ตม4


กฎหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

ตม(๔)

อัยการชาวเกาะ

            เรื่องตมมีเรื่องให้เราได้คุยกันมากมายโดยเฉพาะเรื่องของการเลี้ยงดูและการอบรมลูก และในกรณีลูกติดยาเสพติดให้โทษ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เราจะคุยกัน ถ้าท่านดูละครเรื่องนี้ท่านจะเห็นความอดทนอดกลั้นการให้อภัยของคุณใหญ่ที่มีให้กับเบิ้มลูกที่ติดยา หลายต่อหลายครั้งที่เบิ้มเลิกยาแล้วหันกลับไปติดมันอีก จนในที่สุดด้วยความรักของแม่อย่างคุณใหญ่ก็ทำได้สำเร็จ เบิ้มเลิกยาเสพติดได้อย่าเด็ดขาด มันไม่ใช่เพียงแค่ในละคร แต่ในชีวิตจริงเรื่องเหล่านี้ก็มีจริงๆ คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง  และหากสังคมจะเอาใจช่วยเขาเหล่านั้น ผมบอกได้คำเดียวครับว่าท่านก็ต้องอดทนอย่างสูงยิ่ง เพราะท่านไม่ใช่ญาติของเขาที่จะให้อภัยกันพร่ำเพรื่อ

            ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ก็คงจะต้องนำท่านมาดูมาตรการทางกฎหมายที่จะเอาใจช่วยผู้หลงผิดติดยาเสพติดให้โทษ ให้โอกาสเขาเหล่านั้น ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล และเป็นมาตรการหนึ่งของการทำสงครามเอาชนะยาเสพติดให้โทษ กฎหมายนี้เรียกว่าพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๔๕  รัฐบาลออกกฎหมายนี้ด้วยเหตุผลว่า ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยมิใช่อาชญากรโดยปกติผู้เสพบางคนก็ถูกบังคับให้เป็นผู้จำหน่ายเพื่อแลกกับการได้เสพยาเสพติดให้โทษ ถ้าเป็นกรณีขายรายย่อยและได้ความว่าเป็นผู้เสพด้วย ก็จะได้รับอานิสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้  ตามผมมาสิครับ ผมจะเล่าให้ฟัง....ผ่าง....

            จากหลักการและเหตุผลข้างต้น เรามาดูกันว่ารัฐให้โอกาสกับใครบ้างและรัฐทำอย่างไร อย่างแรกก็คือมีคณะกรรมการชุดใหญ่เรียกว่าคณะกรรมการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ในแต่ละจังหวัดก็มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ผมจะพูดถึงคณะอนุกรรมการชุดเล็กนี่แหละครับ เพราะชุดนี้เขามีหน้าที่ตรวจสอบดูแลว่ามีใครบ้างที่ควรจะได้รับการฟื้นฟู  หลักการใหญ่ๆก็จะดูว่าเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษหรือไม่ แล้วก็ดูว่ารายใหญ่หรือรายเล็ก เพราะถ้าเป็นรายใหญ่ก็ไม่ควรที่จะลอยนวลเพราะสร้างความบอบช้ำให้กับสังคมอย่างมากจริงไหมครับ เราจะช่วยแต่รายเล็กครับ พอตำรวจจับได้และได้ความว่าเป็นผู้เสพด้วยก็จะต้องส่งศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง ถ้าเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ก็ส่งศาลภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่ตัวผู้ต้องหามาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์ว่าติดยาหรือไม่ ถ้าติดยาจริงก็ส่งไปดำเนินการฟื้นฟู ส่วนสำนวนการสอบสวนก็ทำไป ตำรวจสรุปสำนวนแล้วก็ส่งให้อัยการ อัยการก็จะสั่งชะลอการฟ้องไว้ 

            คราวนี้ สมมุติว่าส่งตัวไปฟื้นฟูก็ต้องดูว่าวิธีการที่เหมาะสมกับตัวผู้ต้องหานั้นมีมากน้อยขนาดไหน เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการที่จะพิจารณาว่าจะให้ควบคุมแบบเข้มงวดหรือแบบควบคุมแบบให้อยู่ภายในเขตกำหนด หรือเบาหน่อยก็อยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ  แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องดูอีกว่าผู้ต้องหานี้มีคดีอื่นอยู่อีกหรือไม่ ถ้ามีคดีอื่นที่มีโทษถึงจำคุกก็จะต้องถูกส่งตัวไปดำเนินคดี

            คนเราบางทีการต่อสู้กับความต้องการของร่างกายหรือจิตใจนั้นมันรุนแรงมาก บางทีแค่อารมณ์ชั่ววูบก็ฆ่าคนได้ มนุษย์เราเป็นสัตว์โลกที่ต้องการอิสระเสรี การถูกจำกัดสถานที่ก็อาจทำให้รู้สึกอึดอัดอยากออกไปหาเสรีภาพโดยเฉพาะผู้ติดยาเสพติด ความต้องการเสพยาหรือการต้องการอิสระเสรียิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสคิดหลบหนีมากเท่านั้น การหนีออกจากศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้โทษก็จำเป็นต้องมีบทลงโทษ ถ้าผู้หลบหนีมิใช่เยาวชนก็จะมีโทษถึงจำคุก แต่ถ้าเป็นเยาวชนก็จำเป็นต้องใช้วิธีการสำหรับเยาวชน ซึ่งจะมีการภาคทัณฑ์ หรือตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยม หรือต้องอยู่เดี่ยวครั้งละไม่เกิน ๑๐ วัน

            ถ้าฟื้นฟูแล้วได้ผล คดีก็จบ  แต่ถ้าไม่ได้ผลคณะอนุกรรมการอาจจะขยายระยะเวลาการฟื้นฟูออกไป แล้วตรวจสอบดูอีกครั้งถ้าได้ผลก็จบคดี แต่ถ้าไม่ได้ผลก็จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการทราบเพื่อดำเนินคดีต่อไป แต่การดำเนินคดีกรณีที่ว่านี้ถ้าผ่านการฟื้นฟูมาแล้วศาลก็จะรับลูกต่อเพราะกฎหมายกำหนดว่าศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้โดยศาลจะดูจากระยะเวลาการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้โทษประกอบ

            เนี่ยที่เล่ามาเนี่ย...เป็นเรื่องของการที่รัฐใช้มาตรการทางกฎหมายมาช่วยผู้ติดยาเสพติดให้โทษให้หลุดพ้นบ่วงมาร อย่างกรณีของเบิ้มในละครเรื่องตม ถ้าถูกจับกุมเบิ้มก็มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพราะเบิ้มเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษโดยแท้ หรือถ้าหากลูกหลานของใครติดยาเสพติดให้โทษและเรารู้ตัวและอยากให้เลิกตัวเขาเองก็อยากเลิกก็ควรเข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก็ได้ โรงพยาบาลของรัฐก็ได้  ศูนย์ฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้โทษก็ได้หรือถ้ามีเงินจะไปรักษากับหน่วยงานเอกชนก็ได้ 

            ละครเรื่องตมให้ประโยชน์กับสังคมได้มากมายเหลือเกิน ผมเห็นสิ่งดีๆ เช่น บ้านดิน สร้างแบบง่ายๆไม่แพงใช้ประโยชน์ได้แน่นอน ไม่ร้อนด้วย มนุษย์เราเติบโตมากับดิน เราต้องติดดิน เราต้องอยู่อย่างเรียบง่ายชีวิตจึงจะมีความสุข เมื่อไหร่ที่เราทะยานอยากให้กิเลสมันครอบงำเราก็จะหาความสุขไม่ได้ ผมเคยอ่านบทความที่มีสุภาษิตจีนที่เขาบอกว่า เทียบสูงเราต่ำ เทียบต่ำเราสูงหมายถึงให้เรารู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี ถ้าเราไปเทียบกับคนที่สูงกว่าเราก็จะดูต่ำต้อย และยิ่งเราอยากเป็นอย่างเขาเราก็ยิ่งเป็นทุกข์ ให้เราลองเทียบกับคนที่ต่ำกว่าเราจะรู้ว่าแท้จริงแล้วเราไม่ได้ต่ำกว่าคนทั้งโลกเรายังอยู่เหนือใครอีกหลายคน 

            ขณะเขียนบทความนี้ บังเอิญได้นั่งคุยกับผู้ปกครองของผู้ต้องหาคนหนึ่ง ท่านบอกว่าท่านสอนลูกให้มองที่สูงอย่ามองต่ำ ผมว่าก็ไม่ผิดหรอกเพราะการสอนให้ลูกมองสูงนั้นให้มองเป้าหมาย ให้มองที่วิชาความรู้ที่ต้องหาใส่ตัวยิ่งความรู้สูงเท่าไหร่ยิ่งดี ยิ่งอยู่ในวัยเรียนต้องเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่ามองว่าเรียนแค่นี้ก็พอ เพราะถ้ามองอย่านั้นแสดงว่าคนๆนั้นคิดสั้นๆเพียงแค่จะทำงานให้ได้แต่โอกาสก้าวหน้าจะไม่มี เช่น เรียนแค่เป็นช่างซ่อมจบ ปวช.ก็พอแล้ว ผมถามต่อว่าแล้วคุณจะคิดเป็นแค่ช่างซ่อมไปตลอดชีวิตไหมหรือคิดจะเป็นเจ้าของกิจการ การจะเป็นเจ้านายคนอื่นต้องรู้มากกว่าคนอื่นถ้ารู้เท่าคนอื่นเป็นเจ้านายใครเขาไม่ได้ แต่ถ้าจะเปรียบเทียบฐานะกันถ้าเรามีอยู่แค่นี้ไปเทียบกับคนรวยเรารู้สึกว่าเราจนเรารู้สึกต่ำต้อยไม่มีคุณค่าในชีวิต อย่างนี้คิดผิดเพราะการดำรงชีวิตให้มีความสุขไม่ใช่ว่ารวยแล้วมีความสุข จนก็มีความสุขได้หากอยู่ให้เป็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้เราหยุดอยู่แค่นี้หรอกนะในเมื่อเราลำบากเราจะทำอย่างไรให้สบายขึ้นก็ต้องมีความมานะพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่

               คุณพ่อผมสอนให้วางเป้าหมายไว้ที่ยอดเสาเสมอ แล้วปีนขึ้นไปให้ถึง แต่ถ้าปีนไปไม่ถึงปลายเสาแล้วมันรูดตกลงมาก็ไม่ต้องเสียใจเพราะพละกำลังเรามีแค่นั้น ปัญหาอยู่ที่เราได้พยายามเต็มที่หรือยัง ถ้าพยายามเต็มที่แล้วไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียใจ แต่ถ้ายังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ก็ทำเสียเพื่อขึ้นไปให้ถึงปลายเสาให้ได้  เห็นความแตกต่างไหมครับ เรื่อง เทียบ กับ มอง ผมคงต้องสรุปเรื่องตมอีกที

       นอกจากเรื่องบ้านดินแล้ว การให้อภัย การให้ความรักแก่ลูก ความอดทนอดกลั้นที่แม่มีต่อลูก ที่ย่ามีต่อหลาน ความเชื่อมั่นที่แม่คนหนึ่งมีให้กับลูกๆ การอบรมเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่เล็กมีผลอย่างไรต่ออนาคตเห็นได้ชัดจากละครเรื่องนี้ แม้จะมีความเป็นละครไปบ้างแต่มันก็คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ ผมเรียกร้องพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนให้หันกลับมาเลี้ยงลูกแบบเดิม สอนให้ลูก อดทนให้รู้จักคำว่า ยากลำบากให้ลูกรู้จักทำงานบ้าน(ไม่ใช่เอะอะก็ให้คนใช้ทำ) มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของเขา เขาอาจจะต้องรดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์ เก็บที่นอน ล้างจาน เพื่อว่าเมื่อเขาโตขึ้นเขาได้มีความรู้สึกอดทนอดกลั้น ไม่ใช่อยากได้โทรศัพท์มือถือแต่ไม่มีเงินความอยากได้จึงไม่อดทนอีกแล้ว เห็นเพื่อนเอาโทรศัพท์มาใช้ก็ขโมย ถ้าครูจับได้แล้วลงโทษด้วยการตีแทนที่พ่อแม่เด็กจะขอบคุณครูที่ช่วยสอนลูกให้เป็นคนดี พ่อแม่ก็จะเอาเรื่องครู เพราะครูทำผิดกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ สังคมไทยมันคิดง่ายอย่างนี้ ผมไม่ใช่พวกชอบความรุนแรงแค่ผมอยากจะชี้ว่าเด็กสมัยก่อนอยู่ในระเบียบวินัยไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนเด็กสมัยนี้ เพราะเมื่อออกจากบ้านแล้วลูกไปทำผิดที่โรงเรียนพ่อแม่มอบอำนาจให้ครูลงโทษ พอกลับมาบ้านพ่อแม่รู้ว่าลูกไปทำความผิดมาก็จะลงโทษซ้ำถ้าเห็นว่าครูลงโทษไม่หนักพอ วัตถุประสงค์ของครูและพ่อแม่ตรงกันที่ต้องการให้ลูกเป็นคนดี

           แต่สมัยนี้ พ่อแม่ทำเป็นแต่การปกป้องลูก ไม่เคยฟังถ้าใครมาบอกว่าทำไม่ดีอย่างโน้นอย่างดี แถมโกรธคนมาบอกเสียอีก แล้วยังจะมาหลงเพ้อว่าลูกตัวเก่ง ดี มีสุข ปัญหาสังคมไม่ลดเพราะพ่อแม่ให้ท้าย  ผมจึงต้องออกมาเรียกร้องให้ผู้ปกครองสอนลูกให้เขารู้จักทั้งสิทธิและหน้าที่ ไม่ใช่รู้จักแต่สิทธิอย่างเดียวอย่างเช่นทุกวันนี้ ครับ

หมายเลขบันทึก: 130459เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เลี้ยงลูกสมัยนี้ยากจริงค่ะ ต้องคอยอธิบายตลอดเวลา

อธิบายแล้วลูกฟังก็ต้องอธิบาย แต่อธิบายแล้วไม่ฟังจะยุ่ง อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท