หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ไร่หมุนเวียน : วิถีแห่งปกาเกอะญอ ตอนที่ ๔ (จบ)


เดือนลาปลือ ต่อกับเดือนเตอะเล สองเดือนนี้ถือเป็นช่วงพักผ่อนของชาวบ้าน บ้างก็ใช้โอกาสนี้ในการซ่อมแซมบ้านเรือน ออกหาเกี่ยวหญ้าคามาซ่อมหลังคา แม่บ้านก็จะปั่นด้ายทอผ้าทำเสื้อ ซิ่น ย่าม ให้กับสมาชิกในครอบครัว บางครอบครัวก็ถือโอกาสไปเยี่ยมญาติต่างหมู่บ้าน บ้างก็ออกป่าล่าสัตว์ หาปูปลามาทำอาหาร

     กินข้าวเม่าได้สักสองสามวัน ข้าวในไร่จะสุกเหลืองอร่าม ถึงเวลาที่จะได้เก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งก่อนจะเกี่ยวข้าวตามธรรมเนียมปกาเกอะญอจะมีพิธีกินหัวข้าวเสียก่อน

     เริ่มจากการขุดหาอ้น ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ กว่าจะขุดหามาได้ เมื่อได้อ้นแล้ววันรุ่งขึ้นจึงไปเกี่ยวเอาหัวข้าวมาจากไร่พอตำได้หนึ่งครั้ง รวมทั้งเก็บเกี่ยวเอาพืชผักชนิดต่าง ๆ ที่เก็บกินได้ในเวลานี้ เช่น เผือก มัน ถั่ว ผักกาด มะเขือเทศ ผักชี กระเพราแดง คะไคร้ ฟักทอง แตงกวา เป็นต้น อย่างละนิดละหน่อยให้ครบทุกชนิดที่มีในไร่

     ระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะเก็บผักกูด ผักเผ็ดนก และหาปูห้วยตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัวนำกลับไปบ้านด้วย

     กลับถึงบ้านก็จะขยี้ข้าวให้หลุดออกจากรวง ฝัดเอาเศษฟางออก นำใส่ภาชนะคั่วบนเตาไฟ จนกระทั่งมั่นใจว่าแห้งได้ที่ ซึ่งชาวบ้านจะรู้โดยการกัดเปลือกข้าวดูถ้ากัดแล้วเปลือกขาดออกจากกันโดยง่ายก็แสดงว่าได้ที่ จึงจะยกลงจากเตาปล่อยให้เย็นก็จะนำไปตำในครกกระเดื่อง ตำแล้วฝัดก็จะได้ข้าวสารพร้อมที่จะนำไปหุง

     หุงข้าวสุกแล้ว ก็จะทำแกงเนื้ออ้น นำพืชผักที่เก็บมาจากไร่ทุกชนิดเข้าใส่ สำหรับปูจะนำไปจี่ไฟจนทุกอย่างสุกแล้ว ก็ตักอาหารทุกอย่างวางบนขันโตก ก่อนกินก็จะอธิฐานขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพรรณธัญญาหาร รวมทั้งขอพรให้คุ้มครองครอบครัวตลอดไป จากนั้นก็จะล้อมวงกินข้าวร่วมกัน

 

     พ้นการกินหัวข้าวไปสองวันแล้ว อีกสองสามวันก็จะพ้นเดือนชิฉ่า ข้าวในไร่ข้าวสุกเหลืองอร่าม ได้เวลาเก็บเกี่ยวเต็มที

     ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจทำงานร่วมกันอีกครั้ง ภายในหมู่บ้านจะมีการถามไถ่กันว่าวันไหนจะเกี่ยวของใคร

     เช้ามืดต้นเดือนลานอ (ราวเดือนพฤศจิกายน) ทันทีที่ไก่ขันให้สัญญาณวันใหม่ ชาวบ้านจะลุกขึ้นหุงหาอาหาร กินข้าวกินน้ำ ห่อข้าวเสร็จตั้งแต่ยังไม่สว่าง แล้วก็พากันเดินลงจากบ้านมุ่งหน้าไปยังไร่ที่นัดกันไว้ล่วงหน้า คนที่ล่วงหน้าไปก่อนก็จะเป่าเขาสัตว์ดังกังวานไปทั่วหมู่บ้าน เป็นสัญญาณเร่งให้ผู้ที่ยังไม่ลงจากเรือนให้รีบทำภารกิจแล้วตามเพื่อนบ้านที่ล่วงหน้าไปก่อน

     เหมันตฤดูยามเช้าวันนี้ ผืนไร่เต็มไปด้วยไอหมอก น้ำค้างใสสะอาดเกาะอยู่ใบไม้ใบหญ้า สายมาหน่อยแสงแดดอุ่น ๆ ส่องสะท้อนต้นข้าวที่สุกเต็มที่เหลืองอร่วมไปทั่ว ชาวบ้านหลายสิบคนช่วยกันเกี่ยวข้าวกันอย่างสนุกสนาน เสียงหัวเราะ ขำขันดังเป็นระยะ หนุ่มสาวที่เป็นคู่หมั้นก็จะเกี่ยวข้าวคู่กันอย่างมีความสุข คนหนึ่งเกี่ยวคนหนึ่งมัด คนที่ไม่ใช่คู่หมั้นคู่หมายก็จะจับคู่กับเพื่อนเกี่ยวไป คุยกันไป หยอกล้อกันประสาหนุ่มสาว

     นอกจากข้าวสุกเหลืองอร่ามยังมีพืชผักอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น แตงกวา ยามที่นั่งพักเหนื่อยก็จะนำมาหั่นกินกันสด ๆ

     ในขณะเกี่ยวข้าว เจ้าของไร่จะมีภาชนะติดตัวไปด้วย บ้างก็สะพายย่าม บ้างก็สะพายกระชุ พบพืชผักขณะเกี่ยวข้าวก็จะเก็บใส่ภาชนะนั้น ตกเย็นเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะแบ่งให้เพื่อนบ้านที่มาช่วยงานติดไม้ติดมือกลับบ้านคนละนิดคนละหน่อย  

    

     เกี่ยวข้าวเสร็จแล้วสามวัน ฟ่อนข้าวถูกตากไว้จนแห้งกรอบ วันรุ่งขึ้นหลังจาก พิธีมัดมือเรียกขวัญลงตีข้าว หรือ พิธีถากเมล็ดข้าวลง อย่างใดอย่างหนึ่งของแต่ละครอบครัว สุดแท้แต่ว่าครอบครัวใดจะเลือกประกอบพิธีกรรมใดแล้ว ก็จะเป็นวันตีข้าวของครอบครัว

     ก่อนตีข้าวแต่ละครอบครัวจะตั้งลานตีข้าว ลานจะใหญ่น้อยขึ้นอยู่กับขนาดของไร่ หากพื้นที่ราบไม่พอก็จะขุดปรับให้เสมอกัน ด้านหนึ่งจะปักหลักไม้ราว ๖ ๗ หลัก สูงพอท่วมหัวคน ปูเสื่อเป็นผนังติดกับหลักไม้ เสื่ออีกผืนปูลาดไปกับพื้น แล้วยกรางตีข้าวไปไว้ที่กลางลาน จากนั้นก็ขนฟ่อนข้าวมาตี พ่อบ้านซึ่งเป็นหัวหน้างานจะลงมือก่อนพร้อมกับคำอธิฐาน แล้วสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็แบ่งหน้าที่กันบางคนก็ตีข้าว บางคนก็แบกฟ่อนข้าว

     เวลาผ่านไปพักใหญ่พ่อบ้านจะกลับเข้าไปที่กระท่อม ตัดท่อนไม้ขนาดข้อมือราว ๑๕ ๒๐ ท่อน นำมายึดเป็นฝากระท่อมด้วยตอก แล้วนำเสื่อปูพื้นและทำผนังทั้งสี่ด้าน อุดรูรั่วด้วยฟางข้าวหรือเศษผ้าอย่างมิดชิด กระท่อมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อาศัยหลบแดดฝนยามมาทำงานในไร่ก็กลายสภาพเป็นฉางข้าว

     ฉางข้าวเสร็จแล้ว พ่อบ้านและสมาชิกบางคนก็จะช่วยกันแบกข้าวเข้าฉางด้วยความเร่งรีบ ตามธรรมเนียมจะไม่พักทำภารกิจอื่น เช่น การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ดื่มน้ำ สูบบุหรี่ กินหมากพลู ฯลฯ หากการขนข้าวเข้าฉางยังไม่เริ่มจนครบ ๓ กระชุ

     หลังจากขนข้าวได้  ๓ กระชุ ก็จะถึงเวลาพักผ่อน พักเหนื่อยสักครู่ก็ลุกทำงานต่อ คนตีข้าวก็ตีไป บางคนก็ไล่เก็บฟ่อนข้าว ตีเสร็จก็ขนข้าวขึ้นฉาง กว่าจะตีจนหมดก็ใช้เวลาสองถึงสามวัน

 

     วันรุ่งขึ้น หลังตีข้าวเสร็จแต่ละครอบครัวจะไปทำ พิธีปัดรังควาญฉางข้าว ซึ่งเมื่อวานตอนเย็นได้ต้มเหล้าไว้แล้ว

     แต่เช้าตรู่สมาชิกทั้งครอบครัวพากันเดินไปที่ไร่ พร้อมกับหม้อข้าวหม้อแกงและไก่ตัวผู้กับตัวเมียอย่างละตัว ถึงไร่ก็เก็บหาพืชผักที่มีอยู่มากมาย การทำกับข้าวในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การฆ่าไก่หรือการต้มแกงจะกล่าวคำอธิฐานปัดรังควาญ อาหารสุกราวเที่ยวก็กินข้าวร่วมกัน

     กินข้าวเสร็จแล้วก็ไปหาเก็บพืชผักในไร่อีกรอบนำไปวางบนเสื่อที่ปูอยู่ข้างฉางข้าว นำเหล้าที่เตรียมมารินลงแก้วแล้วอธิษฐานจนจบ สมาชิกในครอบครัวก็กินเหล้าและอาหารบนเสื่อนั้นจนหมด แต่ถ้าไม่หมดก็จะนำกลับไปบ้านด้วย

     ก่อนวันแบกข้าวกลับบ้านหรือหลังจากทำพิธีปัดรังควาญฉางข้าวเสร็จแล้วหนึ่งวัน เป็นวันต้องห้ามที่ห้ามสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งคนใดไปที่ไร่ ชาวปกาเกอะญอเชื่อกันว่าวันนี้เป็นวันที่พี่หลวงลงมากินตอข้าว หากมีใครไปไร่จะโดนผีหลวงจับกิน

     ถัดมาอีกวันชาวบ้านจะเริ่มแบกข้าวกลับบ้าน ใครที่ไร่ข้าวอยู่ใกล้บ้านก็จะขนได้เร็ว แต่ถ้าไร่อยู่ห่างออกไปไกลก็จะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะขนเสร็จ

 

     เวลาล่วงเลยเข้ามาถึงกลางเดือนลา ปลือ... (ธันวาคม) ดอกหงอนไก่หลากสีสันทั้งแดง เหลืองและขาว บานสะพรั่งเต็มผืนไร่ ถึงตอนนี้แต่ละครอบครัวแบกข้าวกลับถึงบ้านจนหมดแล้ว

     ช่วงเวลานี้แม่บ้านจะเดินทางเข้าออกไร่เพื่อเก็บพืชไร่นานาชนิดไว้เพื่อทำพันธ์ในปีต่อไป เมล็ดพันธ์บางอย่างจะห่อด้วยผ้า บางอย่างใส่หม้อดิน บางอย่างใส่กระบอกไม้ไผ่ บางอย่างมัดไว้เป็นพวง นำขึ้นตากบนชั้นเตาไฟ ให้ความร้อนจากเตาไฟช่วยทำเมล็ดพันธ์แห้งและป้องกันเชื้อรา แมลงปลวก มอด ที่จะมากัดกิน

     พืชผักที่ยังคงเก็บกินต่อไปได้เรื่อย ๆ อีกหลายเดือนได้แก่ ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา เผือก มัน เมล็ดถั่ว เมล็ดงา แต่พืชผลบางอย่างยังไม่เก็บในช่วงนี้แต่ต้องรอหลังจากนั้น เช่น กล้วย มะละกอ เป็นต้น

     นอกจากเก็บพืชผักแล้ว สมาชิกในครอบครัวก็จะไปช่วยกันเก็บท่อนไม้จากไร่ ที่กองฟาดอยู่ตามขอนไม้ วางฟาดทำรั้ว เพื่อนำมาทำฟืนสำหรับการหุงต้มในครัวเรือนตลอดทั้งปี ฟืนที่นำมาจะถูกตัดเป็นท่อน ๆ กองไว้ใต้ถุนเรือน

     เดือนลาปลือ ต่อกับเดือนเตอะเล สองเดือนนี้ถือเป็นช่วงพักผ่อนของชาวบ้าน บ้างก็ใช้โอกาสนี้ในการซ่อมแซมบ้านเรือน ออกหาเกี่ยวหญ้าคามาซ่อมหลังคา แม่บ้านก็จะปั่นด้ายทอผ้าทำเสื้อ ซิ่น ย่าม ให้กับสมาชิกในครอบครัว บางครอบครัวก็ถือโอกาสไปเยี่ยมญาติต่างหมู่บ้าน บ้างก็ออกป่าล่าสัตว์ หาปูปลามาทำอาหาร

     รอจนเดือนทีแพะมาถึง ก็จะทำพิธีหนี่ซอโข่ เริ่มต้นการผลิตรอบใหม่อีกคราวหนึ่ง

..........................................

 

หมายเลขบันทึก: 292627เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2009 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • มาอ่านเรื่องใกล้ตัว
  • ที่น่าสนใจ
  • ชีวิตสบายๆ
  • ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมาก
  • เหมือนคนในเวียงเจ้า

P สวัสดึครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน

ขอบคุณอีกรอบที่ชอบและสนใจครับ

 

  • จบตอนแล้ว
  • จะมาติดตามอ่านเรื่องอื่นต่อนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ 
  •  
  • โอโห เขียนได้ละเอียดมาก
  • ขนาดมีเพื่อนเป็นปกากะญอ
  • เขายังเล่าไม่ละเอียดแบบนี้ครับ
  • ขอบคุณครับ

P อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง  ครับ

พอดีว่าผมอินกับเรื่องนี้มาก

บวกกับมีมิตรสหาย และผู้เฒ่าที่นับถือชาวปกาเกอะญอจำนวนมากที่ให้ข้อมูล

ที่สำคัญพี่บือพอที่เขียนหนังสือเรื่องไร่หมุนเวียน ที่กรุณาให้ความรู้แก่ผม

ขอบคุณที่ชอบครับ

แวะมาทักทายและมาขอบคุณที่เข้าไปทักทายกันครับ

P สวัสดีครับ นายก้ามกุ้ง

ขอบคุณที่เข้ามาทักทายครับ...

 

เล่าเรื่องราวได้งดงามจริงๆ จินตนาการตามไปเห็นภาพไปด้วยเลยล่ะค่ะ

ดีใจที่เรื่องงดงามอย่างนี้ถูกถ่ายทอดออกมาให้ได้รับรู้กัน และเราต้องช่วยกันหาวิธีสื่อสารให้สังคมได้สัมผัสเรื่องราวด้วยหัวใจ มีความเข้าใจ เห็นความงามแห่งความเรียบง่ายและการอยู่อย่างนอบน้อมต่อธรรมชาติ

เรื่องการทำไร่หมุนเวียนนี้ คนภายนอก คนสมัยใหม่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นวิธีการที่ล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพและทำลายนิเวศสิ่งแวดล้อม ตัวเองได้มาเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรในเรื่องนี้เมื่อได้อ่านหนังสือชื่อ Redefining Nature จำชื่อคนเขียนไม่ได้เสียแล้ว แต่เป็นคนไทยค่ะ

สวัสดีครับ คุณนายดอกเตอร์

ขอบคุณที่แวะมาอ่านและชื่นชมครับ

เรื่องราวดีอยู่แล้ว ผมเพียงทำหน้าที่ถ่ายทอด

ผมอยากให้คนเข้าใจเยอะ ๆ ครับ ความเข้าใจจะนำไปสู่ท่าทีที่ถูกต้อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท