เมื่อไม่มีเสบียงในคลังความรู้จะทำอย่างไร


คลังความรู้...ในที่นี้ข้าพเจ้าหมายถึง ==> คลังความรู้ในตัวบุคคล อันเป็นหนึ่งในรูปแบบทางกระบวนการทางปัญญา ที่ก่อเกิดเป็นผลที่ได้จากการสร้างความรู้ (Knowledge Construction)

เคยสงสัยในตนเองไหมว่า ทำไมเรื่องบางเรื่องเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ เลย และเมื่อได้เข้าไปเรียนรู้ เรารู้สึกว่ามันช่างยากเหลือเกินที่จะเข้าใจในเรื่องนั้นได้?

นั่นน่ะ...เป็นเพราะว่า

ใน "คลังความรู้" หรือช่วงแห่งความจดจำของเราเกี่ยวกับเรื่องนั้นไม่มีเลย

เป็นความว่างเปล่า นึกเอาแล้วกันว่า...มันช่างเหมือนเป็นห้องว่าง โล่งๆ ที่ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์เข้าไปจัดวาง และเมื่อเรามีความสนใจที่อยากจะรู้ (แรงจูงใจ)และพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ==> เราก็จะเริ่มเกิดกระบวนการสั่งสม ก็คงจะเหมือนการเริ่มหาเฟอร์นิเจอร์เข้าไปวางไว้ในห้องว่างนั้น

แรกๆ ก็จะมีการจัดวางอย่างไร้ระเบียบ แต่พอนานเข้าเฟอร์นิเจอร์ก็จะถูกจัดวางไว้ในที่ที่เหมาะสม เหมาะต่อการใช้ประโยชน์ใช้สอยตามหลัก

กระบวนการทางปัญญาของมนุษย์...

เป็นธรรมชาติที่มีความมหัศจรรย์ แต่เราไม่เคยได้เปิดโอกาสให้ธรรมชาตินั้นได้แสดงอานุภาพได้อย่างเต็มที่

คลังความรู้

เริ่มมีการเก็บเสบียงตอนไหน?

==> ก็ตอนที่มีบางสิ่งเข้ามากระทบ "ผัสสะ" ซึ่งสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตามไม่มีจำแนก ขอเพียงแค่มากระทบเดี๋ยวกระบวนการภายในก็จะมีการจัดการภายในตนเองอย่างเป็นอัตโนมัติตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล และแต่ละบุคคลก็ไม่มีความเหมือนกันเลย จุดร่วมอาจจะเป็นเพียงแค่คล้ายกันเท่านั้นเอง

นึกภาพง่ายๆ...เด็กที่เกิดมาใหม่ เริ่มนับตั้งแต่ปฏิสนธิและคลอดออกมาจากท้องแม่ ...กระบวนการเรียนรู้ได้เริ่มเกิดขึ้น ในส่วนที่เป็นการเก็บข้อมูล ก็เริ่มมีการเก็บและสั่งสมเกิดขึ้นนับตั้งแต่ระบบประสาทสัมผัสหรือผัสสะเริ่มทำงาน ดังนั้น การที่เราจะบ่มเพาะให้การเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแบบไหนนั้น เราสามารถจัดการได้ที่จะใส่ข้อมูลอะไรเข้าไปในคลังปัญญานั้น

การเก็บเสบียงต้องอาศัยการสั่งสม และวิธีการเก็บเสบียงไว้ในคลังความรู้ในแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกันและในแต่ละเรื่องราวที่นำมาเก็บก็มีรูปแบบไม่เหมือนกันอีกแตกต่างกันออกไป แต่ที่สุดแล้วก็ต้องมีการเก็บสั่งสม... เพราะธรรมชาตินั้นสร้างมนุษย์ให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเรียนรู้ ...

ซึ่งภายใต้เงื่อนไขของการเรียนรู้นั้น มนุษย์จึงต้องมีการสั่งสม "ความรู้" ...อันมาจากวัตถุดิบที่เราเรียนกว่า "ข้อมูล" นำมาเก็บไว้ ... ดังนั้นการที่เราอยากจะให้บุคคลคนหนึ่งได้เติบโตขึ้นมาอย่างไร คนเลี้ยงดูนั่นน่ะจะเป็นคนคอยสนับสนุนให้เกิดการสั่งสมความรู้...

"ใครที่ให้ใครเลี้ยงลูก...บุคคลที่เลี้ยงลูกเรานั่นน่ะ จะเป็นผู้ที่ค่อนข้างมีบทบาทในการใส่ข้อมูลหรือเสบียงไปเก็บไว้ในคลังความรู้ของลูกเรา"

การนำข้อมูลเข้าไปเก็บไว้ในคลังความรู้นั้น ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าจะเก็บ จะยัดเยียดเข้าไป เพราะบางครั้งมันอาจจะไม่พอดี...เวลาที่เราจะวางแผนจัดการในคลังความรู้ของเรา ให้นึกเปรียบเทียบกับการที่เรากำลังจะตกแต่งห้องๆ หนึ่งและคัดสรรเฟอร์นิเจอร์เข้าไปนำเก็บไว้...นั่นน่ะ เราจะได้ห้องที่ค่อนข้างลงตัว พอดี และเหมาะสม

 

ถอดบทเรียนทางปัญญาในการออกแบบ

๒๔ เมษายน ๒๕๕๒

 ------------------------------------------------------

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 257181เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2009 01:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บ่อยครั้งนะพี่ที่คุยกับใครแล้วเขาบอกว่าทำไมรู้เยอะจัง อยากจะบอกว่าฉันน่ะปกติ แต่เธอน่ะรู้น้อยกว่าปกติ เลยรู้สึกว่าคนอื่นรู้เยอะ นี่เป็นเพราะอ่านหนังสือน้อยนั่นเอง บางคนปีหนึ่งๆ ไม่เคยซื้อหนังสือเลยก็มี นิสัยรักการอ่านทำให้รอบรู้ ต้องปลูกฝังแต่เด็ก คลังความรู้สร้างได้ เดี๋ยวนี้ที่เด็กเขียนภาษาไทยกันผิดมากมายก็มาจากคลังคำศัพท์น้อยนั่นเอง อ่านน้อยนึกไม่ออกก็เขียนซี้ซั้วไป + ขี้เกียจไม่ขวนขวายหาเรียนรู้เพิ่ม ก็เลยเห็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ไง กระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผลก็ต้องฝึก ฝึกจนชินก็นำไปใช้ได้กับชีวิตจริงได้ คิดอย่างมีเหตุมีผลเวลาเจอปัญหาก็มองหาเหตุแล้วแก้ ไม่ตีโพยตีพายหรือเชื่ออะไรแบบงมงาย รวมถึงมีสตินึกไตร่ตรองด้วย

  • สวัสดี ดร.ka-poom
  • เก่งช่างเปรียบเทียบ
  • สุดยอดคำเดียวค่ะ

สวัสดีค่ะ  Little Jazz

เสบียงในคลังความรู้มีมาก และจัดไว้อย่างดี เหมาะ...การดึงออกมาใช้ (Retrive) จึงทำได้ง่าย รวดเร็ว..ลองสังเกตกับตัวเองนะว่ามีกระบวนการอย่างไร และนำสิ่งดีดีไปถ่ายทอดต่อในรุ่นต่อไป...อย่างน้องทีม...แล้วสักวันเราจะได้ผู้ใหญ่ที่มีทั้งปัญญาและความดี...

ขอบคุณนะคะ...มาเล่าซะแบบพี่มองเห็นภาพชัดเลย แต่จริงๆ พี่ชอบอ่านเรื่องราวที่ผู้คนถ่ายทอดออกมาทำให้เรามองเห็นกระบวนการทางปัญญา + จิตใจ...

(^___^)

สวัสดีค่ะคุณ ปริม

ขอบคุณค่ะ...ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะเลยค่ะ ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งถอดบทเรียนออกมา ยิ่งมองเห็นว่าตนเองไม่รู้อะไรอีกมามายเลยค่ะ จึงต้องพยายามเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาค่ะ

ขอบคุณนะคะที่แวะมาพูดคุยด้วย

(^___^)

กำลังรื้อค้นเสบียงที่มีในคลังสมองออกมาให้ลูกเก็บใส่คลังของตัวเอง จะได้เอามาใช้เวลาอยู่ห่างกันค่ะ อ่านบันทึกนี้แล้วได้ประกายความคิดเยอะ ขอบคุณค่ะ

พูดเรื่องเฟอร์นิเจอร์แล้ว นึกถึง คอนโดมิเนียม ถ้าเปรียบเหมือน ทีมงาน ก็พอจะมองเห็นห้องหลายๆ ห้องมีเฟอร์นิเจอร์ไม่เท่ากัน บางห้องก็มีระเบียบ บางห้องยังรก และเจ้าของห้องก็ไม่คิดจะจัด(ซักที) หน้าที่ของคนที่มีเสบียงสะสมที่ต้องการจะนำไปจ่ายแจกก็คิดหนัก วางเสบียงไว้หน้าห้องแล้ว สุดแท้แต่ห้องไหนจะเปิดประตู(ใจ)รับนะคะ

ทุกคนมีเสบียงและรับเสบียง มีเพื่อให้(ถ่ายทอดถ่ายเท) และรับเพิ่มโดยส่วนตัว เสบียงที่มีผู้นำมาให้ ก็มากละลานตาอยากได้ก็เยอะ แต่ความสามารถในการคว้า จับเก็บยังไม่ดีมากพอ ต้องปล่อยเสบียงหลุดลอยไป ห้องที่มีอยู่วันนี้ก็ยังไม่ลงตัวค่ะ แต่การจัดห้องหา ปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ให้ดูใหม่ตลอดเวลาก็ควรต้องทำ คงคล้ายกับคนควรรู้จักการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องตามระบบระเบียบสังคมว่าด้วยสมรรถนะหลักของบุคคลและองค์กรนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณดาว ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี 
และดีใจค่ะที่พอได้ช่วยจุดประกายได้บ้างค่ะ

(^___^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท