เป็นนักเรียนสถาบันพระปกเกล้าตอนที่๔๙(บทสรุปจากระยอง)


บทสรุปของการเป็นเมืองอุตสาหกรรม จะทำให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่และยั่งยืนได้หรือไม่

        มาถึงบทสรุป จากการที่ได้ไปดูงานที่ระยอง ในการพบตัวแทนของทุกฝ่าย แม้จะไม่ได้ทำวิจัยกันอย่างจริงจังเนื่องจากจำกัดด้วยเวลา แต่ข้อมูลที่เราได้เป็นข้อมูลจริงและตรง จึงพอจะบ่งบอกบางสิ่งบางอย่างได้ค่อนข้างจะชัดเจนพอสมควรและสรุปได้ดังนี้

        ๑.กลุ่มชาวบ้านที่เราไปพบ ทุกคนที่เราได้พูดคุยด้วย ต่างยอมรับว่าทราบดีว่าจะให้เลิกโรงงานอุตสาหกรรมไปเลยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เขาต้องการก็คือขอให้โรงงานมีความรับผิดชอบ มีมาตรการดูแลอย่างจริงจัง มีการบังคับใช้กฎหมาย มีการแก้ไขปัญหาอย่างทันทีทันใดเมื่อเกิดเหตุการแพร่กระจายของมลพิษ ขอให้หยุดขยายโรงงานก่อนจนกว่าจะได้มีการจัดการแก้ไขปัญหาที่แล้วมา ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แเวลาตรวจสอบการปล่อยมลพิษและอ้างว่ามีการแก้ไขแล้วขอให้ชาวบ้านได้รับรู้ด้วยว่าแก้ไขอย่างไร โรงงานจะต้องปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น รวมทั้งภาครัฐต้องใส่ใจการตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ที่ไปวัดค่ามาตรฐานต่างๆว่าได้มาตรฐานจริงหรือไม่ ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ว่าสิทธิของตนมีเพียงใด และเรียกร้องไม่เป็น  และชาวบ้านไม่กล้าเรียกร้องมากเนื่องจากเคยถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องต่อต้าน แต่แล้วแกนนำไปรับเงินมาจากผู้ประกอบการเป็นประโยชน์ส่วนตน  ประกอบกับชาวบ้านยังรู้สึกว่ามีสารสะสมอยู่ในร่างกาย สิ่งแวดล้อมทางกลิ่น เสียงและทางเดินหายใจ ไม่ดีขึ้นและมีการป่วยเจ็บมากขึ้น จึงทำให้ยังรู้สึกว่าปัญหาของพวกตนยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง  กับทั้งชาวบ้านยังรู้สึกมีปัญหากับความเจริญที่เข้ามาแล้วทำให้ทรัพย์สินถูกขโมยบ่อย ชาวบ้านจึงไม่ค่อยเชื่อถือภาครัฐ ต้องการให้รัฐยุตินโยบายการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในระยองและให้โอกาสแก่ชุมชนในการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

        ๒.กลุ่ม NGO เป็นห่วงสุขภาพของคนระยอง ต้องการให้โรงงานหยุดการปล่อยสารพิษ หยุดขยายโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษโดยลดและกำจัดมลพิษ แต่ต้องเป็นการหยุดสร้างหรือขยายโรงงานเพิ่มอย่างเดียว เพราะเห็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมว่าไปเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างไร เช่น ทำให้หาดทรายชาวยฝั่งถูกคลื่นซัดหายไปประมาณ ๑๕ เมตร ต้องแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อน แต่มันก็ไม่สามารถทำให้หาดสวยเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว, เงินกองทุนที่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรมและบริหารโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในอดีตมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การรักษาสุขภาพให้คนระยอง กลับเอาไปศึกษาดูงานต่างประเทศและพยุงราคาสินค้าเกษตร จากเงินกองทุนที่มีถึง ๓๑ ล้าน แต่ถูกใช้จ่ายเหลือเพียง ๔ ล้านบาท

        ๓.กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ยืนยันว่าโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้ปล่อยสารพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่ที่มีปัญหาคือโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม

        ๔.กลุ่มภาครัฐ มองว่าทุกวันนี้การแก้ไขปัญหาก็ทำอยู่แล้ว มีการบูรณาการการแก้ปัญหาอยู่แล้ว ข้อมูลสถิติที่ได้จากชาวบ้านเป็นเรื่องของความรู้สึกไม่ใช่ข้อมูลสถิติจริงของ การเจ็บป่วยของคนระยอง ตัวเลขที่เอามาคิดไม่ได้รวมตัวเลขประชากรแฝงซึ่งมีมากเกือบ ๒๐๐ % ทำให้ค่าผิดเพี้ยน เพราะในความเป็นจริงข้อมูลสถิติไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานแต่อย่างใด

        หากเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่ หมายถึง เมืองที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างดี ดูแลจัดการปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนได้ดี สามารถจัดการระบบสาธารณูปโภคให้ประชาชนได้รับอย่างทั่วถึง  และเมื่อพิจารณาจากท่าทีของชุมชนของชาวระยองที่ไม่ได้มองภาคอุตสาหกรรมเลวร้ายไปทั้งหมด แต่กลับมองภาคอุตสาหกรรมด้วยความเข้าใจว่าต้องมีการลงทุนจำนวนสูงมาก สิ่งที่ประชาชนร้องขอจากภาครัฐให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา การบังคับใช้กฎหมายได้ใช้อย่างเข้มแข็งและไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน ไม่ยัดเยียดในสิ่งที่ชุมชนมิได้ต้องการ  สิ่งที่ชุมชนร้องขอจากภาคอุตสาหกรรมคือความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมในทุกด้าน โดยการเอาใจใส่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก เราจะเห็นได้ว่าหากมีการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของชุมชน เราสามารถจะทำให้เมืองอุตสาหกรรมยั่งยืนได้ โดยทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกัน เอื้อความสะดวกให้กันและกัน จึงเห็นว่าการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ สิ่งที่ต้องทำคือ

        ๑.การบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจัง ตรวจสอบพบโรงงานใดปล่อยมลพิษต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด และนอกจากดำเนินคดีอาญาแล้ว ในทางแพ่งก็ต้องเรียกร้องค่าเสียหายให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่ลูบหน้าปะจมูก  และต้องให้รับผิดชอบค่าบำบัดฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วย หากภาครัฐของระยองจะทำความเข้าใจกับการบังคับใช้กฎหมาย พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ และ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และการกำหนดค่าเสียหายต้องมีเจ้าภาพในการกำหนดให้ชัดเจน ถ้ายังมีปัญหาไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้กำหนดอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในจังหวัดระยองขณะนี้ ก็ยากที่ประชาชนจะให้ความเชื่อถือภาครัฐ

        ๒.มีการวางแผนบูรณาการอย่างจริงจัง เพราะทราบข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัดว่าหน่วยงานภาครัฐเองเกิดความสับสนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเพราะมันเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น มีการปล่อยสารพิษมาจากโรงงาน ซึ่งไม่แน่ว่าจากโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ หน่วยงานที่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพคือ สาธารณสุขจังหวัด หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรืออุตสาหกรรมจังหวัด เมื่อไม่มีความชัดเจน การแก้ไขปัญหาจึงไม่เป็นระบบ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

        ๓.มีแผนแก้ไขป้องกันภัยพิบัติ น่าแปลกที่ไม่มีหน่วยงานใดที่แสดงว่าทราบว่าที่จังหวัดระยองมีแผนฟ้องกันภัยพิบัติ

        ๔.โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นภาคอุตสาหกรรมใช้คำ CSR เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ใช้เงินเป็นตัวแสดงว่าภาคอุตสาหกรรมได้มีความรับผิดชอบโดยให้ทุนการศึกษา ให้เงินสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน แต่หากโรงงานมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ ไม่ปล่อยน้ำเสีย หรือกากของเสีย สารเคมี ซึ่งเป็นสำนึกที่ควรจะมีต่อสังคมอย่างแท้จริง ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

        ๕.ข้าราชการต้องมีจิตสำนึกในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนอย่างแท้จริง สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องได้รับการดูแลทันที ตราบใดที่ข้าราชการแสดงความเข้าใจความรู้สึกชาวบ้าน ไม่รู้สึกรำคาญกับข้อมูลที่ได้มา ร่วมตรวจสอบและชี้แจงชาวบ้านด้วยความจริงใจ ความพึงพอใจก็จะเกิดขึ้น

        ๖.รัฐต้องเอื้อให้มีการจัดเก็บภาษีเพื่อให้เป็นรายได้ของท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจะต้องเสียภาษีให้กับท้องถิ่นตามอัตราที่กำหนด เพื่อให้มีรายได้ตกอยู่กับท้องถิ่นและนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น

        ๗.ทิศทางการศึกษาของเมืองระยองต้องสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลิตแรงงานฝีมือป้อนภาคอุตสาหกรรมและสร้างจิตสำนึกของคนระยองให้รักท้องถิ่น ไม่ทิ้งถิ่นไปทำงานที่อื่น เพราะยิ่งมีคนท้องถิ่นทำงานมากเท่าไรก็จะส่งผลให้เขารู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่น และเขาน่าจะเอาใจใส่กับผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเขาและครอบครัวมากขึ้น

        ๘.นโยบายของรัฐในการจะเน้นความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ จะให้พื้นที่ใดเป็นภาคอุตสาหกรรม ต้องให้ประชาชนได้รับรู้สิทธิของเขา และต้องเคารพสิทธิของชุมชนด้วย

        ๙.มีการบริหารจัดการที่ดี มีการเก็บข้อมูลสถิติสาธารณสุขในเชิงรุก สามารถตรวจสอบเฝ้าระวังโรคได้ สามารถจำแนกผู้ป่วยที่เป็นคนในพื้นที่และผู้ป่วยที่มาจากที่อื่นแต่เข้ามาทำงานในจังหวัดระยอง

        สิ่งเหล่านี้ สามารถทำให้ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรมยั่งยืนได้ หากมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกฝ่ายมีความจริงใจในการแก้ปัญหา

แต่ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีนโยบายให้ภาคตะวันออกเป็นภาคอุตสาหกรรม และทราบดีว่าเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่ภาครัฐหาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับวิถีชุมชนให้มากพอ แต่ภาครัฐกลับมุ่งแต่จะสร้างความเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจ เน้นทุนนิยมเป็นหลักเพราะเห็นว่ามูลค่าของรายได้ทางเศรษฐกิจ เมื่อแลกกับความเป็นอยู่และสุขภาพของชุมชนอันน้อยนิดแล้ว เห็นว่าคุ้มกัน  ที่สุดแล้ว หากชุมชนอยู่ไม่ได้ มีแต่ผู้ป่วยจากมลภาวะที่ได้รับจากโรงงานอุตสาหกรรม ภาครัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณมาเพื่อรักษาสุขภาพของคนในประเทศ มันจะคุ้มกันหรือ.....

               

 

 

หมายเลขบันทึก: 203733เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2008 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ค่อนข้างเศร้าใจเรื่องนโยบายของรัฐในเรื่องภาคตะวันออก
  • เป็นเพราะรัฐมีข้อมูล
  • มีการหาองค์ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม
  • ผลที่จะกระทบกับประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อมน้อยไปหรือไม่
  • เอ หรือรัฐไม่ต้องฟังความคิดเห็นของประชาชน
  • อิอิๆๆๆๆ
  • ท่านอัยการสบายดีไหมครับ

คะแนนเต็ม 4 แต่ต้องให้ 5 ครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต

นโยบายของรัฐเริ่มพัฒนามาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ โน่นครับ

แล้วเราก็มองการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เราอยากรวยแต่เราไม่คำนึงถึงรากฐานเดิมของเราเป็นเมืองเกษตร เราจึงเน้นทางด้านอุตสาหกรรม

เมื่อวานดูรายการแผ่นดินไท พูดถึงบ้านวังตะโก น่าสนใจมาก เขาหันกลับมาคิดแบบเดิม เป็นเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนมีความสุขครับ

สวัสดีครับพ่อครูบา

การที่ภาครัฐคิดแบบภาครัฐไม่เคยคิดแบบชาวบ้านทำให้การบริหารราชการมีปัญหากับประชาชน เมื่อไหร่การปฏิรูประบบราชการจะมีการปฏิรูปความคิดของข้าราชการให้เลิกคิดเป็นนายประชาชนเสียที ใครที่ยังคิดเป็นนายประชาชนก็ปลดออก อิอิ

ขอบคุณลุงเอกครับ

ผมเพิ่งรู้สึกว่าที่เขียนบันทึกมาสามารถรวมได้เล่มใหญ่เลยครับ ตอนนี้ลองปรับไฟล์ เอาภาพออกก่อน แล้วมาจัดหน้าใหม่ ภาพจะแยกไปไว้ในภาคผนวก เราก็จะได้หนังสือของรุ่นได้ น่าสนใจไหมครับ

เรียน ท่านอัยการค่ะ

ยังติดตามอ่านผลงานบันทึกอยู่ค่ะ จากบันทึกของการลงพื้นที่ต่างๆ ได้สะท้อนให้ทราบว่า ปัญหาต่างๆ นั้น ภาครัฐทราบมานานและก็ปล่อยแบบนี้ไปตลอดเวลา แก้ปัญหาก็ลงแบบฉาบฉวย ดูเสมือนจะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่เสมอ คงต้องแก้ไขตามที่ท่านอัยการว่าค่ะ ปฏิรูปทางความคิดน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่า คนเราหากแก้ความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน หรือเปล่าคะ อิอิ

สวัสดีครับ อ.อ้อย

ขออภัยที่ตอบช้าครับ เพราะไปชายแดนภาคใต้ทำภารกิจสามวันกลับมาคืนวันที่ ๑ ก.ย.ตอนตีสองกว่าๆ ตื่นขึ้นมาต้องไปทำงาน เปิดบันทึกแทบไม่ไหว อิอิ

แก้ความคิด ชีวิตเปลี่ยน จริงๆ อิอิ

ช่วงนี้จะเอาสาระแบบเบาสมองมาเล่าสู่กันฟังเพราะไม่ใช่บทบังคับให้เราไปชายแดนภาคใต้ แต่เราสมัครใจเพื่อไปเรียนรู้ปัญหาเพื่อช่วยกันเสนอความคิดในการแก้ไขความขัดแย้ง แม้จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องยากเพราะปัญหาหมักหมมมานาน และต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่หาได้หมายความว่าไม่มีทางให้เดินแต่อย่างใดไม่ เพียงแต่เราต้องใช้เวลาและเจรจากันให้ตรงตัว ตรงใจ ครับ

สวัสดีครับ

หายไปหลายวัน แต่ยังตามอ่านอยุ่ครับ

เพราะต้องไปงานต่างรัฐ http://www.polpage.com/rudrapur_article001.htm

อ่านสรุปแล้วก็เห้นว่าเรารู้ปัญหาครบครับ

เหลือแต่การปฏิบัติเพื่อปก้ไขปัญหาและการเสียสละที่จะต้องกระทบสิทธิ์หรือผลประโยชน์กันบ้างเพื่อส่วนรวม

แต่ดูเหมือนคนไทยยุคนี้ อาจจะไปวัด(ในใจ)กันน้อยไปนิดหนึ่ง จึงหันหน้าเจรจากันและอะลุ้มอะหล่วยกันได้ยาก

ถ้าคิดว่าการให้คือการเสีย ก็เกิดปัญหาเช่นทุกวันนี้ละครับ

การให้ คือการเสียและการได้ครับ

เช่นถ้าผู้นำรู้จักการให้ จะได้อะไรเพื่อส่วนรวมอีกเยอะมาก

ขอบคุณครับสำหรับบันทึกการเรียนที่ดีมากนี้

 

 

 

สวัสดีครับท่าน อท.

ผมตามเข้าไปอ่านงานของท่านแล้วน่าสนใจมากครับ บ.เดลต้า ที่เป็นบริษัทที่เอาใจใส่สิ่งแวดล้อม แต่เมืองอุตสาหกรรมที่อินเดียจะประสบชะตากรรมแบบเมืองอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกของไทยหรือเปล่า...

เห็นด้วยกับท่านการให้ก็การเสียและได้ บางครั้งการให้ทำให้ได้มากกว่าที่ให้เสียอีกครับ และโดยเฉพาะการให้ใจครับ

ขอบคุณที่ท่านติดตามอ่านอย่างต่อเนื่องครับ

มาอ่านค่ะ และนึกถึงที่เคยทำอุตสาหกรรม ดีใจว่า ไม่เคยทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท