จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ชูรอแนวทางสร้างสังคมมั่นคง


ผมได้มีโอกาสไปร่วมกับกิจกรรมการวิจัยของโครงการส่งเสริมสุขภาพชุมชนผ่านสภาชูรอ (ชื่อโดยสรุปที่ผมจำได้ครับ รับรองว่าผิดจากชื่อทางการแน่นอน) งานนี้นำทีมโดยอาจารย์อับดุลสุโก ดินอ ทีแรกผมรู้สึกเฉยๆ กับงานวิจัยนี้ครับ เพราะที่ไปรอบนี้ก็เพื่อจะร่วมประชุม amron thailand มากกว่าจะไปร่วมงานนี้ และที่สำคัญ อ.สุโก ก็มีทีมนักวิชาการเรียบร้อยแล้วครับ ผมเลยตั้งใจไปพลอยเฉยๆ แต่ปรากฏว่า พอได้เวลาอันเหมาะสม อ.สุโกก็โทรเรียกผมให้ออกจากห้องพักไปร่วมฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละตำบลซึ่งเป็นทีมวิจัยชุมชนที่ร่วมในโครงการนี้ อันนี้แหละทำผมทึ่งเลยครับ ยิ่งฟังแล้วยิ่งทึ่ง ฟังไปก็คิดไปว่า ต้องหาเวลาเอามาเขียนบล็อกให้ได้

 

ก่อนอื่นต้องมองในส่วนภาพรวมของโครงการก่อนนะครับ โครงการนี้ต้องเรียกว่าแนวเดียวกันกับผมครับคือ พยายามนำเอาหลักการศาสนามาสู่การใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกมิติให้ได้ครับ ส่วนใหญ่ผมก็ลงไปที่โรงเรียน แต่โครงการนี้กลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนครับและที่ต้องยกนิ้วให้คือ เป็นกลุ่มใหญ่มากที่สำคัญคือ เป็นแกนนำชุมชนครับ

 

ผมเชื่อว่ามุสลิมทุกท่านมั่นใจว่า คำสอนของศาสนาคือสัจธรรมและเป็นแนวทางเดียว วิธีการเดียวที่จะนำเราไปสู่ชัยชนะทั้งโลกนี้และโลกหน้าครับ แต่ส่วนใหญ่พอถึงคราวที่ขาดความรู้ก็มืดมนเหมือนกันครับว่า จะเอาหลักการศาสนามาใช้ได้อย่างไร? และงานวิจัยนี้ก็เป็นอีกชิ้นสำคัญที่จะมาช่วยตีโจทย์ให้กับชุมชนว่า หลักการศาสนานำมาซึ่งการพัฒนาที่มีความมั่นคงของชุมชน

โจทย์ของงานวิจัยนี้คือ สภาชูรอ หรือถ้าแปลแบบพื้นๆ ก็ต้องแปลว่า สภาที่ปรึกษา แต่ผมว่ามันก็ไม่ใช่เสียซะทีแล้วครับ มันน่าจะแปลว่า "สภาปรึกษาหารือ" แนวๆ นี้มากกว่า เพราะถ้าสภาที่ปรึกษา ผมจะนึกไปว่า ถ้าผู้ปฏิบัติงานไม่ขอคำปรึกษาก็ทำอะไรไม่ได้ ขณะที่ชูรออาจจะมีบทบาทมากกว่าเพียงแค่รอให้คนมาขอคำปรึกษา และเมื่อโจทย์ของการวิจัยคือการที่จะให้ชุมชนพัฒนาโดยผ่านการสร้างบทบาทให้กับสภาชูรอ คำถามก็เกิดขึ้นมากกว่าครับว่า แล้วสภาชูรอที่ถูกต้องเป็นไปตามแนวทางของท่านศาสนทูต (ซ.ล) จะต้องเป็นอย่างไร และมีรูปแบบการดำเนินงานอย่างไร? ซึ่งในเวทีนำเสนอส่วนใหญ่ก็จะพูดว่า มันยังไม่มีรูปแบบที่แน่นอน สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและบริบทที่เกิดขึ้น ความเห็นส่วนตัว (ต้องย้ำว่า ความเห็นส่วนตัว และเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวที่มีความรู้เรื่องนี้น้อยด้วย แต่บังเอิญอยากแสดงความคิดเห็นครับ ฮิฮิ) คิดว่า ความเห็นข้างต้นถูกครับ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะหากพิจารณาในการดำเนินการชูรอในสมัยศาสนทูต (ซ.ล) และบรรดาคอลีฟะห์ ผมคิดว่ามันสามารถประมวลมาเป็นหลักการเบื้องต้นได้ดังนี้ครับ

จากซูเราะห์อาลีอิมรอน อายะห์ที่ 159 ที่ระบุไว้ว่า

 

มีความว่า เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์นั่นเอง เจ้า(มุฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา (กลุ่มผู้ศรัทธา)และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบ ๆ เจ้ากันแล้ว ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย

จากอายะห์นี้ ผมเห็นรูปแบบกระบวนการชูรอ ดังนี้ครับ

- ผู้นำควรจะต้องเป็นผู้สร้างให้เกิดการปรึกษาหารือ (ชูรอ) ขึ้น อันนี้ก็เนื่องด้วยการชูรอเกิดขึ้นเพื่อการแสวงหาแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งการดำเนินการหลักๆ ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องนำโดยผู้นำ ด้วยเหตุนี้หากผู้นำเป็นผู้ที่ริเริ่มให้เกิดการปรึกษาหารือขึ้น ก็จะเป็นเครื่องหมายสำคัญที่จะก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติใช้จริง

- บรรยากาศการชูรอ ต้องเป็นไปด้วยบรรยากาศแห่งไมตรี ปราศจากอคติใดๆ มีความสุภาพอ่อนโยน ผมว่าบรรยากาศแบบนี้บางครั้งมันเกิดขึ้นยากครับ หากจุดเริ่มของการพูดคุยมาจากปัญหาอยู่แล้ว แต่นั้นเป็นสิ่งจำเป็นครับ โดยเฉพาะจากคนที่เป็นผู้นำ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่นำเสนอบรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา แต่จุดที่น่าสนใจคือ การให้อภัยจากความผิดพลาดที่อาจจะมีมาก่อนหน้านี้ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการสร้างบรรยากาศครับ ผมเห็นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้จากที่ระบุไว้ในโองการที่ยกมาข้างต้นครับว่า วงสนทนาปรึกษาหารือจะเกิดไม่ได้หากไม่มีการให้อภัยกัน ความหวาดระแวงระหว่างกันไม่สามารถนำมาซึ่งข้อสรุปหรือทางออกจากการปรึกษาหารือได้ครับ

ผมกำลังคิดต่อครับว่า หากจะมีการชูรอขึ้นในชุมชนจากกรณีปัญหาความขัดแย้ง คงจะต้องไม่ใช่เริ่มด้วยการจับคนสองกลุ่มมานั่งคุยกันเลย แต่อาจจะต้องมีการติดต่อประสานผ่านคนกลางก่อน เพื่อให้การเริ่มต้นการชูรอเป็นไปตามเงื่อนไขครับ กำลังนึกถึงตอนนายกอภิสิทธิ์เจรจากับเสื้อแดงครับ เริ่มต้นด้วยคุยกับคนกลางเพื่อหารูปแบบ ประเด็นที่ทั้งคู่จะยอมคุยกันก่อนที่จะมีการคุยกับจริงๆ

- ผลจากการชูรอต้องนำไปสู่การปฏิบัติจริง ประเด็นนี้สำคัญมากครับ จากจุดที่การชูรอควรเริ่มจากผู้นำ นั่นอาจหมายถึงเป็นการผูกเงื่อนไขของความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในสิ่งที่ได้รับการเสนอจากที่ประชุมชูรอ มติของชูรอมีความสำคัญขนาดไหน อาจจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีสภาชูรอ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผมนึกถึงไปยังการดำเนินการเกี่ยวกับชูรอในสมัยศาสนทูต (ซ.ล) สองสามกรณี (ที่ผมเคยได้ยินมา) เช่น ภายหลังสงครามบาดัร มีการประชุมบรรดาซอฮาบะห์เกี่ยวกับการจัดการเชลยศึก ในครั้งนั้นมีข้อสรุปว่า ทางกุเร็ซจะต้องจ่ายค่าเชลยศึก ซึ่งในกลุ่มเชลยศึกก็มีหนึ่งคนเป็นลูกเขยของท่านศาสนทูต (ซ.ล) เอง จากบุตรีของท่าน (คือ ไซนับ ซึ่งขณะนั้นยังพำนักอยู่ที่มักกะห์) และในการไถ่ตัวลูกเขยท่านนี้ ไซนับได้ส่งกำไลข้อมูลหนึ่งมายังมาดีนะห์เพื่อเป็นค่าไถ่ตัว และเมื่อเห็นกำไลดังกล่าว ท่านศาสนทูต (ซ.ล) ถึงกับน้ำตาร่วง อันเนื่องจากกำไลดังกล่าวเป็นกำไลที่ท่านได้มอบให้กับคอดียะห์ ภรรยาของท่าน และภรรยาของท่านก็มอบให้กับบุตรสาวไว้ แต่เรื่องการไถ่ตัวได้มีมติจากที่ประชุมไปแล้ว และเชื่อได้ว่ากำไลดังกล่าวมีมูลค่าราคาไม่เพียงพอสำหรับการไถ่ตัว (แต่มันมีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับท่านศาสนทูต ซ.ล) ท่านศาสนทูต (ซ.ล) จึงไม่ได้ใช้สิทธิความเป็นผู้นำเพื่อฝืนมติดังกล่าว แต่ที่ประชุมเองมีมติมอบเชลยศึกท่านนี้ให้ท่านศาสนทูต (ซ.ล) เป็นผู้พิจารณา และท่านได้มีข้อพิจารณาว่า ยินยอมให้ส่งตัวกลับ แต่ต้องแลกตัวกับไซนับ โดยให้ส่งไซนับมายังมาดีนะห์ (ประเด็นนี้มีต่อและหน้าสนใจครับ ไว้มีโอกาสจะเล่าต่อ บอกตรงๆ ตอนฟังเรื่องเล่านี้ผมก็ร้องให้ครับ)

- การชูรอต้องไม่ลดรอนอำนาจการบริหารจัดการของผู้นำ เมื่อมีสภาชูรอแล้ว สิ่งสำคัญคือจะต้องมีการกำหนดกรอบหน้าที่ในการให้ข้อวินิจฉัยที่ชัดเจน และต้องไม่ล่วงเกินอำนาจบางอย่างของผู้นำ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องพิจารณาจากรูปแบบของโครงสร้างองค์กรครับ ผมขอยกตัวอย่างประเด็นนี้จากแบบอย่างของท่านศาสนทูต (ซ.ล) ครับ ซึ่งครั้งหนึ่งเหล่าบรรดาซอฮาบะห์รู้สึกไม่เห็นด้วยกับข้อคำสั่งของท่านศาสนทูต (ซ.ล) และได้มีการประชุมปรึกษาหารือกัน จากนั้นท่านอาบูบักรได้รับผิดชอบมาสอบถามท่านศาสนทูต (ซ.ล) ว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวของท่านศาสนทูต (ซ.ล) หรือว่าเป็นวะห์ยู ท่านศาสนทูต (ซ.ล) ตอบว่า เป็นวะห์ยู ดังนั้นบรรดาซอฮาบะห์จึงยินยอมปฏิบัติตามโดยดี ข้อคิดประเด็นหนึ่งจากกรณีนี้คือ บางครั้งการชูรอเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้อเสนอให้มีการพิจารณาจากผู้นำครับ แต่เป็นประเด็นที่สมาชิกเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการนำมาพูดคุย ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ใช่ต้องออกมาเป็นมติก็ได้

- สภาชูรอต้องมีเป้าหมายความสำเร็จที่ชัดเจน ประเด็นนี้หมายถึง สภาต้องมีตัวชี้วัดสำหรับการทำงานขององค์กร และมีการกำหนดเป้าหมายและกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่องค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้มีขึ้นเฉยๆ แต่มีเป้า มีภารกิจที่ชัดเจน เหตุผลที่ผมกำหนดว่าประเด็นนี้เป็นหลักการหนึ่งของสภาชูรอ อันเนื่องจากต้นท้ายของโองการที่ยกมาข้างต้น ระบุถึงการมอบหมายความสำเร็จในการงานไปยังอัลลอฮ์ (ซ.บ) ครับ ซึ่งถ้าพิจารณาจากวัจนะของท่านศาสนทูต (ซ.ล) เกี่ยวกับการมอบหมายจากอัลลอฮ์ (ซ.บ) ก็คือต้องผูกอูฐไว้ก่อนครับ  การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ต้องไม่ใช่การฝัน การหวังแบบไม่มีมูลเหตุครับ

- องค์ประกอบของชูรอต้องมีความยืดหยุ่น  ใครควรอยู่ในกลุ่มของสภาชูรอบ้าง อันนี้ประเด็นใหญ่จริงๆ ครับ ผมเคยฟังมาหลากหลายความเห็นครับ บางความเห็นเฉพาะเจาะจงเรื่องคุณสมบัติของชูรอ จนกระทั่งสรุปได้ว่าถ้าอย่างนั้น สภาชูรอเกิดขึ้นไม่ได้แล้วในโลกปัจจุบัน ซึ่งส่วนตัวมองว่า การกำหนดคุณสมบัติสูงจนหาคนมาเป็นไม่ได้ น่าจะผิดกับหลักการที่กำหนดให้ทุกการงานต้องมีการชูรอ ดังนั้นผมจึงคิดว่า สภาชูรอจะต้องเป็นสภาที่มีความยืดหยุ่น และมีส่วนของความเป็นเฉพาะด้วย

อ่านแล้วอาจจะงงๆ ประเด็นคือว่า บางครั้งอาจจะต้องพิจารณาที่โครงสร้างขององค์กรนี้ก่อนครับว่าเป็นอย่างไร ถ้าในความเห็นส่วนตัว องค์กรนี้จะต้องประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือ “สภาชูรอหลัก” สมาชิกในกลุ่มนี้คือ กลุ่มผู้นำ ผู้อาวุโส ที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากชุมชน กลุ่มนี้อาจจะเป็นประเภทสมาชิกถาวรอะไรประมาณนี้ครับ ส่วนที่สองคือ “สภาชูรอเฉพาะด้าน” ส่วนนี้อาจจะเรียกว่า สภาชั่วคราว จะถูกตั้งโดยสภาชูรอหลัก เพื่อทำการศึกษาให้ความเห็นเฉพาะด้านหรือเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นในชุมชน ความเห็นจากสภาชุดนี้ (ซึ่งความจริงจะเรียกว่าสภาก็ไม่น่าจะถูกนัก น่าจะเรียกว่า กรรมการ หรือ กรรมาธิการแทน) จะส่งต่อไปยังชูรอหลักพิจารณาต่อไป กรรมการในส่วนหลังนี้ก็ต้องค้นหาจากตัวแทนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการปรึกษาหารือ การแสวงหาแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ

-ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายและกว้างขวาง ตัวแทนในสภาชูรอต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกในชุมชน เงื่อนไขนี้สำคัญครับ เพราะมันจะบ่งบอกถึงการมีส่วนร่วม และไม่ใช่การบริหารจัดการแบบเผด็จการ เรื่องนี้ผมนึกถึงสมัยที่มีการพิจารณาผู้ที่เหมาะสมสำหรับการแต่งตั้งคอลีฟะห์คนที่สามครับ ภายหลังจากที่อุมัร อิบนุคอตอบได้พิจารณาผู้ที่เหมาะสมมาแล้วจำนวนหนึ่ง ก็มีหนึ่งหรือสองท่านจากจำนวนดังกล่าวขอสละสิทธิ์จากการเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นคอลีฟะห์ และทำหน้าที่เป็นผู้ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในหัวเมืองต่างๆ เพื่อกลับมาประมวลข้อมูลแสวงหาคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นคอลีฟะห์ ต้องบอกว่า โดยส่วนตัวมีความเห็นว่า การรับฟังอาจจะไม่จำเป็นต้องทำในทุกประเด็นก็ได้ครับ แต่ในเรื่องสำคัญๆ คงต้องมีการวางเงื่อนไขไว้ก่อนว่าจะต้องผ่านการรับฟังความเห็นประกอบการพิจารณาของสภาชูรอ

 

ขออนุญาตจบบันทึกเรื่องนี้ไว้เพียงเท่านี้นะครับ แต่ขออนุญาตเรียนย้ำว่า ความเห็นที่นำเสนอไปเป็นความเห็นส่วนตัวครับ ท่านสามารถเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ได้ และผมยินดีอย่างยิ่งหากท่านได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยครับ วัลลอฮูอะลัม

คำสำคัญ (Tags): #ชูรอ
หมายเลขบันทึก: 423412เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมยังไม่ได้ศึกษาระบบชูรอในอิสลามจากบรรดาผู้รู้อิสลามอย่างละเอียด ได้เรียนมาบ้างเล็กน้อยสมัยอยู่ ป.ตรี และภาพชูรอของผมก็ยังเป็นภาพเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ เป็นจินตนาการสมัยเมื่อสามสิบปีก่อน

  • ชูรอ เป็นเรื่องเราจะต้องนำไปปฎิบัติ (เรื่องอะไรนั้นอยู่ที่สถานการณ์)
  • ชูรอ มีหลายระดับ แต่ทุกระดับคนที่จะเป็นสมาชิกชูรอ ต้องรอบรู้ในเรื่องนั้นๆ ที่สำคัญคนๆนั้นสภาพอิมานของเขาต้องหนักแน่น และรอบรู้ในเรื่องอิสลาม
  • ภาพชูรอของผม คือ ภาพเศาะฮาบะฮฺเขาชูรอสมัยแต่งตั้งเคาะลีฟะฮฺ ดังนั้นคนที่จะมาเป็นสมาชิกสภาชูรอ ก็ต้องเป็นคนระดับนั้น
  • ยืนยันว่าเป็นภาพในจินตนาการของผม เพราะเรื่องนี้จริงๆผมยังไม่ได้ศึกษา

มาสวัสดีวันดีดี อีกหนึ่งวันครับ

ขอบคุณอาจารย์ ibm และอาจารย์ jj 

ขอบคุณอัลลอฮ์ที่ให้เราได้ใช้ชีวิตต่ออีกหนึ่งวันดีดีครับ

ข้อเขียนนี้เป็นความเห็นส่วนตัว อาจจะมีผิดพลาดได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเติมแต่งต่อไป

สลาม อาจารย์ มีเรื่องจะถามนิดนึง แล้วความแตกต่างระหว่างชูรอกับประชาคม มีความแตกต่างกันอย่างไร ช่วยอธิบายหน่อยได้ไหม

ประชาคมเป็นการรับฟังในวงกว้าง คนเข้าร่วมอาจจะไม่ใช่ผู้ที่รู้ในเรื่องนั้นก็ได้ แต่ชูรอนี้จะเน้นคนที่เกี่ยวข้องและมีความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวได้ครับ (วัลลอฮูอะลัม)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท