ลานหมู่เฮาแข่วดี ที่ขอนแก่น (44) ชั่วโมงดูแลสุขภาพ ตอนที่ 15 มาตรการป้องกันฟันผุ


การดูแลสุขภาพช่องปาก และสุขภาพร่างกาย เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพราะว่า เราไม่สามารถแยกปากออกมาจากร่างกายได้ ถ้าท่านดูแลสุขภาพช่องปากได้ดี ระบบต่างๆ ของร่างกาย ระบบทางเดินอาหาร การดูดซึม ทุกอย่าง จะดีตามมาด้วย สุขภาพของท่านก็จะดีไปด้วย

 

อ.อชิรวุธ มาบอกอีกครั้งค่ะ ว่า เราควรจะดูแลสุขภาพช่องปากเราอย่างไร ไม่ให้ฟันผุ

ปกติในผู้สูงอายุเองจะมีโรคที่เหมือนกับในหนุ่มสาวเป็นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคฟันผุ โรคปริทันต์ หรือโรคที่เป็นในช่องปาก ซึ่งอาจจะเป็นสูงกว่าคนที่มีอายุน้อยกว่า ... มาตรการในการป้องกันโรคฟันผุ เขาก็จะมีวิธีการง่ายๆ คือ การแปรงฟัน และการใช้วัสดุอุปกรณ์เสริม

เรื่องของการแปรงฟัน หมอฟันอาจจะแนะนำให้ผู้สูงอายุมีแปรงสีฟัน อาจจะมีอันเล็ก และอันใหญ่ แล้วแต่ลักษณะฟันของผู้สูงอายุเองนะครับ ... ถ้าคุณตาคุณยายมีฟันที่ทำสะอาดได้ยาก หรือลึกเข้าไปในช่องปาก แปรงอันใหญ่บางทีจะแปรงได้ไม่ค่อยสะอาด เข้าไม่ถึง อาจจะต้องใช้แปรงอันเล็กๆ เหมือนแปรงเด็กช่วยด้วยอีกอันหนึ่ง ... ผมอยากจะแนะนำให้คุณตาคุณยาย ซื้อแปรงไว้ใช้ 2 อันครับ หลายท่านที่มีความเอาใจใส่มาก ก็อาจใช้หลายๆ อัน สัก 4-5 อัน ก็แล้วแต่แต่ละคน แต่ว่าข้อสำคัญ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสวยงามของแปรง หรือจำนวนแปรงที่มี ขึ้นกับเวลาที่แปรงอยู่ในปากมากกว่า หมายความว่า การใช้เวลาทำความสะอาดที่นานหน่อย ไม่ใช่แปรงแป๊บเดียวเสร็จแล้ว

แต่เท่าที่ผมตรวจฟันผู้สูงอายุมา ถ้าท่านไม่มีปัญหาเรื่องของตา เรื่องของการใช้มือ ... เพราะว่าบางท่านอาจจะเป็นโรคมือสั่น ผมมีคนไข้หลายท่านที่เริ่มมือสั่น ถือแปรงสีฟันแล้วมือจะสั่นมาก ซึ่งจะควบคุมแรงไม่ได้ แต่ขอให้เน้นเน้นว่า เวลาแปรงฟันในปาก ก็ขอให้แปรงที่เดียวกันหลายๆ ครั้งหน่อย แล้วก็ใช้ยาสีฟันไม่ต้องเยอะ เพราะว่าการใช้ยาสีฟันเยอะหรือน้อย ไม่ได้ช่วยให้ผลของการทำให้เกิดฟันผุน้อยลงต่างกัน ขึ้นกับระยะเวลาที่เราแปรงฟันมากกว่า

วิธีการแปรงฟัน ก็แปรงให้ครบทุกด้าน ด้านที่สำคัญจะมีหลักๆ คือ ด้านบดเคี้ยว ด้านที่เราใช้เคี้ยวอาหารประจำ เพราะว่าตามร่องอาจจะมีเศษอาหารติดอยู่ ... แต่คุณตาคุณยายส่วนใหญ่ ปุ่มของฟันมันก็จะไม่เหลือแล้ว (ก็สึกไปไงคะ) เหมือนเขียงแบนๆ เพราะฉะนั้น ไม่ค่อยมีปัญหากับการทำความสะอาดด้านบดเคี้ยว ... แต่มีปัญหาด้านซอกฟันมากกว่า เพราะว่าเหงือกมันร่น พบมีปัญหาเรื่องซอกฟัน ไม้คนฑาเมื่อกี้นี้ ก็ใช้ได้ดีในการทำความสะอาดซอกฟัน แต่ขณะเดียวกันก็อย่าทำรุนแรงเกินไป เพราะไม่งั้นเดี๋ยวเหงือกจะเป็นแผล หรือใช้แปรงกระจุกเดียว ทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน เวลามีเหงือกร่นได้ดีเหมือนกัน ซึ่งหาซื้อได้จากหลายที่แล้ว หรือแปรงซอกฟันเองก็ใช้ได้ดี ลักษณะจะคล้ายแปรงล้างขวด แต่อันเล็ก แปรงซอกฟันจะทำความสะอาดในท่านที่มีเหงือกร่น และซอกฟันกว้างได้ดี และไม่ทำให้เกิดฟันผุบริเวณนั้น แต่ราคาอาจจะแพงกว่าแบบอื่นๆ

ที่เหลือ สิ่งนี้อาจจะยาก คือ การใช้ไหมขัดฟัน ปกติผมจะแนะนำให้คนไข้ที่มารักษาด้วยการขูดหินปูน ใช้ไหมขัดฟันให้เป็น ต้องฝึกเพราะว่าถ้าทำได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะจะช่วยทำความสะอาดฟันได้ดีกว่า ... แต่สำหรับผู้สูงอายุอาจจะไม่ค่อยถนัด ก็ใช้อุปกรณ์ชิ้นอื่นแทนนะคะ

ไม้จิ้มฟัน หลายท่านเชื่อว่า เวลาเหงือกร่น แล้วการใช้ไม้จิ้มฟันลากเบาๆ บริเวณขอบเหงือก ก็จะทำให้เหงือกเต็มขึ้นมาได้นิดหน่อย ถ้าไม่ไปจิ้มแรงๆ แต่ไม่ควรไปจิ้มที่ช่องระหว่างฟันนะครับ เพราะว่าจะทำให้เป็นรูที่กว้างขึ้น

น้ำยาบ้วนปาก อาจจำเป็นในบางรายที่ทำความสะอาดช่องปากได้ยากมาก มาก หรือมีความเสี่ยง เช่น คนที่รับประทานแต่อาหารนิ่มๆ คือ ฟันไม่ดี เช่น ขนมปัง หรืออาหารที่บดแล้ว อาหารก็จะติดฟันได้มาก ยาบ้วนปากก็จะช่วยทำความสะอาดได้

เรื่องข้าวเหนียว การรับประทานดีเหมือนกัน ในแง่ของการเพิ่มแรงบดเคี้ยวบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าเคี้ยวเยอะเกินไป ในคนไข้ที่มีฟันปลอม บ่อยครี่งที่ทำให้ฟันปลอมกระเด็นหลุดออกมา และแตกได้ เพราะฉะนั้นควรระมัดระวังด้วย

การดูแลฟันปลอม บางท่านอาจใส่แบบบางส่วน บางท่านอาจใส่ทั้งปาก วิธีการคือ ก่อนนอนถอดออกมาล้างทำความสะอาด ที่สำคัญที่สุดคือ ด้านใน ด้านที่สัมผัสกับปากเรา ทำความสะอาดโดยใช้แปรงขนอ่อนๆ ปัดเบาๆ และอาจจะแช่น้ำเกลืออุ่นๆ ก็ได้ และจะมีเรื่องของน้ำยาทำความสะอาด ที่เป็นเม็ด สำหรับการทำความสะอาด และใส่ในแก้วน้ำ

... ปัญหาที่ผมเคยเจอก็คือ คุณยายท่านหนึ่งเข้ามาหาหมอฟัน ท่านก็พยายามทำความสะอาดฟันปลอม แต่ว่า อาจจะเป็นเพราะว่ารีบ ก็คิดว่า ในเมื่อเราใส่ฟันปลอมอยู่แล้ว เราก็น่าจะทำความสะอาดได้ในปากเลย คุณยายก็เลยจัดการแบ่งเม็ดฟู่ แล้วก็อมเข้าไปในปาก คือ เม็ดฟู่ นี่ จะช่วยในเรื่องของการกัดพวกคราบสิ่งสกปรกออก เพราะฉะนั้น คุณยายก็ปากเหวอะมาเลยละครับ เพราะว่าอมเม็ดฟู่ไว้ โดยไม่ได้ไปแช่น้ำก่อน ระวังมาก มาก เลยนะครับ ... เรื่องนี้ อย่าทำ

... แม้กระทั่งเวลาแช่เสร็จแล้ว จะเอามาใส่อีกรอบหนึ่ง ก็ควรจะล้างน้ำเปล่าก่อนนะครับ เพราะว่าสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาด จะค่อนข้างแรงนิดหนึ่ง มันทำให้สะอาดจริง แต่ก็กัดเนื้อเยื่อในปากได้ด้วยเช่นกันนะครับ

การตรวจในช่องปาก คือ การตรวจฟัน ตรวจเหงือก ตรวจเนื้อเยื่อนี่ ถ้าท่านตาไม่ดี ที่ผมแนะนำ คือ ในเมื่อเราอยู่ในครอบครัวขยาย เรามีพ่อ แม่ ลูก หลานอยู่ เป็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณตา คุณยาย และหลานๆ คุณตา คุณยายกับลูก โดยผลัดกันตรวจฟันให้กับลูก หลาน และให้ลูก หลานช่วยตรวจฟันคุณตา คุณยายได้ด้วย ก็จะช่วยให้มีการปฏิสัมพันธ์ มีการพูดคุยกัน และมีการดูแลซึ่งกันและกัน เรื่องความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวด้วย ที่ผมแนะนำมากมาก

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรจะครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่หวานจัด ยกเว้นแต่กรณีที่ท่านที่ได้ทราบว่า รับรสหวานได้น้อยลง ก็ควรจะระวัง ยังจำได้สมัยที่คุณยายทวดผมยังมีชีวิตอยู่นะครับ คุณยายทำกับข้าวเก่งมาก แต่เวลาที่รับประทานอาหารแต่ละที คุณยายจะชอบบ่นที่บ้านว่า เอาน้ำตาลขโมยไปไหนหมด เพราะว่า ตัวคุณยายจะใส่น้ำตาลเยอะ เพราะว่าคุณยายไม่รู้รสหวานแล้ว ก็เลยเอากระปุกน้ำตาลไปซ่อน ก็มีการทะเลาะกันเป็นประจำ ว่า ทำไมน้ำตาลหายไป มาขี้เหนียวน้ำตาลกันตอนแก่หรือยังไง คุณยายก็จะงอนบ้างครับ ... เพราะว่า เพื่อความมีสุขภาพที่ดี ก็ต้องเอาน้ำตาล และเกลือไปเก็บก่อน

ที่สำคัญคือ ควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำด้วยนะครับ

เรื่องเคี้ยวหมาก เลิกยากจริง แต่ก็เลิกได้นะครับ ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะเลิก ก็จะเลิกได้ ... ย่าลืมแนะนำว่า ให้คนไข้เคี้ยวหมากให้น้อยลง เพื่อลดการเป็นมะเร็ง

การดูแลสุขภาพช่องปาก และสุขภาพร่างกาย เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพราะว่า เราไม่สามารถแยกปากออกมาจากร่างกายได้ ถ้าท่านดูแลสุขภาพช่องปากได้ดี ระบบต่างๆ ของร่างกาย ระบบทางเดินอาหาร การดูดซึม ทุกอย่าง จะดีตามมาด้วย สุขภาพของท่านก็จะดีไปด้วย ถ้าท่านดูแลสุขภาพร่างกายดีแล้ว โรคบางโรคในช่องปากก็จะหายไป เพราะฉะนั้น สุดท้าย ก็ขอให้คุณตาคุณยายทุกๆ ท่าน ดูแลสุขภาพร่างกาย และสุขภาพช่องปากให้ดี และดูแลซึ่งกันและกัน และดูแลด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ให้คนในครอบครัวของท่าน ช่วยดูแลสุขภาพช่องปากของท่านด้วย ก็จะเป็นการสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวได้ดีมากเลยครับ

รวมเรื่อง "ลานหมู่เฮาแข่วดี" ที่ขอนแก่น

  

หมายเลขบันทึก: 175936เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2008 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท