ดงผู้ดี(๕)


สดๆร้อนๆ ดูละครวันนี้แล้วเขียนบันทึกทันที ละครจบตอนบันทึกผมก็จบตอนทันทีเหมือนกัน

ตอนแรกตั้งใจว่าจะให้จบที่สี่ตอน แต่คืนนี้นั่งดูละครเรื่องนี้ก็อดที่จะลุกขึ้นมาเขียนอธิบายข้อกฎหมายไม่ได้ เพราะหากไม่อธิบายผู้ชมละครจะเข้าใจข้อกฎหมายผิดพลาดและจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในข้อกฎหมายที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขไม่ได้ นอกจากจะเสียเพื่อนแล้วยังจะเสียเงินอีกด้วย

ละครมาถึงตอนที่ขมแอบไปเห็นจดหมายที่ชาติสยามเขียนค้างเอาไว้ ขมจึงรู้ว่าจดหมายต่างๆที่ตนได้รับนั้นเป็นฝีมือของชาติสยามที่เขียนแทนชวาลทั้งนั้น ทำเอาขมเสียความรู้สึก ชาติสยามจะอธิบายก็ไม่ยอมฟัง และมันเป็นอย่างนี้ทุกครั้งสำหรับหนังไทย พระเอกนางเอกแง่งอนแล้วไม่ยอมรับฟังกันแล้วนางเอกเข้าใจผิดพระเอก หรือไม่ก็พระเอกเข้าใจนางเอกผิด และเรื่องนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม สังคมใดที่ผู้คนในสังคมไม่ยอมรับฟังกัน มันจะเกิดปัญหาสารพัด สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางอำเภอในจังหวัดสงขลาเกิดปัญหาเพราะการไม่ยอมรับฟังหรือฟังแล้วไม่ใส่ใจ หรือปัญหาการเมืองพอแบ่งขั้วก็ไม่ฟังกันก็จะเอาชนะคะคานกัน เราอยากจนตัวสั่นที่อยากจะได้ประชาธิปไตยแบบตะวันตก อยากเป็นแบบอเมริกันมีเดโมแครตกับรีพับบลิกกัน แต่เราไม่ฟังกัน เราไม่เคยยอมรับผลการเลือกตั้งอย่างจริงใจ ทำไมไม่รับเขามาให้หมด เฮ้อ..เบื่อ อ้าว..ออกนอกเรื่องไปไกลแล้ว อิอิ

เรื่องที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟังก็คือ ก่อนครบกำหนดที่ขมอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์เพียง ๑ วัน ความจริงก็เปิดเผยเพราะชาติสยามได้มาที่บ้านเอาเอกสารที่ชวาลฝากไว้มาเปิดออกอ่านให้ทุกคนฟังจึงได้รู้ว่า รังสรรค์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแขนภา ลูกที่เกิดกับแขนภาจึงมิใช่ลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของรังสรรค์ไม่ว่ารติรส(ลูกคนแรก)หรือขม(ลูกคนที่สอง) แถมหากจะไปฟ้องรังสรรค์ให้รับเด็กเป็นบุตรก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรังสรรค์มิได้ยกย่องแขนภาว่าเป็นภรรยาอย่างออกหน้าออกตา จะง่ายกว่าก็คือรติรสที่รังสรรค์เลี้ยงดูอย่างลูกสาว ถือว่ารังสรรค์รับรองแล้ว แต่ขมแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทาง เพราะรังสรรค์ไม่เคยยอมรับแถมยังเข้าใจด้วยว่าขมคือลูกของแขนภาที่เกิดกับชวาล  การที่ขมมาอยู่ที่บ้านของรังสรรค์ ก็ถือไม่ได้ว่ารังสรรค์เป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของขมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แต่เป็นบุคคลในครอบครัวตามกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว)

แต่ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ รังสรรค์ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ชวาลถอนตัวจากหุ้นส่วนทำธุรกิจ รังสรรค์จึงยืมเงินจากชวาลยี่สิบหมื่น ฟังแล้วงงไหมครับ สองแสนบาทครับ แล้วเอาโฉนดที่ดินมาไว้เป็นประกันกับชวาล ตรงนี้แหละครับที่น่าสนใจว่า เอามาไว้แบบไหน เรามาทำความสนใจกับข้อกฎหมายกันสักนิดดีไหมครับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 702  อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

          ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

        ง่ายๆก็คือเวลาไปยืมตังค์เขามาแล้วหาอะไรไปค้ำประกัน ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้) เช่น บ้าน ที่ดิน เขาเรียกว่าจำนอง          

แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้) เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา ครก อิอิ เขาเรียกว่า จำนำ เว้นแต่สังหาริมทรัพย์บางวประเภทที่เอาไปจำนองได้ ดูตรงนี้ครับ

          มาตรา 703 อันอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจำนองได้ไม่ว่าประเภทใด ๆ

          สังหาริมทรัพย์อันจะกล่าวต่อไปนี้ก็อาจจำนองได้ดุจกันหากว่าได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย คือ

          (1) เรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป

          (2) แพ

          (3) สัตว์พาหนะ

          (4) สังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ

แต่สาระสำคัญของเรื่องนี้ที่ผมจะชี้ให้ดูก็คือ

มาตรา 714  อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ผมกลัวชาวบ้านดูละครแล้วเข้าใจผิด เพราะในละครมันเป็นคำอธิบายสั้นๆที่ชวาลเขียนบันทึกถึงรังสรรค์ว่ารังสรรค์เอาที่ดินมาไว้กับชวาล ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มันก็ไม่ใช่การจำนองตามกฎหมาย ทำแต่หนังสืออย่าวงเดียวแต่ไม่ไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินก็ไม่ใช่จำนองตามกฎหมาย จะบังคับเอาในเรื่องจำนองไม่ได้ ไม่มีบุริมสิทธิในทรัพย์สินที่มาไว้เป็นประกัน

ในเรื่องรังสรรค์เอาตึกเล็กไปไว้กับชวาลถ้าเอาไปไว้เฉยๆ ก็เป็นไปไม่ได้ที่ชวาลโอนมาเป็นชื่อขม

ถ้ารังสรรค์เอาไปจำนองไว้กับชวาลตามกฎหมาย ชวาลก็ต้องฟ้องบังคับจำนองจะเอาตึกเล็กไปเฉยๆไม่ได้ แล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่รังสรรค์จะไม่รู้หากชวาลฟ้องบังคับจำนอง เพราะในเรื่องไม่มีข้อมูลว่ารังสรรค์ถูกฟ้องบังคับจำนอง

ถ้าจะให้ผมเดา ผมเดาเอาว่าชวาลคงให้รังสรรค์ทำสัญญาขายฝาก ท่านอาจจะงงว่าขายฝากคืออะไร ดูตรงนี้ครับ

มาตรา 491  อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

ตรงนี้แหละที่มันต่างจากจำนอง เพราะการจำนองนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังเป็นของเจ้าของทรัพย์ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วไม่ชำระหนี้ ก็ต้องฟ้องบังคับจำนอง แต่ถ้าทำเป็นสัญญาขายฝาก กรรมสิทธิ์ในทรัพย์จะโอนไปยังผู้ซื้อฝากทันที โดยมีข้อตกลงว่าให้ซื้อคืนได้ภายในกำหนดระยะเวลา และการที่กฎหมายเขียนไว้แบบนี้มันจึงทำให้บรรดานายทุนหลีกเลี่ยงไม่ทำสัญญาจำนองแต่มาทำสัญญาขายฝากแทนเพราะไม่ต้องเสียตังค์จ้างทนายฟ้องบังคับจำนอง แต่ได้ทรัพย์สินเป็นของตนอย่างเด็ดขาดโดยไม่ต้องทำอะไรอีก

ผมดูละครแล้วรีบเขียนบทความนี้ เพื่อบอกท่านผู้อ่านว่าถ้าต้องไปกู้ยืมเงินใครแล้วเขาให้เขียนสัญญาขายฝากอย่าทำสัญญาเด็ดขาดนะครับไปหาเจ้าอื่นกู้เถอะครับ เดี๋ยวจะหาว่าอัยการชาวเกาะไม่เตือน อิอิ

หมายเลขบันทึก: 259060เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2009 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

สวัสดีค่ะ

  • เพิ่งเข้าใจวันนี้ค่ะ
  • จะได้จำไปสอนเด็ก ๆ และชาวบ้าน
  • เกี่ยวกับความหมายของสัญญา..ตามกฏหมาย
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณอัยการชาวเกาะ

สัญญาการกู้ ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากทำสัญญาเลยค่ะ

ขอบคุณที่ให้ข้อมูลค่ะ

โชคดี มีสุขค่ะ

สวัสดีครับครูคิม

รู้แล้วบอกต่อเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันครับ

การรู้เรื่องเหล่านี้ แม้ขณะนี้อาจจะยังไม่เกิดประโยชน์กับเรา แต่ในอนาคตอาจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลยครับ

สวัสดีครับคุณ ภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม

การกู้ยืมเงินเกินกว่า ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไปถ้าไม่ทำหลักฐานเป็นหนังสือกฎหมายห้ามฟ้องร้องครับ ถ้าไม่อยากทำสัญญากู้ต้องอย่าเป็นหนี้ครับ

ขอบคุณที่ติดตามครับ

ตามมาอ่าน อยู่ใต้แล้วครับ รออ่านอีกครับ...

ขอบคุณ อ.ขจิต ที่ติดตามอ่านครับ

สวัสดีค่ะ

  • จะขอรบกวนท่านอัยการ
  • ชี้แจงกฏหมายและสิทธิของเด็กกลุ่มนี้ด้วยค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอย่างสูง
  • http://gotoknow.org/blog/krukim/258971
  • Hot Hit ทันใจดีค่ะ
  • ละครเรื่องนี้แม้พล็อตของละครจะเป็นแบบไทยนิยม แต่ก็มองได้หลายมุมค่ะ  สอนใจคนได้ค่ะ
  • จำนำ จำนอง ขายฝาก .... ก็ล้วนน่ากลัวทั้งสิ้น ... มีชีวิตพอเพียง และเพียงพอ ก็จะปลอดภัยค่ะ
  • ขอบคุณความรู้ดีๆ กับบทละครสนุกๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณอัยการชาวเกาะ

ช่วยอ่านบันทึกนี้หน่อยสิค่ะ

แบบนี้ต้องไปตามขั้นตอนศาล หรือควรจะจ้างอัยการดีกว่ากันค่ะ

แล้วคดีแบบนี้มันจะถึงห้าหมื่นบาทมั้ยค่ะ หากต้องจ้างอัยการ

หากแนะนำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ ขอบคุณค่ะ

http://gotoknow.org/blog/musicko/258789

คือตอนนี้ญาติ ๆ ของพี่แจ้ค รวมถึงกอด้วยแหละ

ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพราะพี่แจ้คและครอบครัวก็ไม่ได้ร่ำรวย และไม่มีความรู้ด้วยค่ะ

มาเจอเรื่องแบบนี้ พวกเราญาติ ๆ ก็เลยช่วยกันค่ะ

แต่ก็ไม่มีใครมีความรู้เรื่องแบบนี้สักเท่าไหร่

ตอนนี้ลุงกำลังจะไปปรึกษาอัยการ วันนี้แล้วค่ะ ไม่รู้จะเป็นยังไงบ้าง

พอดีกอเห็นบันทึกท่านอัยการชาวเกาะโผล่หน้า Home กอก็เลยลองถามดูค่ะ

สวัสดีครับครูคิม

เดี๋ยวจะส่งผ่านไปให้ อ.แหวว ผู้ชำนาญเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติตอบให้นะครับ ผมไม่เก่งเรื่องพวกนี้เพราะเพิ่งมาสนใจตอนที่มาเรียนและได้รู้จักอ.แหวว ครับ

สวัสดีครับคุณอร

ขอบคุณที่ติดตามอ่าน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายๆแต่ประชาชนมักจะไม่รู้และตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบครับ

แบบนี้ต้องไปตามขั้นตอนศาล หรือควรจะจ้างอัยการดีกว่ากันค่ะ แล้วคดีแบบนี้มันจะถึงห้าหมื่นบาทมั้ยค่ะ หากต้องจ้างอัยการ

โอ๊ยโย่..น้องกอ จ้างอัยการให้ล้มคดีเหรอ อิอิ  ต้องไปจ้างทนายครับน้องกอ ไม่ใช่จ้างอัยการ เล่นเอาใจหายใจคว่ำว่าอัยการแถวนั้นเขารับวิ่งเต้นคดีด้วยเหรอ

ไปตอบให้ที่บันทึกแล้วนะครับ

อ้าว ขอโทษค่ะ ท่านอัยการชาวเกาะ

ก็เห็นลุงบอกว่า เค้าแนะนำให้ไปจ้างอัยการ มันจะได้หมดเรื่อง

ดีกว่าไปจ้างทนาย

ให้หาพยาน แล้วก็ให้อัยการเดินเรื่องให้ไงค่ะ

โทษทีค่ะ สงสัยกอจะใช้คำผิดแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะ ท่านอัยการ แวะมาทักทายค่ะ  ได้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ไปเต็มๆเลยค่ะ  จะนำความรู้ที่ได้จากท่านอัยการไปใช้ให้ความรู้แก่ผู้อื่นด้วยค่ะ

ละครให้ความเพลิดเพลิน

และก็มีสาระตอนเรามาวิจารณ์ ตีแผ่

ตรงนี้นี่เองนะครับ

(ได้ความรู้เพิ่ม)

สวัสดีค่ะ  เข้าใจเรื่องจำนอง จำนำ ชัดเจนดีค่ะ  และขายฝากด้วย รออ่านตอนต่อไปน่ะค่ะ ขอชื่นชมในการจัดการเรียนรู้ตามอัธยาศัยค่ะ

สวัสดีค่ะ มาทักทายพร้อมกับดอกไม้สวยๆ

สวัสดีครับ

รบกวนถามนอกเรื่องนะครับ

คำว่า "จดแจ้ง" หมายถึงอะไรแน่ครับ

สงสัยจะเป็นคำใหม่?

เปิดพจนานุกรมฯ ฉบับล่าสุดก็ไม่เจอ เจอแต่ "จดทะเบียน" อิๆๆ

อ่าน "พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐"

ก็ไม่มีนิยามคำว่า "จดแจ้ง"

ผมสงสัยว่า ภาษากฎหมาย ถ้าเราใช้ภาษาธรรมดามากขึ้น

เช่น เอก ทวี ตรี ฯลฯ เป็น หนึ่ง สอง สาม ฯลฯ จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจกฎหมายมากขึ้นหรือเปล่า

ขอบคุณครับ

ป.ล. ขอคำว่า "แจ้งจด" อีกคำด้วยครับ

สวัสดีครับครูอุ้ย

ยินดีมากหากบทความของผมมีประโยชน์ที่จะทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ไปด้วย ยินดีอนุญาตให้ครูอุ้ยนำข้อมูลจากบันทึกนี้ไปช่วยเหลือให้ความรู้แก่ผู้อื่นครับ

สวัสดีครับคุณร่มไม้ใหญ่ใกล้ทาง

ยินดีที่ได้รู้จักและได้ประโยชน์จากบันทึกของผมครับ

สวัสดีครับคุณสุนันทา

ผมพยายามอธิบายกฎหมายแบบง่ายๆครับ เพราะบางทีเราอยากให้ชาวบ้านรู้มากก็พยายามอธิบายละเอียด ทำไปทำมาชาวบ้านงงกลายเป็นไม่รู้เรื่องก็จะไม่ได้ประโยชน์ การอธิบายแต่หลักแบบนี้ได้ประโยชน์มากกว่า พอมีปัญหาก็ถามมาได้ก็จะได้ความรู้เพิ่มครับ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้สวยๆจากคุณแดงครับ

เห็นแล้วอารมร์แช่มชื่นครับ

สวัสดีครับ อ.ธ.วั ช ชั ย

ทั้งสองคำ เดี๋ยวผมจะไปค้นพจนานุกรมกฎหมายมาให้นะครับ

แต่ในความหมายทั่วไปคำว่า จดแจ้ง มักใช้กับการไปแจ้งให้ทางราชการทราบว่าเราได้มีการกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่นในเรื่องของการพิมพ์ ก็จะเป็นการไปจดแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทางการพิมพ์ทราบว่าเราจัดพิมพ์เอกสารสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อให้ราชการรู้ว่าเอกสารนี้ผู้พิมพ์โฆษณามีตัวตนนะ คือคนนั้นคนนี้

แจ้งจดนี่ไม่ค่อยพบ แต่อาจเทียบเคียงกับเรื่องแจ้งความเท็จ หรือแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ คือหมายถึงว่า เป็นการแจ้งข้อมูลให้เจ้าพนักงานจดบันทึกเป็นหลักฐานไว้ ครับ

เดี๋ยวค้นภาษากฎหมายให้อีกทีนะครับ บังเอิญว่าไม่ค่อยได้ใช้ต้องไปรื้อตำราครับ อิอิ

ไม่ต้องดูละครแล้วครับ

มาอ่านบันทึกของพี่ มันกว่า แถมได้รู้เรื่องกม. ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท