ได้สักครึ่ง...หนึ่งของแม่คงดี(2)


ได้อะไรจากแม่ก็ตั้งเยอะ แต่ไม่เคยจะประยุกต์หรือนำมาใช้

นอกจากชีวิตงานแม่บ้านของแม่ แม่ยังทำงานราชการ และงานนอกราชการที่แม่บอกว่าแม่ไม่ได้ไปควบคุมพ่อหรอกนะ แต่เพราะหมอยุคนั้นชอบคู่กันกับพยาบาล แล้วพอดีแม่เป็นพยาบาลด้วยก็เลยทำงานคู่กันนอกเวลาที่หลวงให้เสียเลย ถ้าเป็นสมัยนี้หรือ...หมอต้องคู่กับหมอมากกว่า เพราะคงต้องช่วยกันทำมาหากินเท่าเทียมกัน...ชีวิตงานตำแหน่งแม่บ้าน สมัยนี้เรียก คุณผู้หญิง คุณนาย แต่แม่ให้เด็กในบ้านเรียกแค่ "คุณ" เฉยๆ ก็เป็นตำแหน่งงานหนักหนาไม่ใช่เล่น โดยเฉพาะการคิดเมนูอาหารให้ได้ตามหลักโภชนาการ แต่ละมื้อ การแจกแจงรายการวัตถุดิบใช้ประกอบอาหารที่ส่งต่อลูกจ้าง สมัยนี้ต้องเรียกแม่บ้าน เรียกอย่างอื่นมีหวังต้องง้อกันด้วยเงินเดือนสูงขึ้น

เมนูอาหารของแม่พิเศษมาก แม่จะพยายามไม่จัดรายการอาหารให้ซ้ำกันบ่อย ๆ ภายใน 1 เดือน เราเจออาหารซ้ำเวียนมาซัก สองสามรายการ แต่โดยรวมแล้ว สมมุติว่า ถ้าผัดถั่วลันเตาใส่หมูน้ำมันหอยเจอกับต้มข่าไก่ เวียนมาอีกรอบ ผัดถั่วจะได้เจอสตูลิ้น ต้มข่าอาจจะไปเจอถั่วผักพริกขิง เป็นต้น ที่จะรีเทินน์กลับมารักกันใหม่ในเดือนเดียวกันค่อนข้างจะยาก

แม่โชคดีระดับไหน ตั้งแต่รู้จักพ่อ แม่ก็มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการทำอาหารตามแบบฉบับคนครัวในรั้ววัง ตำราอาหารของแม่มีตั้งแต่ที่เก่าแก่ โบราณเป็นเมนูอาหารเจ้านาย ตำราอาหารจากสำนักพิมพ์นิตยสารแม่บ้านตั้งแต่เล่มแรกเรื่อยมานับได้ประมาณยี่สิบปี ถึงเลิกสั่งรับ คงพอดีกับยุคอาหารถุง อาหารปิ่นโตเริ่มเข้ามาขอแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด ประกอบกับลูกจ้างห่างหาย สมัยนั้นเงินค่าจ้างไม่ต้องมากนัก จ้างเด็กมาทำงานบ้านแม่จะจ้างเป็นระบบครอบครัว แม่มีลูกกี่คน พี่เลี้ยงลูกก็จะมี 1 ต่อ 1 ลูกจ้างของแม่ได้เรียนการทำอาหารอร่อยไปหลายรุ่น ส่วนลูก ๆ ไม่ค่อยจะได้รับอะไรๆ เพราะไม่ยอมกอบโกยกันเอง น่าเสียดายนัก

นอกจากอาหารทุกมื้อมีความพิถีพิถัน แม่จะสอดแทรกความรู้เรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารให้ลูกๆ ด้วย ทั้งเรื่องอุปกรณ์ ช้อน ส้อม มีด ตะเกียบ การรับประทานอาหารไทย จีน ฝรั่ง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามัน แปลกประหลาดตรงไหน จนเป็นวัยรุ่นมีโอกาสออกเดทหวานมัน ในมื้ออาหารฝรั่งมากพิธีรีตรอง ได้ฟังว่า "ผมไม่ค่อยจะเห็นวิธีบิขนมปังป้ายเนยกินทีละคำแบบคุณ เห็นแต่จับ(ยัด) ใส่ปากเลยเป็นก้อน" (ก็เลยคิด อีตานี่เจ้าชู้แน่ๆ จบกัน)

เมนูอาหารที่แม่คิดมีทุกวัน เท่าที่จำได้ แต่แปลกแม่ชอบจดใส่เศษกระดาษ ใช้เสร็จแม่ไม่ได้เก็บไว้ แม่จะคิดใหม่ทุกสามวันสี่วัน ให้ลูกจ้างไปตลาดอาทิตย์ละสองวัน จนลูกจ้างได้แต่งงานกับคนขับรถสองแถว ออกไปตั้งตัวเปิดร้านอาหารได้ดีไปเลย เทคนิควิธีคิดเมนูอาหารคงช่วยให้แม่ฝึกใช้สมองอย่างดี เพราะวันนี้ ความจำของแม่ยังใช้ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนแม่หลายคน

อาหารมื้อที่พิเศษจะอยู่ในวันอาทิตย์ วันที่พ่อกับแม่ไม่เร่งรีบไปทำงานต่อ เราจะทำอาหารด้วยกัน แต่ส่วนมากแม่จะให้ลูกจ้างเตรียมวัตถุดิบ เครื่องเคียงต่างๆให้เสร็จ ที่คิดถึงเห็นบ่อย ๆ จะเป็น ก๋วยเตี๋ยวหลอด ก๋วยเตี๋ยวผัดต่างๆ ขนมจีนซาวน้ำ ข้าวมันส้มตำ ข้าวคลุกกะปิ ข้าวแช่ สเต็กหมู บาบีคิว ..เขียนถึงแม่แล้วคิดถึงบรรยากาศเหล่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวแช่ รับประทานที่ไหนไม่อร่อย ต้องสูตรชาววังที่แม่ได้รับการถ่ายทอดมา แต่กว่าจะเป็นข้าวแช่ อาหารโปรดของทุกคนในบ้าน ลูกทุกคนได้ร่วมลงแรงโดยเท่าเทียม ตั้งแต่การปั้นกะปิทอดของรักของหวงของแม่ที่แม่ครัวจากเมืองกรุงจะส่งมาให้เราเก็บตุนไว้ก่อนฤดูร้อนจะมาเยือน พริกหยวกที่แม่จะสอนให้เอาหมูยัดใส่เป็นไส้แล้วหย่อนลงกระทะผัดยีกับไข่ ปลายี่สกหวาน หัวไชโป๊หวานๆ หรือเนื้อฉีกเป็นฝอย ๆ ย่อยยิบ จิกเล็บเจ็บนิ้ว บรรดาผัก อย่างแตงกวา ขมิ้นขาว มะม่วง หั่นจัดสวยงามจนไม่กล้ากิน ข้าวสุกที่ถูกขัดขาว เม็ดยาวสวยงาม แต่ที่แย่งกันทำเพราะงานง่ายสบายๆ คือ เก็บดอกมะลิมาลอยน้ำเย็น กับเอาน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆมาทุบ เตรียมใส่เหยือก คิดถึงแล้วเห็นภาพความชุลมุนของพวกเราที่วิ่งเข้าวิ่งออกครัวของแม่ (บ้านเราต้องมีพื้นที่สองครัว ครัวสวยงามดูดีของแม่ กับครัวอีเขละที่แม่แอบบ่นทุกครั้งลับหลังลูกจ้างตอนพวกเขาลากลับบ้าน แล้วก็ตกเป็นภาระหนักของพวกเราที่จะต้องสังคยานาครัวอีเขละ)

ไม่เฉพาะอาหารมื้อหลักหนักท้อง ที่ความจริงแล้ว เข้าใจว่าใครที่ได้รับเชิญมารับประทานอาหารที่บ้าน(ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ ที่ลูกรักจริงหวังแต่ง) คงเอาคำบ่น(ในใจ) กลับไปด้วย เพราะบ้านแม่รับประทานอาหารเหมือนแมวดม เรื่องขนมเป็นของว่างรับประทานกับน้ำชา กาแฟมื้อบ่าย เป็นเรื่องสำคัญสำหรับบ้านเรา แม่บอกว่าพ่อติดอาหารว่างมื้อบ่ายมาตั้งแต่เด็ก เหมือนจะเป็นธรรมเนียมต้องปฏิบัติ ขนมแต่ละมื้อจะมีแปลก ๆ ไทยๆ ให้รู้จัก แต่ขนมไทยไม่ประทับใจพวกเราเท่าขนมฝรั่งที่โปรดปรายของเราคือ คุกกี้ กับโดนัทกล้วยหอม

ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการเตรียมส่วนประกอบของขนม ตั้งแต่การบดตำน้ำตาลทรายให้ละเอียด (สมัยนั้นแม่ให้ใช้ครกตำ) บี้กล้วยหอมให้เละ(โดนัท) หั่นเชอรี่สีเขียว แดง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกเกด (คุ๊กกี้) เรื่อยไปจนถึงการร่อนแป้ง น้ำตาลทราย ร่อนแล้วร่อนอีก ส่วนโดนัท พวกเราจะชอบแย่งกดเป็นวงกัน ยกเว้นเรื่องอยู่หน้าเตา เพราะมันร้อน และชอบเผลอทำโดนัทเกรียม

บรรยากาศการลงไม้ลงมือทำอาหารและขนมยังปรากฏลอยวนตรงหน้า เป็นความทรงจำอย่างเหลือเชื่อที่จำได้ ดูๆ ไป ได้อะไรจากแม่ก็ตั้งเยอะ แต่ไม่เคยจะประยุกต์หรือนำมาใช้ พอเริ่มคิด ก็เริ่มติด คิดได้ก็ลุกมาเขียน เป็นติดคิดติดเขียนจนนอนไม่หลับ แต่คราวนี้คิดถึงแม่นี่แหละค่ะ

แล้วก็รู้สึกด้วยว่า ทำอะไรทำได้ไม่ถึงครึ่งที่แม่ทำเอาซะเลย

หมายเลขบันทึก: 173939เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2008 05:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
  • พี่สาวจ๊ะ..

คุณแม่บ้านนี้ มือข้างหนึ่งไกลเปล  ข้างหนึ่งแกว่งดาบเลยนะคะ  ^^  ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก หรืออีกคำหนึ่งชื่อละคร "หัตถา  ครองพิภพ"  ความรู้สึกของลูกๆ คงเป็นแบบนี้แน่ๆ   การเป็น "แม่คน" ไม่ได้เป็นการง่ายๆ เนอะ   ต้อมรู้สึกแบบนี้จริงๆ

แล้วลูกสาวบ้านนี้..เมื่อไหร่จะทำขนมได้อร่อยเหมือนคุณแม่ล่ะ?  ถ้าคิดว่าอร่อย  รีบส่งมาให้ชิมด่วนเลยนะ  ^^  

ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

ยากมากมายค่ะน้องสาว..เดี๋ยวพี่ไปสัมมนาเรื่องหนัก ๆ ก่อนนะคะ...

ไปอัพเดทจดหมายแบบจู่โจมที่บ้านโน้นแล้วด้วยค่ะ ฝากเฝ้าบ้านด้วย...นะจ๊ะ

  • คุณพี่สาว..

ว่างๆ แอบจิ้กตำรากับข้าวคุณแม่ (หรือจะไปขอลิขสิทธิ์มาก็ได้นะ) มาให้ลิ้มรสทางสายตาบ้างสิคะ   

อ่านจากที่เขียนเล่ามานี่ ท่าทางน่ากิ๊น-น่ากิน ^^ 

 

ป.ล. วันนี้ไม่ค่อยได้อยู่โยงเฝ้าบ้านให้  เพราะทำงานเป็นกุลี (หนักกว่ากรรมกรอีกแน่ะ) ทั้งวันเชียว   ว่าแล้วก็ปาดเหงื่อ

  • สวัสดีค่ะ
  • ลูกไม้ก็ต้องหล่นใกล้ต้นสิคะ
  • อย่ากระเด็นไปไกลๆๆ

 

เนปาลี บอกว่าทำงานหนักยิ่งกว่ากรรมกร ๆ เขาแบกข้าวสาร (ต้องจับตาดูให้ดี เดี๋ยวหาย) ส่วนเนปาลีแบกกระดาษปอนๆ (พ้องเสียงค่ะ) ที่มีแต่ความสุขล้นใจ (ไปให้พี่ ๆ ที่เค้ารออยู่) เอ้าขยัน รีบ ๆ เดี๋ยวพี่ๆ จะรอเก้อเลยเมษายนนะจ๊ะ

สวัสดีค่ะ pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ]

ลูกไม้บ้านนี้ติดโรลเลอร์สเก็ตค่ะหล่นลงมาก็ไถลลื่น...

พอถึงเมษาก็นึกถึงข้าวแช่ (ไม่เคยทานครบชุดหรอก) กับน้ำขาว ไม่รู้นึกเข้าไปได้ไงเนี่ย??

ป.ล.นี่..เค้าทำงานกรรมกรจริงจริ๊งนะ แบก-หาม จริงๆ วันนี้อีกก็คงจะทั้งวันค่ะ อาจจะไม่มีเวลาไปนั่งเฝ้าบ้านให้

ขนมหวานอร่อยจังค่ะ ไปลิ้มลองแล้วติดใจ...แต่ทำไมมีแห้วลอยแก้วหลงมาด้วย...นะ

พี่จ๊ะ..

ถึงจะแห้วก็แห้วแบบน่ารักย่ะ เฮอะ! ฮือๆ ใจร้ายนะเนี่ย ตอกย้ำกันอยู่ได้ เดี๋ยวพาพี่ๆ แห้วคลับมาถล่มเสียหรอก

ว้า งอนอีกแล้ว แห้วก็อร่อย ชอบ โดยเฉพาะทับทิมกรอบ แต่เปลี่ยนเป็นคุณสมหวังกรอบ คงไม่น่ากิน คุณสมหวังจน...จนกรอบ อิอิ

เมื่อไหร่จะโชว์ฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดจากคุณแม่มาล่ะ? รอชมอยู่นะเนี่ย?

ใกล้จะได้เวลาแล้วจ๊ะ เนปาลี น้องจ๊ะ...

กำลังจะได้ทานข้าวแช่ประจำบ้าน ปีนี้ข้าวคงมีสีสัน เป็นสีม่วงดอกอัญชัญ น้องชายหยิบติดมือไปให้แม่ทดลองเปลี่ยนสีน้ำขาวๆ แต่กลิ่นคงหอมเหมือนเคย...เดี๋ยวคำแรก ๆ พี่จ๊ะจะคิดถึงน้องจ๊ะ นะจ๊ะ เอากี่คำดีเอ่ย...

...ฟังแม่เล่าเรื่องเคล็ดลับพริกสอดใส้หมูแล้วทอดในไข่...สูตรของท่านย่า มีบันทึกเผยแพร่ในหนังสืออนุสรณ์งานศพ ฟังไปก็ได้กลิ่นหอมของพริกไปด้วย  แล้วจะขอมาลงบันทึกให้นะจ๊ะ

แน่ะ...นอนรอไปก่อนนะจ๊ะ ^^

เขียนดีจริง พี่หม่อม ... :)

ขอบคุณครับ

ขอบคุณนะคะอาจารย์Wasawat Deemarn สามารถมากเลย อ่านตอนจบก่อนตอนแรก ฮ่าฮ่า...

สวัสดีค่ะพี่ดาวลูกไก่

  • แอบเข้ามาอ่าน อ่านแล้วก็อิ่ม ๆ เอิบ ๆ ชีวิตของพี่ดาวลูกไก่ดูละมุนละไมยังเลย ทั้งกิจกรรมที่ทำเป็นปกติในครอบครัวและภาษาที่ใช้ในการเล่า เห็นภาพชัดราวกับสายน้ำที่ไหลเรียงออกมาอย่างเย็นฉ่ำ
  • ภาพเช่นนี้น้อยมากแล้วในสังคมบ้านเรา...ยังจะมีอีกหรือคะ
  • หากทุกครอบครัวสร้างฐานแห่งความอบอุ่น กล่อมเกลาจิตใจของสมาชิกในบ้านได้เพียงครึ่งหนึ่งของครอบครัวพี่ สังคมคงจะมีคนที่มีความสุขมากขึ้น เพราะเขามีพอแล้ว..จึงพร้อมจะให้แก่ผู้อื่น
  • ขอบคุณสำหรับสิ่งดี ๆ ที่แบ่งปันและทำให้หัวใจเบิกบาน...
  • สุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ 

สวัสดีและขอบคุณนะคะคุณน้อง คนไม่มีราก  ตะกี้กำลังดูใบไม้ที่แสดงความเป็นตัวของตัวใบไม้เองที่ 2-6 ความสุขใกล้ตัว ค่ะ

กำลังคิดอยู่ว่ามาอยู่ที่ G2K นี่เริ่มค้นเจอตัวเอง แปลว่าที่ผ่านมาหลอกตัวเองโดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง อิอิ...

คิดถึง ฐานรากของครอบครัว นะคะ คำนี้ทำให้มองเห็นความคิดในใจคนรอบตัวได้อย่างไรกันว่า เขาคงคิดกันมั้งนะว่า เราจะอยู่รอดปลอดภัยในสังคมยุคปัจจุบัน..ไหวหรือ? ดูออกจะนิ่ม..นิ่มเกินไป คนชอบค่อนค่ะว่าคนบ้านนี้พูดจาไม่สุภาพก็ยังฟังไพเราะ ใครเขาจะเอาไปเป็นกันชน(วะ) อะไรทำนองเนี๊ยะค่ะ..

 รับกาแฟสักแก้วมั้ยคะ (กำลังบ้าบอคอไก่ค่ะ^^)

ละเมียดละไม อุ่นไอรัก ชีวิตครอบครัวของคุณดาวลูกไก่น่าชื่นชมมาก ดีใจที่คุณไปฝากรอยให้ตามมาได้อ่านเรื่องดีๆอย่างนี้ เล่าได้เก่งมากค่ะ คงได้รวมเล่มเป็นหนังสือนะคะจะอุดหนุน ให้เพื่อนๆที่ไม่ได้อยู่ในG2Kได้มีโอกาสซึมซับเรื่องราวบ้าง

วันนี้ก็เพิ่งคุยกับคุณแม่ ท่านเล่าถึงคุณย่าที่เมืองกาญจน์ บ้านไทยที่ท่านอยู่ และวิถีชีวิตผู้คน น่าสนใจมาก ยังบอกให้ท่านค่อยๆบันทึกไว้ ดิฉันไม่ค่อยมีความทรงจำเรื่องอะไรๆตอนเด็กๆกับคุณแม่มากนัก เพราะดิฉันเติบโตมากับคุณตาคุณยาย (อิ อิ อย่างกะเรื่อง "ความสุขของกะทิ" เลย แต่ไม่ดราม่าเท่า)

อาจารย์คุณนายดอกเตอร์ ค่ะ

  • นั่งงงๆกับตัวเองเหมือนกันค่ะ ว่าเรียบเรียงร้อยเรื่องราวออกมาได้อย่างไรกัน เขียนไปแล้วก็ออกอายๆ ที่ตัวลอยๆ รู้สึกเป็นกำลังใจ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงดีจังค่ะ
  • ยิ่งเป็นน้ำรดเมล็ดพันธุ์จากคุณนายดอกเตอร์ ต้นกล้าต้องเจริญเติบใหญ่แน่เลยนะคะ..ขอบคุณค่ะ

คุณแม่เก่งมากนะคะ ครอบครัวมีความสุขมากค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณ Sasinanda

คุณแม่เป็นผู้หญิงนุ่มนิ่มค่ะ ตอนเด็ก ๆ แม่ชอบใช้ให้นวด ดิฉันชอบเอาแขนท่านมาซบ เอาแก้มไปบดแนบแล้วสูดความหอม ชื่นใจค่ะ ไม่รู้ทำไมตอนเด็ก ๆ เราจะชอบที่แม่หอมอ่อน ๆ กลิ่นโคโลนจ์น่ะเอง...ตอนนี้ลูกเราก็เป็นแบบนั้นมั่ง ดีจัง

  • ว้าวความน่ารักของคุณแม่ส่งต่อมารุ่นต่อรุ่นนะคะ
  • ลูกสาวบ้านนี้ต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือนแน่ๆเลย

แหมคุณ naree suwan คะ

  • ชมกันได้ ความจริงคือได้ไม่ถึงครึ่งของครึ่งของครึ่งเลยค่ะ
  • อายนะคะถ้าจะบอกว่า...ทุกวันนี้สามีต้องทำกับข้าวให้ทานค่ะ
  • ถ้ามีพรเหลือให้ขออีกซักข้อ จะขอรวมที่ได้ไม่ถึง ส่งต่อให้รุ่นหลานค่ะ จะได้ลดความดุ...ลงนะคะ
  • ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมเยือนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท