วิเคราะห์เรื่องความเหลื่อมล้ำของความรู้


การที่เราสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำความรู้ ก็เพราะเราเอาประโยชน์เป็นตัวตั้ง

เพราะหากไม่เอาประโยชน์เป็นตัวตั้ง เราคงไปสนใจการเหลื่อมล้ำความบันเทิงแทน

การเกิดประโยชน์ มองให้ดี เป็นกระบวนการต่อเนื่อง

เวลาคิดเรื่องกระบวนการต่อเนื่อง ผมพยายามตั้งเป็นสมการที่อธิบายกระบวนการนั้นก่อน แล้วค่อยมาดูเจาะลึกถึงส่วนย่อย ๆ ในสมการอีกทีเพื่อตีความ

สมการบรรยายประโยชน์ ถ้าดูตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะเขียนได้ทำนองนี้


ประโยชน์
= การเข้าถึงโอกาส x การสามารถใช้โอกาสเป็น x การมุ่งหมายประโยชน์ x ธรรมชาติของสิ่งนั้นว่ามีประโยชน์หรือไม่

ที่เป็นการคูณ เพราะถ้าลองแทนค่าดู รายการไหนเป็นศูนย์ ผลสุดท้าย ก็คือไร้ประโยชน์ แม้อย่างอื่นจะผ่านหมดก็ตาม

และอีกอย่าง ลองสมมติว่า มุ่งหมายประโยชน์เรื่องการทำลายล้าง (ค่าติดลบ) แต่ทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อย่างสิ้นเชิง ยิ่งทำยิ่งเปลืองตัว (ค่าติดลบเหมือนกัน) ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นผลดีได้เฉยเลย เพราะลบคูณลบ ได้เป็นบวกครับ ยิ่งสนับสนุนแนวคิดว่า ควรใช้การคูณ ไม่ใช่การบวก ในสมการนี้

กระบวนการที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ แบบนี้ จุดอ่อน อยู่ที่ขั้นตอนที่ห่วยที่สุด ณ เวลานั้น ๆ

เช่น ถ้ายุคนี้ คนมีปัญหาเรื่องเข้าไม่ถึงโอกาส จุดอ่อนของการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ ก็อยู่ที่ตรงนี้

แต่สมมติว่าอีกสิบปีข้างหน้า เรื่อง IT ไม่มีปัญหาเพราะราคาถูกจนทุกคนเข้าถึง จุดอ่อน อาจไปอยู่ขั้นถัด ๆ ไป คือ เรื่องใช้โอกาสไม่เป็น คือมีความรู้แบบผิวเผินรู้ไม่จริงจนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ หรือเรื่องไม่มีจุดมุ่งหมายเรื่องประโยชน์ คิดว่าความรู้มีไว้แค่เป็นใบเบิกทางการเข้าทำงาน

ลองมาดูกันทีละข้อนะครับ

ข้อแรกก่อน

ถ้าคนเรา เข้าไม่ถึงโอกาส ก็ถูกกันออกจากดงความรู้

ที่พูดเรื่อง digital divide ก็มักมีความหมายถึงประเด็นนี้เป็นหลัก

คือมีคนในสังคมที่ขาดโอกาสเดินผ่านประตูบานใหญ่ที่ชื่อ IT เข้ามาในดงความรู้

แต่ดงความรู้มีแต่ใน IT หรือเปล่า

คงไม่ใช่ มันมีความรู้ในตัวคนด้วย ซึ่งอาจจะสำคัญไม่แพ้กัน ตรงนี้ จริง ๆ ก็คือเรื่อง KM นั่นแหละ เพียงแต่ตอนนี้ กระแสมันซาไป คนเลยมองข้าม แต่จริง ๆ IT กับ KM นี่ เสริมกันครับ คือ ด้านหนึ่ง หาเองผ่าน IT อีกด้าน หามาผ่านคนอื่น (KM) และต้องมีส่วนที่สร้างใช้เองด้วย (ทำภายนอกคือวิจัยค้นคว้า ทำภายในคือการบ่มเพาะสติปัญญา)

แสดงว่า ต้องมองแตกแขนงว่า การเข้าถึงดงความรู้ ควรเป็นดังนี้

การเข้าถึงโอกาส = การเข้าถึง IT + การเข้าถึงคนที่มีสติปัญญาความรู้ + การเข้าถึงความรู้และสติปัญญาในตัวเอง

ที่ต้องบวกกัน เพราะเป็นชิ้นส่วนย่อยที่ต้องเอามาต่อกัน จึงจะเป็นภาพเต็ม

กลับมาดูเรื่องการเข้าถึง IT อีกที

จะตอบโจทย์ข้อนี้ ต้องมองเรื่องนโยบายสาธารณะ ต้องมองเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่รองรับ ต้องมองเรื่องเทคโนโลยีที่ประหยัด แต่คุ้ม ต้องมองเรื่องการเตรียมพร้อมคนที่เอื้อการเรียนรู้ขั้นแรก ๆ

คนกรุงเทพ มีโอกาสสูงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าต่างจังหวัด เช่น มีแหล่ง hot spot ที่คนเข้าถึงง่ายตามที่สาธารณะ

hot spot นี้ หมายถึงบริเวณมีสัญญาณข้อมูลไร้สายที่ไวร้อนแรงได้ใจ

อย่าแปลว่า เป็นตำแหน่งที่ร้อนจี๋เพราะไปเผาอะไรเข้า (เผารถ หรือ หรือเผาอนุพันธ์อันดับหนึ่งของรถ มียางรถเป็นอาทิ)

แปลแบบนั้นไม่ได้ ถือว่าแปลผิดอย่างให้อภัยกันมิได้

ที่ผิด เพราะตำแหน่งเหล่านั้น ตอนนี้ เย็นหมดแล้ว (ไฟดับ)

....

:08: 

...

 

ข้อสองบ้าง

ทีนี้ ถ้าคนเรา เข้าถึงโอกาสแล้ว แต่ใช้ไม่เป็น ก็ไม่ได้ความรู้

ตรงนี้ ไม่เกี่ยวกับ digital divide แล้ว แต่เป็น knowledge divide รึไม่ก็เป็น wisdom divide ซะมากกว่า

ถ้าใช้ไม่เป็น แม้ดูเผิน ๆ ได้ความรู้ แต่ก็จะเป็นได้ลูบได้คลำความรู้ซะมากกว่า

คือ ความรู้ลัดวงจร ไม่ยอมไหลผ่านสมอง แต่ไหลผ่านมืออย่างเดียว

ก็จะทำให้หลงทางอยู่ในเขาวงกตของความรู้

ตัวอย่างครับ ตัวอย่าง

ครูมอบหมายนักเรียนทำรายงานเรื่องน้ำพริก นักเรียนไปใช้ search engine สักพัก ก็พิมพ์มาส่ง ไวสายฟ้าแลบ

ครูก้มหน้าก้มตาตรวจ มีอุทาน "โอ้ ความดีของฉัน !"** สลับกับ "อุจจาระศักดิ์สิทธิ์ !!@"** เป็นระยะ

ครูตรวจเสร็จ ก็เรียกเด็กมาชมซึ่งหน้า

"เธอนี่เก่งนะ เขียนได้ฮามาก ครูชอบ ฮาแบบนี้นี่แหละ สเป๊คครูเลย***"

"ฮาตรงไหนครับคุณครู"

"ฮาตรงที่สนุกกว่าอ่านซับนรก*นะสิ"

*ซับนรก = subtitle ของซีดีเถื่อนที่แปลโดยมือระดับพระกาฬระย่อ (คลิกดูตัวอย่างที่นี่)

**แปลจาก "Oh ! my goodness !"  และ "Holy Shit !!@"

    ... หลักฐานชิ้นนี้บ่งว่า ครูดูซีดีเถื่อนมากไป

*** ประโยคนี้ ซัดทอดอย่่างปฎิเสธไม่ได้ ว่าเสพติดซีดีเถื่อนจริง ๆ

 

นี่คือตัวอย่างไม่กี่บรรทัดของการบ้านดังว่านั้น 

ลอนดอน, อังกฤษ - อี๋ร้อนพวกเขาให้ดวงตาน้ำ เชื้อชาติหัวใจของคุณ และคุณสามารถเปิดหน้าเจื่อนแดง.

(มาจากต้นฉบับ CNN: LONDON, England -- Painfully hot, they make your eyes water, your heart race and can turn your face embarrassingly red.)

เนื่องจากสาเหตุน้ำพริกสุดโต่งขับเหงื่อและเลือดวิ่งไปที่หน้านั้น cools ร่างกายลงเมื่อเหงื่อ evaporates ทำให้มันมีประโยชน์สำหรับการต่อสู้ร้อน.

(มาจากต้นฉบับ CNN: As the chili causes extreme sweating and blood rushing to the face, it cools the body down when the sweat evaporates, making it useful for combating heat.)

ขอบคุณ CNN.com สำหรับบทความเรื่องพริกทำให้ชีวิตซู่ซ่า (Chili peppers add spice to life) และขอบคุณ translate.google.com สำหรับการแปลที่เพิ่มความซู่ซ่าให้ชีวิต

ถ้ายังไม่จุใจเรื่อง google translation ขอเชิญอ่านที่นี่ต่อ หรือที่นี่ก็ได้ รับรองฮา

เด็กถ้าโตมาด้วยเส้นทางแบบนี้ ไม่ต้องไปหวังว่าจะเป็นพลเมืองที่เก่ง ไม่ว่าจะเรียนได้ดีกรีสูงขนาดไหนก็ตาม

...เอ๊ะ ทำไมถึงคิดว่าผมพูดพาดพิงคนที่เค้านินทากันทั้งเมืองเข้าล่ะครับ ? 

...คิดแบบนั้นผมเสียหายนะครับ !...

 

คราวนี้ มาข้อสาม

มีโอกาสแล้ว ใช้เป็นแล้ว ต้องมุ่งหมายประโยชน์ด้วย

เพราะถ้าใช้ความเก่งไปในทางที่ผิด ก็จะสร้างปัญหา เบาะ ๆ ก็ต่อตัวเอง หนัก ๆ ก็ต่อสังคม

แบบนี้ เป็นปัญหาเรื่อง moral divide

ตัวอย่างอัปมงคลคงไม่ต้องเอ่ยถึง มีข่าวออกบ่อย

ถ้าสอบผ่านข้อนี้ ก็ถือว่า เป็นพลเมืองที่คุณภาพคับแก้ว

 

แล้วก็ ข้อสี่ ข้อสุดท้าย คือ ธรรมชาติของเรื่องนั้น เอื้ออำนวยไหม ให้เกิดประโยชน์

แต่ข้อนี้ พูดยาก เพราะมีตัวที่เราไม่สามารถคุมได้เข้ามากเกี่ยวข้องมาก เรื่องที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ อาจหักมุมมีประโยชน์มากก็ได้ จึงขอตัดเรื่องนี้ออกไปจากการพิจารณา

 

ความเหลื่อมล้ำของโอกาสเข้าถึงความรู้ โดยตัวมันเอง เป็นส่วนย่อยของ ความเหลื่อมล้ำเรื่องการจัดการความรู้อย่างเหมาะสม

 

ความเหลื่อมล้ำของการจัดการความรู้อย่างเหมาะสม โดยตัวมันเอง ก็เป็นส่วนย่อยของ ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพพลเมือง อีกต่อหนึ่ง

 

การลด digital divide (โดยจัดหาวัตถุสิ่งของ หนังสือหรือเนื้อหาวิชาการ) จึงเป็นกระบวนการที่ต้องเกิดควบคู่กับกระบวนการจัดการความรู้ (คือ เรียนรู้อย่างฉลาดให้เป็น) และเกิดควบคู่กับการปลูกฝังจิตบริการสาธารณะ เพื่อให้ครบกระบวนการของการสร้างประโยชน์ของความรู้

 

เขียนมาตั้งยาว จะบอกแค่ว่า แก้ปัญหา digital divide ไม่ใช่จบแค่วัตถุสิ่งของ (รวมถึงโครงสร้างรองรับพื้นฐานสำหรับการสื่อสาร) เพราะมันเป็นแค่ปฐมบทของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือ กระบวนการเพิ่มคุณภาพพลเมือง

การเข้าถึงโอกาส = การเข้าถึง IT + การเข้าถึงกลุ่มคนที่มีสติปัญญาความรู้ + การเข้าถึงศักยภาพและสติปัญญาในตัวเอง

digital divide จำเป็นต้องแก้เร่งด่วน ณ เวลานี้ก็จริง เพราะคนจำนวนมาก ยังได้แค่ชะเง้อคอดูห่าง ๆ 

แต่อีกสิบปีข้างหน้า ต่อให้ไม่ทำอะไรเลย การเข้าถึง IT ก็จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะราคาคงถูกมากจนเป็นเสี้ยวเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เพราะราคาถูกลงเรื่อย ๆ แบบหารสอง ทุก 1-2 ปี ซึ่งจะทำให้แม้คนที่ฐานะไม่ดี ก็เข้าถึงได้ และเทคโนโลยีคงแพร่กระจายได้ทั่วประเทศแล้ว

เหมือนกับมือถือ ที่ยุคแรก คนต้องรวยมาก จึงจะขวนขวายหามาใช้ได้ (มีปัญญาหิ้วเครื่องหนักหลายกิโลกรัมเข้ามาใช้) จนถึงเดี๋ยวนี้ คนต้องจนมากแบบสุด ๆ จึงจะไม่สามารถหามาใช้

ฟังดูเหมือนยาวนาน แต่จริง ๆ แล้วห่างกัน 20 ปีเท่านั้นเองนะครับ

ผมจะไม่แปลกใจถ้าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ใช้โทรศัพท์ล่ามสายเสียบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไร้ฮาร์ดดิสก์ บูตเครื่องแล้วเราใช้งานเสมือนหนึ่งว่าโทรศัพท์เป็นฮาร์ดดิสก์ประจำเครื่อง (ทำไมจะไม่ได้ ศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ มอ. เคยทดลองใช้หน่วยความจำโทรศัพท์เป็นฮาร์ดดิสก์จำลองสำหรับบริการ ftp server โดยใช้ระบบ linux ubuntu มาแล้ว) ทำให้เพิ่มความสามารถของโทรศัพท์ขึ้นมาอีกอย่าง (นอกเหนือจากการใช้พูด / ใช้ส่งแฟ้ม / ใช้เป็น internet gateway / ใช้บันทึกสมุดนัด / ใช้แทน usb drive เก็บแฟ้มงาน / ใช้เกทับคนอื่นว่าตรูรวย รุ่นนี้หรูสุด ๆ อ่ะนะ <-- รายการนี้ วัยรุ่นบอก สำคัญกว่าอย่างอื่นที่กล่าวมาก่อนหน้าหมดเลย !)

และจะไม่แปลกใจ ถ้าใช้โทรศัพท์แทนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เลย (ต่อจอ กับ คีย์บอร์ด ผ่านสาย) ในยุคถัดไปจากนั้นอีกพักหนึ่ง

นั่นเพราะแนวโน้มเทคโนโลยี มันมีการควบรวมสมรรถนะ (functional convergence) คือ เครื่องเดียว เอนกประสงค์มากขึ้นเรื่อย ๆ

...จนชวนให้คิดว่า สุดทางวิวัฒนาการของโทรศัพท์  คือโทรศัพท์รุ่นที่ใช้ซักผ้าได้...

ถึงตอนนั้น digital divide อาจไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป...

ถึงตอนนั้น สมการก็จะเปลี่ยนไป...

 

การเข้าถึงโอกาส = การเข้าถึง IT + การเข้าถึงกลุ่มคนที่มีสติปัญญาความรู้ + การเข้าถึงศักยภาพและสติปัญญาในตัวเอง

 

แต่การเข้าถึงกลุ่มคนที่มีสติปัญญาและความรู้ หรือการเข้าถึงศักยภาพและสติปัญญาในตัวเอง ช่องว่างคงยังถ่างอยู่ตลอดไปเช่นกัน...

 

ปัญหาที่จะตามมาหลังจากนั้น ใหญ่กว่า digital divide ครับ 

 

เมื่อเรามีความเสมอภาคทาง digital มากขึ้นแล้ว ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่จะสามารถหลุดออกมาจากเขาวงกต digital ได้

 

อ้างอิง: smiley :08: ก๊อปมาจาก iannnnn.com 

 

หมายเลขบันทึก: 255693เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2009 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

รับความรู้ ความคิด ครับ :)

มาเปิดมุมมอง เพื่อคิดต่อค่ะ ขอบคุณค่ะ

อยากให้อาจารย์ช่วยสังเคราะห์ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางความรู้ หลังจากที่วิเคราะห์แล้วข้างต้น คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์มาก รอติดตามอยู่ค่ะ

P Jarinya

  • เป็นประเด็นที่ไม่ได้นึกถึงมาก่อนเลยครับ
  • จะลองรับไปคิดดูครับ ว่าจะมีเนื้อหาเขียนออกหรือเปล่า
  • ถ้าคิดออกไม่มาก จะใช้วิธีปรับเนื้อหาใส่ในนี้ แต่ถ้ามาก จะค่อยเขียนแยกบทออกไปครับ

ผมลองสังเคราะห์ด้วยการจับคู่หมวดที่ gotoknow จะจัด forum กับกระบวนการแห่งประโยชน์

ประโยชน์
= การเข้าถึงโอกาส x การสามารถใช้โอกาสเป็น x การมุ่งหมายประโยชน์ x ธรรมชาติของสิ่งนั้นว่ามีประโยชน์หรือไม่

การเข้าถึงโอกาส

  • การส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ (Access to Knowledge)
  • การพัฒนาสื่อเพื่อการเผยแพร่ความรู้ (Media Development)
  • การพัฒนาคลังความรู้เพื่อการเผยแพร่อย่างทั่วถึง (Memory of the World)
  • การพัฒนาเนื้อหาความรู้ (Content Development)

การสามารถใช้โอกาสเป็น

  • การพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อการนำความรู้ไปใช้ (Capacity Building)

การมุ่งหมายประโยชน์

  • การส่งเสริมอิสรภาพในการเผยแพร่ความรู้ (Freedom of Expression)

 

หมวดใช้โอกาสเป็น ชื่อดูกว้างเป็นทะเลไปนิ๊ดดดดดนึง เห็นแล้วรู้สึกเวิ้งว้างชอบกล คือเรื่องเดียว รับรอง คลุมทุกอย่าง แต่เวลาถกกลุ่มย่อย จะถกได้คลุมครบถ้วนตามชื่อไหม ไม่ค่อยแน่ใจ 

ตรงการมุ่งหมายประโยชน์ ผมมองว่า ยังขาดอยู่ ถ้าจะว่าไปแล้ว เหมือนกับพูดถึงเรื่อง สิทธิ แต่ไม่ได้พูดเรื่อง หน้าที่ ถ้าจะมีเรื่องเกี่ยวกับจิตบริการสาธารณะใส่เข้ามา อาจทำให้ครบขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ ลองพิจารณาดูนะครับ

 

บันทึกนี้ อ่านแล้ว ดี ให้้ข้อคิด ในเชิงวิเคราะห์ได้ดีมากๆค่ะ
ตัวเอง ตอนนี้ มุ่งเน้น จะสร้างคนที่มีคุณภาพออกสู่สังคม ในระดับครัวเรือน คือ ลูกหลานของเราเอง
 แต่ถ้าิพิจารณาในภาพรวมการเข้าถึงโอกาส ก็ยังมีความเ หลื่อมล้ำอยู่ค่ะ  
พ่อแม่ที่เอาใจใส่เรื่องการศึกษาของลูกหลาน แ ละพอจะมีทุน  จะสามารถให้โอกาสแก่ลูกหลานอย่างมีประสิทธิภาพกว่า  และยังสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้และสนับสนุนการศึกษาของลูกตนเองเพิ่มเติมได้ดีกว่า
ถ้าพิจารณาถึงด่านแ รกคือ   การเข้าถึงโอกาส  
ตราบที่สังคมมีรายได้ของประชาชนที่แตกต่างกัน  คุณภาพการศึกษาของคน จะมาใกล้กันโ ดยเ ร็ว ก็ไม่ง่ายนักค่ะ
หากจะแก้ไขคุณภาพการศึกษาให้ใกล้เคียงกัน รัฐบาล  ต้องเข้ามาจัดการอย่างแข็งขัน ไม่ปล่อยให้เ ป็นไ ปตามธรรมชาติ  และต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจ  คือจะต้องลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้น่ะค่ะ
ขอแ ลกเปลี่ยนแค่ประเด็นเดียวนี้ค่ะ

สวัสดีครับ พี่ P Sasinand

 

  • ผมเชื่อว่า หากวงเล็ก ๆ ในสังคม ทดลองหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการเปิดโอกาสการเข้าถึง แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน หากมีทางเลือกใหม่ ๆ รายการไหนที่ได้ผลดี ก็ช่วย ๆ กันตีปิ๊บให้ดัง กลายเป็นเรื่อง talk of the town ได้ ก็็จะทำให้ผลักขึ้นไปเป็นนโยบายได้ไม่ยาก ก็จะย่นระยะเวลาให้สังคมได้ไม่น้อยครับ
  • ถ้าทำแบบนี้ เหมือนกับวงเล็ก ๆ ทดลองรูปแบบที่เข้ากับตัวไปตามประสา ทำแบบนี้เป็นร้อย ๆ แบบ แล้วมีสักสองสามแบบที่ใช้ได้ดี ก็ถือว่าคุ้มครับ

สวัสดีครับคุณ wwibul,

ตามเข้ามาอ่านครับ :)

เรื่องเหล่านี้หากนำเอาใช้ในการอภิปรายกลุ่มย่อย น่าจะเกิดประเด็นทางรูปธรรมมากมาย และเป็นประโยชน์มาก ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ...อาจารย์วิบุล

กะปุ๋มเข้ามาอ่าน พร้อมฟังและคิดตามค่ะ... และเกิดคำถามหนึ่งปรากฏต่อตนเองว่า...มันจะคล้ายกับเรื่องเก่ามาคุยในวงเล่าใหม่ไหม?

หากย้อนยุคไปเมื่อเกือบสิบกว่าปีที่ IT ยังไม่ได้เฟื่องฟู...โอกาสหรือแหล่งแห่งการเรียนรู้จะเฟื่องฟูในรูปแบบของสื่อและนวัตกรรมแบบหนึ่ง และก็มีการแพร่ของสื่อและนวัตกรรมนั้นมาก คล้ายกับ IT เป็นนวัตกรรมในยุคนี้...แล้วเราก็พบกับความล้มเหลวของการเข้าถึงความรู้นั้นเช่นกัน

ดังจะเป็นสภาพสะท้อนทั้งโลกเลยก็ว่าได้... ดั่งเช่น ขอยกตัวอย่างเรื่องการรณรงค์และให้โอกาสความรู้ทางด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ มีสื่อและนวัตกรรมอย่างมากมายที่ถูกสรรค์สร้างออกมาเพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เข้าถึงความรู้นั้น แต่...ความจริงแล้ว ...ปรากฏการณฺในปัจจุบันนี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเกิดเป็นความล้มเหลวของการแพร่ขยายความรู้นั้น ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่สามารถดูแลตนเองและป้องกันตนเองไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้... (นั่นน่ะหมายถึงเกิดการเข้าถึงความรู้แบบเทียมในอดีต ภาพจึงสะท้อนออกในปัจจุบัน)

คำถาม...จริงๆ แล้ว "จุดบอด/จุดอ่อน" คือ อยู่ตรงไหน ? อยู่ตรงที่ผู้คนเข้าไม่ถึงโอกาสแห่งการได้รู้นั้นจริงหรือ? ทั้งๆ ที่มีการแพร่ขยายสื่อและนวัตกรรมที่ถูกผลิตออกมามากมาย...และก็เช่นเดียวกัน หากเราส่งเสริมให้เกิดตัวแปรต่างๆ ตามที่อยู่หลังเครื่องหมายเท่ากับนั้น...จะเกิดประโยชน์จริงๆ ไหม? เป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าสนใจหาคำตอบนะคะอาจารย์ หรือว่าน่าจะมีตัวแปร x... หรือ y... อื่นเพิ่มเข้ามาอีกอันเป็นตัวแปรที่ซ่อนรูปอยู่แล้วเราอาจคาดไม่ถึงได้...

คิดๆๆ คิดเล่นๆ กับตนเอง...ค่ะ...คิดออกมาเป็นภาพอักษร...น่ะค่ะ... :)

ด้วยความนับถือค่ะ

(^___^)

(พอดีเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับเรื่องที่กำลังทำวิจัยอยู่ค่ะ... "การออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ต่อการสร้างความรู้ของบุคคล" ก็เลยขออนุญาตมาแลกเปลี่ยนด้วยค่ะ)

คุณP  Ka-Poom

  • ขอบคุณที่ยกประเด็นนี้มาเล่าครับ และผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
  • ถ้ายุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วย จุดอ่อน ไม่น่าจะอยู่ตรงที่การขาดโอกาสเข้าถึงหรอกครับ
  • แต่มักอยู่ตรงที่เขาใช้โอกาสที่ได้มา (คือความรู้) เป็นหรือเปล่า
  • เอาง่าย ๆ เขาเป็นโรคเบาหวานและความดัน
  • อธิบายเรื่องออกกำลังกายให้ฟัง ถามทีหลัง เขาจำได้หมด แต่ไม่สนใจทำ
  • ถามว่า เขามีโอกาสมั้ย คำตอบคือ มี
  • แต่ไม่ทำ เพราะใช้โอกาสไม่เป็น
  • คือความรู้ ไม่ได้ไหลผ่านลงไประดับลึก คือ รู้ แต่ ไม่คิดจะทำ
  • การใช้โอกาสเป็น ไม่ใช่ องค์ความรู้
  • แต่เป็น การตระหนักข้างในอย่างจริงแท้
  • ยกตัวอย่างว่า เราเห็นสายไฟรั่ว ที่ปลั๊กไฟก็เสียบอยู่
  • เราบอกเด็กเล็กที่ไม่รู้เดียงสาว่า อย่าจับ อันตราย นั่นก็คือเราให้โอกาส คือ ให้ความรู้
  • แต่เด็กเห็นแล้วก็ิอาจยังยื่นนิ้วไปลองแหย่ดู
  • ส่วนเราเองเห็นแล้ว เราจะรู้สึกถึงอันตรายที่แผ่ซ่านไปทั่วตลอดเวลาที่เห็น
  • เรารู้เท่ากับเด็กนั่นแหละครับ เพราะนี่คือองค์ความรู้
  • แต่การตระหนักรู้ ผิดกันเยอะ ทำไมเราตระหนักรู้ แต่เด็กเล็กไม่ตระหนักรู้ ?
  • ตระหนักรู้ ถ่ายทอดกันตรง ๆ ไม่ได้
  • ต้องได้จากกระบวนการดำเนินชีวิต (เคยเจอทำนองนี้เองมาก่อนและเจ็บจนเข็ดหลาบ) หรือเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น (เคย อิน กับเรื่องของคนอื่นที่เขาแทบเอาชีวิตไม่รอดจากเรื่องซน เอานิ้วไปแหย่สายไฟรั่วทำนองนี้)
  • กระบวนการทางสังคม หรือกระบวนการเรียนรู้ด้านใน ช่วยถ่ายทอดการตระหนักรู้ให้กันได้ แต่การให้องค์ความรู้ ไม่สามารถทำตรงนี้ได้ครับ
  • แต่ปัญหาการขาดโอกาสนี่ เป็นรูปธรรม เห็นง่าย
  • ส่วนปัญหาใช้เป็นรึเปล่า เป็นนามธรรม เห็นยาก
  • ถ้าขี้เกียจปวดหัว เราก็นิยมตัดบทว่า เอารูปธรรมก่อน ไว้วันหลังค่อยว่ากันเรื่องนามธรรม
  • หนักกว่านั้น ก็จะ "มันเป็นนามธรรมนะ เชื่อยาก คุณมีหลักฐานเชิงประจักษ์ไหม มีพยานรู้เห็นไหม มีการถ่ายทอดสื่อต่างชาติไหม ถ้าไม่มี ต้องมีอ้างอิงองค์ความรู้นะ ไม่งั้นผมไม่เชื่อร๊อก จินตนาการไปเองรึเปล่า ?"
  • ...:08: ...

  • (จะไปตายที่ไหนก็ไปเถอะเพ่...บ๊าย บ่าย จุ๊บ จุ๊บ) <- อันนี้แค่คิดในใจอ่ะครับ

 

  • ป.ล. เรียกผมด้วยนามแฝงได้ จะขอขอบคุณอย่างสูงครับ

ขออภัยและขอบพระคุณค่ะ... wwibul

(^__^)!!

มารับความรู้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับ อาจารย์ wwibul และท่านทั้งหลาย

  • อ่านกระทู้ 10+11 แล้ว น่าสนใจมากครับ จึงอยากร่วม ลปรร. โดยขอแสดงความคิดเห็นต่อจากความคิดเห็นที่ 10 ดังนี้ครับ
  • ผมว่าปัญหา Digital Divide จะคล้าย ๆ กับการสอนนักเรียนในห้องนะครับ คือ คนเรียนเร็ว กับ คนเรียนช้า สำหรับผมแล้วก็จะแก้ปัญหาโดยการเอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง กล่าวคือ ส่งเสริมให้คนเรียนเ็ร็วมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (โดยไม่ดึงเขาไว้) และพัฒนาคนเรียนช้าให้เรียนเต็มศักยภาพ (โดยไม่ทิ้งเขา) และก็ให้ทั้งสองกลุ่ม (อาจจะมากกว่า 2) เป็นประโยชน์หนุนกันและกัน ดูพูดง่าย แต่ทำยากเหมือนกันนะครับ อิ อิ

 

สวัสดีครับ  อาจารย์ P  เด็กข้างบ้าน ~natadee

 

  • ผมนึกตามไม่ค่อยทันครับ เพราะ digital divide นี่ เป็นปัญหาเรื่อง มี กับ ไม่มี
  • ส่วนเรื่องเด็กเรียนรู้ เป็นเรื่อง เร็ว กับ ช้า
  • เกิดอาการคันหัวเกาแกรก ๆ ครับ อิอิอิ ถ้าขยายความได้ก็ดีครับ เพราะผมยังหาจุดโยงเรื่องไม่เจอ

เรียนท่านอาจารย์ wwibul  อีกครั้งครับ

  • ต้องขออภัยท่านอาจารย์ที่สื่อสารไม่ค่อยชัดเจนครับ
  • ตามความเข้าใจของกระผม เข้าใจคำฝรั่งที่ว่า  Digital Divide ว่า เป็นช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยี คล้าย ๆ กับช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน กล่าวคือ คนส่วนหนึ่งอย่างเช่นกลุ่ม G2K ของเราสามารถใช้และเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่มีคนอีกไม่น้อยที่ชีวิตเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยตรง
  • คนสองกลุ่มนี้ คล้าย ๆ กับคนกลุ่มหนึ่งเดินทางด้วยเครื่องบินไอพ่น แต่อีกกลุ่มหนึ่งเดินทางด้วยการเดินเท้าหรือการขี่ม้า ยิ่งนานวันยิ่งห่างไกลกันออกไปทุกที
  • ผมจึงมองว่า Digital Divide หรือ ช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นปัญหาที่ต้องให้รับการป้องกันและแก้ไขเยียวยา จึงเป็นที่มาของความคิดเห็นที่ 15 ที่ได้เสนอทางแก้เอาไว้ว่า
    ...ผมว่าปัญหา Digital Divide จะคล้าย ๆ กับการสอนนักเรียนในห้องนะครับ คือ คนเรียนเร็ว กับ คนเรียนช้า สำหรับผมแล้วก็จะแก้ปัญหาโดยการเอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง กล่าวคือ ส่งเสริมให้คนเรียนเ็ร็วมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (โดยไม่ดึงเขาไว้) และพัฒนาคนเรียนช้าให้เรียนเต็มศักยภาพ (โดยไม่ทิ้งเขา) และก็ให้ทั้งสองกลุ่ม (อาจจะมากกว่า 2) เป็นประโยชน์หนุนกันและกัน 
  • จริง ๆ ได้เสนอแนวคิดต่อไว้ด้วยครับ แต่ลบออกไปแล้ว กลัวว่ามากไปจะเกินงามครับ     

(กดบันทึกไปแล้ว ตามไปอ่านดูก็ยังสื่อสารไม่ชัดตามเคย เป็นอย่างนี้มานานแล้วครับ กำลังหาทางแก้ไขอยู่ จึงขอ Post เพิ่มเติมครับ)

  • ผมหมายความว่า ในการแก้ปัญหา Di..Di.. นี้ ให้ส่งเสริมกลุ่มที่เข้าถึง(กลุ่มเร็ว) ไปสู่ความเป็นเลิศอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และต้องไม่ทอดทิ้งกลุ่มเข้าไม่ถึง (กลุ่มช้า)
  • ยกตัวอย่าง มีเพื่อนนานาชาติที่ประเทศเขาเล็ก ๆ เขาโม้เอาไว้ว่า เขาจะวาง Fiber Obtic ทั้งประเทศและติด Wireless เป็น Digital Village ทั่วทั้งประเทศเลย ต้องกล้าลงทุนเพื่อการพัฒนาคนและประเทศไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
  • แต่ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายความว่า เห็นช้างต้องตามช้าง หรือขี่ช้างจับตั๊กแตนนะครับ ผมกลับเห็นด้วยกับอังกฤษมากกว่าที่นำเครื่องเก่า ๆ มาใส่ Dos เพื่อการใช้งานโปรแกรมระบบงานบางอย่างที่ยังทำงานได้ดีสมัย Dos
  • ผมว่า เราควรมุ่งเป้าไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้เป็นหลัก เช่น การสร้างคนให้เป็นนักเรียนรู้ เป็นต้นครับ
  • มากจนเกินงามอีกแล้วครับ อิ อิ

 

 

ข้อแรกก่อน

ถ้าคนเรา เข้าไม่ถึงโอกาส ก็ถูกกันออกจากดงความรู้

ประโยชน์
= การเข้าถึงโอกาส x การสามารถใช้โอกาสเป็น x การมุ่งหมายประโยชน์ x ธรรมชาติของสิ่งนั้นว่ามีประโยชน์หรือไม่

การเข้าถึงโอกาส

  • การส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ (Access to Knowledge)
  • การพัฒนาสื่อเพื่อการเผยแพร่ความรู้ (Media Development)
  • การพัฒนาคลังความรู้เพื่อการเผยแพร่อย่างทั่วถึง (Memory of the World)
  • การพัฒนาเนื้อหาความรู้ (Content Development)

การสามารถใช้โอกาสเป็น

  • การพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อการนำความรู้ไปใช้ (Capacity Building)

การมุ่งหมายประโยชน์

  • การส่งเสริมอิสรภาพในการเผยแพร่ความรู้ (Freedom of Expression

 

ขออนุญาต คัดลอกลงมาก่อน อ่านแล้วสามรอบ
ยังทำความเข้าใจได้ไม่แจ้ง ขอนำไปนอนคิดต่อ ;P

บันทึกนี้ เข้ากับชื่อบล็อกจริง ๆ ...(เป็น)เกลียว(เป็น)ขวั้น

สวัสดีครับ  อาจารย์ P  เด็กข้างบ้าน ~natadee

  • คิดอยู่วันหนึ่งเต็ม ๆ พอจะเริ่มเห็นประเด็นครับ
  • กรณีนี้ เร็วและช้า ก็คือช่องว่างนั่นเอง
  • เพิ่งปิ๊งครับ และเห็นด้วย
  • แบบนี้ เป็นความเหลื่อมล้ำเรื่องความเร็วในการคิดไหมครับ ? ู^^

ประเด็นที่ว่า "ผมกลับเห็นด้วยกับอังกฤษมากกว่าที่นำเครื่องเก่า ๆ มาใส่ Dos เพื่อการใช้งานโปรแกรมระบบงานบางอย่างที่ยังทำงานได้ดีสมัย Dos"

  • ประเด็นนี้น่าสนใจครับ
  • บ้านเรามีคำว่า ชีวิตพอเพียง
  • ฝรั่งก็มีครับ คือ ซอฟท์แวร์พอเพียง
  • บ้านเขา ไม่นิยมของเถื่อน การใช้ จึงถือหลักว่า ซื้อแล้วต้องใช้ให้คุ้ม เขาจึงไม่ลงโปรแกรมเยอะ แต่ลงอะไร ก็หัดใช้แบบให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ
  • บ้านเรา ของเถื่อนเยอะ ก็ไม่เห็นคุณค่า
  • ผลคือ การวิ่งตามเทรนด์ใหม่ของซอฟท์แวร์เถื่อน ดูเป็นเรื่องที่นิยมแพร่หลายกัน เพราะคิดว่า ฟรี (จริง ๆ คือ ฟรีแบบของเถื่อน)
  • แต่เราไม่ค่อยได้หยุดคิดว่า การวิ่้งตามเทรนด์ใหม่ของซอฟท์แวร์ มีต้นทุนที่แพงมาก และเป็นต้นทุนที่มองไม่เห็น
  • ต้นทุนแรกคือ ต้นทุนทางค่านิยมสังคม ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่าชื่นชมเลย เรื่องใช้ของเถื่อน
  • ระบบยอดนิยม ดึงพลังเครื่องมาใช้ได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ (เพราะเขาตอบโจทย์เรื่อง usability โดยยอมเสียเรื่องการเปลืองทรัพยากรเครื่อง เพราะถือว่า เดี๋ยวอีกปีสองปี ฮาร์ดแวร์ใหม่ออกมา มันก็ทำงานเร็วเอง)
  • แถมเราต้องลงโปรแกรมสู้กับไวรัส ทำให้หน่วงจนเครื่องช้าไปหลายเท่า
  • เท่านั้นยังไม่พอ ไวรัสกลายพันธุ์จนเราต้องเสียเวลาจัดการล้างเครื่องบ่อยปีละหลายรอบ
  • การที่เขาลง DOS เพราะถือว่า เครื่องเก่าสุด ๆ ขนาดไหน ถ้าใช้ DOS รับรองไวสายฟ้าแลบ เพราะใช้ text mode ยังไงก็ไวกว่า graphic mode นับสิบ ๆ เท่า จนเครื่องเก่าหรือใหม่ ก็เสมือนเร็วทันใจทุกเครื่อง
  • ผมว่าเขาฉลาดครับ สุดยอดเลย
  • ทางเลือกใหม่ คือระบบ linux (เช่น ubuntu) ซึ่งเดี๋ยวนี้ ผมคิดว่า มีหลายแนวโน้มใหม่ มาบรรจบกัน และเราจะเห็นกระแสสังคมเทมายังระบบนี้อย่างเชี่ยวกรากในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
  • เรื่องของเรื่องคือ linux ฟรีแบบไล่แจก ทำงานใน graphic mode ได้ดี แม้ตอนนี้ปัญหาหลัก จะยังเป็นเรื่องของ usability
  • แต่ในไม่กี่ปีข้างหน้า usability ควรจะดีขึ้นจนคนต้องหันมาพิจารณาอย่างจริงจัง
  • ข้อสำคัญคือ linux ใช้ทรัพยากรระบบคุ้มมาก จนใช้กับเครื่องโทรม ๆ เก่า ๆ ก็ใช้งานได้ดีอย่างน่าพอใจมาก แต่ถ้าเราวิ่งตามเทรนด์ซอฟท์แวร์(จะซื้อหรือจะเถื่อนก็ตาม) เครื่องซื้อสองปีก่อน ก็ดูเหมือนจะเก่าไปจนใช้งานอะไรแทบจะไม่ได้เลย
  • เรียกว่า ถ้าเครื่องยังไม่พัง แม้เก่า หันมาลง linux กลายเป็นทำงานได้เร็วปรูดปราดจนหมดความจำเป็นต้องโยนทิ้ง (ถ้าพัง ก็อีกเรื่องครับ เพราะซ่อมเครื่องเก่า แพงกว่าซื้อเครื่องใหม่ !)
  • แนวคิดเรื่องซอฟท์แวร์พอเพียง ดูให้ดี ๆ เปิดประตูโอกาสการเข้าถึงให้กับคนได้มากขึ้นครับ เพราะเครื่องเก่า ๆ ร้าย ๆ ที่คนนึกว่าควรปลดระวาง ในประเทศ ผมเชื่อว่ามีไม่น้อย ที่ชุบชีวิตใหม่ได้ด้วยซอฟท์แวร์ฟรีที่ไม่เถื่อนของระบบ linux ได้ ให้เร็วกระฉับกระเฉง
  • ผมเพิ่มเงิน 2300 บาท ซื้อ usb thumbdrive 16 gb (ราคา 1200) และตัวรับสัญญาณไร้สายแบบ usb (ราคา 1100) ผมสามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่ซื้อหลายปีก่อน ที่ไม่มีฮาร์ดดิสก์แล้ว และเตรียมปลดระวางเข้าสุสานได้อย่างสบาย โดยลงระบบปฎิบัติการใน thumbdrive และลงซอฟท์แวร์พร้อม ทำให้ใช้ดูหนัง ฟังเพลง เข้า net แบบไร้สาย (มีสัญญาณไร้สายอยู่ก่อน) พิมพ์งาน ฯลฯ ได้ เรียกว่า ถ้าใช้แค่พิมพ์งาน+spreadsheet+ทำ slide + ใช้ net แค่นี้ ก็เหลือเฟือ

 

คุณหมอ P  ภูสุภา

  • ประเด็นที่เป็นหัวข้อย่อยต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เขาจัด forum ครับ ไม่ใช่หัวข้อที่ผมคิดเองแต่อย่างไร
  • ผมลองจับคู่สิ่งที่มีใน forum กับกรอบคิดใหญ่ว่าซ้อนเหลื่อมหรือต่างกันแค่ไหน
  • การจับคู่ ทำอย่างหลวม ๆ จึงอาจทำให้เวลาอ่านแล้วคิดตาม อาจขมวดคิ้วนิ่วหน้า
  • ผมก็เป็นครับ
  • แต่เรื่อง forum นี่ เขาก็มีแกนเรื่องของเขาเองตั้งแต่ต้น ส่วนผมก็มีแนวคิดประสาของผมเป็นเอกเทศ เรื่องจะมาซ้อนเหลื่อมได้เนียนนี่ คงไม่ลงตัวเท่าไหร่ครับ
  • เรื่องที่ผมเขียน ไม่ได้เขียนเพื่อตอบโจทย์ที่ forum ตั้งไว้ แม้จะมีบางประเด็นที่ซ้อนเหลื่อมกัน
  • อย่าคิดมากจนงงครับ จะเสียสุขภาพ

ที่(พยายาม)คิดก็เพราะ พ่อและลูก สองคนเขาไปไกลกันในเรื่องไอที

มีการเท้าความถึงคอมพ์รุ่นแรก ๆ ที่มีขนาดเท่ากับครึ่งตัวอาคาร และใช้ภาษาคอมพ์อะไรนะคะ ดิฉันไม่มีทักษะทางนี้เลย เป็นเศษเสี้ยวของ user คือใช้คอมพิวเตอร์ได้ไม่สม(ครึ่ง)ราคาด้วยซ้ำ

เห็นหลานเราเองก็งง...> (คนนี้>ก่อกิจ วีระอาชากุล) 

คิดพอให้..รู้ว่า คิด น่ะค่ะ อาจารย์ ;P

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท