ตม2


ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองเด็ก

ตม(๒)  

                                                                                     อัยการชาวเกาะ

             ผมอ่านเรื่องราวเรื่อง ตมจากหนังสือดาราภาพยนตร์ฉบับละคร ตมจนจบ แล้วจึงหันมานั่งหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อจะนำท่านผู้อ่านเข้าสู่ข้อกฎหมายของละครเรื่องนี้ แต่ก่อนอื่นอยากจะบอกว่า  ปัญหาของครอบครัวที่แตกแยกส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัด ในชีวิตจริงที่ทำงานด้านเยาวชนมาเกือบครบ ๒ ปี สถิติคดีมันออกมาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ดังนั้นจึงพอสรุปเป็นทฤษฎีได้ว่าการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนที่ไม่ดีมีผลต่อการกระตุ้นให้เด็กกระทำความผิด สังคมจึงต้องมีตัวช่วย นั่นก็คือกฎหมาย การที่มีกฎหมายคุ้มครองเด็กออกมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใช้มาตรการทางกฎหมายมาป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม ปกป้องมิให้เด็กกระทำความผิด  กำชับให้ผู้ปกครองบิดามารดาต้องเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูบุตร และยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องช่วยกันดูแลเด็กและเยาวชนให้ได้รับการดูแลสิทธิของเขาอย่างเต็มที่ เรามาดูกันดีกว่าว่ากฎหมายฉบับนี้บอกอะไรเราบ้าง  ผมเริ่มเอากฎหมายฉบับแรกมาจิ้มน้ำจิ้มแล้วนะครับ แฮ่......                       

กฎหมายนี้มีแนวความคิดว่าจะใช้กฎหมายเป็นกลไกที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการคุ้มครองเด็กมิใช่กฎหมายที่มุ่งลงโทษผู้กระทำผิด จึงมีกลไกที่ทำให้บุคลากรที่ทำงานด้านเด็กทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที และอัตราโทษตามกฎหมายนี้ก็ไม่สูงเพราะมุ่งแก้ไขพฤติกรรมของเด็กให้สามารถกลับตนเป็นคนดีโดยใช้กระบวนการสังคมสงเคราะห์ในการแก้ไขพฤติกรรม และการกระทำความผิดกฎหมายหลายๆเรื่องก็มีโทษเฉพาะอยู่แล้ว เช่น การบังคับขู่เข็ญ  การทำทารุณกรรม การยินยอมให้เด็กเล่นการพนัน ศาลลงโทษตามบทหนักได้อยู่แล้ว           

เราผูกเรื่องจากในละครมาชี้แนะข้อกฎหมายกัน  ดังนั้นก็คงจะต้องมาว่ากันที่เบิ้มและ มิกซึ่งไม่ปรากฏว่าอายุเท่าไร เรามาสมมติให้ เบิ้มอายุไม่เกิน ๑๘ ปีซึ่งตามกฎหมายถือว่าอยู่ในวัยเด็ก ส่วนมิกไม่ต้องพูดถึงตัวกะเปี๊ยกขนาดนั้นคงไม่มีใครเดาว่าอายุ ๒๐ หรอกนะ หรือว่ามี ฮึ!  กฎหมายฉบับนี้พูดถึงเด็ก/นักเรียน/นักศึกษาว่า            เด็ก คือบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์แต่ไม่รวมถึงผู้บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส และหมายถึงเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย และเด็กตามกฎหมายคุ้มครองเด็กยังแบ่งแยกออกเป็น เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบาก เด็กพิการ เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ไหนๆเราก็พูดถึงเด็กมาแล้วว่ากันให้ละเอียดไปเลยเป็นไงครับ

             เด็กเร่ร่อน คือ เด็กที่ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือมีแต่ไม่เลี้ยงดูหรือไม่สามารถเลี้ยงดูได้ จนเป็นเหตุให้เด็กต้องเร่ร่อนไปในที่ต่างๆหรือเด็กที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตเร่ร่อนจนน่าจะเกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพของตน

            เด็กกำพร้า คือ เด็กที่บิดามารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดาหรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้

            เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบาก คือ เด็กที่กินแกลบ เฮ้ย! ไม่ใช่ หมายถึงเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือบิดามารดาหย่าร้าง ทิ้งร้าง ถูกคุมขัง หรือแยกกันอยู่แลได้รับความลำบาก หรือเด็กที่ต้องรับภาระหน้าที่ในครอบครัวเกินวัยหรือกำลังความสามารถและสติปัญญา หรือเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  อ่านคำจำกัดความนี้แล้วอดไม่ได้ที่จะต้องนึกถึงเด็กหญิงชายสองพี่น้องที่สุพรรณบุรีที่มีแม่เป็นมะเร็ง พ่อขี้เมา เด็กต้องตื่นแต่เช้ามืดมาทำปาท่องโก๋(ความจริงต้องเรียกอิ๊วจาก๊วย),น้ำเต้าหู้ ตกเย็นกลับจากโรงเรียนก็ต้องเอาเงินรายได้เจียดไปจ่ายค่าเหล้า,บุหรี่ที่พ่อตัวเองไปเซ็นเชื่อเอาไว้ แต่จากการทำความดี รายการคนค้นคนได้นำไปออกรายการ เด็กสองคนนี้มีคนช่วยเหลือให้มีเงินเรียนหนังสืออย่างสบายไม่ลำบากแล้ว ค่อยสบายใจหน่อย

            เด็กพิการ คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สมองสติปัญญาหรือจิตใจ ไม่ว่าความบกพร่องนั้นจะมีมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง

            เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ก็คือ เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร เด็กที่ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่จะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          นักเรียน คือ เด็กซึ่งกำลังรับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งประเภทสามัญและอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน

          นักศึกษา คือ เด็กซึ่งกำลังรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือของเอกชน          พอเราพูดถึงเด็ก เราก็คงต้องพูดถึงผู้ใหญ่ เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เอ๊ะเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดไหมเนี่ย....            ผู้ใหญ่ตามกฎหมายนี้ มี บิดามารดา ผู้ปกครอง

            บิดามารดา คือ บิดามารดาของเด็กไม่ว่าจะสมรสกันหรือไม่ ว่ากันแบบลูกทุ่งก็คือ ไม่ว่าพ่อแม่จะแต่งงานกัน หนีตามกันไป หรืออยู่ด้วยกันเฉยๆจนมีลูก ก็ถือเป็นบิดามารดาตามความหมายนี้ จะมาอ้างว่าพ่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือไม่ได้รับรองบุตร จึงไม่ต้องรับผิดชอบไม่ได้

            ผู้ปกครอง ก็คือ บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์     และ  ให้หมายความรวมถึง  พ่อเลี้ยง         แม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย คราวนี้กว้างเป็นแม่น้ำเลย เพื่อนผมหยิบกฎหมายฉบับนี้มาถามผม ผมก็เลยอธิบายว่า ไม่ว่าเอ็งจะเกี่ยวข้องกับเด็กยังไง หากเอ็งมีเด็กอยู่ในความดูแลก็ต้องถือว่าเอ็งเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายนี้  อ้อ! รวมเด็กนักศึกษาที่เอ็งจ่ายค่าหอให้ด้วยนะ เฮ!!            เพื่อนผมมันหัวเราะชอบใจ ผมบอกเขาว่าเอ็งอย่านึกว่าสนุกนะ เพราะกฎหมายฉบับนี้อธิบายคำว่า ทารุณกรรมเอาไว้ หมายความว่า การกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดๆจนเป็นเหตุให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพหรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ การกระทำผิดทางเพศต่อเด็ก  การใช้เด็กให้กระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจหรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม  และในเมื่อเอ็งเป็นผู้ปกครองแล้วกระทำผิดทางเพศต่อเด็กในปกครองกฎหมายให้อำนาจศาลห้ามเอ็งเข้าเขตกำหนด โดยสั่งห้ามเอ็งเข้าหอก็ได้ คราวนี้เอ็งจ่ายค่าหอฟรีแน่ๆ กิ๊ว กิ๊ว!!!!!

            อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การเลี้ยงดูเด็กโดยมิชอบ หมายความว่า การไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนหรือพัฒนาเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดในกฎกระทรวง จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก ขณะเขียนบทความนี้กฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ประกาศออกมา ก็เลยไม่รู้ว่ามาตรฐานขั้นต่ำมันคืออะไร แต่ถ้าจะให้เดาก็ต้องเดาว่า มาตรฐานขั้นต่ำก็คงต้องสอนให้เด็กรู้จักคิด ให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน ให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น อะไรทำนองนี้ ผมว่าของผมนะ แต่คงไม่หมายความแบบเพื่อนผมที่ไปรับผิดชอบเลี้ยงดูนักศึกษาจ่ายค่าหอพักให้ แต่ผมว่า เมียเพื่อนผมต้องตีความว่าการกระทำอย่างนั้นต้อง เป็นการเลี้ยงดูเด็กโดยมิชอบ แน่นอนเลย            ว้า.....กระดาษหมดต้องต่อตอนสามแล้วละครับ

หมายเลขบันทึก: 130454เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท