เป็นนักเรียนสถาบันพระปกเกล้าตอนที่ ๖๗(ไปสนทนากับปราชญ์ชาวบ้าน)


นำของดีงามในอดีต มาเชิดชูในปัจจุบัน เพื่อสืบสานสู่อนาคต

        เป็นหวัดเสียสองสามวัน เพลีย ระคายคอ ก็เลยพาลไม่อยากเปิดคอม อิอิ ลูกสาวชวนไปพักที่โรงแรมที่เขาทำงานอยู่ เลยไปนอนกันทั้งครอบครัวได้หลับพักผ่อน พูดคุยกันประสาพ่อแม่ลูก แต่ก็ต้องวิ่งไปงานกฐินสองสามงาน  วันนี้มาทำงานก็นึกได้ว่ายังติดค้างตอนไปอีสานและลาวใต้ เปิดดูบันทึกของพ่อครูบา โอ้โฮ เขียนไว้เยอะ ก็ดี อิอิ เราจะได้ทุ่นแรงไป แต่จะเล่าให้ฟังว่าไปฟังปราชญ์อีสานพูดแล้วได้อะไรมาบ้าง

        เราเริ่มการเสวนากัน อ.นิกร วีสเพ็ญ ได้แนะนำตัวและเล่าให้ฟังคร่าวๆถึงเมืองอุบล ว่าเดี๋ยวนี้น่าเป็นห่วงเพราะคนรุ่นหลังไม่สนใจภูมิเมือง  จากการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอาเสียงข้างมาก อยากจะได้ผิวจราจรกว้างขึ้นก็เลยทุบทางเท้า(ฟุตบาท) และเอาต้นไม้ออก ชาวบ้านชาวเมืองทนไม่ได้ก็เลยไปฟ้องศาลปกครอง เมื่อเดือนที่ผ่านมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เทศบาลคืนต้นไม้และทางเท้า(ฟุตบาท)ให้กับประชาชน อ.นิกร แนะนำว่าถ้าขับรถในเมืองอุบลให้ระวังตัวดีๆ เพราะท่านอาจจะชนเสาไฟฟ้าที่โผล่อยู่ตามถนน อะจ๊าก....จากนั้นก็เป็นการโยนไมค์ใส่ครูบาสุทธินันท์  แต่มีหรือที่ครูบาสุทธินันท์ จะรับไว้คนเดียวรายการเขวี้ยงไมค์ก็ไปหล่นที่ท่านอภัย จัดการต่อ อิอิ  พ่อครูบาเกริ่นนำ แล้วให้เขยอุบล(พี่อภัย จันทนจุลกะ) มาแนะนำตัวพวกเราทั้งกลุ่มในภาพรวมของหลักสูตร  ตัวนักศึกษาที่มาจากหลากหลาย ทั้งภาคราชการ เอกชน และเอ็นจีโอ ซึ่งมีทั้งสะใภ้อุบล(พี่อมรา แตงโม),คนเคยรับราชการอยู่อุบล (ท่านนันทศักดิ์) ฯลฯ

เราได้พบพ่อสุวิชช คูณผล ปราชญ์ท่านหนึ่งของเมืองอุบล ท่านเรียกตัวเองว่า สุวิชช ชะช่ะช่า...ฮา..ท่านก็ทักทายพวกเราถามถึงคนนั้นคนนี้ ถามถึงสถาบันพระปกเกล้า เพื่อทำความคุ้นเคยกัน  ท่านเอ่ยถึงพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล อดีตอัยการ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์รุ่นแรกๆ ที่มีภูมิความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเมืองอุบลเป็นอย่างดี แต่เสียดายที่ท่านมาพบพวกเราไม่ได้เพราะอยู่ที่ยโสธรเดินทางกลับมาไม่ทัน(ท่านอายุ ๘๐ กว่าปีแล้ว) พ่อสุวิชช ท่านบอกว่าไม่อยากพูดตามรูปแบบ เพราะไปฟังที่ไหนก็ได้ อ่านเอาตามเอกสารก็ได้ เอาเป็นว่าเราอยากฟังเรื่องอะไรขอให้ถามมา  แล้วท่านก็เล่าความหลังสมัยเป็นนักศึกษา เล่าถึงคนดังท่านต่างๆ เช่น ประสิทธิ์ ณรงค์เดช, รักษา โภคาสถิต,นายแพทย์ประกอบ บุรพรัตน์,ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ ที่เคยชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และเมื่อเดือนที่ผ่านมาผู้คนเหล่านั้นได้มาเจอกันได้ปรารภกันถึงเรื่องประชาธิปไตยว่าผ่านมาตั้ง ๕๐ ปี แล้วมันมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง    อิอิ

ท่านเล่าให้ฟังว่าวันก่อน เขาเชิญสัมนาเรื่องเมืองน่าอยู่ ที่โรงแรมลายทอง แต่เมืองน่าอยู่นี้สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นคนกำหนด ไม่ใช่ชาวบ้านกำหนดขึ้นมา มันจะน่าอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อคนไม่มีคุณธรรม ขาดจริยธรรม ผู้คนก็ไม่น่ารัก เจอขิงแก่เข้าให้..อิอิ

แล้วท่านก็แสร้งทำหน้าตาเฉยถามพวกเราว่านั่งรถข้ามสะพานแม่น้ำมูลกี่ครั้งแล้ว เราตอบว่าสองสามครั้งแล้วนั่งไปนั่งมา ท่านก็บอกว่า ใครข้ามแม่น้ำมูลเพียงแค่ครั้งเดียวก็เป็นคนอุบลแล้ว อิอิ ก็เลยไม่ต้องสงสัยว่าเพราะบ้านนี้เมืองนี้ต้อนรับลูกหลานแบบนี้ จึงมีประชากร มีทั้งคนดี คนเก่ง เต็มบ้านเต็มเมือง อิอิ พลเมืองอุบลมีล้านแปด(แสนคน) แค่ขอคนละบาทไม่พึ่งงบประมาณรัฐ เพราะมีแต่นักการเมืองจัดสรร โดยมีโครงการอุบลคนละบาทแก้ปัญหาชาติและเมืองอุบล

แล้วก็แนะนำอาจารย์ปัญญา  ไม้ช่วงที่สาม  ลูกหลานเมืองอุบล พ่อสุวิชชบอกว่าเรียกท่านว่าอาจารย์ภูมิปัญญา  ท่านเคยไปเป็นครูแถวผาแต้มและหากไม่มีใครโต้แย้ง ท่านบอกว่าท่านน่าจะเป็นคนแรกที่ถ่ายรูปผาแต้มเผยแพร่ จนเป็นที่รู้จัก  อาจารย์ปัญญาก็ปวารณาตัวว่าอยากรู้เรื่องอะไรก็ถามได้

เล่าให้ฟังถึงคำกล่าวที่ว่า อุบลเมืองปราชญ์  แต่ก่อนมีปัญหาเป็นเมืองนักปาด อิอิ เพราะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย  ต้องมีการรื้อฟื้นความเป็นปราชญ์   โคราชเมืองนักมวย  อยากร่ำอยากรวยไปอยู่อุดร 

อ.นิกร ได้นำภาพเก่าๆ มาฉายให้เราดู  เป็นภาพเก่าเล่าขานตำนวนเมือง  อ.นิกร ร่วมกับ อ.ปัญญาไปหาภาพจากตระกูลต่างๆของเมืองอุบล  ขอก๊อบปี้ มาปะติดปะต่อเรื่องราว ภาพชุดนี้มีคุณค่ามาก ได้เห็นประเพณีต่าง ได้เห็นขันหมากเบ็ง  ซึ่งเอาไว้สำหรับเคารพผู้ใหญ่ เวลาไปไหว้ผู้ใหญ่ก็ยกไว้เหนือหัว ผู้ใหญ่รับขันหมากเป็งไปแล้วก็เอาไปไหว้พระต่อ  ได้เห็นภาพผ้าซิ่นลายน้ำไหลของเก่า แต่ภาพเหล่านี้เสร็จพ่อครูบาซะแล้ว เขาค้นคว้ากันมาตั้งนานสองนานจึงเอามาฉายมาอธิบายเป็นเรื่องราว พ่อครูบาขอก๊อบลงธัมพ์ไดร๊ฟ์ ๒ นาทีเสร็จ อิอิ เสร็จโจร...ฮ่าๆๆ

ที่อุบล เขามีการรักษาความเป็นปราชญ์ พ่อสุวิชช พ่อบำเพ็ญ ก็อายุมากแล้วถ้าพ่อบำเพ็ญอะไรไปภูมิปัญญาก็จะสูญหายไป  ต้องเอาคนสามรุ่นรวมกัน รุ่นภูมิปัญญาซึ่งอายุมากแล้ว ท่านจะมีความรู้มาก เช่นเรื่องนกหัสดีลิงค์ ประเพณีโบราณ  รุ่นอายุ ๔๐-๖๐  พวกนี้รู้บ้างไม่รู้บ้าง เรียนรู้จากรุ่นภูมิปัญญา ซึมซับ  รุ่นต่อมาก็คือพวก ๔๐ ลงมา ไปไหนมาไหนก็ให้คนสามรุ่นไปด้วยกัน จะได้มีการเรียนรู้สืบทอดกัน วัฒนธรรมจึงจะอยู่ได้ เพราะวัฒนธรรมตะวันตกมาแรงเหลือเกิน  จะได้เป็นไม้ผลัดกัน  พ่อสุวิชช แทรกว่าสามรุ่นนี้ เรียกได้ว่า สามก้อนเส้า หม้อข้าวไม่ล้มแล้วก็ยังยกตัวอย่างเกี่ยวกับเทียนพรรษา ที่ปัจจุบันมีธุรกิจเข้ามาแทรก ถ้าไม่รักษาประเพณีเทียนพรรษาให้ดี เทียนพรรษาอาจจะกลายเป็นเรื่องของการโฆษณาสินค้าแล้วละเว้นวัฒนธรรมประเพณี จังหวัดจัดการกับธุรกิจ มีเพียงสองก้อนเส้า แต่หากละเลยวัฒนธรรมประเพณีโบราณไม่นานก็ล้ม

 พ่อสุวิชช นั้นได้ชื่อว่าเป็นปลัด ๕๐๐ เพราะท่านเคยเป็นปลัดอยู่เมืองอุบล ซึ่งมีอายุ ๒๐๐ ปี ไปเป็นปลัดที่อุดร ซึ่งเมืองมีอายุ ๑๐๐ ปี แล้วไปอยู่ขอนแก่น ซึ่งเมืองมีอายุ ๒๐๐ ปี รวมแล้ว ๕๐๐ ปีพอดี อิอิ  ท่านบอกว่าขอยืมคำที่คนใต้มาอยู่อุบลบอกว่า คนอุบลก็คือคนอีสาน รายรอบด้วยสิ่งดีๆ คือ ยโสธร คือ ยศ   มีอำนาจเจริญ  คือมีเดช  มีศักดิ์ มีศรี มีพิบูลมังสาหาร มีตระการพืชผล แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์  แต่เดี๋ยวนี้มีการแบ่งเขตจังหวัด มันก็เลยกระจัดกระจาย  ท่านบอกว่าคนอีสานเป่าแคนเป็นการแสดงความนอบน้อมเพราะถ้าไม่ไหว้เป่าแคนไม่ได้ ลองสังเกตดูเวลาคนเป่าแคนสิครับ  และเขามักนิยมเอาแคนมาแขวนไว้หน้าบ้าน เอาไว้ทำอะไรหรือครับ เป็นเคล็ดครับจะได้ร่ำรวย ไม่ขาดแคน ฮา....

หมายเลขบันทึก: 219886เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีค่ะ

  • บรรยากาศ ท่านทางสนุกสนาน
  • ตามมาเกี่ยวเกี่ยวความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน"โสกัน" ได้รสชาด สนุกสนาน อารมณ์ขัน
  • ขอบคุณค่ะท่านเรื่องราวดีๆ

สวัสดีค่ะ มาเรียนรู้ค่ะ ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นสิ่งมากค่า

  • เข้ามาชื่นชมภูมิปัญญาชาวบ้านค่ะ
  • รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

กราบสวัสดีท่านอัยการค่ะ

มาชื่นชมภูมิปัญญาชาวบ้าน

มาภาคภูมิใจด้วยคนค่ะ

...

เจอกันวันเสาร์หน้านะคะ

สวัสดีครับคุณ MSU-KM :panatung

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยม

โสเหร่กันสนุกมากครับ

สวัสดีครับคุณวันเพ็ญ

ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ แต่คนรุ่นหลังเห็นความสำคัญหรือไม่ ข้าราชการที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ไปเรียนรู้ภูมิปัญญาเหล้านี้หรือไม่ น่าสนใจมากนะครับ

สวัสดีครับคุณเพ็ญศรี(นก)

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและที่เป็นห่สงสุขภาพ ตอนนี้ดีขึ้นเยอะแล้วครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับน้อง poo

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย เจอกันเสาร์หน้าครับ

ขอบพระคุณครับสำหรับเรื่องเล่าดีๆครับ

มีทั้งโจรแล้วมาจบด้วยสลัด อะๆๆ ปลัด 500ด้วยหนะครับ

แล้วเรื่องนี้ใครจะเป็นพระเอกครับ

แต่ที่ชอบมากๆครับ “สามก้อนเส้า หม้อข้าวไม่ล้ม” ถ้าสี่ก้อนจะเป็นอย่างไรบ้างครับท่านอัยการชาวเกาะครับ คงจะวางยากขึ้นหรือเปล่าครับ

ส่วนเรื่องเทียนพรรษา หรือวัฒนธรรมอื่นๆที่ถูกธุรกิจเข้ามาแทรกแซงก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วงครับ เพราะแม้แต่กระผมเองบางครั้งตักบาตรยังซื้อแบบเป็นชุดกึ่งสำเร็จเลยครับ จำได้ว่าคุณยายตื่นตั้งแต่หัวรุ่งหุงข้าวร้อนๆ ห้ามพวกเราตักก่อนยายตักข้าวสำหรับใส่บาตรทำกับข้าวอร่อยๆ ใส่ถุง เตรียมดอกไม้เป็นชุดๆไว้ แล้วไปนั่งรอหน้าบ้าน พระจะทราบว่าบ้านไหนบ้างที่มีคนรอตักบาตรท่านก็จะเดินบิณฑบาตรตั้งแต่เช้ามืดบางทีกระผมก็ยังงัวเงียอยู่เลยครับ ขอแค่ช่วยยกอย่างเดียวเพราะร่างกายยังไม่สะอาด ส่วนคุณยายประแป้งหน้าขาวเลยครับ กระผมอาจจัดอยู่ก้อนที่สามที่ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับทั้งที่ก้อนที่สองปฏิบัติตามคุณยายอย่างสมบูรณ์ แต่กระผมจะพยามยามทำให้ได้ใกล้เคียงอย่างก้อนที่หนึ่งและสองปฏิบัติต่อไปครับ

  • สวัสดีครับท่านอัยการชาวเกาะ
  • ไม่ได้เข้ามาทักทายเสียตั้งนาน สบายดีนะครับ
  • ยังแอบมาเยี่ยมชมบันทึกอยู่เสมอครับ
  • ด้วยความเคารพ
  • เกษตรชายแดน
  • แวะมาเยี่ยมนักเรียนคนเก่งค่ะ
  • ฝนตก อากาศเปลี่ยน รักษาสุขภาพค่ะ
  • ฝากความคิดถึง หลังบ้านท่านอัยการด้วยค่ะ ....

สวัสดีครับ

ปราชญ์ชาวบ้านภูมิปัญญา ที่หาได้ทั่วไป เพียงแต่ว่ายังไม่ถูกค้นพบ

เพื่อความอยู่รอด  เพื่อเกษตรกรและชาวชนบทของไทย

สวัสดีครับ ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

ก้อนเส้ายิ่งมีหลายก็ยิ่งทำให้หม้อข้าวไม่ล้ม แต่อาจจะมีผลเสียคือลมไม่เข้าไฟอาจจะดับได้หากมากเกินไป อิอิ

แต่ถ้าสองก้อน มักจะล้มค่อนข้างแน่นอนครับ ทำบุญใส่บาตรเป็นเรื่องดี ทำให้จิตใจเรามีความสุข มีความสงบในใจ แล้วจะยิ่งพาให้วันนั้นเป็นวันที่เรามีความสุขมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำบุญตักบาตรทุกวันยิ่งมีความสุข ผิวหน้าจะอิ่มเอิบ ดูสดใส ไร้ความทุกข์ครับ

คิดถึงคุณย่าเหมือนกันครับ เคยตักบาตรกับคุณย่าบ่อยๆ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

สวัสดีครับคุณสุดทางบูรพา

ทราบว่าจบปริญญาโทแล้ว ยินดีด้วยครับ

ไม่เจอกันนาน คิดถึงครับ

สวัสดีครัยคุณอร

คุณอรกับโกเอกสบายดีนะครับ ไม่ได้ว่างเจอกันเลย

แอบไปดูนกบ้านคุณอรมาแล้ว อิอิ

สวัสดีครับท่านเกษตรยะลา

ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีอยู่ทั่วไป คนรุ่นใหม่เข้าใจถึงคุณค่าหรือเปล่า ถ้าเข้าใจก็ต้องไปติดตามหามาฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้ชั่วลูกชั่วหลานครับ

สบายดีนะครับ

  • ไปครั้งนี้ที่อุบลฯ
  • ได้รู้เรื่องปราชญ์
  • หลายอย่างเลยนะครับ
  • เห็นพ่อครูบาฯ เอารูปหายากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ
  • ท่านอัยการสบายดีไหมครับ
  • มาทักทายจากบุรีรัมย์
  • อิอิๆๆ
  • พ่อครูบาไม่อยู่เลยมายึดแถวๆๆปะคำ
  • สวัสดีค่ะท่านอัยการชาวเกาะ
  • ตามมาดูภูมิปัญญาท้องถิ่นค่ะ
  • น่าสนใจมากค่ะ อายุยืน.....นานด้วย อิ อิ

พ่อสุวิชช นั้นได้ชื่อว่าเป็นปลัด ๕๐๐

-------------------------------

แหม นึกว่ามีแต่โจร อิอิ

อิอิ อ.ขจิต รูปพวกนั้นแหละที่พ่อครูไปก๊อบมา อิอิ

ยึดแล้วไม่ต้องคืนนะ อิอิ

สวัสดีครับท่านเอื้องแซะ

ที่อุบลมีเรื่องราวน่าสนใจมาก เสียดายว่าผมไม่ได้ไปอีกหลายแห่ง อยากไปเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากครับ คงต้องหาโอกาสไปใหม่ครับ

สวัสดีครับคุณสุขสม

ปลัด ๕๐๐ ท่านมันมาก ท่านเล่าเรื่องได้มากมายจดไม่ทัน มีเรื่องราวดีๆที่น่าสนใจน่าเรียนรู้จากท่านเยอะไปหมด สงสัยถ้ามีเวลาได้คุยกับท่านทั้งวันคงได้อะไรดีๆอีกบานเบอะแหละครับ

สวัสดีค่ะคุณอัยการฯ

ถ้าไม่ได้อ่านเรื่องนี้..จะเสียดายแย่เลยค่ะ เพราะมีญาติๆอยู่ที่อุบลฯเยอะมากค่ะ ยังได้ความรู้ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมจากปราชญ์หลายท่าน เล่าได้สนุกเหมือนเดิมค่ะ เหมือนได้ไปนั่งฟังเอง ทุกท่านน่ารักมากๆ การสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามนั้นสำัคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันจากรุ่นสู่รุ่นนะคะ

ขอบคุณค่ะที่นำมาเล่าให้ฟัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท