หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ไร่หมุนเวียน : วิถีแห่งปกาเกอะญอ ตอนที่ ๓


การปักไร่ชาวบ้านจะหมุนเวียนไปช่วยเหลือกันจนครบทั้งหมู่บ้าน ในลักษณะ “การเอามื้อเอาแรง” ซึ่งเป็นวิธีการแลกเปลี่ยนแรงงานที่สำคัญของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามในหมู่บ้านอาจมีบางครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบากเรื่องแรงงาน เช่น ครอบครัวหญิงหม้าย บ้านคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีลูกหลาน ชาวบ้านจะเต็มใจไปช่วยงานในไร่โดยไม่ถือเป็นการเอามื้อ แต่เป็นการไปช่วยด้วยความเอื้อเฟื้อและเห็นใจ

     พ้นเดือนลาเซอ ย่างเข้าสู่เดือนเดะญา ช่วงเวลาแห่งการปักไร่ (ปลูกข้าว) มาถึงแล้ว

     ก่อนการปักไร่สองวัน ชาวบ้านจะเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปไว้ที่กระท่อม วันที่จะลงมือจึงค่อยแบกเมล็ดพันธุ์ข้าวไป

     เมื่อไปถึงไร่ พ่อบ้านก็จะหยิบเมล็ดพันธุ์ข้าวมาใส่ภาชนะแล้วเขย่าพร้อมอธิษฐาน หากคำเสี่ยงทายออกมาดีวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นวันปักไร่ แต่หากไม่ดีการปักไร่ก็อาจจะเลื่อนไปอีกสองสามวัน

     เย็นวันเดียวกัน เมื่อรู้แน่ชัดว่าบ้านตนเองจะปักไร่วันรุ่งขึ้น บรรดาลูก ๆ ก็จะไปเที่ยวบอกเพื่อน ๆ ว่าพรุ่งนี้บ้านตนเองจะปักไร่

     วันรุ่งขึ้นไม่สายมากนัก ชาวบ้านหลายสิบคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวพากันไปที่ไร่ การมาลงปักไร่นอกจากจะเป็นการเอามื้อเอาแรงกันในกลุ่มชาวบ้านแล้ว ยังเป็นโอกาสให้หนุ่มสาวได้เกี้ยวพาราสีหยอกล้อกัน ทำงานกันอย่างมีความสุข

     การปักไร่จะมีชายหนุ่มเป็นผู้ขุดดินด้วยเสียมกว้างราวสามนิ้ว การขุดดินจะขุดเบา ๆ ลึกลงไปราวหนึ่งนิ้วพอที่จะฝังกลบเมล็ดข้าวที่หยอดลงไปได้ ฝ่ายหญิงสาวและแม่บ้านจะเดินตามชายหนุ่มผู้ทำหน้าที่ขุดเปิดหน้าดิน หยอดเมล็ดข้าวลงหลุมแล้วกลบ

     ตกเที่ยงหนุ่มสาวชาวบ้านก็จะหยุดกินข้าวกลางวันร่วมกัน โดยที่เจ้าภาพจะเป็นผู้ทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน กินข้าวเสร็จพักกันชั่วครู่ก็ทำงานต่อ 

     การปักไร่ชาวบ้านจะหมุนเวียนไปช่วยเหลือกันจนครบทั้งหมู่บ้าน ในลักษณะ การเอามื้อเอาแรง ซึ่งเป็นวิธีการแลกเปลี่ยนแรงงานที่สำคัญของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามในหมู่บ้านอาจมีบางครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบากเรื่องแรงงาน เช่น ครอบครัวหญิงหม้าย บ้านคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีลูกหลาน ชาวบ้านจะเต็มใจไปช่วยงานในไร่โดยไม่ถือเป็นการเอามื้อ แต่เป็นการไปช่วยด้วยความเอื้อเฟื้อและเห็นใจ

 

     ผ่านเข้าสู่กลางเดือนเดะญา ฝนฟ้าเริ่มโปรยปรายลงมา วสันตฤดูมาถึงแล้ว

     เมื่อได้รับน้ำฝนกอไผ่ที่ถางโค่นไว้ก็เริ่มแตกหน่อออกกอใหม่ งอกงามแข่งประชันชูช่อกับต้นหญ้า ในขณะที่ต้นข้าวและพืชไร่ที่ปลูกไว้เพิ่งจะงอกเงยโผล่ออกจากผืนดิน

     งานในไร่ของชาวบ้านยามนี้คือการดายหญ้าเพื่อไม่ให้บดบังต้นข้าวและพืชไร่อื่น ๆ

     ยิ่งฝนตกพรำก็ยิ่งทำให้ต้นหญ้านานาชนิดในไร่ข้าวแตกช่อออกใบอย่างรวดเร็ว การดายหญ้าในไร่จึงเป็นงานประจำสม่ำเสมอของครอบครัว

     ฝนตกหลายวันเข้า ท่อนไม้ใหญ่ในไร่ที่ไฟเผาไหม้ไม่หมด ดูดซับน้ำฝนเข้าไปจนชุ่มฉ่ำ นานวันเห็ดขอนไม้ก็ขึ้นให้ชาวบ้านเก็บหาไปปรุงเป็นอาหาร เห็ดที่ขึ้นกับขอนไม้มีหลายประเภท เช่น  กืออิ๊ กือจ่า กือเซว เป็นต้น

     การดายหญ้าของชาวบ้านก็ใช้วิธีการช่วยเหลือเอามื้อเอาแรงกันเหมือนขั้นตอนอื่น ๆ อุปกรณ์ดายหญ้าเป็นขอเหล็ก มีลักษณะโค้งงอขุดดินได้ไม่ลึก การดายหญ้านั้นเท่ากับเป็นการพรวนดินไปในตัว ต้นหญ้าที่ถูกดายออกก็ถูกฝังกลบกลายเป็นปุ๋ยพืชสดให้ต้นข้าวในเวลาต่อมา

     ในช่วงนี้หากพบว่าต้นข้าวในไร่แคระแกรนและนับวันจะเหี่ยวเฉาไปเรื่อย ๆ ชาวบ้านจะสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็น ไร่ระเหย ซึ่งเกิดจากการทำผิดพลาดบางอย่างต่อไร่ข้าว เช่น การแล่เนื้อเก้งแล้วเลือดไหลลงสู่พื้นไร่ การเผาตัวนิ่มแล้วกลิ่นกระจายไปถึงไร่ข้าว การทิ้งกากผลไม้หรืออาหารรสเปรี้ยวไว้ในไร่ เป็นต้น ชาวบ้านจะแก้ไขด้วยการทำพิธี นึ่งไร่ แต่หากตรวจดูอย่างละเอียดแล้ว ไม่ใช่มีเหตุมาจากไร่ระเหย ก็จะทำพิธี สะเดาะเคราะห์ไร่ แทน

 

     ล่วงเข้าสู่ปลายเดือนลาเฆาะ... (ราวปลายเดือนกรกฎาคม)

     บัดนี้ต้นข้าวเขียวชอุ่มเต็มผืนไร่ ปกคลุมตอไม้ ตอไผ่ ท่อนไม้ จนมิด ข้าวโพดที่ปลูกไว้ได้รับน้ำฝนจบต้นสมบูรณ์เต็มที่ และเริ่มให้ฝักอวบ ชาวบ้านทยอยเก็บเกี่ยวมากินเป็นระยะ

     การดายหญ้าในไร่ข้าวผ่านไปสามครั้งแล้ว ถึงช่วงที่จะต้องทำพิธี เลี้ยงไร่ แล้ว

     การเลี้ยงไร่มีพิธีกรรมย่อย ๆ ๔ อย่างคือ พิธีเลี้ยงไฟ พิธีขอพร พิธีปัดรังควาญ พิธีป้องกันไร่ ซึ่งการทำพิธีจะต้องรอให้หัวหน้าหมู่บ้านทำก่อน ลูกบ้านจึงจะทำตาม

     พิธีเลี้ยงไร่ เป็นการกระทำของชาวบ้านต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ดลบันดาลให้ข้าวและพืชผักในไร่เจริญเติบโต งอกงาม รวมทั้งการปกปักรักษาคนในครอบครัวให้มีพละกำลังทั้งกายและใจสำหรับการทำงานหนักในไร่ การทำพิธีจึงเป็นการขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว

     นอกจากการขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว การทำพิธียังเป็นการนอบน้อม ขอขมาลาโทษต่อผืนดิน น้ำ ป่า เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจมีการกระทำล่วงเกินไปได้ เช่น การเผาไร่ที่เลี่ยงไม่ได้ต้องทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ต้องล้มตายไป

     เมื่อทุกครอบครัวเลี้ยงไร่จนครบแล้ว ก็ล่วงเข้าสู่เดือนลาคุ (ราวเดือนสิงหาคม) หัวหน้าหมู่บ้านก็จะกำหนดวันสำหรับการประกอบ พิธีลาคุปู ซึ่งเป็นการทำพิธีมัดมือครั้งที่สองของหมู่บ้าน ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมคล้าย ๆ กับการประกอบ พิธีหนี่ซอโข่ เมื่อตอนต้นปี

     การประกอบพิธีลาคุปู เป็นการขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยดลบันดาลให้พืชผักที่ปลูกไว้ตั้งแต่สามสี่เดือนก่อนงอกงามดี คุ้มครองครอบครัวให้มีพละกำลังในการทำงานหนักในไร่ นอกจากนั้นต่อจากนี้ไปยังมีงานหนักที่ต้องการความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนในชุมชน การทำพิธีนี้จึงเป็นเสมือนการเตรียมตัวที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไป

    

     พิธีลาคุปูผ่านพ้นไปแล้ว จนกระทั่งขึ้นเดือนชิหมื่อ (ราวเดือนกันยายน) การทำงานในไร่ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งการดายหญ้า พรวนดิน การตรวจตราไร่ ถึงช่วงนี้ข้าวโพดในไร่เริ่มวายแล้ว ในขณะที่แตงกวาเริ่มออกลูกอ่อน ๆ ส่วนแตงลายออกลูกมาก่อนหน้าเริ่มเก็บกินได้บ้างแล้ว

     ย่างเข้าข้างแรมเดือนชิฉ่า (ราวเดือนตุลาคม) แตงลายวายแล้ว ขณะที่แตงกวาแข่งกันออกลูกเต็มไปทั้งไร่ มองเข้าไปในไร่ยามนี้ต้นข้าวตั้งท้องออกรวงเริ่มสุก สีเขียวอมเหลือง

     ถึงคราวนี้ชาวบ้านก็จะไปเกี่ยวข้าวเหนียวมาจำนวนหนึ่งพอที่จะตำได้หนึ่งครั้ง นำมาทำเป็นข้าวเม่า กินในครอบครัวและแบ่งปันให้ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน การกินข้าวเม่าร่วมกันในครอบครัวมักจะเป็นยามเย็นย่ำค่ำคืน ขณะที่กินข้าวเม่าคนเฒ่าคนแก่ ปู่ย่าตายายก็จะนั่งล้อมวงเล่านิทานให้ฟังกัน คนนี้เล่าจบต่อด้วยคนนี้ วันนึงก็ปาเข้าไปหลายเรื่อง

     ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่า ขณะกินข้าวเม่าต้องเล่านิทานควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การทำมาหากินขึ้นได้ผลผลิตดี นิทานที่เล่ารอบวงมีมากมายหลายเรื่อง แต่ละเรื่องแฝงไปด้วยข้อคิด คำสอนให้ลูกหลานจดจำไปประพฤติปฏิบัติ เป็นหลักในการดำรงชีวิต

 

หมายเลขบันทึก: 292625เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2009 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ปักข้าว... คิดถึงพ่อแม่ ถอนกล้า ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว นาบข้าว สมัยตอนเป็นเด็กค่ะ
  • ลงแขกกันสนุกสนาน
  • เด็กๆชอบที่ได้กินขนมอร่อยหม้อใหญ่ๆ
  • ขอบคุณค่ะ
  • ว่างหรือคะ เฝ้าหน้าจอ ได้

P สวัสดีครับ คุณลีลาวดี

ขอบคุณที่มาอ่าน (ทุกตอน) เลย

ดีใจที่ชอบครับ

ผมเป็นทั้งหลานชาวนาและลูกชาวเขา มีประสบการณืปลูกข้าวทั้งบนภูเขาและในนา

สนุกท้ังสองแบบครับ

วันนี้ว่างถึงเที่ยงครับ

นั่งทำงานไปด้วย อ่านบันทึกไปด้วย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท