เป็นนักเรียนสถาบันพระปกเกล้าตอนที่ ๖๘(ไปสนทนากับปราชญ์ชาวบ้าน๒)


จะตั้งใครให้ดำรงตำแหน่งต้องดูภูมิก่อน ภูมิรู้ ภูมิปัญญา ภูมิธรรม ภูมิฐาน

วันนี้ ผมมาเล่าต่อถึงสิ่งที่ปราชญ์อีสานเขากำลังทำกันอยู่ก็คือการนำ ของดีในอดีต มาเชิดชูสู่ปัจจุบัน เพื่อสืบสานสู่อนาคตแล้วท่านก็ยังเล่าตำนานสะพานเสรีประชาธิปไตย ว่าคนอีสานเขาร่วมมือกันคนละบาทสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลโดยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการ ทำไมเขาทำได้ ถ้าไม่เป็นปราชญ์เขาทำกันได้หรือ

คราวที่แล้วผมได้เล่าให้ฟังว่า อ.นิกร มาฉายภาพขันหมากเบ็ง ขอเล่าเสริมสักนิด ได้ความรู้จากพ่อสุวิชช เรื่องขันหมากเบ็งว่า เบ็ง ก็คือเบญจ์ ขันหมากเบ็งก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง จึงมีการกราบเบญจางคประดิษฐ์ การกราบจะวางขันหมากเบ็งไว้ขวามือ กราบผู้ใหญ่เสร็จแล้วจะยกขันหมากใส่มือท่าน เสร็จแล้วท่านจะเอาขันหมากเบ็งไปถวายพระต่อไป เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์ให้ใช้ขันหมากเบ็ง สิ่งที่ได้ตามมาคือรายได้ของชาวบ้าน ผมมองว่านี่เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน แต่ขณะเดียวกันก็ได้รื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามไปด้วย

พ่อสุวิชช เล่าว่าคนเราไม่ว่าจะเป็นใหญ่เป็นโตมาจากไหน ไปอยู่บ้านเขาเมืองเขาต้องศึกษาภูมิเมืองหรือภูมิพลังเมืองให้ดี มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาใหญ่โตได้ เหมือนสมัยหนึ่งท่านไปเป็นปลัดเทศบาลเมืองพัทยา ผู้ว่าฯจัดขบวนแห่งานประจำปี สถานศึกษาทุกแห่งออกกันมาหมด รถจึงติดกันทุกปี จึงคิดวางแผนแก้ปัญหาไม่ให้รถติด คิดได้ว่าก็อย่าให้มารวมศูนย์ต้องให้กระจายออกไป ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองมาส่งลูกหลานแล้วให้ออก ๔ มุมเมือง ตอนนั้นทุกคนชื่นชมว่าแก้ปัญหาได้ดีรถไม่ติดเลย แต่แล้ว ชาวบ้านชาวเมืองมาเดินขบวนขับไล่ผู้ว่าฯกับปลัดฯ เนื่องจากไฟไหม้สามวันสามคืนกว่าจะดับได้เสียหายไปมาก เพราะทำผิดประเพณีงานนั้นเป็นงานบุญพระเวศน์ การแห่แหนต้องแห่เข้าเมืองเพื่อให้ฝนฟ้ามาตกต้องตามฤดูกาล เมื่อไปแห่ออกนอกเมืองทำให้ฝนแล้งอากาศร้อนจนไฟไหม้ ต้องแก้ปัญหากันวุ่นวาย ท่านจึงเตือนว่าต้องเรียนรู้ภูมิพลังเมืองให้ดีก่อนคิดทำอะไร

ท่านยังเล่าว่า จะแต่งตั้งใครให้ดำรงตำแหน่ง ปราชญ์เขาจะดูว่ามีภูมิ ๔ ภูมิหรือเปล่า

๑.ภูมิรู้ มีวิชาความรู้ไหม

๒.ภูมิปัญญา สามารถปฏิบัติได้และถ่ายทอดได้ไหม

๓.ภูมิธรรม มีพื้นฐานทางจิตใจ มีคุณธรรม จริยธรรม ไหม

๔.ภูมิฐาน ดูดีไหม

เข้าท่าไหมครับ ถ้าก่อนจะเลือกผู้แทนราษฎร หรือ อบต.,อบจ. ใช้ภูมิ ๔ ภูมินี้ไปจับ การบริหารงานแต่ละส่วนน่าจะดีนะครับ

ท่านเล่าให้ฟังเรื่องสะพานเสรีประชาธิปไตย ว่าชื่อสะพานนี้แปลก เพราะตอนแรกต้องการจะตั้งชื่อเป็นชื่อเจ้าเมือง เพื่อจะได้มีอนุสาวรีย์ที่เชิงสะพานแบบสะพานพระพุทธยอดฟ้า แต่พอจะตั้งชื่อเข้าจริง คนโน้นก็ว่าอย่างโน้น คนนี้ก็ว่าอย่างนี้ เช่น พระวอพระตา หรือจะใช้ชื่อ เจ้าคำผง(พระประทุมวรราชสุริยวงศ์) แต่จอมพลป.พิบูลย์สงคราม ว่าเอาชื่อสะพานเสรีประชาธิปไตยนี่แหละ ชาวอุบลงงกันหัวแตกเลย อิอิ ท่านให้เหตุผลว่าคอมมิวนิสต์กำลังรุนแรง เขาบอกว่าของเขาก็เป็นประชาธิปไตย จอมพลป.ว่าของเราเป็นเสรีประชาธิปไตย เป็น Free Democracy สะพานแห่งนี้จึงเป็นสะพานแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นชื่อระบอบการปกครอง

ที่วัดของหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง มีธรรมะบนต้นไม้ระบุว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นอะไรสักอย่าง แสดงให้เห็นว่าปราชญ์แท้ไม่ยึดติดอะไร ที่อุบลเป็นเมืองที่มีพระภิกษุสงฆ์ระดับสมเด็จมากถึง ๔ องค์ สมัยรัชกาลที่ ๖ ตรัสว่า อุบลเป็นเมืองนักปราชญ์ (จะเห็นได้ว่าเดิมมีการพูดว่าคนอุบลเป็นปราชญ์ ซึ่งเป็นระดับบุคคล) ต่อไปมีเป้าหมายว่า พลเมืองเมืองนักปราชญ์ เพราะใครที่ข้ามสะพานมาเมืองอุบลเป็นคนอุบลแล้ว

ขอวกกลับมาที่หลวงปู่ชา อีกสักหน่อย ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นชาวต่างชาติเยอะ มีคนถามท่านว่า ภาษากลางก็ยังพูดไม่ค่อยได้ ภาษาอังกฤษยิ่งแล้วใหญ่ ไปสอนฝรั่งได้ยังไง หลวงปู่ชาตอบว่า โยม เคยเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไหม เวลาจะให้ควายไถนา ท่านต้องพูดภาษาวัวภาษาควายด้วยเหรอ อิอิ จริงของท่าน ใช่ไหมครับ

มหาสารคามเป็นตักศิลา ขอนแก่นเป็นเมืองมหาวิทยาลัย แล้วอุบลเป็นอะไร   พ่อสุวิชช ตอบว่า อุบลเกิดพร้อมโคราช อัญเชิญพระแก้วมรกตไปถวายสมัยกรุงธนบุรี เมื่อเอาประวัติศาสตร์เมืองสองร้อยปีก่อนจะเห็นได้ว่าส่วนที่เป็นอุบลคือคมขวาน เป็นเมืองติดเขตแดน อุบลจึงเป็นหัวเมืองเอกเป็นเมืองลูกหลวง เจริญรุ่งเรืองมาก

อุบลมีพร้อมทั้งวัง วัด เพราะเป็นจังหวัดที่มีวัดมากที่สุดในโลก เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สามารถขายวัฒนธรรมได้ มาคิดคำขวัญ มหาสารคามจึงว่าบ้านเมืองเขาไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเมืองแห่งความรู้ ขอนแก่นเป็นเมืองดอกคูณเสียงแคน คนอุบลว่า เอ..ขอนแก่นเอาไปได้อย่างไร เพราะดอกคูณเสียงแคน สมัย อ่อนวงศ์ หมอแคนก็คนอุบล แต่ก็ได้ไปแล้ว

ที่อุบล มีอนุสาวรีย์แห่งความดี ฝรั่งจะมาวันที่ ๑๑ เดือน ๑๑ เวลา ๑๑ โมง ททท.ก็บอกให้พ่อสุวิชช ไปต้อนรับเขาหน่อย สืบสาวราวเรื่องจึงได้รู้ว่าสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พวกฝรั่งเป็นเชลยศึกของญี่ปุ่น ถูกใช้ให้ทำงานหนัก จนกระทั่งไม่มีแรงจะตายแหล่ไม่ตายแหล่ เอามาขังมาล่ามไว้ คนอุบลก็อุตส่าห์หลบทหารญี่ปุ่นเอาอาหารไปให้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้กินจนรอดชีวิตมาได้ ซึ่งในตอนนั้นหากถูกทหารญี่ปุ่นจับได้จะเดือดร้อนมาก แต่คนอุบลก็ยังไปช่วย ต่อมาเมื่อสงครามสงบ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นถูกจับเป็นเชลย คนอุบลก็แอบเอาอาหารไปให้ทหารญี่ปุ่นอยู่ดีเพราะความสงสาร  ลูกหลานของทหารสัมพันธมิตรเขามาระลึกถึงคุณความดี เขาจะติดดอกป้อบปี้ เอาเครื่องราชอิสรยาภรณ์,เหรียญกล้าหาญ มาวางที่อนุสาวรีย์นี้ด้วยความรู้สึกว่า แม้เขาจะได้เหรียญกล้าหาญ แต่คนอุบลกล้าหาญกว่าพวกเขามากที่เสี่ยงชีวิตมาช่วยพวกเขา ต้องว่ายน้ำเอาอาหารมาให้นักโทษ เหรียญกล้าหาญนี้สมควรได้แก่ชาวอุบล  อนุสาวรีย์แห่งนี้ฝรั่งสัมพันธมิตรสร้างเอาไว้ เดิมคนอุบลไม่รู้เรื่องว่าเสานี้คือเสาอะไร แต่บัดนี้คนอุบลเขารู้แล้วและภาคภูมิใจกับอนุสาวรีย์แห่งนี้ และกำลังจะจัดแสงสีเสียงเพื่อให้คนรุ่นหลังเข้าใจประวัติศาสตร์เมืองอุบลอย่างแท้จริง

อ.นิกร ได้เล่าให้ฟังถึงผ้าซิ่นไหมประวัติศาสตร์ ที่ชาวอุบลทอถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และเมื่อท่านเสด็จอุบล ท่านทรงนุ่งซิ่นไหมอุบล เสด็จลงจากรถ แล้วถามคุณตาของพ่อสุวิชช ว่าจำได้ไหมว่าผ้าที่ไหน ท่านก็ตอบว่าจำได้เพราะเป็นผ้าที่ชาวอุบลทอถวายเมื่อห้าปีที่แล้ว ท่านทำให้ชาวอุบลดีใจกันยกใหญ่ พ่อสุวิชช เล่าเสริมต่อไปว่า พระองค์ท่านมองเห็นถึงศิลปะและฝีมือของชาวอุบล สร้างงานให้ชาวอุบลมีรายได้ อ.นิกร คิดจะสืบทอดลายผ้าซิ่นไหมประวัติศาสตร์โดยการถามหาคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทอซิ่นผืนประวัติศาสตร์นั้น เอาภาพเก่ามาดูกัน พูดคุยกันว่าเราจะทอขึ้นมาใหม่เพื่อถวาย ชาวบ้านตั้งใจกันมากใช้เวลาทอเกือบ ๑ ปี ทอสองผืนเหมือนเดิม  ผืนหนึ่งใช้ดิ้นเงินเพื่อถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อีกผืนหนึ่งไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

ที่น่าภาคภูมิใจก็คือคนอุบลหวนกลับมาคิดมาทำเพื่อให้เด็กรุ่นหลังสนใจประวัติศาสตร์ของตัวเอง เพราะความรุ่งเรืองในอดีต ชี้ให้เห็นความรุ่งโรจน์ในอนาคต หากเป็นเช่นนี้ แน่นอนครับว่าการสืบทอดความเป็นปราชญ์ของชาวอุบลจะยังคงสืบทอดต่อไปอย่างไม่ขาดสาย ผมภาคภูมิใจแทนคนอุบลจริงๆ อ้อ...ผมก็เป็นคนอุบลไปแล้วเพราะนั่งรถข้ามสะพานหลายเที่ยวเหมือนกัน อิอิ

หมายเลขบันทึก: 220056เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2008 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

แหม พี่เล่าซ๊ะอยากไปเที่ยวอุบลเลยอ่ะครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณสุขสม

ก็เมืองอุบลน่าเที่ยวจริงๆครับ สิ่งที่ได้ไปเห็นเพียงเศษเสี้ยวของเมืองอุบล และที่นี่เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีคำว่าราชธานีห้อยท้ายจริงไหมครับ แสดงว่าต้องเป็นเมืองสำคัญแน่นอน ไปเที่ยวกันไหมครับ

  • เป็นคนอีสาน แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องอีสานอย่างละเอียด เท่าท่านอัยการเลยค่ะ
  • มาเที่ยวอีสาน จากบล็อกของท่าน คุ้มค่าที่สุดค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

หิ้วจานนี้มาเป็นกำลังใจและคารวะท่านอัยการรำระบำชาวเกาะค่ะ อิอิ

สวัสดีครับ  สบายดีนะครับ  เห็นเดินทางบ่อยมาก ระวังสุขภาพหน่อยครับ

สวัสดีครับท่านอัยการชาวเกาะ  เห็นด้วยอย่างยิ่ง  ภูมิรู้ ภูมิปัญญา ภูมิธรรม ภูมิฐาน  ต้องกำหนดให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของรัฐ รวมไปถึงนักการเมือง ต้องมีการกำหนดตัวบ่งชี้ให้ชัดเจนในแต่ละภูมิต้องพยายามให้ออกมาเป็นรูปธรรมนะครับ  ขอชื่นชมแนวคิดนี้  ขอให้โชคดี มีความสุข สุขภาพแข็งแรงครับ

 

สวัสดีค่ะคุณอัยการฯ

อ่านสองภาคพร้อมกัน ชื่นชมค่ะ สนุกเหมือนเดิม ประทับใจนักปราชญ์เมืองอุบลฯ คุณพ่อก็เป็นคนอุบลฯ พูดภาษาลาวได้เหมือนภาษาดอกไม้ พูดเก่งทั้งลาว-จีนกลาง-ไทย เพราะติดกับปากเซ

อ่านแล้วก็ภูมิใจแทนคนอุบลฯจริงๆด้วยค่ะ ประทับใจเรื่องอนุเสาวรีย์แห่งความดี ..ต้องไปเล่าให้พี่สาวที่อยู่อุบลฯฟังว่ารู้เรื่องนี้หรือเปล่าค่ะ? :)

 

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • คุ้นเรื่องที่อาจารย์ มากๆค่ะ
  • เคยไปข้ามสพาน วาริน-อุบล หลายรอบเหมือนกันค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณบัวปริ่มน้ำ

เมืองอุบลน่าเที่ยวมากครับ ผมยังตั้งใจจะไปเที่ยวอีก เคยไปครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนแต่ไม่ได้เที่ยวไหนเลยเพราะเพื่อนพาไปลาว ต้องตีรถไปกลับกทม.เหนื่อยมาก ไปคราวนี้ได้เที่ยวมากหน่อยแต่อยากไปดูให้มากกว่านี้ เพราะไปเห็นหลายอย่างแล้วมีความรู้สึกว่าคนอีสานเก่งจริงๆ

สวัสดีครับ ครูปู~natadee t'ซู๊ด

ชอบเอาอาหารมายั่วนักนะ.....วันที่ ๘ นี้จะได้เจอกันไหมครับ

ขอบคุณสำหรับความเป็นห่วงครับพี่เหลียง

สวัสดีครับท่าน ผอ.ประจักษ์

การคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งถ้าคัดเลือกแบบนี้ทุกแห่งผมว่าประเทศไทยเจริญ ยอมรับว่าคนอีสานเขาลึกซึ้งครับ

สวัสดีครับคุณ a l i n_x a n a =)

คนอุบลอาจจะยังรู้ไม่หมดครับ ตอนนี้เห็นว่ากำลังรณรงค์ทำแสงสีเสียง เพื่อเน้นความเป็นมาของอุบลในวันที่ ๑๐-๑๑ พ.ย.นี้ครับ เสียดายที่ไม่มีเวลาไปชมครับ น่าสนใจมาก และถ้าชาวอุบลได้ดูก็จะรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นคนอุบลครับ

สวัสดีครับมณีแดง

สบายดีไหม

ความจริงที่ปราชญ์ชาวบ้านเล่าให้ฟังก็ยังมีอีกครับ แต่จดไม่ค่อยทันจำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เรื่องที่เลือกมาเล่าเป็นเรื่องที่ผมสนใจครับ

สวัสดีครับใยมด หน้าตาเฉย

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย วันที่ ๘ พ.ย.นี้ ที่สโมสร พล.ปตอ.เกียกกาย ตรงข้าม ร.ร.โยธินบูรณะ กลุ่มเฮฮาศาสตร์ กับ หน้าตาดีเขานัดเจอกัน เชิญ หน้าตาเฉย ไปรู้จักกันด้วยสิ สนุกนะขอบอก..อิอิ

  • สวัสดีค่ะท่านอัยการชาวเกาะ
  •  ภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ภูมิฐาน เป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ฯ
  •  แต่ส่วนใหญ่จะมองข้าม และคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ   ก็เลยกลายเป็นใครมีพวกมาก ก็ได้รับการพิจารณา
  • องค์กรถึงพัฒนาไปไม่ถึงไหน นะคะ
  •  ส่งภาพถ่ายพระธาตุดอยกองมู และทุ่งบัวตอง มาให้ค่ะ
  • เพื่อช่วยตัดสินใจว่าจะมาแม่ฮ่องสอน ช่วงไหน? อิ อิ

สวัสดีครับท่านศน.เอื้องแซะ

จริงอย่างที่ท่านว่า พอเอาพวกเข้าว่างานก็เลยมีปัญหา พิจารณาความดีความชอบกันทีก็จะมีคนขอให้คนนั้นคนนี้ เราเป็นผู้บริหารรู้อยู่แก่ใจว่าคนที่ขอกันมาทำงานมีประสิทธิภาพขนาดไหน ผมไม่ตามใจแม้คนขอจะใหญ่กว่าผมก็ตาม เพราะผมถือว่าประสิทธิภาพในการกำกับควบคุมดูแลลูกน้องอยู่ที่ผม ถ้าผมทำอย่างนั้นต่อไปผมจะคุมใครได้ ลูกน้องโกรธก็โกรธไปถึงคราวลูกน้องคนนั้นเดือดร้อนผมก็ช่วยเขาด้วยความเต็มใจ ให้เขาเข้าใจว่าเราไม่ได้มีอคติกับเขา แต่เขาจะด่าก็ช่างเขาเพราะเราไม่ได้ยินเขาก็ด่าให้ตัวเขาฟังเองก็ช่างปะไร เราไม่ได้เครียดไปกับคนด่า เราก็สดชื่นนนนน อิอิ

กำลังตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเดินทางช่วงไหนเพราะมีโปรแกรมขึ้นภาคเหนือสองช่วงครับ ช่วงต้นธันวา กับกลางธันวาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท