เติมเต็มจิตใจพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางจิต ; เรื่องเล่ากำนันผู้ยิ่งใหญ่ทางจิตวิญญาณ


R2R เรื่อง "การเติมเต็มจิตใจพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางจิตแบบบูรณาการโดยเครือข่ายชุมชน"... โจทย์หรือคำถามหน้างาน คือ "เอ๊ะ! การสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งจะช่วยให้การทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้วยทางจิตได้ดีขึ้นไหม ได้ผลจริงไหม และได้ความยั่งยืนไหม

วันนี้เป็นวันแรกที่เราลงสู่กระบวนการปฏิบัติในเรื่อง "การเติมเต็มจิตใจพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางจิตแบบบูรณาการโดยเครือข่ายชุมชน"... น้องหนุ่ย ชวนข้าพเจ้ามาร่วมออกแบบการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ เพื่อมุ่งไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพจิตในชุมชน

ข้าพเจ้ารู้สึกว่า (ทัศนะส่วนตัว) เป็นการทำงานที่เริ่มเค้าแห่งความสุขและสนุกเกิดขึ้นแล้ว

เรากระโดดลงสู่เชิงรุก และบุกเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของคนในพื้นที่มากขึ้น เราได้ถอดบทเรียนการทำงานก่อนหน้านี้หลายครั้ง เพราะข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า จากกระบวนการทำงานนั้น ชุมชนได้รับกระทำอะไรบ้างในเรื่องของการขับเคลื่อนเรื่องการทำงานด้านสุขภาพ

ที่สุดคำตอบก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการที่ข้าพเจ้าเคยได้ลงสกัดความรู้จากคนในชุมชน พบว่า รูปแบบหนึ่งที่คนในพื้นที่ใช้ในการนำมาสู่การสร้างความรู้ คือ การบอกความรู้ ให้จดจำ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นหลุมดำแห่งชีวิตของคนในชุมชน คือ ขาดการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการคิด และการสร้างความรู้

จากข้อมูลพื้นที่ที่มีและได้จากการถอดบทเรียน ==> สู่มิติการทำงานใหม่

เรานำกระบวนการจัดการความรู้มาใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานครั้งนี้ และเป็นการทำงานที่นำวิถีแห่ง "R2R มาใช้ร่วมด้วย" เป้าหมายคือ ทั้งการยกระดับกระบวนการแห่งภายในทางปัญญาทั้งผู้คนในชุมชน และคนทำงานไปอย่างพร้อมๆ กัน...

คุณค่าและความหมาย คือ Goal ที่ข้าพเจ้าบอกกับตนเองว่าเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องส่องหาและดึงศักยภาพแห่งภายในของบุคคลทุกๆ คนที่มาร่วมกระบวนการนี้ให้ได้มากที่สุด

เรื่องเล่าจากคนต้นแบบ "พ่อกำนันผู้ยิ่งใหญ่ทางจิตวิญญาณ" คือ...คำที่ทางผู้นำชุมชน อสม. และพี่เลี้ยงในห้องประชุมวันนี้เรียกขานท่าน เพราะพ่อกำนันนี้เป็น "จิตอาสา" ที่มีใจอันสูงส่ง (ลุงสิงห์บอกว่าเหมาะต่อคำนี้) ได้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนของตนเอง อย่างที่ไม่ได้มีเงื่อนไขใดใดในการทำ และทำอย่างต่อเนื่องมานาน จนเกิดเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เกิดขึ้นมากมาย

จากแรงบันดาลใจที่ว่า "สงสาร" ทำให้พ่อกำนัน ไม่ลังเลที่จะช่วยพ่อนิโกร ผู้ไร้สัญชาต ไร้ญาติ ไร้ที่มาและที่ไป แต่บังเอิญมาอยู่ในชุมชนได้อย่างไรไม่มีใครทราบที่มา แต่พ่อกำนันไม่เคยรังเกียจ ได้พาพ่อนิโกไปรักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ให้การช่วยเหลือ จนวันหนึ่งพ่อนิโกลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองได้ และช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ของพ่อกำนัลได้มากมาย

พ่อกำนัลได้ช่วยในเรื่องการหางาน หาอาชีพ และดูแลในเรื่องวิถีชีวิตประจำวัน "เราต้องทำ และทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง พอเราทำเป็นตัวอย่าง คนอื่นๆ ในชุมชนก็ต่างลุกขึ้นมาช่วยเหลือกัน จนวาระสุดท้ายของพ่อนิโก ที่คนในชุมชนเรียกว่า ผีบ้า...นั้นได้เสียชีวิต" ทุกคนต่างมาร่วมมือร่วมใจกันอย่างไม่มีเงื่อนไขใดใด

ขณะที่เล่าเรื่องราวนั้น พ่อกำนัลมีน้ำตาคลอ เมื่อคนอื่นๆในห้องประชุม ... ต่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่ว่า อะไรคือแรงบันดาลใจ

ความศรัทธา ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ ... ความมีเมตตา และการเป็นผู้มีจิตใจอันสูงส่งของพ่อกำนัลนี่แหละที่เป็นแรงสนับสนุนอันแรงกล้าให้พ่อกำนัลลุกขึ้นมาเป็นแกนนำและตัวอย่างที่ดีของการเยียวยาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน

"ใจ" คือ จุดเริ่มต้น...และการลงมือปฏิบัติ

"ทำให้เห็น ทำให้เป็นตัวอย่าง ทำไปเรื่อยๆ ไม่คิด ไม่หวังผลตอบแทนใดใด"... คือ ความเกื้อหนุนที่เกิดขึ้นแห่งภายในของพ่อกำนัล

จากเรื่องเล่าของพ่อกำนัน ทำให้หลายคนในห้องมีใจที่หึกเหิม...และเกิดพลังและหันมาพูดคุยประเด็นผู้ป่วยทางจิตในชุมชนของตนเองมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อพูดถึงเรื่องผู้ป่วยจิตเวชและผู้พิการทางจิตแล้ว ทุกคนจะมองว่าเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องที่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่การที่ได้มาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากพ่อกำนัลนี่ ทำให้ใจทีเบื่อหน่ายนี้มีพลังที่จะลุกขึ้นมาทำงานเรื่องนี้กันอย่างกระตือร้นร้น

จากเรื่องเล่า "พ่อกำนันผู้ยิ่งใหญ่ทางจิตวิญญาณ" นำไปสู่กระบวนการที่ทุกคนต่างหันมาล้อมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนมากขึ้น

จากการทำงานมาอย่างเนิ่นนานตลอดชีวิต...วันนี้พ่อกำนันได้รับรางวัลแห่งการเป็นผู้ใหญ่ที่ยิ่งใหญ่...คือ ความสุขและอิ่มเอิมใจ อันยิ่งกว่ารางวัล อสม. ดีเด่นแห่งชาติที่พ่อกำนันได้รับ ==> คุณค่าแห่งการงานและความประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้น เป็นพลังที่ส่งต่อและเกื้อหนุนต่อบุคคลได้อีกมากมายในเวทีแลกเปลี่ยนรู้ในวันนี้

 

หมายเลขบันทึก: 269127เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท