การส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปาก (2) ความก้าวหน้าของโครงการ


 

ทพญ.สุปราณี นำข่าวเล่าเรื่องความก้าวหน้าของ โครงการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากตามชุดสิทธิประโยชน์ ที่เริ่มทำกันมาในปี 2551 ละค่ะ

จากที่ว่าประเทศไทยก้าวสู่ภาวะประชากรสูงอายุ ก็คือ มีผู้สูงอายุมากกว่า 10% ของสัดส่วนประชากรทั้งหมด ขณะนี้ 60 ปีขึ้นอยู่ที่ 10.7% และคาดการณ์ว่า ปี 2563 จะอยู่ที่ 16.8% ขณะที่วัยอื่น 0-5 ปี 6-14 ปี 15-24 ปี ลดลงเรื่อยๆ และในอนาคต แท่งของ 25-59 ปี ก็กำลังจะเป็นผู้สูงอายุ ก็คงจะเพิ่มขึ้นอีกแน่ๆ จึงเป็นวัยที่เราควรจะเตรียมการรองรับต่อไป

ขณะนี้ รัฐบาลได้เริ่มนโยบายเมืองไทยแข็งแรง คนไทยแข็งแรงขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งจะมุ่งไปที่ให้ประชาชนอายุ 80 ปี อยู่อย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้น พวกเราคงต้องเตรียมการว่า จากอายุ 60 ไปถึง 80 ปี นี่ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีคุณภาพตามนโยบายนั้น

เรื่องของสุขภาพช่องปากมีความสัมพันธ์กับสุขภาพ และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จากข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพครั้งที่ 5 (พ.ศ.2543-2544) พบว่า การสูญเสียฟันยังคงเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งปาก และการสูญเสียฟันทั้งปากเพิ่มขึ้น

ส่วนของฟันที่ร้อยละ 96 มีฟันผุ (การสำรวจครั้งที่ 6 กลายเป็นร้อยละ 98) โรคปริทันต์ร้อยละ 62 (แต่ครั้งที่ 6 บอกว่า ร้อยละ 80 กว่า) ยิ่งทำให้โอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สรุปว่า สถานการณ์สุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุก็ยังมีความรุนแรงอยู่

ทางด้านสุขภาพ ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีโรคเรื้อรัง และผนวกกับความเสื่อมอื่นๆ ของผู้สูงอายุไม่ว่า เรื่องหู ตา ความดันสูง ก็ทำให้การเกิดโรคในช่องปาก หรือการดูแลตัวเอง เป็นปัญหาที่เราจะต้องสื่อสารให้ผู้สูงอายุได้รับรู้ สื่อสารกันด้วยวิธีไหน ที่จะรับรู้ และเข้าใจ

การรับบริการของผู้สูงอายุในปัจจุบัน ผู้สูงอายุจะได้รับบริการด้านรักษาจากหน่วยบริการ และได้รับการฟื้นฟูสภาพ ตามระบบของการใส่ฟันเทียม ในโครงการฟันเทียมพระราชทาน ในหน่วยบริการเกือบทุกแห่ง และบางจังหวัดก็จะมีการส่งต่อผู้สูงอายุในหน่วยงานของเขาเอง

ในด้านของการส่งเสริมป้องกัน จะมีกำหนดในชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 เรื่อง ก็คือ (1) การตรวจสุขภาพช่องปาก (2) การแนะนำด้านทันตสุขภาพ (3) การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อรากฟันผุ และ (4) การขูดหินน้ำลาย (Maintenance phase) แต่ปรากฎว่า ยังไม่เกิดการจัดบริการให้กับผู้สูงอายุในระบบบริการปกติ เราจึงมาช่วยกันหาวิธีการว่า จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีสิทธิตามชุดสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ควบคู่กับการรักษา และฟื้นฟูสภาพ

จากการติดตามดูในพื้นที่ เกิดการปรับระบบเพื่อให้บริการส่งเสริมป้องกันในหลายๆ รูปแบบ

... มีบางจังหวัดที่ทำเรื่องการสร้างกระแสให้ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของทันตสุขภาพ
... มีการพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลของผู้สูงอายุ ไปฝึกให้ผู้สูงอายุฝึกแปรงฟัน หรืออื่นๆ
... รวมทั้งมีบางแห่งที่เลยไปถึงว่า ไปทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งก็มีแล้ว

ในส่วนของการปรับระบบบริการ ก็ปรากฎว่า ไม่ได้ทำแค่หน่วยบริการเท่านั้น กลายเป็นว่า สามารถพัฒนาและครอบคลุมไปได้ทุกส่วน ที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการได้มากขึ้น มีการเชื่อมต่อ และพัฒนากิจกรรมระหว่างหน่วยงาน

ก็คือ การบริการปกติ คือการรักษา และใส่ฟันโดยทันตบุคลากร เราทำแล้ว และมีโครงการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเอง โดยชมรมผู้สูงอายุ ก็มีการพัฒนารูปแบบให้เห็น และมีการจัดมหกรรมการประชุมแลกเปลี่ยนไปแล้วให้เห็น ว่า ทำอย่างไร มีวิธี แนวทาง ที่จะทำได้อย่างไรบ้าง ... และพอมาถึงตรงการตรวจสุขภาพช่องปาก ซึ่งเป็นเรื่องของชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมป้องกัน เราก็มีการไปเชื่อมกับสิ่งเหล่านี้ได้ ก็พบว่า CUP กับ PCU เมื่อได้ไปติดตามงาน มีเหมือนกันที่ว่าบางแห่งทำโดย CUP บางแห่งทำโดย PCU ก็คงจะเป็นสิ่งที่เราจะต้องร่วมกันพัฒนาต่อไป

กรมอนามัยมีการบูรณาการแล้ว ในปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาระบบบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ในเรื่อง Long Term Care ที่จะดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังว่าจะดูแลระยะยาวอย่างไร เพื่อไม่ให้ acute ขึ้นมา และต่อด้วยเรื่องของ Home Health Care ว่า เมื่อผู้สูงอายุไปอยู่ที่บ้านแล้ว จะต้องดูแลสุขภาพอย่างไร เราก็เติมลงไปในเรื่องสุขภาพช่องปากด้วย พยายามจะรวมกัน และพัฒนาบุคลากร อาสาสมัครเพื่อการสร้างความมีส่วนร่วมร่วมกัน

กิจกรรมสำคัญของโครงการร่วมมี 2 โครงการ คือ (1) การเสริมสร้างระบบบริการการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน ปี 2551 และ (2) การส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากกลุ่มผู้สูงอายุ ตามชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2551

เรื่องการคัดกรองโรคเรื้อรัง เขาคัดกรอง 3 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และสมองเสื่อม และก็ได้พ่วงของเราเข้าไปด้วย คือ ทันตสุขภาพ ในแบบคัดกรองโรคเรื้อรังที่ฝ่ายส่งเสริม ของแต่ละจังหวัดได้ไป เขาก็จะได้ชุดคัดกรอง 3 โรคนี้ และเรื่องการคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยง เรื่องทันตสุขภาพพ่วงไปเรียบร้อยแล้ว

โครงการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากกลุ่มผู้สูงอายุ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2551 มีวัตถุประสงค์ คือ
1. พัฒนารูปแบบ/ระบบบริการส่งเสริม ป้องกันโรคในช่องปาก ตามชุดสิทธิประโยชน์
2.  สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ องค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  และองค์กรพัฒนาเอกชน

พื้นที่ดำเนินการของเราจะมี ศูนย์อนามัยที่ 1 และ 11 และ 20 จังหวัด รวม 120 หน่วยบริการ ที่สระบุรี ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ราชบุรี นครนายก นครปฐม สมุทรสาคร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคาย ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ กำแพงเพชร เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย สุราษฎร์ธานี กระบี่ สตูล ตรัง
ส่วนงบประมาณปีที่แล้ว ก็ไปลง Area-based ใน 2 หมวด คือ การจัดบริการป้องกันตามชุดสิทธิประโยชน์ และการสนับสนุนชมรมผู้สูงอายุ ที่บอกว่า 5,000 บาท แต่เมื่อมีการเบิกใช้ก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

ความก้าวหน้าของโครงการ ส่วนกลางได้สนับสนุนการจัดบริการ โดยมีการดำเนินงาน คือ

  • จัดประชุม และทำคู่มือการดำเนินงานให้กับทุกจังหวัด
  • จัดประชุมเชิงปฏิบัติการวันที่ 21-22 เมษายน 2551 เรื่อง การฟื้นฟูความรู้ และประสานงาน
  • สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์
    o แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ตามเป้าหมาย
    o ไหมขัดฟัน 60% ของเป้าหมาย
    o แปรงซอกฟัน 20% ของเป้าหมาย
  • การพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูป (รวมกับฟันเทียม)
  • การนิเทศ ติดตาม (สุ่มภาคละ 1 จังหวัด)
  • การประชุม ติดตาม และสรุปผล

ในส่วนพื้นที่ก็ได้มีการพัฒนารูปแบบ และแนวทางการดำเนินงานไปแล้ว เท่าที่ได้ไปติดตามจังหวัดต่างๆ 4 จังหวัด และจากที่สอบถามกับน้องๆ บางแห่ง เราก็จะได้ข้อมูลมาบ้างว่า

  • ส่วนใหญ่เริ่มดำเนินการแล้ว
  • เป้าหมายในการจัดบริการเพื่อผู้สูงอายุต่างกัน ในแต่ละจังหวัด / บุคคล บางคนก็ตั้งเป้าว่าจะต้องจัดระบบบริการให้เข้าที่ก่อน บางคนก็ไปตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุรับรู้ ผู้สูงอายุเป็นแกนนำ เราจะมีเป้าหมายที่ต่างกัน ซึ่งขึ้นกับแต่ละจังหวัด แต่ละหน่วยบริการ ซึ่งเรามีความพร้อมอย่างไร
  • รูปแบบ/ระบบไม่เหมือนกัน อยู่ที่ตามความเป็นไปได้ของจังหวัด การบริหารจัดการ การเชื่อมโยงระบบของจังหวัด
  • หน่วยบริการบางแห่งเป็น PCU ก็จะดำเนินการโดย จพง.ทันตฯ บางแห่งเป็น รพช. ก็อาจเป็น จพง.ทันตฯ หรือทันตแพทย์ ก็แล้วแต่ แต่ว่าส่วนใหญ่ เราพบว่า ไม่เกิดเรื่องนี้ใน รพศ. / รพท. เลย
  • ผู้ปฏิบัติส่วนหนึ่งมีการดำเนินงานตาม output มีการตรวจ แนะนำ ขูดหินปูน เรื่องฟลูออไรด์วาร์นิช ก็ทำไปก่อน เพราะยังอยู่ในช่วงของการพัฒนารูปแบบ แต่ยังไม่ได้คิดถึง outcome
  • แหล่งงบประมาณต่างกัน เช่น บางคนของบฯ Area-based ไม่ได้ ก็ไปของบฯ บริหารของ สสจ. บางคนก็ไปขอเงินกองทุนตำบล ก็เลยเป็นที่มาว่า "พวกเราก็เก่ง เพราะว่าพอลงไปถึงพื้นที่ก็เอาตัวรอดกันได้ หาทางทำงานให้ได้ ตามแหล่งงบประมาณที่ต่างกัน"

ความต่อเนื่องปี 2552 ... ตอนนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างการของบฯ Vertical Program เพื่อนำมาเป็นงบประมาณของสิ่งสนับสนุน และการสนับสนุนโครงการ PP 52

  1. งบฯ บริการในชุดสิทธิประโยชน์ UC อยู่ใน express demand
  2. งบฯ ภาคประชาชน (ชมรมผู้สูงอายุ) ใน Community based
  3. งบฯ สนับสนุนส่วนกลาง : National program
  4. Model Development ควรสิ้นสุดและเข้าสู่ระบบปกติใน 3 ปี

โครงการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากตาม PP 52 ... ควรจะทำอย่างไร

  1. พัฒนาและปรับแนวทาง/คู่มือการดำเนินงาน
  2. ขยายพื้นที่ ตามขีดความสามารถของจังหวัด
    ... จังหวัดเดิม : ทั้งอำเภอ/ทั้งจังหวัด
    ... เพิ่มจังหวัดที่สนใจ
  3. เตรียมการประเมินผลโครงการในภาพรวม ปี 2553
  4. พัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย

ทั้งหมดนี้ ก็สามารถใช้เป็นแนวทางของการดำเนินงานได้นะคะ

รวมเรื่อง การส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปาก 7-8 สค.51

 

หมายเลขบันทึก: 201615เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2008 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท