วิกิพีเดีย สารานุกรมที่คุณเขียนเองได้


เขียนสนุกจริงๆ ใครใคร่เขียน เขียน ใครใคร่แก้ แก้ แต่ก็มีกฎเกณฑ์อยู่นะครับ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ท่องโลกอินเทอร์เน็ตคงจะคุ้นเคยกับเว็บไซต์วิกิพีเดีย (www.wikipedia.org) พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อต้องการค้นหาข้อมูลสาระความรู้ต่างๆ ผ่าน google มักจะหนีไม่พ้นที่จะได้เห็นเว็บไซต์ wikipedia อยู่ในอันดับต้นๆ  ทั้งนี้ก็เพราะว่า วิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์สารานุกรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เริ่มจากฉบับภาษาอังกฤษ แล้วขยายไปยังภาษาอื่นๆ ที่ใช้กันทั่วโลก ปัจจุบันนี้นับได้ราวสองร้อยกว่าภาษา แน่นอนว่า รวมภาษาไทยและภาษาเพื่อนบ้านของเรา อย่าง พม่า ลาว เขมร มาเลย์ อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม ฯลฯ  

ผมเองได้รู้จักวิกิพีเดียโดยบังเอิญ เมื่อต้องค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร พบว่ามีบทความเรื่องนี้ในเว็บไซต์ของฝรั่ง และโยงมาที่เว็บไซต์ภาษาไทย ทำให้เริ่มรู้จัก ใช้งาน และเข้าร่วมพัฒนาไปด้วย 
 

มารู้จักวิกิพีเดียกันดีกว่า

  Www

วิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์สารานุกรม เปิดตัวเมื่อ 21 มกราคม 2544 ก่อตั้งโดย Jimmy Wales และ Larry Sange มีจุดเด่นคือ เปิดโอกาสให้ผู้อ่านมาเพิ่มบทความให้เป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ (ซึ่งแตกต่างจากเว็บอื่นๆ ที่ผู้ใช้จะเขียนบทความในส่วนที่กันไว้โดยเฉพาะ และจะแก้ไขได้เฉพาะบทความของตัวเอง) ช่วยกันแก้ไขบทความต่างๆ ได้ และยังมีระบบการจัดหมวดหมู่ย่อยๆ ได้ ทำให้จัดหมวดหมู่บทความได้ง่าย ค้นหาได้ง่าย ไม่ว่าจะค้นด้วยการใส่คำที่ต้องการ หรือไล่ไปจากหมวดหมู่

 

Image:Jimmy-wales-frankfurt2005-alih01.jpg     Image:L Sanger.jpg

สองผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย

 

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การมีลิงก์ภายในเว็บไซต์ ทำให้สามารถค้นหาบทความอื่นๆ ได้ง่าย เมื่อมีการกล่าวถึงคำ(บทความนั้นๆ)  ในขณะเดียวกัน วิกิพีเดียยังมีหลายภาษา แต่ละภาษาเป็นเว็บไซต์แยกกัน มีสมาชิกคนละกลุ่มกัน แต่เชื่อมโยงกันได้ ฉะนั้น บทความหนึ่งๆ จะมีรายชื่อภาษาเอาไว้ให้ ถ้าอ่านบทความในภาษาไทยไม่จุใจ ลองคลิกไปอ่านภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน เป็นต้น

วิกิ คำนี้เป็นภาษาฮาวายครับ บางคนก็เรียก วิกกี้, วิกี้, วิกิ, วีกี แล้วแต่จะเรียก คำนี้ แปลว่า “เร็ว” คนคิด (Ward Cunningham) ได้ชื่อนี้มาจากรถประจำทางในฮาวาย ที่ใช้ชื่อว่า wiki wiki (ดูรูป) เป็นชื่อซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถใช้สร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้โดยสะดวก 

Image:HNL Wiki Wiki Bus.jpg

วิกิพีเดีย wikipedia ก็คือ wiki + encyclopedia หรือ สารานุกรมที่ใช้ซอฟต์แวร์วิกินั่นเอง

ใครก็เขียนได้ใครก็แก้ได้ แล้วจะป่วนไหม

ป่วนครับ อิๆ

แต่ไม่บ่อยนักหรอก ระบบวิกิเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถแก้ไขบทความไหนก็ได้ (ถ้าไม่ถูกล็อกห้ามแก้ไขเอาไว้) แต่ไม่ต้องห่วงว่าบทความจะถูกปู้ยี่ปู้ยำเสียหาย เพราะทุกครั้งที่มีการแก้ไขจะมีรายการบันทึกเอาไว้ และสามารถแก้กลับไปยังการแก้ไขก่อนหน้าครั้งใดก็ได้ บทความที่ถูกมือดีมาแก้ จึงถูกย้อนกลับคืนได้ง่ายๆ

 

เมื่อวาน หลังจากอบรมนักศึกษาเพื่อใช้งานวิกิของสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มธ. แล้ว ผมให้นักศึกษาลองเข้าไปป่วน เอ๊ย ไปทดลองใช้งานวิกิพีเดีย ภาษาไทย พบว่าหลังจากแก้ไขไม่ถึงสองนาที ก็มีคนมาแก้กลับคืน ฉะนั้นเรื่องที่จะถูกแก้ไขจนเละตุ้มเป๊ะนั้น คงไม่น่าต้องห่วงมากนัก

 

ความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดีย

อาจมีบางท่านถาม ว่า ใครๆ ก็มาช่วยเขียนวิกิพีเดียได้ เราจะทราบได้ยังไง ว่าคนนั้นรู้จริง หรือไม่จริง  ตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกัน ได้ยินมาว่า ความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดีย พอๆ กับบริเตนนิกา ผมซื้อบริเตนนิกามาชุดหนึ่ง เคยใช้อยู่ประจำ เปิดอ่านเกี่ยวกับเรื่องราวของบ้านเรา ดูมีคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่เรื่องไทยๆ ในวิกิพีเดีย (ฉบับภาษาอังกฤษ) ค่อนข้างแม่นยำพอสมควร ส่วนเรื่องอื่นๆ เท่าที่อ่านดู ประเมินด้วยความรู้ตัวเอง มีคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับผิดกันไปคนละเรื่อง

Image:Encyclopaedia Britannica 15 with 2002.jpg

สมัยที่บริเตนนิกาที่ฮิตในบ้านเราใหม่ๆ (ก็ราวก่อนกึ่งพุทธกาล) มีคำปรามาสเหมือนกัน ว่าหนังสือสรรพความรู้ที่เห่อๆ กันนั้น ไม่ได้ลุ่มลึกอะไร นี่เป็นเรื่องจริง สารานุกรมทั่วไป ไม่เน้นรายละเอียดลึกๆ แต่ให้ข้อมูลกว้างๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถของระบบ และการใช้งานได้สะดวก ทำให้การป้อนข้อมูลในวิกิพีเดียทำได้ง่าย รวดเร็ว ผู้ที่รู้จริง หรือมีข้อมูล สามารถเข้ามาแก้ไขได้จากทุกหัวระแหงทั่วโลก

ปัจจุบันนี้วิกิพีเดียเข้มงวดเรื่องที่มาของข้อมูลมากขึ้น ทุกบทความจึงมักจะมีการอ้างอิง (บางทีก็อ้างมากถึง 100 - 200 ร้อยรายการก็มี) บางคนล้อว่า “สุนัขเป็นสัตว์ (อ้าง xxx) สี่เท้า (อ้าง yyy) ......” เรียกว่า อ้างกันทุกวลี อย่างนี้ก็ดูแปร่งเหมือนกัน เข้าใจว่ามาจากนักเขียนนักวิชาการ ที่ถนัดกับการค้นเอกสารทำรายงาน แต่ไม่ว่าจะเถียงกันมากน้อยแค่ไหน จุดมุ่งหมายก็คือ ต้องมีอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ

แม้ว่าอาจจะมีบางบทความที่ยังไม่ค่อยประณีต ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังมีบทความดีๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นบทความคัดสรร (ติดดาว)  บทความเหล่านี้ ผ่านเกณฑ์เรื่องการใช้ภาษา ความครบถ้วนของเนื้อหา และมีที่ไปที่มา และมีภาพประกอบด้วย

เขียนสนุกเพราะใครๆ ก็เขียนได้

เขียนสนุกจริงๆ ใครใคร่เขียน เขียน ใครใคร่แก้ แก้ แต่ก็มีกฎเกณฑ์อยู่นะครับ เขาจะมีผู้ดูแลที่ได้รับการเสนอชื่อจากผู้เข้าใช้ (สมาชิกนั่นเอง) ที่มีผลงานดี คุยกับคนรู้เรื่อง ผู้ดูแลมีสิทธิ์ลบบทความ และบล็อกบทความไม่ให้แก้ไขได้ ล็อกไม่ให้สมาชิก หรือ IP นั้นใช้งานได้ และแก้ไขหน้าสำคัญของเว็บไซต์ นอกจากนี้ผู้ดูแลยังช่วยระงับกรณีพิพาทระหว่างผู้ใช้ เช่น บางคนเขียนบทความทีคิดว่าสมบูรณ์แล้ว อีกคนมาแก้ หาว่าไม่สมบูรณ์ ก็อาจวางมวยกันได้ แก้กลับไปกลับมา จนคนอ่านเวียนหัว ผู้ดูแลก็เข้ามาล็อกบทความเสียเลย ชวนไปขึ้นเวที เอ๊ย ปรับความเข้าใจกัน โดยการพูดคุยในกระดาษทดที่แปะไว้อยู่แล้วกับบทความทุกบทความ ตกลงกันได้ ก็ปลดล็อก แก้ไขกันตามนั้น

ที่พบบ่อยคือ เข้ามาเขียนโฆษณา หรือไม่ก็เขียนเล่นไปเรื่อยเปื่อย อย่างนี้ถูกลบแน่ๆ แต่ถ้าไม่ชัดเจน ก้ำกึ่ง ก็แนะนำให้แก้ไข จะได้ไม่ถูกลบ

และถ้าหวังว่าจะเข้ามาเขียนประวัติตัวเอง หรือคนใกล้ชิด คงไม่ง่าย เพราะวิกิพีเดียมีนโยบาย ไม่ให้เขียนประวัติตัวเอง หรือคนใกล้ชิด หรือเขียนในเชิงยกย่อง เรียกว่าขาดความเป็นกลาง ช่วงวิกฤตทางการเมือง บทความเกี่ยวกับบุคคลสำคัญทางการเมืองจะถูกแก้ไขมาก ทั้งเพิ่มข้อมูล และเขียนเชิงทำลาย ต้องช่วยกันบล็อกอุตลุด

สำหรับบทความที่คัดลอกมา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือจากเว็บไซต์ จะลบทิ้ง เพราะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เว้นเสียแต่ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งมาว่าอนุญาต ก็จะมีข้อความบอกไว้ว่าได้รับอนุญาตแล้ว ฯลฯ

มาลองใช้วิกิพีเดียกันไหม

Image:Cows in green field - nullamunjie olive grove03.jpg

วิกิพีเดีย เป็นสารานุกรมออนไลน์ มีหลายฉบับ หลายภาษา (ฉบับละภาษา) ฉบับภาษาไทยของเรา มีบทความราว 36,000 บทความแล้วในตอนนี้ แต่ภาษาอังกฤษนั้นมีถึง 2,389,223 บทความแล้ว ในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย ก็มีบทความหลายหมื่น ถ้าท่านเข้าไปอ่านเนื้อหาในวิกิพีเดียภาษาไทย อาจจะพบว่าบทความบางเรื่องสั้นมาก บางเรื่องยังไม่สมบูรณ์ มีป้ายเขียนแปะไว้ให้ทราบว่า ถ้าท่านมีข้อมูลก็เชิญเขียนเพิ่มเติมได้

วิกิพีเดีย เป็นสารานุกรมฟรี ท่านคัดลอกเนื้อหาไปใช้ได้ ไปดัดแปลงแก้ไขได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีรูปภาพที่ให้ใช้ได้ฟรี โดยเฉพาะในวิกิฉบับภาษาอื่นที่มีจำนวนบทความมากๆ เป็นแสนหรือล้านบทความ จะมีภาพคัดสรร เป็นภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว ภาพงามๆ แจกกันฟรีๆ เหมือนกัน 
 

ลองมาเขียนบทความในวิกิพีเดียกันดูไหม

Image:Bangkok at night.jpg

กรุงเทพฯ ยามราตรี ภาพจาก http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/53/Bangkok_at_night.jpg

ว่าจะเขียนสั้นๆ ก็ลากยาวมาถึงนี่ เรื่องของวิกิพีเดีย ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะกลไกการทำงาน ที่มองเห็นยาก หากไม่ได้คลุกคลี เข้ามาใช้งานเป็นเวลานาน ความน่าอัศจรรย์ของวิกิพีเดียคือ การมีสัญญาร่วมกันที่จะสร้างผลงานเป็นสาธารณสมบัติ เรียกว่า ป้อนงานมาแล้ว ถือเป็นของส่วนรวม (ใครจะแก้ ใครจะปรับปรุง ก็ทำได้ แต่ถ้าไม่อยากให้บทความถูกแก้ ก็ไม่ต้องเขียนในวิกิพีเดีย) และความร่วมมือนั้นกลายเป็นงานใหญ่ที่สำคัญ

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของวิกิพีเดีย น่าจะมาจากการวางระบบที่ดี ไม่เพียงแต่การร่วมใช้ แต่ร่วมกันดูแลด้วย เว็บไซต์ หรือบล็อกส่วนใหญ่ จะเน้นการร่วมใช้ แต่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการดูแล เป็นหูเป็นตา ฯลฯ ระบบวิกิจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับการสร้างฐานข้อมูลสาธารณะที่ช่วยกันสร้างช่วยกันแก้ไข และเติบโตอย่างรวดเร็ว

ขอเปิดโอกาสให้ท่านผู้อ่านได้เข้าไปทดลองใช้งาน อ่านเขียนวิกิพีเดียภาษาไทย (และภาษาอื่น) ดูนะครับ ถ้าได้ความอย่างไร มาคุยกัน เรื่องเล่าจากวิกิพีเดียยังมีอีกมาก แต่ไม่รับปากว่าจะมาเล่าเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า ;) 



หมายเหตุ
วิกิ หมายถึง โปรแกรมใช้งานสำหรับเว็บไซต์ที่ให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมสร้างและแก้ไขแบบอิสระ
วิกิพีเดีย หมายถึง สารานุกรมออนไลน์ที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย ซึ่งใช้โปรแกรมนี้ดำเนินการ

วิกิพีเดียหน้ารวมทุกภาษา http://www.wikipedia.org
วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ  http://en.wikipedia.org
วิกิพีเดียภาษาเยอรมัน  http://de.wikipedia.org
วิกิพีเดียภาษาฝรั่งเศส  http://fr.wikipedia.org
วิกิพีเดียภาษาญี่ปุ่น   http://jp.wikipedia.org
วิกิพีเดียภาษาไทย   http://th.wikipedia.org 

My Music - chrot ruoch reipka
หมายเลขบันทึก: 184828เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2008 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (44)
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ผมก็ค้น+คว้า
  • ข้อมูลมาจาก วิกิพีเดีย บ่อยๆ ในกรณีที่ขี้เกียจพิมพ์เอง อ้างอิงบ้าง ไม่อ้างอิงบ้าง อิๆ
  • เอ รู้สึกจะมีหนังสือที่สอน เกี่ยวกับการใช้ วิกิพีเดีย ในการพัฒนาองค์กรด้วยนะครับประยุกต์ใช้ในด้านฐานข้อมูล อะไรทำนองนี้แต่แบบว่าไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่อง ฐานข้อมูลก็เลยไม่ได้ซื้อมาศึกษา  
  • วิกิพีเดีย Vs G2K อันไหนเขียนสนุกกว่ากันครับ อิๆ

เคยใช้บริการบ่อยๆ ค่ะ

"วิกกี้"...ชื่อน่ารักดีนะคะ :)

wikipedia ไม่แสดงตัวตนของผู้เขียน ส่วนตัวแล้วดิฉันเองไม่ชอบประเด็นนี้ค่ะ เรื่องตัวตนเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเรื่อง trustworthiness & public contents ถึงกับมีการฟ้องร้องกันเพราะ wikipedia ให้ข้อมูลผิดพลาดค่ะ

ขอบคุณครับ

รู้สึกว่า รายไหน login แล้วไปทำป่วน บ่อยๆ โดนจัดเข้า blacklist!

สวัสดีค่ะอ.ธ.วัชชัย

  • เข้ามารับความรู้เรื่อง wikipedia เต็มที่เลยค่ะ
  • เคยใช้บริการของwikipedia ค่ะ แต่ไม่ได้ search โดยตรงจากเวปนั้น โดยมากจะใช้ google ซึ่งก็ ลิงค์ข้อมูลของเวปนี้มาให้เสมอค่ะ
  • ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ค่ะ

ขอบคุณ อ.ธ วั ช ชั ย ที่นำข้อมูลมานำเสนอ

ยังไม่เคยเข้าไป แต่จะลองดูครับ

มาขอบคุณคุณ ธ.วัชชัย ค่ะ

  • ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ทดลองฝ่าคลื่นอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ เอาเรื่องเบาๆ เล่นๆ ไปเจอโรงเรียนที่พี่เป็นศิษย์เก่าด้วย แล้วก็โยงไปถึงเรื่องชมรมศิษย์เก่าค่ะ ได้ส่งไม้ต่อให้น้องๆ ในชมรม ตามไปพิจารณาการเติมเต็มเรื่องเฉพาะของเราเองด้วยนะคะ
  • ดีจัง ขอบคุณมากๆ ค่ะ
  • แต่เดาว่าคงมีสิ่งที่ในแวดวงห้องสมุดอาจไม่ชอบใจในเรื่องการเขียนอ้างอิง หากจะมีการหยิบยกข้อมูลไปใช้นะคะ เพราะมันไม่เหมือนหนังสือ หรือเอกสารที่มีตัวเล่ม ฉบับพิมพ์เป็นหลักฐาน ยิ่งข้อมูลปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา การจะอ้างวันที่สืบค้นออนไลน์ ก็คงพิสูจน์ลำบาก แหมจะคิดไปทำไม ไม่ได้เป็นบรรณารักษ์สักหน่อย (เป็นเป็ดน่ะ...ดีแล้ว ^^!)

อิอิ............แปะไว้ก่อน ตอนนี้ตาลาย

ก่อนหน้านี้วิกิพีเดียยังไม่มีการฟ้องร้องเรื่องข้อมูลผิดพลาดนะครับ อย่างที่เห็นก็คือฟ้องร้องกันเรื่องข้อมูลส่วนตัว (ที่มีคนเขียนเล่นว่านักการเมืองคนนึงตายไป แต่เจ้าตัวยังคงมีชีวิตอยู่)

วิกิพีเดียเป็นอีกเว็บให้บริการความรู้ ที่มีการจัดการข้อมูลที่ละเอียดอ่อนก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงให้ง่าย และมีหัวข้อเป็นวัตถุหลักให้คนค้นหาสะดวก เหมาะแก่การเรียนรู้ และป้องกันการทับซ้อนของข้อมูลได้อีกด้วย

แต่คนไทยจะไม่ค่อยชอบเขียนครับ เพราะ (1) ถ้าเป็นคนเก่งจะไม่อยากเขียน เพราะจะไม่มีชื่อตัวเองติดว่าเป็นเจ้าของบทความ หรือคนเขียนบทความ สู้เขียนบล็อก หรือทำเว็บส่วนตัว ได้ชื่อ ได้คำชมมากกว่า (2) ถ้าเป็นคนถ่อมตัว ก็จะบอกว่าตัวเราเองไม่เก่ง ไม่อยากทำให้ข้อมูลดีๆ เหล่านั้นเสียหาย รออ่านอย่างเดียวดีกว่า

ใจจริงผมเองก็อยากให้คนไทยมาเขียนกันเยอะๆ ครับ เพราะแหล่งข้อมูลหลักของโลกเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าเราค้นหาคำอะไรในกูเกิลหรือเสิร์ชเอนจินอื่น รับรองว่าวิกิพีเดียโผล่มาเป็นอันดับหนึ่งในสามตลอดเลย ตัวอย่างเช่นค้นหาคำว่า บล็อก อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย คอมพิวเตอร์ ซึ่งวิกิพีเดียจะไม่รวมไปถึงพวก how-to เช่นถ้าคนค้นหา โปรโมตบล็อก ก็จะไปเจอเว็บอื่นที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย จะเห็นได้ว่าถ้าเราอยากเขียนอะไรให้คนอื่นได้ความรู้ การเขียนในวิกิพีเดียเป็นเหมือนทางลัดในการแจกจ่ายข้อมูลให้คนไทยคนอื่นได้ครับ

mnop - http://itshee.exteen.com/

ของไทยยังไม่มีฟ้องค่ะ แต่ของต้นตำรับเคยมีค่ะ ดิฉันอ่านเมื่อสองสามปีก่อนที่ว่ามีการเขียนให้ข้อมูลผิดไปเกี่ยวกับคนๆ หนึ่งว่าตายไปแล้วแต่ที่จริงแล้วยังอยู่ค่ะ ข่าวนี้ก็ sue ค่ะ

wikipedia เป็นเว็บที่ดีมากๆ ค่ะ แต่ก็ต้องระวังเรื่องการให้ข้อมูลผิดพลาดด้วยค่ะ 

 

สวัสดีครับ คุณกวิน

  • เห็นคุณกวินอ่านเรื่องวรรณคดีไทย ซึ่งมีอยู่บ้างในวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องทั่วไป แต่มีต้นฉบับเต็มๆ ในวิกิซอร์ซด้วยเหมือนกัน เฉพาะวรรณคดีมีสักสิบเรื่องได้
  • เขียนวิกิสนุกตรงที่แก้ไข ปรับแต่งสีสัน เนื้อหา ภาพ ได้สะดวก
  • แต่ gotoknow พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนได้คล่องตัวกว่า
  • สนุกคนละแบบครับ ;)

สวัสดีครับ อาจารย์นายประจักษ์

  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยม ขอให้สนุกสนานกับงานนะครับ

สวัสดีครับ คุณGutjang

  • ถ้าคุ้นเคยกันแล้ว บทความนี้คงไม่มีอะไรใหม่ อิๆ
  • แล้วจะแวะไปที่บล็อกนะครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

  • เรื่องการไม่แสดงตัว ถือเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งเหมือนกัน อย่างที่อาจารย์เขียนมาข้างบน รู้สึกว่ายังเป็นประเด็นพูดคุยมาต่อเนื่องจนปัจจุบัน
  • ตอนนี้ Larry Sange ได้แยกไปทำเว็บสารานุกรมฟรีเล่มใหม่ ที่มีผู้เขียนระบุตัวตน เน้นผู้เชี่ยวชาญ โดยเขาเป็นบรรณาธิการ ที่ http://en.citizendium.org/ ครับ

 

 

สวัสดีครับ อาจารย์พันคำ

  • รายที่เข้าไปป่วน ก็จะถูกบล็อกระยะหนึ่งครั้ง ถ้าป่วนครั้งเดียว อาจจะบล็อกวันหรือสองสามวัน แต่ถ้าป่วนหลายครั้งอาจจะบล็อกถึงสามเดือน แต่ก็สามารถกลับมาใช้งานได้อีก แต่ถึงจะถูกบล็อก ก็สามารถลงทะเบียนชื่อใหม่ได้ (แล้วก็โดนบล็อกอีก ถ้ามาป่วน)

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก

  • ลองค้นจากวิกิพีเดียภาษาอื่นดูนะครับ สนุกดีเหมือนกัน

สวัสดีครับ ท่านอัยการชาวเกาะ

  • หมู่นี้ดูยุ่งๆ นะครับ ไม่ค่อยได้เจอท่านเท่าไหร่ ลองเข้าไปเยี่ยมชมนะครับ ถ้ายังไม่แน่ใจเรื่องเนื้อหา ไปดูภาพอย่างเดียวก็ได้ ;)

สวัสดีครับ พี่ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

  • อิๆ เรื่องอ้างอิงเว็บจากวิกิ คิดว่างานวิชาการส่วนใหญ่คงจะไม่อ้าง ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่รู้ใครเขียนนั่นแหละครับ แต่เคยอ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นเล่มหนึ่ง เรื่อง "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ" มีอ้างวิกิพีเดียภาษาไทยหลายรายการด้วยกัน เกี่ยวกับประวัติบุคคล
  • การอ้างวันที่เรียกข้อมูลในวิกิ เราสามารถย้อนกลับไปดูตามวันที่นั้นๆ ได้ครับ เพราะมีบันทึกประวัติการแก้ไขไว้

สวัสดีครับ คุณสิทธิรักษ์

  • ผมก็ตาลาย ตอนเขียนรู้สึกว่าตัวหนังสือใหญ่ดีแล้ว พอเซฟ ปรากฏว่าตัวเล็กลงเยอะเลย เหนื่อยตรงปรับตัวหนังสือนี่แหละ แล้วพาลขี้เกียจแก้แล้ว อิๆๆ

สวัสดีครับ คุณ Mnop

  • แต่ก่อนผมก็ไม่ค่อยอ่านวิกิพีเดีย เพราะรู้สึกว่าจับฉ่าย แต่ถ้าเราเข้าใจว่าวิกิพีเดีย คือสารานุกรมทั่วไป ให้ข้อมูลคร่าวๆ ก็สะดวกดี ถ้าต้องการรายละเอียดลึกๆ ผมว่าหนังสือบางเล่ม ก็ไม่น่าเชื่อถือ
  • หลายปีก่อนอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ออกแนวปรัชญา ได้ทุนวิจัยสกว. ด้วยซ้ำ (ขายดีด้วย) แต่คำศัพท์เชิงปรัชญาก็เขียนผิดๆ ถูกๆ (เช่น สังฆียะ, ความจริงคือ ปรัชญาสางขยะ sankhya,) บางทีประเด็นน่าเชื่อถื่อเป็นเรื่องความรู้สึก
  • เหมือนที่ ดร.จันทวรรณ บอกนะครับ อ่านข้อมูลก็ต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง แต่เนื้อหาครอบคลุมกว้าง ให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ดีพอสมควร

 

สวัสดีค่ะอ.ธ.วัชชัย

  • มาขอบคุณสำหรับการช่วยตรวจ-รักษาภาษาไทยให้ค่ะ รีบแก้โดยด่วนแล้ว
  • แก้ตัวนิดเดียวค่ะ เป็นการพิมพ์ผิดโดยไม่ตั้งใจค่ะ เพราะทราบแล้วว่า ต้องใช้ ฎ ค่ะ
  • มาชวนไปอ่านเรื่อง นาลันทา ค่ะ
ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

อาจารย์ ธ.วัชชัย คะ

ขอบคุณค่ะ

วันนี้ท่องเน็ตไปเจอ Tag คิด (ไม่)ถึง = Tag คิด(ไม่)ถึง

เลยมาถามว่า...

ทำการบ้านส่งพี่เขาแล้วยังคะ...

ถ้ายัง...เราก็มีข้ออ้างได้ว่าทำไมยัง...^^

สวัสดีครับ คุณคนไร้ราก

  • ส่วนมากจะตกหล่นนะครับ ผมก็เป็นบ่อย ถ้าเป็นกระดาษคงได้ตรวจแก้ ในกระดานไฟฟ้าแบบนี้ดูยากหน่อย เมื่อเช้าผมยังโดนไป 1 บาท อิๆๆ

พี่ดาวลูกไก่ครับ

  • ผมยังไม่ได้ทำเลยครับ ตอนนี้ผมใช้วิธี.. ทำเป็นเฉยๆ อิๆๆ หรือไม่ก็บอกว่า ยังไม่ลืมจ้า แล้วจะเขียนนะจ๊ะ ประมาณนี้นะครับ ;)

 

 

ตามมาทักทาย เพลงนี้เพลงอะไร งง งง เหมือนเขมร อิอิๆๆ มีเพื่อนชวนเขียนเป็นแบบจิตสาธารณะ น่าสนใจดีครับ...

มาเยี่ยม...

เรื่องนี้

ยังวนเวียนอยู่นอกประตูนะ ฮิ ฮิ ฮิ

สวัสดีครับ

  • ครูสุก็เข้าไปวิกิพีเดียบ่อยเหมือนกันครับ
  • ได้ความรู้มากเลย
  • ขอบคุณคุณ ธ.วั ช ชั ยที่บอกที่มาที่ไปของวิกิพีเดีย ทำให้ทราบประวัติ
  • และขอบคุณที่ไปเยี่ยมครูสุนะครับ

ตามมาขอบคุณครูภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ

วันนี้เหรียญหมดแล้วครับ  ติดไว้ก่อน ค่อยหยอดออมสินวันหลัง

เคยค้นข้อมูลเหมือนกัน  แต่ไม่บ่อยนัก

<<>>

  • สวัสดีค่ะ
  • เคยใช้บริการวิกิพีเดีย ค่ะ แต่เพิ่งจะรู้เรื่องราวความเป็นมาวันนี้เอง
  • ขอบคุณค่ะที่ช่วยเติมความรู้อีกหนึ่งเรื่อง
  • ธุ อาจารย์ธวัชชัยค่ะ..

ต้อมเคยสงสัยเหมือนกันว่า "วิกิพีเดีย" สามารถเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม?

และ การบ้าน tag คิด(ไม่)ถึง น่ะ   กติกาที่ต้อมจะเพิ่มเติมก็คือ..ให้เขียนเร็วๆ หน่อย   ห้ามมีข้ออ้าง  ห้ามโยกโย้  ห้ามหาเสียงสนับสนุนในการส่งการบ้านชักช้า

  • สวัสดีครับ  ธวัชชัย
  • คงเป็นเรื่องยากสำหรับผม
  • ขอเข้ามาเยี่ยม  คงพอนะ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาเยี่ยมค่ะ
  • เพลงเขมรหรือเปล่าคะ เทียบกับเพลงไทย ว่าอะไรน้า ในประโยคมี "เมื่อถึงเดือนเมษา" จำไม่ได้แล้วค่ะ แต่สนุกดีนะคะ จังหวะ 3 cha น่าเต้นรำ อิอิ
  • ได้รู้แหล่งทรัพยากรสารสนเทศเพิ่ม  "กิวพีเดีย สารานุกรมเสรี"
  • ขอบคุณนะคะ

สวัสดีครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

  • เพลงเขมร แต่ทำนองไทยครับ
  • จิตสาธารณะ ดีครับ อาจารย์ขจิตลองเข้าไปช่วยตรวจสอบ ตรงไหนคลาดเคลื่อน แก้ไขได้เลยครับ

สวัสดีครับ ดร.umi

  • เรื่องปรัชญาก็ยังมีคนเขียนน้อยครับ
  • เข้าไปอ่านแล้วมาบ่นๆ ก็ได้ครับ เดี๋ยวมีคนไปแก้ไขเอง อิๆๆ

สวัสดีครับ คุณครูสุ

  • ครูสุอาจจะใช้วิกิพีเดียอังกฤษมากกว่า ถ้าสนใจ เขียนเรื่องใกล้ตัวในวิกิอังกฤษก็ได้ครับ อย่าลืมลงทะเบียนชื่อครูสุเลย จะได้มีบันทึกเป็นชื่อเราครับ ;)

สวัสดีครับ คุณวัชรา ทองหยอด

  • มาพร้อมกับดอกเตอร์หมาดๆ ข้างบนเลย
  • แล้วเราจะอ้างอิงวิกิพีเดียไหมครับ
  • ผมเป็นครูภาษาไทยสมัครเล่นครับ

สวัสดีครับ คุณมุ่ยฮวง

  • มีภาพสวยๆ ให้โหลดได้ฟรีๆ นะครับ
  • หรือเราถ่ายภาพไว้ อยากให้คนอื่นใช้ ก็โหลดขึ้นไปก็ได้ครับ

สวัสดีครับ คุณต้อมเนปาลี

  • ผมว่าหนังสือหลายเล่มก็ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ 100%  ;)
  • นักปราชญ์ด้านพุทธศาสนายังเคยกล่าวว่า บริเตนนิกา ก็ยังเขียนเรื่องศาสนาพุทธคลาดเคลื่อนเลย
  • พี่ดาวลูกไก่แวะมาอ่านหรือยังครับ มีคนพาดพิง อิๆๆ สงสัยโอ้เอ้วิหารรายไม่ได้แล้วล่ะ เพราะมีคนรู้ทัน

สวัสดีครับ พี่เกษตรยะลา

  • ลองแวะไปอ่านดูนะครับ
  • อาจจะสนุกก็ได้ครับ

สวัสดีครับ พี่กัญญา

  • เพลงนี้ ผมก็โน้ตไว้ว่า เมื่อถึงเดือนเมษา ลองค้นดู พบว่าเป็นเพลง "หนุ่มนารอนาง" ถ้าคลาดเคลื่อนยังไง รอครูโย่งมาช่วยยืนยันครับ ;) จังหวะสนุกดีครับ
  • พี่ลองช่วยตรวจสอบวิกิพีเดีย เกี่ยวกับเรื่องการพยาบาลก็ได้นะครับ เผื่อมีไอเดียใหม่ๆ มาคุยกัน ว่าคลาดเคลื่อน หรือถูกต้องอย่างไร
  • OK ค่ะ ไว้จะหาเวลาตรวจสอบวิกิพีเดียเกี่ยวกับเรื่องการพยาบาลดูนะคะ เผื่อมีไอเดียใหม่ๆ มาคุยกัน ว่าคลาดเคลื่อน หรือถูกต้องอย่างไร ตามที่แนะนำบอกมานะคะ

อรุณสวัสดิ์ค่ะ..คุณครู

  • เหมือนปาฏิหาริย์ค่ะ..กำลังคิดอยากอ่านเรื่องของวิกิพีเดียก็ได้อ่านค่ะ..
  • แถมฟังเพลงอีก (ฟังหลายรอบแล้วค่ะ..แรก ๆ ค่อนข้างขาดเป็นห้วง ๆ ค่ะ..นักร้องเสียงใสเชียว)
  • โครท รูช เรี๊ยบกา..คิ คิ..ใช่ไหมคะ (ครูภาษาไทยอ่านภาษาเขมรค่ะ)  แปลว่าอะไรคะ..
  • ชอบทำนองมากค่ะ..ทำให้จิตใจดีขึ้นค่ะ..
  • คิดถึงหนุ่มนารอนางขึ้นมาเลยค่ะ..ทั้ง ภาคหนึ่งภาคสอง..
  • และ ..สาลิกาคืนถิ่น..ของผู้หญิงร้องตอบ (เสียงเหมือนเพลงนี้ค่ะ)
  • ..เมื่อฝนโปรยจากฟ้า  ที่ฉันมาเมืองหลวง  โดนความรัก ๆ หลอกลวง  ต้องช้ำทรวงน้ำตาร่วงไหลหลั่ง  คิดถึงแฟนคนเก่า  ใจสาวเศร้าจัง  นอนน้ำตารินหลั่ง  หม่นหมางอกเรา...
  • ...วอนพี่ที่อยู่นา   คอยก่อนพี่จ๋า  สาลิกาคืนถิ่น  ลาเมืองกรุง  เลือดริ้นยุงมันกิน  ตรมอุราสาลิกาดบยบิน  กลับคืนถิ่นด้วยความลำเค็ญ....
  • พบของชอบค่ะ..ไปเสียไกลเลย..ขึ้นต้นวิกิ..ลงท้ายสาลิกาคืนถิ่น ..ฮิๆ
  • จะเริ่ม..ลองหาทางเข้าไปอ่านวรรณคดีค่ะ..คุณครู
  • แล้วจะมาเล่านะคะ..ว่าอ่านเรื่องอะไรบ้าง
  • สวัสดีค่ะ..มีความสุขกับการทำงานนะคะ
  • มีดอกมาฝากคุณครู ๑ ดอกค่ะ (กำลังบานสวยค่ะ)

มาขอบคุณอีกรอบ มาบอกคุณ บก ว่า ของคุณ บก เอียงซ้าย ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆ(บันทึกครับ อิอิ)

สวัสดีค่ะ คุณ ธ.วั ช ชั ย

เพลงประกอบเท่มากๆๆ จะมาแอบฟังบ่อยๆนะคะ มีเกี๊ยวทอดมาฝากค่ะ

***มาเรียนรู้ด้วยคน...มีสาระและเพลิดเพลิน

***ขอบคุณค่ะ

คิดถึงวิกิอยู่ วิกิก็มา เพราะคุยกันกับลูกชาย จริง ๆ ลูกเป็นคนพูดถึงก่อน

ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ

สวัสดีครับ  อาจารย์วัชราภรณ์ วัตรสุข

  • เพลงนี้แปลว่าอะไร ยังหาคำแปลไม่เจอครับ อิๆ
  • ศัพทานุกรมที่มีอยู่มีศัพท์น้อยไปนิด คงต้องพึ่งพจนานุกรม อีกอย่าง ไม่คุ้นถ่ายเขมรเป็นโรมันด้วย แล้วจะค้นมาให้นะครับ
  • ทำนองสนุกนะครับ ผมนึกแล้วว่า อาจารย์ต้องชอบ
  • ขอบคุณมากครับ ดอกดาหลาแดงแปร๊ด กลีบดูแข็งดีนะครับ ได้ยินว่ารับประทานได้ แต่ไม่เคยลองสักที ท่าทางจะเผ็ด

สวัสดีครับ อ. ขจิต ฝอยทอง

  • พูดเสียตกอกตกใจ อิๆ, พอดีเพื่อนแนะนำให้ลองจัดชิดซ้ายดูบ้าง อยู่กลางมานานแล้ว สักพักจะลองจัดชิดขวาบ้างเหมือนกัน

สวัสดีครับ คุณอ๋อทิงนองนอย

  • อิๆ ชอบเหมือนกันใช่ไหมครับ เพลงเขมรมีเป็นกะตั้ก เขียนบันทึกใส่ไม่พอแน่ๆ งวดหน้าสงสัยต้องเปลี่ยนภาษาแล้วล่ะครับ

สวัสดีครับ อ.กิติยา เตชะวรรณวุฒิ

  • วันนี้มีนักศึกษา นิเทศฯ จุฬาฯ มาสัมภาษณ์เรื่องวิกิพีเดียไทย ในฐานะสื่อพลเมือง (โครงการวิจัย เกี่ยวกับสื่อพลเมือง 6 เว็บไซต์) มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ งานวิจัยออกมาแล้วจะมาเล่าอีกรอบครับ

สวัสดีครับ คุณจริยา

  • คงคุ้นๆ กันบ้างแล้วนะครับเรื่อง วิกิ ถ้าไม่สนใจตัววิกิพีเดีย ลองเล่นซอฟต์แวร์วิกิก็สนุกดีนะครับ
  • ถ้าคุ้นเคยกับวิกิพีเดียแล้ว ลองตรวจสอบบทความเรื่องใกล้ตัวดูนะครับ ถ้ายังไม่มี เขียนได้เลย ;)

แวะเข้ามาฟังเพลงเขมรอีกรอบค่ะ

  • แวะมาสวัสดีค่ะ อ.ธ.วัชชัย
  • เพลงนี้ภาษาเขมรหรือคะ... เพราะดีค่ะ เป็นทำนองเพลงไทยใช่ไหมคะ หรือเป็นทำนองเขมรที่ไทยนำมาทำเพลงไทย...หรือ...อะไรกันแน่คะ ...ชักงงค่ะ
  • เขาว่าวัฒนธรรมย่อมมีการแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ดูน่าจะจริงนะคะ

นึกว่า เอียงซ้ายอย่างเดียว อิอิๆๆใรยงานตัวว่าอยู่คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศสาสตร์แล้วครับ อยู่นครปฐม อยากพบๆๆจะพาไปถล่มน้องจิ และคุณหมอจริยา อิอิๆๆ

สวัสดีครับ พี่กัญญา

  • สงสัยต้องเพิ่มเพลงเขมรอีกสักเพลง เพื่อนๆ ชอบหลายคนครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ประจักษ์

  • ผมไม่สูบบุหรี่ครับ เหล้าก็ไม่สูบ อิๆ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก

  • เพลงทำนองไทย เนื้อเขมรครับ เพลงทำนองไทย เนื้อพม่า ก็เคยได้ยินเหมือนกันครับ แต่ไม่มีเก็บไว้
  • วันก่อนฟังเพลงอินโดนีเซีย เนื้อญี่ปุ่น ทำนองก็ญี่ปุ่น แต่ร้องแบบอินโด ดนตรีอินโด ก็เพราะไปอีกแบบครับ

อาจารย์ขจิตครับ

  • ว่าจะไปดูอาจารย์บัญชาที่ มศก นะครับ จะได้ไปถล่มน้องจิด้วย อิๆ ส่งข้อความไว้ในบันทึกของอาจารย์แล้ว
  • แวะมาบอกว่าพี่ก้เป็นคนชอบอ้าง
  • อิอิ ชอบอ้างวิกิพีเดีย เวลาหาข้อมูลอะไรในเน็ตจะเปิดเทียบกับวิกืพีเดียเสมอๆ และมักจะใช้ข้อมูลที่นี่
  • ใช่แล้วค่ะ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลอยู่ในระดับดีทีเดียว
  • ดีใจที่เห็นจำนวนบทความที่เป็นภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น
  • ช่วงนี้ขอเป็นคนใช้งานไปก่อน เพราะยังไม่สามารถพอที่จะเขียนค่ะ

พี่บัญชา มาหลอกเด็กเช้าหรือบ่ายครับ จะได้วางแผนถูก ผมมีสอนตอนเช้า ...

สวัสดีค่ะ มาอ่านวิกีพีเดีย ได้ความรู้ดีค่ะ วันหลังจะเข้าไปดูรายละเอียดค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ พี่naree suwan

  • ส่วนมากผมจะใช้ภาพจากวิกิฯ เพราะว่าใช้ฟรี ไม่ใช่ภาพปลอมแน่ๆ อิๆๆ
  • บทความภาษาไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ ช่วงปิดเทอมจะมากเป็นพิเศษ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

  • อย่าลืมไปเขียนเรื่องไทยๆ ให้ฝรั่งอ่านนะครับ ;)

สวัสดีครับ คุณamp

  • ลองเข้าไปอ่านดูนะครับ แต่ยังไม่ต้องเชื่อก็ได้ครับ มีหลายคน/บางคน เหมือนกัน ที่ไม่เชื่อถือวิกิพีเดียเลย

วิกิพีเดีย น่าสนใจครับ โลละเท่าไรพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท