บ้านทรายทอง(๓)


มรดกบ้านหลังใหญ่อยากได้ต้องไว้ผมเปีย ฮิฮิ
บ้านทรายทอง()

อัยการชาวเกาะ

            เราว่ากันมาถึงตอนที่สามแล้วนะครับ ผมกำลังเล่าให้ฟังว่าเหตุที่จะตัดไม่ให้รับมรดกจริงๆแล้วมันมีอะไรบ้าง เพราะคุณปู่สุรพลของพจมานโดนตัดไม่ให้รับมรดก อ้างว่าเพราะประพฤติชั่วใฝ่ต่ำอะไรทำนองนั้น ความจริงคุณปู่สุรพลมิได้กระทำความผิดอะไรเลย แต่ถึงหากจะทำก็ตัดไม่ให้รับมรดกเพราะเหตุไม่ควรได้รับมรดกไม่ได้หรอกครับ เพราะการจะตัดมิให้ทายาทได้รับมรดกก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย แล้วกฎหมายเขาว่ายังไงบ้างล่ะ นี่ครับดูที่นี่เลย เขาบอกว่า

            "บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

          () ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

          ()ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ 

         ()ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

          ()ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำหรือเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

          ()ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังวพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด          เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร"

            เห็นไหมครับ ไม่มีข้อไหนบอกไว้เลยว่าเป็นลูกเจ้าพระยาแล้วไปชอบลูกสาวชาวบ้าน ถือว่าใฝ่ต่ำไม่สมควรได้รับมรดก จะถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก การที่พระยาราชาพิพิธไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้น้องแสดงว่าเป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงน้องนั่นเอง

            อย่างที่ผมอธิบายไว้ตั้งแต่ต้นแล้วนะครับ การที่คุณแม่ของพระยาราชาพิพิธและคุณปู่สุรพลถึงแก่ความตาย โดยก่อนตายสั่งเสียไว้กับพระยาราชาพิพิธให้แบ่งมรดกให้น้องโดยให้ยกบ้านทรายทองให้คุณปู่สุรพล แต่พระยาราชาพิพิธก็ยังฮุบไว้เป็นของตัวเอง โดยแสดงเจตนาถึงความเป็นเจ้าของอย่างออกหน้าออกตา ถามว่าคุณปู่สุรพลจะเอาคืนได้ไหม

            คำตอบอยู่ที่นี่ครับ เมื่อเราวิเคราะห์กันแล้วว่าการที่คุณแม่สั่งเสียไว้ก่อนตายไม่ใช่พินัยกรรมด้วยวาจา ดังนั้นทั้งทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองและบ้านทรายทองต้องเอามากองแล้วแบ่งกันคนละครึ่ง หากตกลงกันได้ตามที่คุณแม่ท่านสั่งก็ไม่มีปัญหา เป็นความพอใจของผู้รับมรดกแม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าบ้านทรายทองมีราคามากกว่าแก้วแหวนเงินทอง หรือที่เป็นแก้วแหวนเงินทองจะมีราคามากกว่าบ้านทรายทอง ยังไงก็แล้วแต่ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้คราวนี้ก็จะเกิดปัญหาแน่นอน แต่กฎหมายเขาก็มีทางแก้ครับ เพราะกฎหมายเขาบอกว่า

            "การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท"

            เห็นไหมครับ ตกลงกันไม่ได้ก็ขายเอาเงินมาแบ่งกันตามสิทธิตามส่วนที่จะได้รับตามกฎหมายง่ายจะตายไป จริงไหมครับ

            แต่ในเรื่องบ้านทรายทองไม่มีการแบ่งทรัพย์มรดกกัน และที่สำคัญก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าพระยาราชาพิพิธได้ครอบครองบ้านทรายทองไว้แทนคุณปู่สุรพล เพราะพระยาราชาพิพิธ อ้างว่าคุณปู่สุรพลประพฤติชั่ว ต้องถูกขับไล่ออกไปและไม่มีสิทธิได้รับมรดก จึงต้องถือว่าพระยาราชาพิพิธได้ครอบครองบ้านทรายทองโดยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่นั้นมา

ทำไมผมพูดถึงเรื่องเหล่านี้ มันต้องสำคัญแน่ครับท่าน เพราะในเรื่องมรดกนี่นะครับ กฎหมายเขามีข้อห้ามไว้ครับ ดูนี่ซิครับ

"ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก.คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม…………………………………………………………………………….

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆนั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย"

ที่ผมเว้นไว้ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เรากำลังวิเคราะห์ เพราะเกี่ยวกับเรื่องเจ้าหนี้จะฟ้องกองมรดกครับ

สำหรับอายุความหนึ่งปีที่ว่านั้น ใครจะหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ล่ะครับ เขาว่าอย่างนี้ครับ

"อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดก"

ท่านผู้อ่านเริ่มพอจะมองออกแล้วไหมครับว่า เรื่องบ้านทรายทองจะออกมาในรูปไหน

กรณีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว แต่บรรดาทายาทต่างก็ไม่มีใครทำอะไร ที่ดินของพ่อแม่มีอยู่อย่างไร พี่น้องที่อยู่ในที่ดินนั้นอย่างไรก็อยู่อย่างนั้นโดยทำมาหากินอยู่ในนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพี่คนโต ถึงเวลาน้องอยากจะได้เงินไปทำมาหากินอยากจะขายที่ดิน พี่ก็ไม่ยอม น้องไปฟ้องคดีขอให้แบ่งทรัพย์สิน พี่ก็สู้ว่าขาดอายุความ เรื่องแบบนี้ ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าถือว่าเป็นกรณียังไม่แบ่งมรดกดังนั้นอายุความรดกยังไม่นับ แม้จะเกินหนึ่งปีมาแล้วก็ไม่ขาดอายุความ

แล้วคดีบ้านทรายทอง ล่ะ จะถือว่าพระยาราชาพิพิธได้ครอบครองบ้านทรายทองแทนคุณปู่สุรพลของพจมานไหม ถ้าผมเป็นทนายของหม่อมพรรณราย ผมตอบได้เลยว่าไม่แน่นอน เพราะพระยาราชาพิพิธครอบครองโดยแสดงเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอด และถ้าเทียบเวลาดูกว่าคุณปู่สุรพลจะมีลูกคือคุณพ่อของพจมาน ใช้เวลาไปกี่ปี จากนั้นกว่าพ่อของพจมานจะแต่งงานและมีพจมาน จนกระทั่งพจมานมาที่บ้านทรายทอง ผมว่ารวมๆกันแล้วคงไม่ต่ำกว่าสามสิบปี ผมต้องยกอายุความมาสู้แน่นอนครับ ขาดอายุความฟ้องร้องไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้วครับ แถมกฎหมายยังบอกไว้ว่า จะยังไงก็แล่วแต๊…..ห้ามฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ขอโทษเถอะครับ คุณหม่อมพรรณราย และคุณหญิงเล็ก กระผมในฐานะทนายความขอเบิกค่าทนายล่วงหน้า ๒ ล้าน ขอรับกระผม

แหม….กระดาษไม่พอครับ ขออีกตอนเถอะครับ พับเผื่อย….

หมายเลขบันทึก: 131476เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท