เสียถึงการเรียน เพียงเท่านี้เกมออนไลน์ก็จะไม่มีผลเสีย

            “ คุณจะตัดสินใจให้คำนิยามของเกมออนไลน์เท่ากับอะไรดี คำตอบอยู่ที่ใจของคุณแล้วใช่ไหม?”             

 

นายพลตรี กวินวัฒน์  (พล)

นักเกมเมอร์ระดับตำแหน่ง “ซัมซุง ไซเบอร์ ไอดอล” และผู้ชนะเลิศระดับประเทศไทยจากการแข่งขัน WCG เวิลด์ไซเบอร์เกมส์ 2008
โทร. 086 – 510-0573  e-mail : phontree_kaw@ truecorp.co.th

 

หมายเลขบันทึก: 312941เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท