หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

Humanized Educare : บทเรียนและความรู้ (๒)


ดังที่ผมได้เล่าไว้ใน ไปเรียน Humanized Educare แล้วว่า ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมเพียงบางช่วง คือ ในวันแรกเกือบจะพักรับประทานอาหารกลางวันและภาคบ่ายเต็มวัน วันที่สองได้เข้าร่วมเพียงช่วงบ่าย สิ่งที่ผมเห็นและถ่ายทอดในบันทึกนี้จึงเป็นส่วนที่ผมเห็น และรับรู้จากการบอกเล่าของทีมงานเท่านั้น จึงอาจทำให้ภาพอะไรเป็นอะไรในเวทีพูดคุยไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก

ประการที่สอง

อะไรเป็นอะไรในเวทีพูดคุย

    จากตอนที่แล้ว Humanized Educare : บทเรียนและความรู้ (๑) ผมกล่าวถึงการเตรียมงานของทีมงานฯ ตอนนี้ผมจะเล่าถึงสิ่งที่พบเห็นในเวทีครับ

    ดังที่ผมได้เล่าไว้ใน ไปเรียน Humanized Educare แล้วว่า ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมเพียงบางช่วง คือ ในวันแรกเกือบจะพักรับประทานอาหารกลางวันและภาคบ่ายเต็มวัน วันที่สองได้เข้าร่วมเพียงช่วงบ่าย

   สิ่งที่ผมเห็นและถ่ายทอดในบันทึกนี้จึงเป็นส่วนที่ผมเห็น และรับรู้จากการบอกเล่าของทีมงานเท่านั้น จึงอาจทำให้ภาพอะไรเป็นอะไรในเวทีพูดคุยไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก

    การจัดเวทีพูดคุย ดำเนินการในห้องประชุมชนาดใหญ่ของโรงแรม มีเพดานสูงโล่ง บรรยากาศจึงโปร่งสบาย ไม่เหมือนอยู่ในห้องประชุมทั่วไป ที่มักทึบและอึดอัด ความกว้างขวางของห้องจึงทำให้การพูดคุยของทั้งสองวงไม่มีเสียงรบกวนกันมากนัก

    มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกค่อนข้างครบครัน ทั้ง คอมพิวเตอร์สำหรับการนำเสนอ เครื่องฉาย ฯลฯ

    หากจะถามว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างในเวทีนี้ (มิได้เรียงตามลำดับ)

   

   ประการแรก การพูดคุยในกลุ่มย่อย 

    การตั้งวงพูดคุยน่าจะเป็นกิจกรรมหลักของเวทีนี้ มีอยู่ ๓ ช่วง คือ ช่วงเช้าและบ่ายวันแรก ช่วงเช้าวันที่สอง

    การพูดคุยเป็นการดำเนินการให้ผู้เข้าร่วมได้เล่าเรื่องที่เป็นความรู้จากการปฏิบัติจริงของตนเอง ทั้งจากมุมผู้บริหารและจากครูผู้ปฏิบัติ ซึ่งในเวทีดังกล่าวแยกเป็น ๒ วง วงแรกคุยกันเรื่องจิตอาสา การสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ส่วนวงที่สองคุยกันเรื่องบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาด้วยกิจกรรม นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียน

    ในการพูดคุยทั้งสองวง ผู้เข้าร่วมแต่ละวงราว ๑๐ คน ประกอบด้วยผู้บริหารและครูที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน ราว ๓ - ๔ โรงเรียน ทั้งหมดนั่งล้อมเป็นวงกลม บนเก้าอี้ที่อยู่บนผ้าปูสีขาว มีหมอนวางอยู่บนตัก มีบรรยากาศที่เป็นกันเอง

   ทั้งสองวงมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหว (VDO) ซึ่งให้ความกับการเสียงพูดคุยและเล่าเรื่องของแต่ละคนด้วย เมื่อใครจะเล่าเรื่องจึงต้องพูดผ่านลงในไมโครโฟน พร้อมทั้งแนะนำชื่อตนเองก่อนพูดทุกครั้ง

    การพูดคุยทั้งสองวง จะมี Facilitator เป็นดำเนินการพูดคุยในวง        สำหรับผมซึ่งนั่งสังเกตุการณ์ในกลุ่มแรก ซึ่งมี คุณเอก-จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร เป็นผู้ดำเนินการ

    การดำเนินการของ Facilitator จะเป็นผู้ตั้งคำถามเชื้อเชิญให้เกิดการพูดคุย เล่าเรื่อง เริ่มจากการตั้งคำถามกว้าง ๆ ทั้งคำถามเชิงหลักการและคำถามรูปธรรม ซึ่งก่อนจะถามนั้น Facilitator จะเกริ่นนำพูดถึงประเด็นคำถามของแต่ละโรงเรียนก่อนให้ผู้บริหารและครูจากแต่ละโรงเรียนตอบ นั่นสะท้อนถึงการรู้จักและเข้าใจสภาพของโรงเรียนนั้น ๆ เป็นอย่างดี และทำให้คำถามนั้นมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละโรงเรียน

    ผมทราบภายหลังว่า คุณเอก-จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ผู้เป็น Facilitator นั้น ได้ลงไปพบปะพูดคุยและเยี่ยมเยียนโรงเรียนที่มาเข้าร่วมเวทีพูดคุยนี้ทุกโรงเรียน เพราะเหตุนี้จึงทำให้สามารถาตั้งคำถามเจาะเอาความรู้และบทเรียนที่ลึกซึ้งได้

    นอกจากการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนแล้ว Facilitator จะเป็นผู้สรุปประเด็นเรื่องเล่าจากแต่ละคน แล้วเชื่อมโยงไปยังคำถามต่อไปอย่างลื่นไหล

    สำหรับการสร้างบรรยากาศการพูดคุยให้เป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียด Facilitator ได้กระทำโดยการพูดคุยโดยสอดแทรกเรื่องราวขำขันและสนุกสนาน เรียกเสียงหัวเราจากวงได้เป็นระยะ

    อย่างไรก็ตามผมสังเกตุว่าในการพูดคุยหลายช่วงหลายตอน ผู้เล่ามิได้เล่าตอบตามคำถามที่ Facilitator ตั้งคำถามไว้ แต่เรื่องเล่าที่ออกมาล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น

    ในการพูดคุยในวง ผมเห็นบางคราวผู้จดบันทึก (ดร.ขจิต ฝอยทอง) ก็ช่วยตั้งคำถามเพิ่มเติม ทำให้ประเด็นพูดคุยมีเรื่องราวที่มีรายละเอียดชัดเจนมากขึ้น

    ในวงพูดคุยมิได้มีคำถามจาก Facilitator เท่านั้น แต่ยังมีคำถามจากเพื่อนร่วมวงด้วย และในบางช่วง เพื่อนร่วมวงก็ยังได้แชร์เรื่องเล่าของตนเองเมื่อพบว่าประสบการณ์ของตนเองใกล้เคียงกัน

    การพูดคุยในวง เรื่องเล่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าที่เป็นประสบการณ์จริงของแต่ละคนโดยเฉพาะครูผู้ปฏิบัติงาน สำหรับผู้อำนวยการนั้น เรื่องเล่าส่วนหนึ่งจะเป็นหลักการนามธรรมที่ยกระดับจากความรู้จากการปฏิบัติงานของตนเอง และบางท่านก็จะเล่าความรู้ที่เป็นหลักการที่ตนใช้ในการทำงานแล้วโยงมาสู่ประสบการณ์

 

   ประการที่สอง การพูดคุยนอกวงอย่างไม่เป็นทางการ 

    สิ่งที่ผมเห็นในข้อนี้มิได้อยู่ในกำหนดการของเวที แต่เป็นสิ่งที่น่าจะมีความสำคัญไม่น้อย หากการพบปะเจอะเจอคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

    ผมเห็นการแบ่งปัน/แลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วมนอกวงในหลายพื้นที่ หลายโอกาส

    ทั้งในวงรับประทานอาหารกลางวัน (และเข้าใจว่ามื้อเช้าและเย็นด้วย...)

    ในการพักรับประทานอาหารว่าง ทั้งเช้าและบ่าย

    กระทั่งในห้องสุขา

    ผมเห็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการนี้อย่างออกรส เวลาในการรวมตัวกันเพื่อดำเนินการตามกำหนดการจึงล่าช้าออกไปเป็นเวลาไม่น้อย เนื่องจากการติดลมจากการพูดคุย ทั้งการพักรับประทานอาหารเช้า กลางวัน และอาหารว่าง

    ในประเด็นนี้ ผมคิดว่าผู้ดำเนินการเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศแบบไม่เป็นทางการ จึงมิได้เร่งรัดเวลาให้ผู้เข้าร่วมต้องเข้าห้องประชุม ดังเช่นการประชุมอื่น ๆ ที่กำหนดการค่อนข้างชัดเจน

 

   ประการที่สาม การชม VCD

    ในเวทีมีการจัดเวลาในแต่ละช่วงของวันให้ผู้เข้าร่วมได้ชมเรื่องราวของบางโรงเรียนผ่านวิดิทัศน์ เช่น

    ภาคเช้าวันแรกก่อนการพูดคุย เป็นการชมวิดิทัศน์ “โรงเรียนไม่ใช้เงิน” ของโรงเรียน

    ภาคบ่ายวันแรก หลังกิจกรรมสันทนาการ ก่อนจะเข้าสู่วงพูดคุย ดูวิดิทัศน์ “จิตอาสา ร.ร.หนองตาบ่ง”

    เช้าวันที่สอง ชมวิดิทัศน์ “ชําฆ้อพอเพียง” ก่อนการพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ้น

    และบ่ายวันที่สอง ชมวิดิทัศน์ “พ่อแม่อาสา” และ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์น่าน

    การชมวิดิทัศน์ในแต่ละช่วงใช้เวลาไม่นานนัก แต่ก็สะกดให้คนชมได้อย่างชะงักงัน เนื่องจากเรื่องเล่าแต่ละเรื่องที่นำมาเสนอ ล้วนน่าสนใจและมีพลังในตัว หลังจากการชมวิดิทัศน์ในแต่ละตอนแล้ว ผู้ดำเนินรายการยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและสรุปประเด็นสำคัญ ๆ อีกด้วย

    การชมวิดิทัศน์ ไม่เพียงเป็นการขยายความรับรู้ความเข้าใจเรื่องเล่า ที่เล่าของจากปากในเวทีพูดคุย ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น รวมทั้งการสร้างความประทับใจเท่านั้น แต่การนำเสนอเรื่องราวของโรงเรียนตนเองก็ยังสร้างความปลาบปลื้มปิติยินดีได้เป็นอย่างดี เป็นกำลังใจที่ดีในการทำงานอย่างต่อเนื่อง

 

   ประการที่สี่ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ 

    กิจกรรมนี้ดำเนินการโดย ดร.ขจิต ฝอยทอง ซึ่งผมทราบมาว่า มีการเตรียมการเรื่องนี้ค่อนข้างพิถีพิถัน

    ผมไม่ทันเห็นกิจกรรมนี้ในช่วงเช้าวันแรก เห็นเพียงกิจกรรมช่วงบ่ายวันแรกก่อนที่จะเข้ากลุ่มย่อยพูดคุยฯ

    กิจกรรมภาคบ่ายวันแรกที่เห็น เป็นกิจกรรมนวดคลายความเมื่อยล้า โดยให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมดนั่งล้อมเป็นวงกลมแล้วหันข้างเข้าวงกลม ด้านหน้าตนเองคือเพื่อนที่อยู่ด้านข้างเมื่อสักครู่ ผู้ดำเนินรายการจะสาธิตวิธีการนวดหลัง ต้นคอ แขน แล้วให้ผู้เข้าร่วมทำตาม แม้คลายเมื่อยล้าได้ไม่มาก แต่ก็สร้างความตื่นตัวและสนุกสนาน กระทั่งความคุ้นเคยในกลุ่มได้มาก

    ผมเห็นกิจกรรมนี้อีกครั้งในบ่ายวันที่สอง กิจกรรมที่ ดร.ขจิต นำมาจัดคือการต่อแถวเดินบนกระดาษ หรือ “แม่น้ำพิษ” โดยจำลองสถานการณ์พื้นคือแม่ย้ำมีพิษ การเดินข้ามจะต้องมีสิ่งรองรับ ในที่นี้สิ่งรองรับการก้าวย่างคือกระดาษ

    แบ่งสมาชิกเป็นสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มต่อแถวยืนและเกาะเอวกันอยู่ที่ต้นทาง แล้วหางแถวส่งกระดาษขนาดเอสี่ ส่งไปให้คนหัวแถว คนหัวแถวได้รับกระดาษแล้วก็วางด้านหน้าจากนั้นก้าวขาไปยืนเหยียบกระดาษ พอได้รับกระดาษแผ่นที่สองก็ทำเช่นเดิม วางกระดาษด้านหน้าแล้วก้าวขาไปเหยียบ คนที่อยู่ต่อไปที่เกาะเอวไว้ก็ขยับก้าวตาม โดยที่เท้าต้องเหยียบอยู่บนกระดาษ กระดาษแผ่นที่สาม แผ่นที่สี่ แผ่นที่ห้าและแผ่นที่หก ถูกส่งต่อไปด้านหน้า สมาชิกในแถวที่เกาะเอวกันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าทีละก้าวโดยทุกคนเหยียบบนกระดาษ กระทั่งกระดาษหมดจากท้ายแถวก็พอดีกับที่สมาชิกเดินก้าวไปข้างหน้าจนพ้นกระดาษแผ่นแรกที่ถูกวางรองให้เท้าเหยียบ คนสุดท้ายพอเหยียบกระดาษแล้วก้าวตามไปข้างหน้า ก็หยิบกระดาษที่เหยียบส่งต่อไปยังคนข้างหน้า การเดินก้าวไปข้างหน้าก็ค่อยเยื้องย่างไปทีละก้าว ทีละก้าว

    หลังสิ้นสุดกิจกรรมมีการสรุปว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง (ทายสิครับ ว่าเขาสรุปกิจกรรมนี้อะไร อย่างไร?)

    กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์นี้ แม้จะมิใช่เป็นกิจกรรมหลัก แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยที่จะทำให้บรรยากาศของเวทีการพูดคุยมีสีสัน การออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเวทีทำได้ไม่ง่าย ผู้ดำเนินการต้องมีความเข้าใจวัตถุประสงค์เวทีอย่างปรุโปร่ง ซึ่ง ดร.ขจิต ได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์และดีเยี่ยมครับ

    แม้มิได้เห็นกิจกรรมทั้งหมดที่ ดร.ขจิต ดำเนินการ แต่เท่าที่เห็น ผมคิดว่ากิจกรรมเสริมที่ดำเนินการนี้มีส่วนเสริมต่อยอด เติมเต็มกิจกรรมหลักได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายจากความล้าทั้งความคิดและร่างกาย เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในช่วงต่อไปและในหลายกิจกรรมยังแฝงไปด้วยข้อคิดและปรัชญาการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อกับเนื้อหาในการพูดคุยได้อย่างแยบคาย

    (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่ง ดร.ขจิต ฝอยทอง ได้บันทึกไว้ที่ โครงการ Humanized Educare(2):กิจกรรม (1) และ โครงการ Humanized Educare(3) : กิจกรรม (2))

 

   ประการที่สี่ การแสดงบทบาทสมมุติจากเรื่องเล่าที่ประทับใจ 

    ในช่วงท้ายของวันแรก ผู้เข้ารวมทั้งสองกลุ่มได้รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ แล้วทางทีมงานได้แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม แล้วแจกโจทย์ให้แต่ละกลุ่มเลือกประเด็นสำหรับการแสดงบทบาทสมมุติจากเรื่องเล่าที่ประทับใจ โดยให้ใช้เวลาหลังจากเลิกเวทีเย็นนี้พูดคุย ปรึกษากัน ว่าจะดำเนินการอย่างไร

    การเตรียมการเริ่มต้นหลังจากการรับโจทย์จากทีมงาน และหลังจากรับประทานอาหรเย็นแล้วหลายกลุ่มก็นัดแนะเพื่อซักซ้อมการแสดง บางกลุ่มยังใช้เวลาต่อในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น

    ทีมงานได้จัดให้มีการแสดงในช่วงเช้าสองกลุ่ม และในช่วงบ่ายสองกลุ่ม

    ผมทันดูการแสดงบทบาทสมมุติของนักแสดงอาวุโสสองกลุ่มในช่วงบ่ายครับ ฮาครับ ฮากลิ้ง...

    กิจกรรมนี้น่าสนใจ ไม่เพียงเป็นการนำเรื่องเล่าจากการเล่าในวงไปดัดแปลงแล้วเล่าใหม่ด้วยการแสดงบทบาทสมมุติ ทำให้เรื่องราวที่น่าสนใจนั้นมีสีสันมากขึ้นเท่านั้น ยังเป็นกุศโลบายให้สมาชิกกลุ่มได้ทบทวน พูดคุย แลกเปลี่ยน และทำงานร่วมกันอีกด้วย ผมคาดว่าทางทีมงานคงใช้ประเด็นนี้ให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยแบ่งปันกัน โดยไม่เน้นที่ปลายทางมากนัก

 

   ประการที่ห้า การสรุปบทเรียนร่วมกัน 

    ในช่วงท้ายของเวทีพูดคุย เป็นการพูดคุยเพื่อสรุปบทเรียนร่วมกันของผู้เข้าร่วม ซึ่งผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นผ่านการบอกเล่าและการเขียนสรุปลงกระดาษตามโจทย์ที่ทีมงานตั้งไว้

    ประเด็นที่ให้ผู้เข้าร่วมบันทึกลงในกระดาษ ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะมีราว ๔ ประเด็น ได้แก่ (๑) การเข้าร่วมเวทีพูดคุยครั้งนี้บรรลุความคาดหวังหรือไม่ (๒) มีสิ่งใดที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง เพราะเหตุใด (๓) มีสิ่งใดที่ได้มากกว่าความคาดหวัง เพราะเหตุใด และ (๔) ข้อเสนอแนะอื่น ๆ

    สำหรับการพูดคุย ผู้เข้าร่วมนั่งล้อมเป็นวง แล้วให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็นและสะท้อนบทเรียนที่ได้รับจากเวทีทั้งสองวัน เนื่องจากเวลาเหลือน้อย จึงจำกัดให้มีการนำเสนอโรงเรียนละ ๑ คน

    หลังจากผู้บริหารและครูได้สะท้อนแล้ว ทีมงานที่เข้าร่วมทั้งหมดได้กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นกัน

    เนื่องจากเวลามีจำกัด หลายท่านจะต้องรีบเดินทาง จึงไม่สามารถยืดเวลาส่วนนี้ออกไปได้ หากมีเวลาในช่วงนี้มากขึ้น การพูดคุยแลกเปลี่ยนในช่วงนี้ก็จะสามารถสรุปบทเรียนได้อย่างเข้มข้น

 

   อ่านต่อตอนหน้านะครับ

   ผมจะเขียนถึง “ผลที่เกิดจากการเวที” ครับ

  

หมายเลขบันทึก: 306515เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2009 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

สวัสดีค่ะ

ชื่นชมอีกครั้งค่ะ น้องหนานเกียรติก็เล่าเรื่องจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ได้อย่างยอดเยี่ยมค่ะ ใช้ภาษาง่าย ๆ เข้าใจง่าย เป็นไปอย่างธรรมชาติค่ะ พี่เคยร่วมงานกับดร.ขจิตหลายครั้ง ขอชื่นชมเช่นกันค่ะ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบธรรมชาติแต่เกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีค่ะ จดจำไว้ใช้ประโยชน์ได้ดีด้วยค่ะ

P สวัสดีครับ พี่ สุนันทา

(๑) ขอบคุณที่แวะมาอ่านตามคำเชิญครับ ดีใจมาก ๆ ที่พี่ชอบและให้คำชม มีกำลังใจขึ้นเยอะเลยครับ

(๒) อาจารย์ขจิต นี่สุดยอดเลยครับ ทำให้เวทีมีสีสันแบบมีสาระ มีความสามารถสูงในการคิดกิจกรรมเสริม ได้ทั้งความสนุกสนาน ได้สาระ

 

  • ขอบคุณพี่หนานเกียรติ
  • มากครับ
  • โอโหเขียนได้ละเอียดมากๆๆ
  • วันนี้พี่ปลูกผักได้แน่ๆๆ
  • แดดจัดมากๆๆ
  • กำลังทำงานอย่างวุ่นวายครับ

 

P อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ (แหะ แหะ กำลังกลัวว่าจะไม่มีคนอ่านอยู่ทีเดียว...)

ผมเขียนไปเรื่อยเปื่อยครับ ตอบแทนค่าข้าวค่าน้ำ และโอกาสให้เข้าเรียนรู้เรื่องราวดี ๆ

...

ปรึกษาหน่อยครับ

เมล็ดพืชที่อาจารย์เอามาให้ หากผมจะแบ่งส่วนหนึ่งปลูกในกระถาง (ใบใหญ่) ควรเป็นอะไรดีครับ

เย็นนี้จะลงมือแล้วครับ เตรียมที่ทางและกระถางไว้แล้ว

 

สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ

ตามอ่านมาตลอดค่ะ แต่ไม่ทราบจะคอมเม้นท์อะไร อ่านไปตาลายไป...55555

สมาธิสั้นค่ะ....

เลยนำ...มาฝากเผื่อขบคิดต่อ เชื่อว่าคุณหนานเกียรติต้องมีมุมมองที่น่าฟังแน่ ๆ

มนุษย์คือ “คนสองคน”...ที่

คนหนึ่งตื่นอยู่ในความมืด... และ

อีกคนหลับใหลในความสว่างไสว...

คาริล ยิบราน.

P สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมครับ

ถึงขั้นตาลายเลยเหรอครับ แหะ แหะ ขออภัย...

...

โจทย์ที่ให้มากำลังคิดอยู่ครับ

แต่ยากมาก ไม่เข้าใจเลย อ่าน Comment ในบันทึกแล้วก็ยังไม่เข้าใจ

รอสักช่วงนะครับ

คิดออกแล้วจะบอกไปครับ

 

ตอนเด็กๆนายได้คะแนนวิชาเรียงความเต็มมั๊ย??

เห็นจดยิกเลย แล้วมาเขียนได้ละเอียดยิบ

ครูภาษาไทยยอมแพ้...ไม่ชอบจด ไม่ชอบเขียนยาวๆ

ร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งได้ความรู้เยอะดีนิ

น้องหนานเกียรติท่าจะเป็นนักเรียงความมือฉมังแน่เลย อ่านเพลินค่ะ ได้ข้อคิด อ่านไปยิ้มไปมองเห็นภาพดร.ขจิตตัวเป็นเกลียว หมุนไปหมุนมากิจกรรมก็ลื่นไหลไปตามเพลงที่บรรเลง ทำงานกับท่านสนุก และสบายใจค่ะ

ขอบคุณที่ให้ได้เรียนรู้ค่ะ

 

P สวัสดีคุณพี่ ครู ป.1

ตอนเด็กๆนายได้คะแนนวิชาเรียงความเต็มมั๊ย??

เห็นจดยิกเลย แล้วมาเขียนได้ละเอียดยิบ

ครูภาษาไทยยอมแพ้...ไม่ชอบจด ไม่ชอบเขียนยาวๆ

ร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งได้ความรู้เยอะดีนิ

คุณพี่ พูดแล้วจะหาว่าคุยนะ

ตอนเป็นเด็กนักเรียน ในห้องมีสามสิบห้าคน สอบได้ไม่เกินที่ห้า

ตอนเรียน ปวช. เกรดเฉลี่ย ๓.๗๗

แหะ แหะ

เพียงแต่ว่า ไม่เกินที่ห้าเนี่ยนับจากท้ายนะ แบ่บว่าไล่ดูจากท้ายมันเจอง่ายกว่าไล่มาจากข้างบน

แล้วเกรดที่ได้ตอนเรียน ปวช. นี่ รวมกับเพื่อนอีกสองคน ได้คนละ ๑ กว่า ๆ ครับ

..................................

 

P สวัสดีครับ คุณ krutoiting

น้องหนานเกียรติท่าจะเป็นนักเรียงความมือฉมังแน่เลย อ่านเพลินค่ะ ได้ข้อคิด อ่านไปยิ้มไปมองเห็นภาพดร.ขจิตตัวเป็นเกลียว หมุนไปหมุนมากิจกรรมก็ลื่นไหลไปตามเพลงที่บรรเลง ทำงานกับท่านสนุก และสบายใจค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมครับ

จริง ๆ แล้วไม่ถึงขนาดนั้นครับ

ตอนจบปริญญายังอ่านหนังสือไม่แตก เขียนไม่เป็นสัปปะรดเลยครับ

มาหัดเขียนเอาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พอดีว่าได้ครูดีครับ

สำหรับ อ.ขจิต คนนั้นตัวจริงเสียงจริงครับ คนอะไรไม่รู้สนุกได้ตลอดเวลา...

 

  • สวัสดีค่ะ คุณหนานเกียรติ
  • ตามมาขอบคุณที่แวะไปทักทายค่ะ
  • ติดตามอ่านตอนที่ ๑ ถึงตอนที่ ๒ แล้ว
    เขียนได้ละเอียดมากจริง ๆ ค่ะขอชื่นชม
  • เวทีแห่งนี้คงให้แรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง
    และพัฒนาเพื่อนมนุษย์....ไม่น้อยนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

P สวัสดีครับ คุณครูธรรมทิพย์

ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ ขอบคุณสำหรับคำชมและกำลังใจครับ

ผมต้ังใจจะเขียนสัก ๕ ตอน ตอนหน้าจะเขียนถึงผลที่ผู้เข้าร่วมได้รับจากเวที

แวะมาอ่านอีกนะครับ

 

สวัสดีค่ะ...หนานเกียรติ

นับถือจริงๆ ค่ะ

แบ่งความป่น เอ๊ย ความละเอียดให้ซักหน่อยได้ไหมคะ

อ่านแล้วชื่นชมหนานได้อย่างเดียวค่ะ

ขอบอกว่า...นายแน่มาก

มีความสุขกับครอบครัวตลอดไปนะคะ

 

P สวัสดีครับ คุณครูอี๊ด

ขอบคุณที่แวะมาชม มาอ่านและทักทายครับ

จริง ๆ เรื่องเล่าในบันทึกมิได้ละเอียดอะไรมามายหรอกครับ เป็นเพราะเรื่องราวดีๆ ในเวทีมีเยอะมาก จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้มาก

แหะ แหะ อยากจะบอกว่ามีตอนต่ออีกน่าจะสองหรือสามตอนนะครับ

แล้วจะส่งข่าวนะครับ 

สวัสดีครับพี่หนานเกียรติ

วันนี้ผมรอนแรมมาทางโซนอีสาน เพื่อเข้าร่วมวงแลกเปลี่ยนกับ น้องๆ นศ.ป.ตรี จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ดร.แสวง รวยสูงเนิน แต่ก็รอนแรมมาถึงเเค่ประโคนชัย บุรีรัมย์ ก่อน คืนนี้พักค้างที่นี่ พรุ่งนี้นัดกันที่ สวนป่ามหาชีวาลัย อีสาน...เรื่องราวดีๆจะนำเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ

----------------------------

บันทึก HEC ๒ พี่หนานเกียรติก็สะท้อนในอีกมุมครับ การทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หากเราลดความเป็นทางการลงไปมากที่สุด จะเป็นการดีที่สุดครับ แต่บางทีเงื่อนไขที่เราต้องการสร้างบรรยากาศไม่ได้ตามที่เราต้องการ มีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรก FA เองก็ต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ บางครั้ง ได้อย่างเสียอย่าง

เวทีเเลกเปลี่ยนวงครู ครั้งนี้ เป็นตัวอย่างครับ หากเราต้องการสิ่งหนึ่ง เราก็ยอมที่จะเสียสิ่งหนึ่งไป ผมเองในฐานะ Fa ให้ความสำคัญเต็มที่กับความไม่เป็นทางการ

ดังนั้นไม่แปลกที่เราจะเห็น กระบวนการ KM ที่มองไม่เห็น…. (Invisible KM.)ในทุกแห่งที่ เป็นเรื่องปกติ ...ตรงนี้เลยเป็นสิ่งที่สอนเราว่า ทุกตารางนิ้วของชีวิต คือ การจัดการความรู้

เวทีแลกเปลี่ยนทั้ง ๓ เวที ในช่วงสามเดือน ถูกออกแบบไว้อย่างประณีต ผ่านการ BAR อย่างเข้มข้นผ่านทาง อีเมล และ มีการสรุปอีกครั้งจนได้โครงสร้างคำถาม ที่เราเรียก หัวปลา ที่ขัดเจน สู่การออกแบบกระบวนการในวันเตรียมงาน ๑ วัน (เราทำแบบนี้เสมอ)

องค์ความรู้ที่เราได้จากการเเลกเปลี่ยนมากมายครับ เกินคาดเสมอ..เมื่อเราละเอียดอ่อนกับมนุษย์มากขึ้น  แต่เรามักจะเห็น การ AAR. จากคนที่ไม่เข้าใจ (และเราให้อภัยเสมอ) บอกพวกเราว่า ไม่เห็นหัวปลา ไม่เห็นว่าจะได้ตามประเด็น หากใจกว้างสักหน่อย เขาก็เรียนรู้กับเนื้อหาที่เราเก็บจากเรื่องเล่าว่า เเท้จริงหัวปลา ก็แทรกอยู่กับเรื่องเล่าทั้งหมด อยู่ที่การสังเคราะห์ สกัดมาอีกที

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการเรียนรู้ ทั้งเรียนรู้กระบวนการ คน  สถานที่ เวลา เรียนรู้เเม้กระทั่งเจ้าของทุนที่สนับสนุนเราว่าเขา เข้าใจ KM อย่างเเท้จริงหรือไม่?

หลายครั้ง เราเสียใจจาก คนที่เข้าใจ KM ปลอมๆ ตีขลุม AAR. แบบ เอาให้ FA ตายคาเวที เราประสบปัญหาแบบนี้บ่อย..และ ก็มากขึ้นจากการ อคติของคนเรา

การทำงานจึงทำให้เราได้เรียนรู้ประเด็นเหล่านี้ และเราค่อยๆเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเเล้ว เราก็เข้าใจว่า ที่เขาคิด เขาพูด เขานำเสนอ แบบที่เขาคิดนั้น ก็มีสาเหตุ เงื่อนไข ในการรับรู้ที่ต่างกัน ความเข้าใจทำให้เราฝึกใจเราไปด้วย

KM คือ ธรรมะ KM คือ ธรรมชาติ และทำงานกับคน ก็ย่อมต้องเข้าใจธรรมชาติของคน หากเราเข้าใจได้ตรงนี้ ผมว่า KM จะมีพลังสูงมากในการ ถอดบทเรียน ได้องค์ความรู้ดีๆ มาขับเคลื่อนพัฒนาสังคม

ผมต้องขอบคุณโอกาสที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ และ เรียนรู้มากยิ่งขึ้นเมื่อมีปัญหามาท้าทายมากขึ้น

ไม่มีรากฐาน ก็ไม่มียอด หากเราใจร้อนรีบไปถึงยอด โดยที่ฐานเราไม่เข้มแข็ง สุดท้ายก็พังเพลงมาก่อนถึงยอด ผมเองก็คงต้องเร่งสร้างฐานปัญญาให้กล้าแข็ง ทำงานชิ้นใหม่ๆ ประเด็นใหม่ๆ ที่ท้าทายผมเสมอๆ

และเชื่ออย่างยิ่งว่า ผมมีกัลยาณมิตร ที่ดี เช่น หนานเกียรติแล้ว การทำงานต่อไปก็เป็นเรื่องสนุกและมีพลังใจมากขึ้น

ขอคาราวะครับท่าน

 

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ประโคนชัย,บุรีรัมย์

 

  • ตามอ่านทั้งสองตอนแล้ว ได้ความรู้เรื่องการจัดการที่ดีครับ
  • ขอบคุณความรู้ดีๆครับ

P สวัสดีครับ เอก - จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ผมพยายามเขียนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจให้มากที่สุด เพื่อจะได้ให้ทั้งเอกและทีมงานเข้าใจและรู้จักความรู้ ความเข้าใจ ความคิดและทัศนของผมผ่านบันทึก

ผมพยายามบันทึกอย่างตรงไปตรงมาและสัตย์ซื่อกับความคิดความรู้ของตัวเองทั้งหมด

ซึ่งหากเห็นว่าส่วนใดผมเข้าใจยังไม่ถูกต้องหรือมีอะไรที่ควรให้ความเข้าใจเพิ่มเติม จึงอย่าได้ลังเลที่จะทำความเข้าใจกับผม

ผมคิดไว้ว่าจะเขียนต่ออีกสัก ๒ - ๓ ตอน จะเขียนถึงผลที่เกิดขึ้นที่ผมสังเกตุได้จากเวที ปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผล และบทเรียนในแง่ KM ครับ 

 

จริงๆแล้ว การทำวงเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับ ครู ทั้ง ๓ เวที เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามากๆช่วงหนึ่งของชีวิตผมเลยนะครับ

พี่หนานสะท้อนออกมาได้อย่างดี เขียนไปเรื่อยๆเถอะครับ ผมชอบอ่านความคิดในมุมกระจกแบบนี้  ผมเองก็ต้องการคนสะท้อนการทำงานของผมเหมือนกัน...

งานที่ทำ ก็ช่วยให้ผมพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดของตัวเอง และเรียนรู้กับสิ่งที่ผิดพลาดของผู้อื่นร่วมกันไปด้วย ก็สนุกและท้าทายดีมาก

คืนนี้นั่งคิดว่า ผมจะทำกระบวนการเรียนรู้อย่างไร? กับน้อง นศ.ทั้ง ๓๐ คนที่ สวนป่ามหาชีวาลัยในวันพรุ่งนี้ อ.ดร.เเสวง รวยสูงเนิน ท่านโยนโจทย์ที่ใหญ่ และ เเสนคลุมเครือมาให้..แบบนี้ ก็ต้องใช้ยุทธการในสนาม พลิกแพลงเอากันเอง...

:)

ยกที่คุณคนไม่มีราก เขียนข้อเสนอแนะ ข้างบนลงมา

มนุษย์คือ “คนสองคน”...ที่

คนหนึ่งตื่นอยู่ในความมืด... และ

อีกคนหลับใหลในความสว่างไสว...

คาริล ยิบราน.

เลือกได้ ผมขอ ผู้ที่ตื่นในความมืด เพื่อจะใช้เวลานั้นทำความเข้าใจ คุ้นชินในความมืด ก่อนที่จะรอเเสงสว่างของอรุณรุ่งในวันพรุ่งนี้

P เอก ครับ

ต้องขอบคุณที่ชักชวนผมให้เข้าไปเรียนรู้เรื่องราวดี ๆ

ที่ผมพูดในเวทีมิใช่ว่าสักแต่พูด ผมหมายความถึงอย่างนั้นจริง ๆ

การพบคนดี คนจริงในคราวเดียวกันนี้มิใช่เรื่องง่าย และการทำให้คนดีได้เล่าเรื่องราว สะท้อนความดีงามออกมาก็มิใช่ง่ายเช่นกัน ผมได้สัมผัสกับความดีทั้งสองประการ จึงรู้สึกว่าผมได้รับโอกาสที่ดี

เป็นกำลังใจให้ทำหน้าที่ในวันพรุ่งนี้ให้ลุล่วงด้วยดีนะครับ

ฝากสวัสดี อ.แสวง ด้วยครับ

 

  • อ่านเรื่องราวตอน 2 นี้ด้วยความมันจริงๆ
  • เรื่องที่น้องเล่าทำให้พี่มองเห็นพลวัตรของ KM รอบใหม่
  • ที่กำลังหมุนวนเกิดขึ้นต่อยอด
  • ...........
  • เรื่องที่เล่าทำให้เห็นบรรยากาศที่เป็นมาและเป็นไปในแต่ละช่วง
  • นี่แหละคืออรรถรสของเรื่องเล่าที่ต้องการจากคนเป็นคุณอำนวยและคุณลิขิต
  • ...........
  • เรื่องเล่าที่มีบรรยากาศ
  • เป็นเรื่องเล่าที่ทำให้ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข มีความสดใส ไม่รู้สึกแห้งๆ
  • ..........
  • เรื่องเล่าที่เล่าไว้นี้ แม้จะใช้สไตล์สรุปตามความเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรสเรื่องความรู้
  • ..........
  • มุมต่างของเอกสารวิชาการตามสไตล์ของแต่ละคนจึงน่าสนใจ
  • เป็นความสามารถที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบกันได้
  • ฝึกฝนบ่อยๆก็จะกลายเป็นคุณสมบัติเฉพาะตน
  • ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร
  • โดดเด่นเฉพาะตนโดยไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนให้ไปเหมือนใคร
  • ..........
  • ถึงแม้เป็นเรื่องเล่าก็ใช้เป็นเอกสารตามแบบตำราได้
  • น่าสนใจมากกว่าเอกสารวิชาการแบบตำราหรืองานวิจัย
  • มิใช่หรือ
  • ..........
  • เห็นมะว่าเรื่องของความรู้ทำให้มีชีวิตได้ อย่างที่น้องกำลังเรียนรู้
  • ..........
  • จะเขียนแบบตายซากเหมือนอย่างที่ตำราวิชาการชอบเขียนกันไปทำไมกันเล่า
  • ..........
  • ทำเรื่องวิชาการให้สนุกๆก็ทำได้ ใช่ไหมน้อง
  • คนเขียนก็สนุก มันกับการเขียน
  • คนอ่านก็สนุก มันกับการอ่าน
  • ..........
  • อย่างนี้แหละ พี่ว่าดีนัก ชอบๆๆๆๆ
  • อ่านมันแล้วมันจำได้โดยไม่ต้องท่องเลยนะน้อง
  • ผ่องถ่ายความรู้กันแบบเนียนๆอย่างนี้
  • มีแง่งามมากมายที่คนอ่านได้สัมผัสร่วมไประหว่างการอ่าน
  • แล้วเกลียวพลวัตรบางอย่างก็จะเกิดขึ้นในตัวคนอ่านไปด้วย
  • ..........
  • นี่แหละคือมุมหนึ่งที่ KM ทำได้ แต่เล็คเชอร์ทำไม่ได้
  • เล็คเชอร์นั้นทำได้ก็แค่เพียงบอกให้รู้จักและจำได้
  • จำได้แล้วก็ลืม เมื่อความรู้นั้นไม่ถูกหยิบนำไปใช้
  • เมื่อจะนำไปใช้ก็ต้องไปค้นหาในลิ้นชักหรือกองเอกสาร
  • ให้หนักหนาอีกมากมาย
  • ..............
  • หลักการของ KM มีเรื่องหนึ่งที่พี่อยากจะยืนยัน
  • เมื่อไรที่ฟังเรื่องราวแล้วงงๆ
  • นั่นแหละคือสัญญาณว่าได้เริ่มสัมผัสกับกระบวนการเรียนรู้
  • อะไรบางอย่างกันแล้ว
  • ..............
  • แม้ว่าจะแลกเปลี่ยนยาวหน่อย
  • แต่ขอเหอะนะน้องนะ
  • ตรงนี้ที่บันทึกว่า
  • "ผมเห็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการนี้อย่างออกรส เวลาในการรวมตัวกันเพื่อดำเนินการตามกำหนดการจึงล่าช้าออกไปเป็นเวลาไม่น้อย เนื่องจากการติดลมจากการพูดคุย ทั้งการพักรับประทานอาหารเช้า กลางวัน และอาหารว่าง"
  • มันบอกให้พี่เห็นว่า
  • "ความอยากรู้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และเมื่อลงมือเรียน พลวัตรของความรู้จึงได้เกิดขึ้นนะคะ"
  • ก่อนไปขอทิ้งท้ายไว้หน่อย
  • ลองหันกลับมาดูหน่อยว่าที่น้องเรียนรู้เร็วอย่างนี้เป็นเพราะน้องก็ทำอย่างนี้หรือเปล่า
  • "ผมคาดว่าทางทีมงานคงใช้ประเด็นนี้ให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยแบ่งปันกัน โดยไม่เน้นที่ปลายทางมากนัก"
  • ตีประเด็นตรงนี้ได้แล้วก็จะเข้าใจประเด็นที่น้องคนไม่มีรากมาหย่อนไว้ค่ะ
  • ..........
  • ตรงเรื่อง "ประเด็นที่ให้ผู้เข้าร่วมบันทึกลงในกระดาษ ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะมีราว ๔ ประเด็น....."
  • ถ้าหากว่าเป็นไปได้ ก็อยากจะขอให้ขึ้นบันทึกไว้หน่อยในส่วนของเรื่องราวลงลึก  "การพูดคุยในกลุ่มย่อย" ที่น้องมีโอกาสได้สัมผัสตรงๆค่ะ
  • กระซิบเสียงดังๆว่า มีอะไรน่าเรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านี้
  • เผลอๆจะได้เรื่องเด็ดที่ตรงประเด็นกับความหมายของ "Humanized Educare" ที่อยู่ในตัวคนที่เป็นของจริงได้เลยนะคะ
  • .............
  • ขอบคุณค่ะ

ตามมาอ่านแล้วได้อรรถรสของบรรยากาศในการอบรม และได้ปัญญาค่ะ

 

Pสวัสดีครับ คุณหมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ

ขออนุญาตเรียกพี่หมอนะครับ
ขอบคุณพี่หมอมากสำหรับความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะที่มอบให้ผม
เป็นกำลังใจให้ผมมีความเพียรที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ต่อไปอย่างดีเยี่ยมเลยครับ
ว่าตามตรง มีหลายส่วนหลายตอนในความเห้นของพี่หมอผมยังไม่เข้าใจ
แต่คิดว่าสักวันน่าจะเข้าใจ
ผมเข้ามาเป็นสมาชิก G2K และเริ่มเรียนรู้ KM ผมพบกัลยาณมิตรมากมาย
ได้ทั้งกำลังใจ และมิตรภาพ
เรื่องบันทึกต่าง ๆ ของผม มาจากการอยากเขียนเป็นพื้นสำคัญ อยากเขียนอยากเล่า
เมื่อมีคนอ่านมีคนอยากรู้ และมาอ่านเข้ามารับรู้เรื่องราวอย่างสนใจก็ยิ่งทำให้ผมมีกำลังใจ
ผมยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการเรียนรู้ กระทั่งอยู่ในระหว่างการพัฒนา "ทาง" ของตัวเอง
พื้นที่ G2K นี้เป็นสนามฝึกของผมอย่างดีเยี่ยมเลยครับ
ขอบคุณพี่หมอมาก ๆ ครับ

..................................................

 

P สวัสดีครับ พี่ครูอรวรรณ

ขอบคุณพี่ที่เข้ามาอ่าน มาเยี่ยมทักทายครับ
ผมต้ังใจจะเขียนต่ออีกสักสองตอนครับ
แล้วจะส่งข่าวให้ทราบนะครับ

 

 

  • ยินดีที่มีน้องชายอีกคนค่ะ
  • มาฝากคำบอกว่า
  • หลังจากเรียนรู้ OM แล้ว
  • ให้กลับมาอ่านบันทึกนี้ใหม่อีกสักรอบเน้อ
  • น่าจะได้เรียนรู้อะไรใหม่
  • บันทึกที่เขียนไว้ละเอียด
  • อย่างนี้แหละดีแล้ว
  • ดีแล้วสำหรับการเรียนรู้ของตัวเอง
  • และยิ่งดีมากขึ้นเมื่อแบ่งปันให้คนอื่นอ่านด้วย
  • ขอบคุณสำหรับเวลาที่ให้กับบันทึก
  • และนำมาเผื่อแผ่แบ่งปันกันค่ะ

มารับความรู้ใหม่ๆค่ะ..เป็นกิจกรรมที่ควรได้รับการขยายให้มากขึ้นนะคะ

Pสวัสดีครับ พี่หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ

OM ค่อนข้างซับซ้อนครับ ขนาดว่ามีพื้นมาบ้างเกี่ยวกับการประเมิน แต่ก็ช่วยอะไรได้ไม่มาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอยู่กันบนฐานคิดคนละอย่าง

เนื่องจากมีภารกิจอื่นด้วย บันทึกเรื่องนี้จึงถูกเขียนต่างกรรมต่างวาระ

อารมณ์ความรู้สึกที่เขียนแต่ละตอนแตกต่างกันไป แน่นอนว่าส่งผลต่อการเขียนบันทึกด้วยครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

ตอนต่อจากบันทึกนี้มาแล้วนะครับ

.................................................................

 

P สวัสดีเจ้า ครู rinda

ขอบคุณเจ้าที่มาแอ่วหาครับ

มีตอนต่อแล้วเน่อ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท