สอนลูกให้เรียนแบบธรรมชาติ....หลักสูตรไหนๆก็ไม่มีปัญหา


มีเพื่อนเก่าแก่สมัยเรียนโรงเรียนเตรียมฯ มาทักทายไต่ถามในบันทึกว่า

"พี่nenและน้องphoong ปรับตัวกับการศึกษาหลักสูตรไทยอย่างไร เพราะเดี๋ยวนี้เด็กไทยกวดวิชาจนไม่มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย"

ทำให้ได้ย้อนกลับไปคิดว่า ลูกชายทั้ง 3 คนในวัย 17, 16 และ 11 ปีนั้น ไม่เคยมีปัญหากับการเรียนรู้ เราพ่อแม่ไม่เคยต้องเคี่ยวเข็นลูกในเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียน การบ้านจากโรงเรียน งานที่คุณครูสั่ง เขาจัดการเรื่องของเขาเองทั้งนั้น ทั้ง 3 คนไม่ได้เรียนพิเศษอะไรเลย และเขาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผลการเรียนก็ไม่ถึงกับดีเด่นมาก แต่ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ชีวิตในแต่ละวันก็ไม่ต้องมีตารางอะไรวุ่นวาย มีงานบ้านให้รับผิดชอบคนละนิดละหน่อย กลับบ้านมาเขาก็ตั้งหน้าตั้งตาทำการบ้าน การงานที่ต้องทำกันเองจนเสร็จเรียบร้อย แล้วก็อยากพักผ่อนด้วยการอ่านหนังสือ (อ่านเล่น) ดูทีวี เล่นเกม (เกมคอมพิวเตอร์เราจะเล่นเฉพาะวันหยุดเท่านั้น...ไม่ได้เป็นกฎแต่ก็ปฏิบัติจนเป็นปกติไปแล้ว) ก็ตามอัธยาศัย

คำถามของเพื่อนน่าจะตอบได้ว่า ทั้ง 3 หนุ่มไม่ได้ลำบากอะไรกับการปรับตัวกับการศึกษาหลักสูตรไทยเลยค่ะ เขาก็เข้ากับระบบการเรียนบ้านเราได้เป็นอันดี มีแต่เราพ่อแม่ที่สงสารลูกในช่วงแรกๆที่เพิ่งกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ เพราะลูกมีการบ้านเยอะเหลือเกิน เย็นลงแทนที่จะได้พักผ่อนจากที่เรียนกันมาหลายชั่วโมง หลายวิชาแล้ว ยังต้องมาก้มหน้าก้มตา"ลุย"กับการบ้านทั้งหลายอีก มีการบ้านน้อยอย่างที่เราเห็นว่าดี นอกนั้นดูแล้วไม่น่าจะได้ผลอะไรในการเรียนรู้ ดูเหมือนจุดหมายก็คือทำให้เสร็จเท่านั้นเอง แต่หลังๆดูเหมือนลูกจะรู้วิธีจัดการกับการบ้า ทำได้เสร็จก่อนที่จะกลับถึงบ้าน เหลือที่ต้องเอากลับมาทำที่บ้านน้อยลง

สิ่งที่ลูกๆพูดถึงกันมากในช่วงแรกๆ คือวิธีการเรียน การสอน วิธีการทำโทษของครูไทย ที่ต่างจากครูที่เขาเคยพบเจอที่ออสเตรเลีย อาจจะเป็นเพราะจำนวนเด็กต่อห้องต่อครูของบ้านเรานั้นเยอะเหลือเกิน ครูเลยเหมารวมไปหมด แต่เมื่อเราพูดคุยให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลที่น่าจะทำให้ครูเป็นแบบนั้น เขาก็ทำความเข้าใจได้ อาจจะเรียนแบบสนุกน้อยลง ถามคำถามน้อยลง (โดยเฉพาะน้องฟุง บอกว่าคุณครูไม่ชอบให้ถามอะไรมากกันทั้งนั้น) เขารู้วิธีว่าเรียนยังไงถึงจะได้คะแนนดี และเท่าที่สังเกตจากน้องฟุง ไม่มีเรื่องอะไรที่เรียนที่โรงเรียนแล้วเขาอยากรู้เพิ่มเติม ต่างจากที่ออสเตรเลียซึ่งเขาจะอยากหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้อ่านเอง แต่ที่นี่ดูเหมือนเขาถูกยัดเยียดเรื่องที่ต้องรู้จนเต็มหัวสมองแล้วที่โรงเรียน เพราะเขาจำได้หมด และไม่เห็นอยากรู้อะไรเพิ่ม ทั้งน้องฟุงและพี่เหน่น ไม่เคยคร่ำเคร่งกับการอ่านหนังสือเลย รวมทั้งตอนสอบด้วย เราก็ไม่เดือดร้อนเคี่ยวเข็นเพราะคะแนนออกมาดีทุกที เราเชื่อในสิ่งที่ลูกบอกว่า "ไม่จำเป็น"(ต้องอ่านหนังสือเรียน) อยู่บ้านเขาอยากอ่านอยากเล่นอะไรอื่นๆก็ตามสบาย เพราะเรารู้แล้วว่าเวลาเรียนที่โรงเรียนเขาตั้งใจเรียน ส่วนพี่วั้นนั้นเป็นคนพิเศษ คือชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหนังสืออะไรๆก็อ่านหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียนหรือไม่ แต่หนังสือเรียนหลายๆเรื่องที่ได้ยินพี่วั้นบอกว่า เขาน่าจะเอาเรียงกันใหม่ จะอ่านได้รู้เรื่องเข้าใจกว่าที่เป็นอยู่ และข้อสังเกตที่พี่วั้นมักจะบ่นให้ฟังบ่อยๆก็คือ เด็กไทยทั่วไปชอบจำมากกว่าคิด บางเรื่องแค่คิดก็แก้โจทย์ได้แล้ว แต่หลายๆคนก็มัวแต่หาสูตรวิธีคิดอยู่ และเพื่อนๆเครียดกันจัง วันๆมีตารางเรียนพิเศษกันเยอะแยะไปหมด (พี่วั้นชอบวิเคราะห์เพื่อนๆให้คุณแม่ฟัง) 

คิดว่าลูกๆปรับตัวได้กับทุกๆสิ่งที่เขาพบเจอ เพราะพื้นฐานที่เราส่งเสริมกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย คือเราเรียนรู้อะไรๆอย่างสนุกสนาน เรียนรู้เมื่ออยากเรียน เราไม่เคยบังคับให้ลูกอ่านหนังสือ ท่องจำหรืออะไรที่เขาไม่อยากทำ แต่เราจะสอนอะไรที่เราอยากสอน ในแบบที่เราคนสอนก็สนุกไปด้วย ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่สนับสนุนการแข่งขัน ลูกได้ที่ 1 ที่ 2 ไม่ใช่เรื่องที่ต้องชื่นชม แต่เราสนใจว่าลูกพัฒนาขึ้นหรือเปล่า เรื่องที่เคยทำไม่ได้หรือยังไม่ดีเป็นยังไง ให้แข่งกับตัวเองให้ดีขึ้นก็พอ ไม่มีอะไรที่ต้องกดดันในเรื่องการเรียน การสอน การสอบ รู้อะไรไม่รู้อะไรถามได้ แลกเปลี่ยนกันได้หมด สอนเพื่อนๆบ้าง เรียนรู้จากเพื่อนๆได้ ไม่มีความโง่ มีแต่ยังไม่รู้ ไม่มีใครรู้อะไรไปหมด นี่คือสิ่งที่เราปลูกฝังกันตลอดมา

อยากสรุปว่า เราพ่อแม่นี่แหละค่ะสำคัญที่สุด ลักษณะการเรียนการสอนแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั้น น่าจะมาจากการเร่งรัดของคณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองนี่แหละ ทำให้โรงเรียนต้องจัดให้เป็นอย่างที่ต้องการ เราเร่งกันไปเสียหมด อัดความรู้ที่ต้องใช้เพื่อการสอบกันตั้งแต่เล็กแต่น้อย กลัวจะสู้คนอื่นไม่ได้ เรียนเพื่อจะสอบและสอบและสอบ ไม่ได้เรียนเพราะอยากรู้ เรียนเพราะสนุกที่จะรู้ อยากให้ลูกมีความสุขและเรียนได้ดีในทุกที่ทุกหลักสูตร ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเรานี่เองค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 231513เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ให้แข่งกับตัวเองให้ดีขึ้นก็พอ

อยากให้ลูกมีความสุขและเรียนได้ดีในทุกที่ทุกหลักสูตร ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเรานี่เองค่ะ 

*****ขอบคุณค่ะ คุณโอ๋*****

 

น้องภู เป็นเด็กพิเศษ ตรงที่ยังไม่เคยเรียนพิเศษเลยค่ะ อิ อิ
ยกเว้นแม่สอนเองแบบ สนุก ๆ เช่น การใช้ลูกคิดจีน การเขียนตัวหนังสือจีนด้วยพู่กัน เพราะเขาขอ อยากเรียน

การเรียนของเขา เรารู้แค่ว่า เขาชอบภาษา และ คอมพิวเตอร์

ไม่ค่อย ไม่เคยดีกว่า เรื่องเอาการบ้านมาทำให้เราเห็น เขาว่าเขาทำเสร็จแล้ว รับผิดชอบตัวเอง เราก็พอใจแล้ว 

แต่เขาชอบอ่านหนังสือมาก จนถึง มากที่สุด

เขาอ่านเพราะตามพ่ออ่าน เขาเห็นตั้งแต่เกิดก็ว่าได้ว่าพ่อ อ่านหนังสือทุกวัน 

มีเรื่องแซวพ่อด้วย เช่น

"แม่ แม่ แม่ ถ้าอยากหลับง่าย ๆ ก็เอา Thesis เรื่อง Leader organization ของพ่อมาอ่านสิแม่ น้องอ่าน แป๊บเดียวง่วงเลย"

"แม่ น้องว่า พ่อคงเข้าใจผิดนะ เขียนรายงานอะไรยาวขนาดเป็นหนังสืออย่างนั้น!!!"

;P

Thesis เรื่อง Leader* organization

พิมพ์ผิด ค่ะ

Leaderships organization ;P

  • อยากให้แม่อ่าน
  • ลูกฟัง
  • แล้วดูพร้อมกันค่ะ

ลิงไม่ไปค่ะตอนนี้ดูได้ แล้วค่ะ

เวลาผ่านไปเร็วจังเลยนะ จากวันนั้นเป็นคุณโอ๋ตัวเล็กเสียงเล็ก วันนี้เป็นDoctorโอ๋คุณแม่ของหนุ่มน้อย3คน จากวันนั้นเป็นคุณNOIตัวกลางๆ วันนี้เป็นหมอNOIคุณพ่อของสาวน้อย2คน สองสาวมาสวัสดีปีใหม่น้าโอ๋ด้วยนะ

เห็นครูปูloadรูปMerry Xmasมา เลยจะloadรูปสองสาวสวัสดีปีใหม่น้าโอ๋มาให้ดู แต่ไม่สำเร็จน่ะ

เรืองการศึกษา เราขอเพิ่มเติมที่ว่า "อยากสรุปว่า เราพ่อแม่นี่แหละค่ะสำคัญที่สุด ลักษณะการเรียนการสอนแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั้น น่าจะมาจากการเร่งรัดของคณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองนี่แหละ "  นโยบายการสอบคัดเลือกและผู้บริหารการศึกษาบ้านเราน่าจะมีส่วนด้วย

ประสบการณืของคุณโอ๋ ในย้อยรอยPhD น่าจะทำเป็น pocket book นะ (เหมือนปุระชัย เขียน ชีวิตนอกบ้าน ในนิวซีแลนด์) มั่นใจว่าสำนวนการเขียนของคุณโอ๋น่าจะมีประโยชน์และเพลิดเพลินด้วย

กำลังจะหาที่เก็บเรื่องลูกคนใหม่ เก็บที่ G2K จะเหมาะไหมครับ

น้องภู ของคุณหมอเล็ก ภูสุภา น่ะ พิเศษแน่ๆค่ะ ความคิดความอ่าน คำพูดคำจา เกินอายุไปเยอะเลยค่ะ

ขอบคุณ อ.Lin Hui ค่ะ ตามไปดูมาแล้วค่ะ สามหนุ่มได้ดูก่อนไปแล้วค่ะ เขาไม่ชอบให้แม่อ่านให้ฟังกันค่ะ เขาอ่านเก่งและเร็วกว่าเยอะ :-)

ขอบคุณน้องครูปูหน้าใส นะคะ สุขสันต์ทั้ง 2 เทศกาลแด่ครูปูเช่นกันนะคะ ขอกอดๆก็แล้วกันนะคะ ไม่ค่อยถนัด...จุ๊บๆ

อยากเห็นสาวน้อยของคุณหมอ NOI จังค่ะ สำหรับหนังสือ ย้อนรอย PhD ถ้าทำแล้วแจกฟรีได้เมื่อไหร่คงคิดจะทำค่ะ ตอนนี้เอาแบบออนไลน์ไปก่อนนะคะ เผลอแป๊บเดียวเวลาก็ผ่านไปตั้ง 20 กว่าปีแล้วเนาะ โอ๋ยังจำ NOI ได้อยู่เลย อยากเห็นจังว่าเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน อิ...อิ...(รูปเล็กไปหน่อยค่ะ เดาไม่ถูก)

ตอบได้เลยว่า เหมาะอย่างยิ่งค่ะ คุณ ปรีดิ์ผาติ (เมื่อไหร่จะเปลี่ยนชื่อจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม คะนี่) เท่าที่ทราบเรามีเรื่องของหนูน้อยที่ค่อยๆเติบโตในพุงโตที่เราคอยเฝ้าติดตามด้วยความรักอยู่ที่บล็อกคุณหมอมัทนา และเรามีน้องต้นไม้ของผู้ให้กำเนิด GotoKnow ที่เราได้เฝ้าดูติดตามด้วยความรักมายาวนานอีกด้วยค่ะ

 

แวะมาเรียนรู้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ยังไม่ประสงค์ออกนามอยู่ดี แม้ G2K จะบังคับก็ตาม

แวะมา

สวัสดีปีใหม่

มีความฝันอะไร

ขอให้เป็นจริงในเร็ววัน

ขอบคุณ krutoi ค่ะที่แวะมาอ่าน บันทึกนี้ยาวหน่อยเพราะพูดถึงระบบการศึกษานะคะ สงสารคุณครูบ้านเรามากๆที่ระบบ (เท่าที่เห็น)ไม่เอื้ออำนวยให้ครูดีๆได้ทำสิ่งที่อยากทำสักเท่าไหร่

เป็น ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม แบบมีสัญลักษณ์ประจำตัวก็เก๋ดีนะคะ รู้สึก G2K ไม่บังคับหรอกนะคะ แค่ขอร้องเพราะเราจะได้อ้างถึงกันได้ถูกคน ไม่งั้นคงมี ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กันเยอะแยะไปหมด...อิ...อิ..
สวัสดีปีใหม่คุณ
ปรีดิ์ผาติ ด้วยนะคะ ขอให้มีความสุขกาย สุขใจมีแรงเลี้ยงลูกคนใหม่อย่างสนุกสนานตลอดปีและต่อๆไปนะคะ เขียนเรื่องลูกเมื่อไหร่แวะมาส่งข่าวให้ได้ตามไปอ่านบ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท