พระจันทร์สีรุ้ง๓


สิ่งที่ผมเป็นห่วงสำหรับละครเรื่องนี้ ก็คือ กลัวเด็กที่ดูละครเรื่องนี้เข้าใจว่าแม่ของเขาเองอาจทำตัวเป็นเหมือนอรดีแม่ของตะวันในละคร ที่ไม่เคยรักลูกจริงแต่แสดงให้ลูกเห็นว่ารัก หรือให้บุคคลภายนอกเห็นว่าตนรักลูกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากลูก เพื่อหน้าตาของตัวเอง ถ้าเด็กคิดอย่างนี้จริงๆละก็..ผมว่าเวรกรรมอนาคตของชาติ เฮ้อ...ดังนั้น ใครที่ดูละครเรื่องนี้กับเด็กช่วยอธิบายให้เขาฟังด้วยนะครับ

        ผมชักจนแต้มจริงๆสำหรับละครเรื่องนี้ เพราะข้อกฎหมายในละครมักจะซ้ำซากวนเวียนเล่าแล้วเล่าอีกก็เวียนหัว อิอิ ดีแล้วที่ละครกำลังจะจบในวันที่ผมเขียนบันทึกนี้เพราะผมจะจบบันทึกได้โดยไม่รู้สึกผิด ฮ่าๆ

        ผมดูละครเรื่องนี้แล้วนึกถึงการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพราะการที่อารักษ์รับเอาตะวันมาเลี้ยงดูให้การศึกษา โดยข้อกฎหมายแล้วไม่ได้หมายความว่าอารักษ์ได้อำนาจปกครองตะวันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะคนที่จะมีอำนาจปกครองที่แท้จริงคืออรดี แม่ของตะวันที่เกิดตะวันมาต่างหาก เพราะแม้อรดีจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับใคร แต่อรดีซึ่งเป็นผู้คลอดบุตรเป็น มารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ของตะวัน จึงมีอำนาจเต็มในการปกครองบุตร ความประพฤติเสื่อมเสียของอรดีก็ไม่ได้ทำให้อำนาจปกครองบุตรของอรดีหมดไปโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีผู้ร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรของอรดีก่อน

        ถามว่าในเรื่องนี้ หากจะทำให้อารักษ์มีอำนาจปกครองตะวันให้ถูกต้องตามกฎหมายทำอย่างไร คำตอบก็คือ ต้องให้อารักษ์ไปขอจดทะเบียนรับตะวันเป็นบุตรบุญธรรมครับ เพราะหากดูตามหลักเกณฑ์แล้วอารักษ์เป็นนางโชว์ที่แก่แล้ว อายุก็น่าจะเกินยี่สิบห้าปี และแน่นอนว่าต้องแก่กว่าตะวันมากกว่าสิบห้าปี ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๙๘/๑๙ ที่บัญญัติว่า

 

        บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี

 

มันจะเกิดคำถามต่อมาว่าแล้วจะทำอย่างไร คำตอบก็คือเมื่อตะวันอายุไม่ถึงสิบห้าปีตะวันไม่ต้องให้ความยินยอม แต่ต้องให้พ่อแม่ตะวันยินยอมครับ แต่ในเรื่องนี้ พ่อก็ไม่รู้ว่าเป็นใครเพราะอรดีเป็นหญิงบริการ(เป็นหมอนวด)ไม่รู้พลั้งเผลอยังไงจึงท้องขึ้นมา  งั้นก็ขอความยินยอมจากอรดี แล้วจะขอยังไงละครับในเมื่ออรดีพยายามเอาตะวันไปทิ้ง และตะวันตกน้ำ อรดีก็เลยถือโอกาสหนีไปและไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ  อ้าว...แล้วจะทำยังไงละทีนี้ ไม่เป็นไรครับทุกปัญหามีทางแก้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๙๘/๒๑ กำหนดว่า

 

        การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง

         ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมตามวรรคหนึ่งก็ได้

 

        เห็นไหมครับทางแก้ก็คือไปยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลยินยอมแทนครับ หรือหากทำไม่เป็นก็ขอเชิญไปพบพนักงานอัยการในท้องที่ที่ท่านอยู่ให้เขาจัดการให้ก็ได้ครับ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายชั้นพนักงานอัยการแต่ต้องไปจ่ายค่าใช้จ่ายชั้นศาลเป็นค่าธรรมเนียม ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ ค่าส่งหมาย เอาเองนะครับ บางสำนักงานก็ขอให้ท่านวางเงินค่าใช้จ่ายเขาจะออกใบรับให้ เหลือเท่าไหร่เขาก็คืนครับ บางสำนักงานเขาก็ตัดปัญหาเดี๋ยวเกิดการเข้าใจผิดว่าอัยการรับเงินก็ให้ท่านไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆเอาเอง ครับ นี่เป็นบริการประชาชนของพวกเราครับ

        อารักษ์อยากจะได้ตะวันเป็นลูกบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามข้างต้นนี่แหละครับ และเมื่อเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถ้าอารักษ์ตายไปตะวันก็มีสิทธิได้รับมรดกของอารักษ์ครับ แต่ถ้าตะวันตายอารักษ์ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของตะวัน แต่อรดีเป็นคนได้รับครับ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๘/๒๙ บอกว่า

 

การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น

 

        ถามว่าเป็นธรรมไหม มันเป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่ถ้าตะวันจะยกทรัพย์สินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนที่ตนมีให้กับอารักษ์ ตะวันก็สามารถทำได้โดยการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้อารักษ์ครับ ถ้าไม่ทำพินัยกรรมไว้และตะวันตายก่อนที่จะมีครอบครัว  มรดกของตะวันที่มีก็ต้องตกได้แก่ทายาทซึ่งได้แก่ทายาทลำดับที่สองคือบิดามารดา ส่วนบิดานั้นตัดไปได้เลยเพราะไม่ปรากฏว่าใครเป็นบิดา เหลือแต่อรดีซึ่งเป็นมารดาผู้คลอดตะวัน ดังนั้น อรดีจึงได้รับไปเต็มๆครับ

        เป็นไงครับ ละครกำลังจะจบลงแล้ว ท่านได้ประโยชน์อะไรจากละครเรื่องนี้กันบ้าง

         สิ่งที่ผมเป็นห่วงสำหรับละครเรื่องนี้ ก็คือ กลัวเด็กที่ดูละครเรื่องนี้เข้าใจว่าแม่ของเขาเองอาจทำตัวเป็นเหมือนอรดีแม่ของตะวันในละคร ที่ไม่เคยรักลูกจริงแต่แสดงให้ลูกเห็นว่ารัก หรือให้บุคคลภายนอกเห็นว่าตนรักลูกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากลูก เพื่อหน้าตาของตัวเอง ถ้าเด็กคิดอย่างนี้จริงๆละก็..ผมว่าเวรกรรมอนาคตของชาติ เฮ้อ...ดังนั้น ใครที่ดูละครเรื่องนี้กับเด็กช่วยอธิบายให้เขาฟังด้วยนะครับ

        ละครเรื่องนี้ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด การแสดงออกถึงความรักที่พ่อคนหนึ่งมีต่อลูกแม้จะไม่ใช่ลูกจริงๆก็ตาม แต่ความรักของคนที่เลี้ยงเด็กมากับมือไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใดๆกับชีวิตก็ตามก็ยังทนุถนอมลูกที่ตัวเองเลี้ยงมาได้อย่างเยี่ยมยอด นี่ต่างหากที่ผู้จัดละคร/ผู้เขียนบท พยายามจะสื่อออกมา แต่อย่างที่บอกข้างต้น ผู้ปกครองที่ดูละครเรื่องนี้กับเด็ก ครูที่ดูละครและรู้ว่าลูกศิษย์ลูกหาตัวน้อยๆของท่านดูละครเรื่องนี้ น่าจะหยิบเอาละครเรื่องนี้มาพูดคุยกันให้เขาคิดวิเคราะห์ความถูกผิด ชี้แนะสิ่งถูกต้องให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คงจะดีกว่าผู้ใหญ่อย่างเรามานั่งบ่นว่าเรื่องราวละครไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ว่าใคร ว่าตัวเอง..อิอิ

หมายเลขบันทึก: 279335เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

ท่านอัยการครับ

ท่านเข้าใจนำเนื้อหาในบทละคร มาทำความเข้าในข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องได้ดีเลยทีเดียวครับ เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้ที่สนใจด้านกฏหมาย นอกจากนี้ฝังแฝงไว้ด้วยคุณธรรม จริยธรรม ในสังคมแบบไทยๆอีกด้วย

กราบขอบพระคุณครับที่กรุณา (สำหรับผมแล้ว สนใจและเป็นประโยชน์มากครับ)

อาจารย์เก

สวัสดีค่ะท่านอัยการ

หนูตามมารับความรู้ทางกฏหมายค่ะ และได้รับความรู้กลับไปเต็มๆเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ ท่านอัยการ

แบบนี้เรียกว่าความรู้คู่บันเทิงได้ไหมค่ะ.....ขอบพระคุณค่ะ...

สวัสดีค่ะคุณอัยการ

  • ชอบ ๆ ๆมากเลยค่ะ
  • ได้ความรู้เรื่องของกฎหมายหลายข้อเชียวค่ะ
  • ขอบคุณที่กรุณาวิเคราะห์ พระจันทร์สีรุ้ง ตามที่เคยขอไว้ค่ะ
  • ละครจะอวสานแล้วนะคะ
  • ขอบคุณอีกครั้งค่ะ จะรออ่านเรื่องใหม่ต่อไปค่ะ
  • สวัสดีค่ะ อ.ท่านอัยการ
  • สวัสดีอาจารย์ คิดถึง ขนมบ้านอาจารย์ กับ ขนมบ้านอัยการทุกทีเลยค่ะ(ขออนุญาตินะคะ)
  • ----
  • เรื่องนี้ชอบตรงที่ตะวันกตัญญูกับอารักษ์ค่ะ แม้จะหลงผิดไปบ้าง
  • อารักษ์ก็ดีเหลือเกินนะคะ ใช้ความดีไปต่อรองกับกฎหมายไม่ได้ใช่มั้ยคะ
  • ---
  • อ่านบทวิเคราะห์แล้วสนุกกว่าดูละครอีกแน่ะค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์เก

ขอบคุณที่แวะมา อาจารย์สามารถนำไปเล่าในรายการวิทยุก็ได้นะครับ ด้วยความยินดีครับ

สวัสดีครับน้องอาร์ม/น้อง kittyjump และคุณเมียวดี

ขออนุญาตตอบรวมๆไปเลยนะครับ

ขอบคุณทุกท่านที่มาติดตามผลงาน บางทีการที่เราเอาเรื่องที่หลายคนคิดว่ามันไร้สาระมาทำให้มีสาระมันก็น่าจะเกิดประโยชน์แก่สังคมไม่น้อย มันเป็น edutainment (ความรู้คู่บันเทิงของน้อง kittyjump) และมันน่าจะลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ลงได้บ้างเหมือนกันนะครับ

ว่าแต่ว่าคุณเมียวดีอยากอ่านเรื่องอะไรต่ออีกละครับ อิอิ

สวัสดีครับป้าแดง

ขอบคุณที่ยังติดตามอย่างต่อเนื่อง

คิดถึงขนมบ้านผมสงสัยต้องตามไปกินที่ภูเก็ตอีกรอบละมั๊ง อิอิ

สวัสดีค่ะคุณลุงอัยการ

คุณลุงสามารถนำละครมาเชื่อมโยงเกี่ยวกับกฏหมายได้(คนเพชรเขาว่า"เก่งจัด")

มีประโยชน์มากๆเลยคะ เอาไว้หนูอยู่ปี2หนูเรียนกฏหมาย

หนูจะขอคำปรึกษาบ้างนะคะ อิ อิ

แอ้ม เมืองขนมหวาน

สวัสดีหลานแอ้ม เมืองขนมหวาน

ยินดีที่ได้รู้จักหลานนักกฎหมายในอนาคต

อย่าลืมว่าการเรียนกฎหมาย ถ้าอ่านหนังสือจบแล้วคิดว่าเข้าใจแสดงว่าไม่รู้เรื่อง ถ้าอ่านหลายจบจนไม่รู้เรื่องแสดงว่าเริ่มรู้กฎหมาย อิอิ

สวัสดีค่ะ

  • ข้อกฏหมายที่บอกว่า
  • ผู้ที่รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงดู  หากพ่อแม่เด็กติดตามเจอและต้องการเด็ก  ผู้เลี้ยงดูคือพ่อแม่บุญธรรมต้องคืนเด็กให้ไปอยู่กับพ่อแม่จริง
  • หมายถึงเด็กที่เราจะทะเบียนมาแล้ว
  • แต่ถ้าเด็ก..ไม่ยอมกลับคืน...กฏหมายจะทำอย่างไรคะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับมาเยี่ยมด้วยความคิดถึง

แวะมาเยี่ยมเยียนกับท่าน...อาจารย์ทำให้ทุกคนอยากเรียนรู้กฎหมายขึ้นทันตาเลยครับ อิอิ

สวัสดีครับพี่คิม

กรณีที่ศาลให้เราเป็นผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม(มารดาบุญธรรม) ทำให้เราเป็นผู้มีอำนาจปกครอง พ่อแม่ที่แท้จริงจะเอาคืนก็ต้องไปยื่นคำร้องที่ศาลเพื่อให้ศาลถอนอำนาจปกครองของเราก่อน เพราะตามกฎหมายระบุว่าอย่างนี้ครับ

มาตรา ๑๕๙๘/๒๘ วรรคแรก "บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว" เพราะ "ภูมิลำเนาของผผู้เยาว์ ได้แก่ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง" ผู้ใช้อำนาจปกครองมีอำนาจกำหนดที่อยู่ของบุตร,ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน,ให้บุตรทำงานตามฐานานุรูปและตามความสามารถ,และเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตครโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น พ่อแม่จริงซึ่งทิ้งลูกไปจึงไม่มีอำนาจมาทวงลูกคืนโดยพลการครับ

สวัสดีครับท่านเบดูอิน

คิดถึงเหมือนกันครับ ช่วงนี้งานผมยุ่งมากๆเพราะต้องเตรียมคดีสู้คดีให้หมอกับพยาบาลครับ

สลามครับ อ.ฟูอ๊าด

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม หากชาวบ้านสนใจเรียนรู้กฎหมาย อย่างน้อยก็ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนโกงครับ

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • กรณีของพี่คิม...รายแรกไม่มีชื่อบิดามารดาค่ะ  แต่พี่คิมรับมาจากคนแก่ ๆที่เลี้ยงดูอยู่มอบให้เมื่อเด็กอายุ ๑๑ ปี
  • ตอนนี้เราร้องขอต่อศาลผ่านมา ๑๒ ปีแล้วค่ะว่ามีสิทธิดูแลเด็ก ปัจจุบันเรียนจบมหาลัย มีงานทำ รับราชการค่ะอายุ ๒๙ ปี
  • รายนี้ใช้เวลาสืบเสาะ  ต่อสู้นานมากค่ะ  เพราะไม่มีหลักฐานอะไร  นอกจากพยานบุคคล  เป็นผู้หญิงนะคะ
  • รายที่ ๒ รับมาจากสถานสงเคราะห์....เมื่ออายุ ๒ ขวบค่ะปัจจุบันเรียนอยู่ ม.๔ ค่ะ เป็นเด็กชายค่ะ
  • เด็กคนแรก...รู้ประวัติตัวเองมาก่อนแล้วที่จะมาอยู่กับพี่คิม แต่รายที่สอง  พี่คิมพาเขาไปเยี่ยมสถานสงเคราะห์  และเริ่มบอกเขาเมื่ออายุ ๘ ขวบ รายนี้เป็นไปตามกฏหมายค่ะของสถานสงเคราะห์ว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรมค่ะ
  • แต่ไม่มีปมด้อยอะไรนะคะ  มีสุขภาพจิตดี ว่านนอนสอนง่าย เรียน  นิสัยเหมือนคนเลี้ยงดูค่ะ
  • มีอีก ๒ ราย มีพ่อมีแม่...แต่หิ้วกระเป๋าตามครูมาอยู่แล้วไม่กลับ คนผู้หญิงมาอยู่เมื่อ ป.๑ ตอนนี้เรียนมหาลัย ปี ๒  รายที่สองเป็นชายจบ ม.๓ แล้วมาอยู่ด้วยตอนนี้อยู่ ปวส. ปี ๑ ค่ะ
  • อีกรายก็กำลังติดตาม...ค่ะ
  • สนุกดีนะคะ  ชีวิตเวี่ยนว่ายอยู่กับเด็กติดครู

บุญครับพี่คิม

เลี้ยงคนมันยิ่งกว่าเลี้ยงลูกนกลูกกา ยิ่งเราสั่งสอนให้เขาเป็นคนดีของสังคมยิ่งได้บุญมาก เพราะตัวเราก็มีความสุข ตัวเขาก็มีความสุข สังคมก็มีความสุขครับ

ขอความกรุณาผู้รุ้ง้าบบบ

มีการบ้านวิชาสังคม อ.ให้มาหาข้อมูล เป็นเรื่องเกี่ยวกับ กฎหมายครอบครัว

ผู้เยาว์จะทำการสมรสจะต้องพิจารณาเรื่องใดบ้าง

ของหมั้นเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส

เมื่อหย่าขาดจากกินการแบ่งสินสมรสระหว่างชายหญิงกฎหมายกำหนดอัตราสว่นไว้อย่างไร

ภรรยามีชู้ฟ้องหย่าได้ แต่ถ้าสามีมีชู้ภรรยาฟ้องหย่าได้หรือไม่ อธิบาย (บุดตอบว่าได้ แต่ไม่รู้อธิบายไงอ่ะ)

บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามีได้ในกรณีใดบ้าง

สิทธิหรืออำนาจของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์มีอะไรบ้าง

ช่วยหน่อยนะง้าบ ขอบคุณง้าบ

สวัสดีหนูบุด เล่นง่ายดีนะครับไม่ต้องค้นที่ไหน เล่นถามเอาง่ายๆนี่นะ ตอบให้ครั้งหนึ่ง คราวหน้าต้องใช้ความพยายามในการค้นคว้าหน่อยนะครับ ไม่งั้นแล้วเราก็จะไม่รู้อะไรเลย

ผู้เยาว์จะสมรสก็ต้องพิจารณาว่า อายุเท่าไหร่ ไปค้นเอาเองว่าอายุเท่าไหร่จึงจะสมรสได้ ประการต่อมาก็พิจารณาว่าได้ความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือไม่

ของหมั้นเป็นสินส่วนตัว

สินสมรสแบ่งครึ่ง

สามีมีชู้เขาไม่ใช้คำว่ามีชู้ เพราะตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ตอบว่าฟ้องหย่าไม่ได้เพราะกฎหมายบอกว่า ฝ่ายชายไปยกย่องเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา ไม่ได้บอกว่ามีชู้ เพราะถ้าผู้ชายไปร่วมหลับนอนกับผู้หญิงแต่ไม่ได้ยกย่องหญิงอื่นเป็นภรรยาอีกคนก็ไม่ใช่เหตุฟ้องหย่าครับ

บุตรชอบด้วยกฎหมายมี ๓ แบบ คือ บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน/บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร/ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

สิทธิหรืออำนาจบิดามารดามีต่อบุตรดูในคำตอบที่ตอบครูคิมครับ

ขอบคุณน้าอัยการนะขอรับ

ก้ขี้เกียจหา เรยถามผู้รู้เรย ง่ายก่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท