การรู้จักลูกค้า (KYC) และการพิสูจน์ทราบลูกค้า (CDD) ตอนที่ 1


การรู้จักลูกค้า (KYC) และการพิสูจน์ทราบลูกค้า (CDD)[1] ตอนที่ 1

มาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

(Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT)

 

มาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

                ประเทศไทยได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๒ อันเป็นวันที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ (แต่เริ่มมีผลบังคับใช้จริงๆคือตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๒) โดยมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้ตามกฎหมาย และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๓ ได้มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีการแสดงตนของลูกค้าสถาบันการเงิน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๒๐ วรรคสองของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗ ตอนพิเศษ ๙๘ ง วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓) เพื่อนำมาใช้เป็นมาตรการเบื้องต้นในการเฝ้าระวังและลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงินที่อาจจะส่งผลให้เกิดการฟอกเงินผ่านระบบสถาบันการเงิน

                ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้รับการมอบหมายจากคณะอนุกรรมการยกระดับ Corporate Governance ด้านธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและบริษัทประกันภัย ให้เป็นหน่วยงานหลักในคณะทำงานเตรียมความพร้อมโครงการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (Report on the Observance of Standards and Codes: ROSCs) ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti – Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) โดยผู้เชี่ยวชาญจาก World Bank (WB) และ International Monetary Fund (IMF) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งจากการดำเนินการของคณะทำงานดังกล่าวพบว่า ปัจจุบันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังไม่มีหลักการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรู้จักลูกค้า/การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know Your Customer/Customer Due Diligence: KYC/CDD) ของสถาบันการเงิน (Financial Institutions) และหน่วยธุรกิจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Designated Non-Financial Businesses and Professions, DNFBP) ซึ่งหลักการดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ ด้วยการช่วยชี้ให้เห็นถึงธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย อีกทั้งหลักการดังกล่าวยังเป็นหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยจะต้องเข้ารับการประเมินตามโครงการROSCs 

                ดังนั้น ในภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตีจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เห็นชอบมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เรื่อง นโยบายการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า/การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าของสถาบันการเงิน และหน่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

                ดังนั้น ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมา สถาบันการเงินและหน่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในส่วนของ การรู้จักลูกค้า/การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า อย่างเคร่งครัดและรายงานผลต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังและลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงินที่อาจจะส่งผลให้เกิดการฟอกเงินในประเทศไทย

 

การรู้จักลูกค้า (Know Your Customer: KYC) และ/หรือการพิสูจน์ทราบลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD)

                การรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer: KYC) หมายความรวมถึง การเก็บหลักฐานการแสดงตนของลูกค้า ที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของลูกค้า รวมถึงอาจมีการขยายขอบข่ายของข้อมูลเพิ่มมากขึ้นและลงลึกอย่างละเอียดในเชิงการการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) ด้วย (สมาคมธนาคารไทย: http://www.tba.or.th/)

                จากนิยามดังกล่าวนั้น ทำให้เราเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายของการรู้จักลูกค้า (KYC) และ/หรือการพิสูจน์ทราบลูกค้า (CDD) ก็คือ “ลูกค้า” นั่นเอง คำถามต่อมาก็คือ “ลูกค้า” คือใคร? และ “ลูกค้า” ของสถาบันการเงิน และ “ลูกค้า” ของหน่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงินนั้น “เหมือนกัน” หรือ “แตกต่างกัน” อย่างไร

                และนอกจากนี้จะเห็นได้ว่า “สถาบันการเงิน” และ “หน่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน” นั้นเป็นองค์กรที่ต้องทำการรู้จักลูกค้า (KYC) และ/หรือการพิสูจน์ทราบลูกค้า (CDD) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ คำถามก็คือ องค์กรใดเป็น “สถาบันการเงิน” บ้าง? และ องค์กรใดเป็น “หน่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน” บ้าง?



[1] อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุลและอาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 287591เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2009 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีค่ะ สนในวิชากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศหรือคะ

ตอนนี้ ปปง.กำลังออก พรบ.ปปง.ฉบับที่ 3 ออกมา

จะมีขั้นตอนที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามเยอะมาก

โดยเฉพาะการแสดงเอกสารและส่งไปให้ ปปง.

หากไม่ปฏิบัติตามโดนปรับตั้งห้าแสนบาท แถมปรับต่อวัรอีกห้าพันบาท

ผู้ประกอบการทางการเงินควรศึกษาอย่างมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท