เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ มังสา


ชื่อ: สุพิชญา
หัวเรื่อง: ช่วยหาชาดกที่สอดคล้องกับโคลงโลกนิติด้วยค่ะ

เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ  มังสา
นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา    ไป่อ้วน
สองสามสี่นายมา           กำกับ กันแฮ
บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน       บาทสิ้นเสือตาย๚ะ๛

คนโกงกินหนึ่งคน ผลงานของก็ย่อมไม่สมบูรณ์ และยิ่งมีคนโกงกินมากกิจการนั้นย่อมไม่สำเร็จ ตรงกับสำนวนคดในข้องอในกระดูกคือว่าหนูรู้ความหมายและสำนวนแล้วอ่ะค่ะ แต่ยังไม่ทราบชาดกเลย ช่วยหน่อยนะค่ะ งานส่ง 29 ตุลาแล้ว ขอบคุณค่ะ



น้อง สุพิชญา พี่กวินลองแปล โคลงโลกนิติบท ดังกล่าว ไว้ให้อีกทีนะ


คำแปล

-(ทหาร 4 คน มีหน้าที่เลี้ยงเสือ) เบิกเงิน 1 บาท (100 สตางค์) เพื่อซื้อเนื้อ (มังสา) ให้เสือกิน
-ทหารคนที่หนึ่ง โกงเงินไว้ 1 ส่วน (25 สตางค์) เสือ ไม่อ้วน เพราะกินไม่อิ่ม
-ทหารคนที่ 2 คนที่ 3 และคนที่ 4 เบียดบังทรัพย์สินของทางราชการร่วมด้วย (25 คูณ 3 =75 สตางค์)
-ทหาร 4 คนยักยอกเงินคนละ 25 สตางค์ เป็นเงินรวม 100 สตางค์ (ค่าอาหารเสือ) เสือ จึงอดตาย
(พอเสือตาย ความก็แตก ทหารสี่คน ก็คงโดนจับและคงถูกประหารให้ตายตกไปพร้อมกับเสือด้วย /ความโลภเป็นหนทางแห่งความ sheep tiger หาย วายวอด)



Q: เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ เนื้อ (มังสา) เพื่อให้ เสือ (พยัคฆา) กินทำไม?

A: โคลงโลกนิติบทนี้สนับสนุน จดหมายเหตุลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam) ซึ่งเป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมัยอยุธยา) พ.ศ. 2230 มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ได้บันทึกถึง ตัวบทกฎหมายไทยในสมัยนั้นเอาไว้ความว่า 

"หญิงคนเดียวมันทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งก่อนแล้วหญิงนั้นมาทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งเล่า ชู้ก่อนมันฟันแทงชู้หลังตายก็ดี ชู้หลังมันฟันแทงชู้ก่อนตาย ก็ดี ท่านว่าเป็นหญิงร้าย ให้ทวนมัน 30 ที แล้วให้โกนศีรษะหญิงนั้นเป็นตะแลงแกง ทัด ดอกชะบา สองหูขึ้นขาหย่าง ประจาน 3 วัน  ในบางกรณีก็จะร้อยดอกชบาเป็นพวงมาลัยสวมคอหญิงชายที่ทำชู้ นั้นด้วย และยิ่งถ้าผู้หญิงที่เป็นราชบาทบริจาริกกาของพระมหากษัตริย์ ลอบมีชู้จะถูกให้ลอบสังวาสกับม้า และให้ประหารชีวิต หรือสั่งให้ เสือขบ สำหรับกรณีทั่ว ๆ ไป สามีอาจขายภรรยาที่คบชู้ไปเป็นโสเภณี ส่วนชายชู้ซึ่งถือว่าเป็นจำเลยที่ทำผิดร่วมกันกลับได้รับโทษที่เบากว่าผู้หญิงที่กระทำผิด" (1)

สรุป จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ ทำให้เราทราบว่า รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมัยอยุธยา) พ.ศ. 2230 (เป็นอย่างต่ำ) มีการเลี้ยงเสือ ไว้ลงโทษผู้ต้องหา


สำหรับชาดกที่สอดคล้องกับโคลงโลกนิติบทดังกล่าว พี่กวินคาดว่าน่าจะตรงกับ เวทัพพชาดก  : ชาดกเรื่องที่ 8 ในอัตถกามวรรค หน้า 41-48 พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ 3 ภาคที่ 2 ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ 1 โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย) ที่ว่า

"ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภ ภิกษุผู้ว่ายาก รูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมือง พาราณสีมี พราหมณ์ผู้รู้มนต์ คนหนึ่งชื่อ เวทัพพะ สามารถร่ายมนต์เรียกฝนเงินฝนทองให้ตกลงมาได้ พราหมณ์มีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง วันหนึ่งอาจารย์และลูกศิษย์ได้เดินทางไปทำธุระที่ แคว้นเจตี พอไปถึงป่าในระหว่างทางถูกโจร จับเรียกค่าไถ่ ทำเนียมของโจรพวกนี้คือเมื่อจับผู้คนได้แล้ว ถ้าเป็นแม่กับลูกสาวจะปล่อยแม่ไป ถ้าเป็นพี่กับน้องจะปล่อยพี่ไป ถ้าเป็นอาจารย์กับลูกศิษย์ จะปล่อยลูกศิษย์ไป ลูกศิษย์ก่อนแต่จะออกเดินทางไป ได้กระซิบเตือนอาจารย์ว่า "อาจารย์ครับ ผมจะไปสักสองสามวันเท่านั้น อาจารย์อย่าได้หวั่นไปเลย และวันนี้จะมี ฤกษ์ดี ท่านอย่าได้ไร้ความอดทน ร่ายมนต์ให้ฝนเงินฝนทองตกลงมาเป็นอันขาด เพราะพวกโจรจักฆ่าท่านเสีย" ฝ่ายพวกโจร พออาทิตย์ตกดินก็จับมัดพราหมณ์ให้นอนอยู่ ขณะนั้น พระจันทร์เต็มดวง ก็โผล่ขึ้น พราหมณ์ เห็นเช่นนั้นก็คิดได้ว่า "ฤกษ์ที่จะทำให้ฝนเงินฝนทองตกลงมามีแล้ว เราจะมานอนทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้ทำไม ร่ายมนต์เรียกฝนเงินฝนทองตกลงมามอบทรัพย์ให้โจรแล้ว ให้พวกมันปล่อยเราไปจะดีกว่า" จึงเรียกโจรมาบอกให้ปล่อยตนแล้ว นั่งประกอบพิธีร่ายมนต์แหงนดูดาวเรียก ฝนเงินฝนทอง ให้ตกลงมา พวกโจรพากันเก็บรวบรวมทรัพย์ใส่ห่อผ้าแบกหนีไป ฝ่ายพราหมณ์ก็เดินตามไปข้างหลัง ขณะนั้น ได้มีโจรอีกกลุ่มหนึ่งพากันจับโจรพวกที่หนึ่งไว้ โจรกลุ่มที่หนึ่งจึงบอกให้จับพราหมณ์ที่เดินตามหลังมา เพราะทรัพย์นี้พราหมณ์เป็นผู้เรียกมาให้ จะเอามากเท่าใดก็ได้ พวกโจรกลุ่มนั้นจึงปล่อยโจรกลุ่มที่หนึ่งไป จับพราหมณ์แล้วบังคับให้เรียกฝนเงินฝนทองตกลงมาให้ พอได้ยินพราหมณ์ตอบว่าไม่สามารถเรียกฝนเงินฝนทองได้อีก ปีหนึ่งสามารถเรียกได้ครั้งเดียวเท่านั้น ต้องรอจนถึงปีหน้า ด้วยความโกรธหัวหน้าโจรจึงฟันพราหมณ์ตายคาที่ แล้วรีบติดตามโจรกลุ่มที่หนึ่งไป ทำการชิงทรัพย์และฆ่าโจรกลุ่มที่หนึ่งตายหมดสิ้น ในระหว่างที่เก็บรวบรวมทรัพย์อยู่นั้นพวกโจรเกิดแตกคอกันเรื่องการแบ่งทรัพย์ จึงเกิดการต่อสู่กันเองจนในที่สุดเหลือโจรเพียง 2 คนเท่านั้น โจรทั้ง 2 คน ได้นำเอาทรัพย์ไปซ่อนไว้ในป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ด้วยความหิวจึงให้โจรคนหนึ่งนั่งเฝ้าทรัพย์ไว้ อีกคนเข้าไปหาอาหารในหมู่บ้าน "ธรรมดาความโลภเป็นต้นเหตุแห่งความพินาศ" โจรที่นั่งเฝ้าทรัพย์ก็คิดด้วยความโลภว่า "ถ้ามีมัน ก็ต้องแบ่งทรัพย์เป็นสองส่วน พอมันมาถึง เราจะฆ่ามันด้วยการฟันครั้งเดียว" ฝ่ายโจรอีกคนก็คิดเช่นเดียวกัน พอได้อาหารแล้วก็รีบกินเสียก่อน ส่วนที่เหลือก็ใส่ ยาพิษ ไว้ ถือเดินไปหาโจรที่เฝ้าทรัพย์ พอก้มลงวางอาหารเท่านั้นก็ถูกฟันตายคาที่ โจรนั้นได้นำศพเพื่อนไปทิ้งแล้วกลับมากินอาหาร ตนเองก็เสียชีวิตในที่นั้นนั่นเอง คนทั้งหมดได้ถึงความพินาศเพราะอาศัยทรัพย์นั้นด้วยประการฉะนี้ สองสามวันต่อมา ลูกศิษย์ได้ถือเอาทรัพย์กลับมาแล้วไม่พบอาจารย์ในที่นั้น เห็นแต่ทรัพย์กระจัดกระจายอยู่ จึงทราบเหตุการณ์ เดินผ่านไปเห็นอาจารย์นอนตายอยู่ และซากศพโจรอีกจำนวนหนึ่ง จึงกล่าวเป็นคาถาว่า " ผู้ใด ปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบยล ผู้นั้น ย่อมเดือดร้อน เหมือนโจรชาวแคว้นเจตะ ฆ่าพราหมณ์เวทัพพะเสียแล้ว ก็พลอยถึงความ พินาศทั้งหมด " นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความโลภเป็นหนทางแห่งความ sheep tiger หาย (วายวอด)" (2)

อนุสติ

1. สมัยก่อนการมีกิ๊ก ถือเป็นความผิด ต้องระวางโทษ ถูกให้เสือกัดจนตาย แต่สมัยนี้ ไม่มีระวางโทษเช่นนั้นแล้ว เพราะเป็นการลงโทษที่ป่าเถื่อน ในปัจจุบันเสือที่ทำหน้าที่ขบกัดผู้กระทำผิด  ก็คือ ส.สติ ส.สัมปชัญญะ ส.ศีลธรรม นั่นเอง เมื่อใดที่เรากระทำผิด เสือแห่ง สติสัมปชัญญะและศีลธรรมภายในจิตใจ ย่อมที่จะคอยขบกัด ดวงจิตให้ได้รับความเจ็บปวดอยู่เนืองๆ

2. เสือที่ว่าร้าย ก็ยังตายเพราะกิเลสของมนุษย์ (ทหาร 4 คนผู้มีหน้าที่เลี้ยงเสือ แต่โกงเงินฆ่าอาหารที่มีไว้สำหรับเลี้ยงเสือ การโกงกิน การฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นอาจ เริ่มต้นจากการโกงเพียงคนเดียว แต่พอมีนายทหารผู้อื่นล่วงรู้ แทนที่จะห้ามปราม กลับเห็นดีเห็นงามร่วมขบวนการโกงเงินหลวง กันอย่างเอิกเกริก (มึงโกงได้กูก็โกงด้วย) ท้ายที่สุดเมื่อเสือ อดตาย นายทหารทั้งสี่ผู้มีหน้าที่ดูแลเสือย่อมต้องถูกลงโทษประหารชีวิตให้ตายตกไปตามเสือ) ปัญหาการทุจริต นั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานฝังรากลึกอยู่ทุกยุคทุกสมัย ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ควรใช้โคลงโลกนิติบทนี้ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ว่า  การโกงกิน การฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ได้รับความสุขก็แต่เพียงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้วความโลภนั้นย่อมสร้างความเดือดร้อนให้กับบ้านเมือง และสร้างความ sheep tiger หายวายวอด มาสู่ตนเองและครอบครัว 

3. เนื้อหาใน เวทัพพชาดก พราหมณ์ผู้รู้มนต์ ผู้มีนามกร ว่า เวทัพพะ สามารถร่ายมนต์เรียกฝนเงินฝนทองให้ตกลงมาได้ แต่วิชาความรู้อันวิเศษนั้น กลับย้อนกลับทำร้ายตนเองให้ถึงแก่ความพินาศโดยทางอ้อม ตรงกับสำนวน ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

4. เวทัพพะ พราหมณ์เฒ่า เมื่อได้รับความทุกข์ (ความทนอยู่ได้ยาก) เพราะถูกโจรจับมัดไว้ ก็บังเกิดความทุกข์ ความกลัว ความหวั่นวิตก จนลืมคำเตือนของพราหมณ์หนุ่มผู้เป็นลูกศิษย์ฉันใด มนุษย์ในโลกนี้ เมื่อมีความทุกข์ ความกลัว และความหวั่นวิตกบังเกิดขึ้นในจิตใจแล้วไซร้ มนุษย์ในโลกนี้ก็มักจะใช้ ความรู้ ความสามรถ ที่ตนมีอยู่ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยสำคัญผิดว่าจะสามารถขจัด ความทุกข์ ความกลัว และความหวั่นวิตก ให้มลายหายไปได้ โดยลืมคำเตือนจากกัลยาณมิตร ก็ฉันนั้น

5. ความทุกข์ ความกลัว ความหวั่นวิตก และ อัสมิมานะ (Superiority) ย่อมชักนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่ผิด ในยามที่เราตกอยู่ท่ามกลางความความทุกข์ ความกลัว ความหวั่นวิตก สติสัมปชัญญะก็ดี การรับฟังและการกระทำตามคำเตือนจากกัลยาณมิตรก็ดี คือสิ่งที่จะนำพาให้รอดพ้นจากความความทุกข์ ความกลัว ความหวั่นวิตก ทั้งหลายทั้งปวงได้

6.เนื้อหาใน เวทัพพชาดก ที่กล่าวว่า "ผู้ใด ปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบยล ผู้นั้น ย่อมเดือดร้อน เหมือนโจรชาวแคว้นเจตะ ฆ่าพราหมณ์เวทัพพะเสียแล้ว ก็พลอยถึงความ พินาศทั้งหมด" สอดคล้องกับโคลงโลกนิติ บทข้างบนนั่นคือ ผู้ใด (ทหารทั้งสี่) ปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบยล (เบียดบังค่าอาหารที่หลวงจ่ายเป็นค่าอาหารให้เสือ) เหมือนโจรชาวแคว้นเจตะ (เหมือนทหารทั้งสี่) ฆ่าพราหมณ์เวทัพพะเสียแล้ว (ฆ่าเสือให้ตายเสียแล้วด้วยการโกง) ก็พลอยถึงความ พินาศทั้งหมด (ก็พลอยต้องระวางโทษ ถึงความพินาศด้วยกันทั้งหมด) คนทั้งหมดได้ถึงความพินาศเพราะอาศัยทรัพย์นั้นด้วยประการฉะนี้


อ้างอิง

(1)  กวิน (นามแฝง) .ดอกทอง.บทความ (article). [cited  2008 October 14]. Available from: URL; http://gotoknow.org/blog/kelvin/168214

(2) เวทัพพชาดก เรื่อง อาจารย์ขมังเวทย์ - นิทานชาดก เล่ม 1 .ธรรมะไทย.[cited  2008 October 14]. Available from: URL;  http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt118.php

หมายเลขบันทึก: 216395เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2008 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีคะ...แวะมาเยี่ยมคะ

สบายดีนะคะ

เอื้องแสงเดือน

ขอบคุณๆ เอื้องแสงเดือนครับ

สวัสดีครับ ท่าน กวิน

//ต้องขอบคุณ  สามเสือ  ที่เหลืออยู่ 

//ได้ต่อสู้  กับกับหัวใจ  ที่ไหวหวั่น

//ศิลธรรม   อันดี   ที่มีกัน

// ก็ถูกมัน   เสือนอก  จับกรอกกิน

ขอบคุณ  บังหีม ที่เข้ามาเยี่ยมชมเสมอๆ ทั้งยังแต่งกลอนแสดงทรรศนะไว้ด้วย ขอบคุณครับ

ขอบพระคุณมากค่ะ

จ้า น้องสุพิชญา พี่กวินเพิ่มข้อ 6 ไปอีกข้อนะครับ ที่น้องวิเคราะห์ว่า โคลงโลกนิติบทดังกล่าวตรงกับ สำนวน คดในข้องอในกระดูก พี่กวินก็คิดว่าถูกต้อง แต่ คดในข้องอในกระดูก มีสาเหตุมาจากความโลภภายในจิตใจ ดังนั้นข้อสรุปในชั้นปลายจึงได้ว่า ความโลภเป็นหนทางแห่งความ sheep tiger หาย (วายวอด) ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับ เวทัพพชาดก จ้า

สวัสดีคุณกวิน

อ่านแล้วได้ความรู้ไปถึงสมัยอยุธยา...แล้วยังได้ความรู้เรื่องกฎหมาย การลงโทษต่าง ๆ ด้วย

บทความของคุณกวินมักจะ ครบเครื่อง มีทุกรสทุกชาติ อ่านเพลินดีครับ

การช่วยเด็กทำการบ้านก็ดีครับ แต่ต้องสอนให้เขารู้จักคิดและหาข้อมูลเป็นด้วย จะดียิ่งขึ้นไปอีก

ชอบคุณครับ


อนุสติ

1. สมัยก่อนการมีกิ๊ก ถือเป็นความผิด ต้องระวางโทษ ถูกให้เสือกัดจนตาย แต่สมัยนี้ ไม่มีระวางโทษเช่นนั้นแล้ว เพราะเป็นการลงโทษที่ป่าเถื่อน ในปัจจุบันเสือที่ทำหน้าที่ขบกัดผู้กระทำผิด  ก็คือ ส.สติ ส.สัมปชัญญะ ส.ศีลธรรม นั่นเอง เมื่อใดที่เรากระทำผิด เสือแห่ง สติสัมปชัญญะและศีลธรรมภายในจิตใจ ย่อมที่จะคอยขบกัด ดวงจิตให้ได้รับความเจ็บปวดอยู่เนืองๆ

  • ครูปูว่าสามเสือก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ปกติ แต่ผู้กระทำผิดอาจกิเลสหนาขึ้น จึงทำประหนึ่งไม่รู้สึก รู้สาโดยง่าย เทวดาจึงต้องเต้นเร่า ๆ ทั้งแปล ทั้งเขียนภาพประกอบกันวุ่นวาย
  • โอย คิดไปถึงไหนเนี่ยะ (^_^)
  • ขอบคุณค่ะ คุณกวินสบายดีนะคะ

เข้ามาอ่านนิทาน

เพลินเพลินดีจัง

สวัสดียามบ่ายค่ะ

สวัสดีค่ะ

เสือที่ว่าร้าย ก็ยังตายเพราะกิเลสของมนุษย์

ได้สาระดี มีประโยชน์กับมากค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณกวิน

มาอ่านเพิ่มประสบการณ์....

ทำไมโบราณจึงใช้ "ดอกชะบา" ในการทำโทษผู้กระทำผิดล่ะคะ...อย่างนี้เจ้าชบาแสนสวย..จะน้อยใจหรือเปล่าเนี่ย...^_^...

ส่งชบาฮอลแลนด์...มาให้ชมแล้วกันค่ะ...

Nakornpatom20081010433

ขอบคุณพี่คนตัดไม้ครับ ที่ให้คำแนะนำที่ดีมากๆ เลย

ขอบคุณครับ   ครูปู~natadee t'ซู๊ด สบายดีครับ มนุสเทวา คงไปสอน มนุสเทวา ไม่ได้เพราะต่างก็มี อัสมิมานะ ค้ำคอ จะว่าไปเทวดาก็ยัง เวียนว่ายอยู่ใน ฉกามาวรภพ (หกภพ อันข้องเกี่ยวด้วยกาม) นะครับ

ขอบคุณคุณ มารียา เจ๊ะตำ
และ krukim และ  คนไม่มีราก ครับ เรื่องดอกชบาแดงนั้น รองศาสตรจารย์ ยุพร แสงทักษิณ (อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดี ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน เกษียณ อายุราชการแล้ว) ท่านได้อรรถาธิบายที่มาของคำว่า ดอกทอง ไว้ในหนังสือชื่อ รุ้งอักษร :เส้นสายสีแสงแห่งภาษาและวรรณคดี  รองศาสตรจารย์ยุพร แสงทักษิณ เชื่อว่า สีแดง นี้ เป็นสัญลักษณ์ของพระแม่กาลี หรือ กาลิกา (กาลราตรี)

กวินเขียนอ้างไว้ในบทความ http://gotoknow.org/blog/kelvin/168214

สวัสดีค่ะ

 * เข้ามาอ่าน

เนื้อหาใน เวทัพพชาดก ที่กล่าวว่า "ผู้ใด ปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบยล ผู้นั้น ย่อมเดือดร้อน เหมือนโจรชาวแคว้นเจตะ ฆ่าพราหมณ์เวทัพพะเสียแล้ว ก็พลอยถึงความ พินาศทั้งหมด" สอดคล้องกับโคลงโลกนิติ บทข้างบนนั่นคือ ผู้ใด (ทหารทั้งสี่) ปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบยล (เบียดบังค่าอาหารที่หลวงจ่ายเป็นค่าอาหารให้เสือ) เหมือนโจรชาวแคว้นเจตะ (เหมือนทหารทั้งสี่) ฆ่าพราหมณ์เวทัพพะเสียแล้ว (ฆ่าเสือให้ตายเสียแล้วด้วยการโกง) ก็พลอยถึงความ พินาศทั้งหมด (ก็พลอยต้องระวางโทษ ถึงความพินาศด้วยกันทั้งหมด) คนทั้งหมดได้ถึงความพินาศเพราะอาศัยทรัพย์นั้นด้วยประการฉะนี้

* ถามไถ่ค่ะ   ถ้า "ผู้ใด ปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันแยบยล " แล้วจะเป็นเช่นใด

* อิอิ

S6002592

คุณพี่อาจารย์ พรรณา ผิวเผือก  ถ้าจะให้กวินตอบก็คงจะตอบว่า "ผู้ใด ปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันแยบยล ผู้นั้น ย่อมไม่เดือดร้อน เหมือนโจรชาวแคว้นเจตะ ซึ่งไม่ฆ่าพราหมณ์เวทัพพะเสียแล้ว ก็ย่อมไม่พลอยถึงความ พินาศทั้งหมด"

จ้างคนมาเลี้ยงเสือ มีผู้แจ้งว่าคนเลี้ยงเสือเบียดบังค่าอาหาร ทำให้เสือไม่อิ่ม ผอม จึงจ้างคนมาคุมคนเลี้ยงอีกชั้นหนึ่ง อีกชั้นหนึ่งซ้อนไปอีก สองคนหลังนี้มีส่วนเบียดบังค่าอาหารอีก สุดท้ายเสือตายเพราะค่าอาหารถูกแบ่งไปจนหมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท