ลปรร. กิจกรรมทันตฯ ชมรมผู้สูงอายุภาคใต้ (8) เมื่อ สตูล ทำกิจกรรมผู้สูงอายุ


โครงการเครือข่ายผู้สูงวัยร่วมใจดูแลสุขภาพช่องปาก โดยชมรมผู้สูงอายุ จ.สตูล ปี 2551

 

ภาพงานผู้สูงอายุของจังหวัด คุณเสรีมาเล่าให้เราฟังค่ะ ว่า เธอได้เริ่มกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปาก กันอย่างไร เธอบอกกับเราว่า

จังหวัดสตูลมีประชากรไม่มาก เป็นจังหวัดเล็กๆ ประชากรประมาณ 280,000 คน มีผู้สูงอายุประมาณ 30,000 คน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น และมีชมรมผู้สูงอายุ 68 ชมรม มีสมาชิกประมาณ 6,000 กว่าคน มีสาขาสภาผู้สูงอายุ 1 สาขา  รพ. 6 แห่ง จาก 7 อำเภอ สถานีอนามัย 54 แห่ง แต่มีทันตาฯ 10 แห่ง เท่านั้นเอง

ที่มาของโครงการก็คือ เราได้อาสาทำงานใน 2 โครงการ คือ โครงการชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม ซึ่งตอนแรกเราไม่รู้ว่า ชุดสิทธิประโยชน์คืออะไร มีแต่รู้จักฟันเทียมพระราชทาน รวมกับอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการส่งเสริมสุขภาพ หรือชมรมต้นแบบผู้สูงอายุ

เราก็งง งง อยู่พักใหญ่ คิดว่า ทำไงดี ... ก็คิดอยู่คนเดียวมันเวียนหัว ก็เลยเรียกทีมดีกว่า มาประชุมคณะทำงาน มีกลุ่มงานส่งเสริมฯ ของ สสจ. เป็นที่ปรึกษาชั้นเยี่ยมเลย เพราะว่าน้องเขาทำงานผู้สูงอายุ เพราะว่าเขาทำงานอื่นในกลุ่มผู้สูงอายุมานานแล้ว แต่ทันตฯ ยังไม่เคยลงไปทำ เพียงแค่ไปทำในคลินิกเบาหวาน หรือคลินิกต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้ทำในรูปแบบที่แน่ชัด ... เราก็ไปศึกษากับฝ่ายส่งเสริมฯ ที่เขาทำมาแล้ว คุยกัน ได้ข้อมูลจากน้องมากมาย ... เราก็เริ่มทำงานได้

และอีกทีมหนึ่ง คือ ผู้สูงวัยในสาขาสภาผู้สูงอายุเป็นที่ปรึกษาที่ดี เพราะเขามีผู้รู้ ผู้ชำนาญอยู่เยอะ เราจึงได้ที่ปรึกษาช่วยทำงานมากขึ้น

สำหรับเครือข่ายบริการสาธารณสุขของเรา ตอนแรกเรารับสมัครให้เครือข่ายเข้ามาดำเนินการโครงการนี้ เราก็ไม่ได้บอกรายละเอียดอะไร แต่บอกว่า ช่วยกันทำกันหน่อย ในที่สุดก็มีคนสมัคร ... โดยคิดกันว่า 2 โครงการนี้ เอารวมกันไปเลยดีกว่า อย่าคิดว่าเป็นของใคร จึงรวมกันเป็น โครงการเครือข่ายผู้สูงวัยร่วมใจดูแลสุขภาพช่องปาก โดยชมรมผู้สูงอายุ จ.สตูล ปี 2551 ... เน้นการทำกิจกรรมโดยชมรมผู้สูงอายุ ... วัตถุประสงค์ก็คือ

  • เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ
    - สร้างสุขนิสัยในการดูแลความสะอาดช่องปากแก่ผู้สูงอายุ
    - จัดระบบบริการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากตามความจำเป็น
  • สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

กลุ่มเป้าหมายสมัครใจ 4 แห่ง 4 ชมรมฯ ก็คือ

  1. ชมรมผู้สูงอายุ ม.4 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.สตูล จำนวน 80 คน
  2. ชมรมผู้สูงอายุเทศบาล ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล จำนวน 120 คน
  3. ชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลควนกาหลง จำนวน 100 คน
  4. ชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลทุ่งหว้า จำนวน 80 คน

กิจกรรมหลัก

  • ตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อคัดกรอง และให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปาก
  • ฝึกทักษะการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองได้
  • ใช้ฟลูออไรด์วานิช เพื่อป้องกันรากฟันผุในกลุ่มเสี่ยงการเกิดโรคฟันผุสูง
  • ขูดหินน้ำลายและทำความสะอาดฟัน
  • พัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุ ในการจัดกิจกรรมให้สมาชิกสามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง

กิจกรรมสนับสนุน

  • สสจ. จัดประชุมชี้แจงโครงการ
  • เครือข่ายบริการสาธารณสุข จัดอบรมกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากแก่ชมรมผู้สูงอายุ
  • ชมรมผู้สูงอายุจัดกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปาก เพื่อเป็นแบบอย่าง และถ่ายทอดประสบการณ์ไปยังเครือข่ายอื่นๆ

การสนับสนุน เราได้รับการสนับสนุนเรื่องแนวทางการดำเนินงานจากกองทันตฯ และ งบประมาณจาก งบ PP area based และ ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ผู้สูงอายุได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปาก
  2. ผู้สูงอายุได้รับบริการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปาก ตามชุดสิทธิประโยชน์กลุ่มผู้สูงอายุ
  3. ได้รูปแบบการจัดระบบบริการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปาก จากชมรมผู้สูงอายุ

ตัวชี้วัด

  1. ผู้สูงอายุได้รับการตรวจและลงบันทึกข้อมูล ร้อยละ 70
  2. ผู้สูงอายุได้รับการทาฟลูออไรด์วานิช ร้อยละ 20
  3. ผู้สูงอายุได้รับการขูดหินน้ำลาย ร้อยละ 60
  4. ได้รูปแบบการจัดระบบบริการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปาก จากชมรมผู้สูงอายุ

ตอนที่ทำตัวชี้วัด ก็ไม่มั่นใจว่า จะทำได้สำเร็จหรือไม่ แต่ในที่สุดผลงานของเราก็เป็นที่น่าพอใจ

มีเรื่องของการขูดหินน้ำลาย ตอนแรกคิดว่าง่ายนิดเดียว แต่ว่าผู้สูงอายุไม่มีฟันที่จะให้ขูดแล้ว และผู้สูงอายุก็กลัว ไม่กล้าทำ และนัดแล้วก็ไม่มา

หลังจากแต่ละชมรมไปทำกิจกรรมแล้ว จังหวัดก็ได้ทำการประชุม ลปรร. เพื่อให้แกนนำผู้สูงอายุที่ไปทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชมรมฯ มา ลปรร. กันว่า เป็นอย่างไรบ้าง ทั้ง 4 ชมรมฯ มีการแสดงจาก โรงเรียน มีแกนนำผู้สูงอายุที่มาเสนอผลงาน ... จากที่เราไม่ได้คาดหวังว่า เขาจะนำเสนอได้ ก็พบว่า เขาเก่งมาก กิจกรรมนี้ คือ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปาก โดยชมรมผู้สูงอายุ วันที่ 20 สค.51

วันที่มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ละค่ะ

ชมรมผู้สูงอายุผู้สูงอายุต้นแบบ ที่ทำกิจกรรม มี 4 ชมรม ได้แก่

1. ชมรมผู้สูงอายุ ม.4 ต.บ้านควน  อ.เมือง จ.สตูล

เป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นชมรมฯ ที่ No name ไม่มีผลงาน ไม่มีอะไรเลย แต่ว่าน้องที่ PCU และทีมงาน อยากทำ และก็สามารถทำให้กิจกรรมชมรมฯ เด่นขึ้นมาได้ เพราะว่าชมรมบ้านควนเป็นมุสลิม 100% ลงงานยาก และผู้สูงอายุจะใช้ภาษายาวี 100% ต้องมีล่ามช่วย ก็คือ หัวหน้า สอ. ซึ่งสามารถพูดภาษายาวีได้ ได้มาช่วยตลอด

มีการให้ความรู้รวมกลุ่มกันที่มัสยิด ให้ชมรมฯ มาพูดคุยกัน หัวหน้า สอ. เป็นคนแปลภาษา มาช่วยให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก

กิจกรรมที่สำคัญ

  • ให้บริการรักษาแก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ขูดหินน้ำลาย อุดฟัน แก้ไขฟันปลอม ตัดแต่งเหงือก ถอนฟัน ทาฟลูออไรด์
  • ฝึกการแปรงฟัน และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ มีการย้อม plaque ก่อนที่จะมีการแปรงฟัน พร้อมกันที่มัสยิด ทั้งหญิงชาย
  • กิจกรรมที่เขาได้คิดกันขึ้นมา คือ การแปรงฟันของผู้สูงอายุ ก่อนการละหมาดทุกวันศุกร์ ผู้สูงอายุคิดเองทำเอง และสามารถที่จะดำเนินการได้ด้วย
  • กิจกรรมหาผู้สูงอายุที่มีสุขภาพฟันดี ซึ่งหัวหน้า สอ. เป็นแกนนำลงไปทำ

และเขาก็ได้คิดกิจกรรมที่จะทำต่อไปในอนาคต และเขาก็ต้องการให้ขยายเครือข่ายไปที่ชมรมอื่นๆ ด้วย โดยจะเอาแกนนำไปขยายเครือข่ายต่อ และอยากให้ผู้สูงอายุเพื่อนๆ ของเขาได้รับประโยชน์ด้วย และจะมีการขยายเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพ ไปในกลุ่มก่อนสูงอายุ ถึง 59 ปี ... เพราะฉะนั้น โครงการของบ้านควน ก็เลยพยายามเจาะเข้าไปในกลุ่มก่อน 60 ปี เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัย

2. ชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลกำแพง อ.ละงู จ.สตูล (ชมรมไท้เก็ก)

เป็นชมรมเมือง อยู่ในเขตเทศบาล และเป็นชมรมที่เข้มแข็งมาก แต่ว่าชมรมที่เข้มแข็งก็มีงานเยอะมาก ทำให้เราต้องเข้าคิวเพื่อทำกิจกรรม

  • ชมรมที่ละงู มีประธานให้ความรู้เรื่องทันตสุขศึกษา ที่บ้านของประธาน โดยเปิดให้การปรึกษาตลอดเวลา และเวลามีกิจกรรมต่างๆ ประธาน และคณะกรรมการจะให้ความสำคัญมาก ในเรื่องของการดูแลสุขภาพช่องปาก ทั้งในรถทัวร์ รถเมล์
  • เป็นการทำงานบูรณาการร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไปของผู้สูงอายุ และตรวจสุขภาพช่องปาก ตามชุดสิทธิประโยชน์ด้วย

 

กิจกรรมที่สำคัญ

  • จัดทำโครงการ "ฟันดีที่บั้นปลาย"
  • ให้ความรู้สมาชิกก่อนการออกกำลังกาย (ไท้เก็ก) เวลา 05.30 น.
  • ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์โครงการ
  • ให้คำปรึกษาและพบปะสมาชิกที่บ้านประธานชมรมตลอดเวลา
  • ตรวจสุขภาพทั่วไป แก่สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ
  • ตรวจสุขภาพช่องปากแก่ชมรมผู้สูงอายุ

 

3. ชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล

มีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับโล่รางวัลมากมาย รวมทั้งได้รับผู้สูงอายุดีเด่น เราก็คิดว่า งานทันตฯ ของเราเข้าไปไม่ล้มแน่นอน และกิจกรรมของ รพ.ควนกาหลง ก็ไม่ถึงกับต้องเข้าคิว แต่ต้องรอเวลา กว่าจะทำกิจกรรมได้ ในที่สุดก็สอดแทรกตัวเขาไปได้ โดยคุณหมอเบิร์ดจาก รพ.ควนกาหลงเป็นผู้ประสาน 

กิจกรรมที่สำคัญ

  • จัดทำโครงการ "การตรวจสุขภาพในช่องปากและกิจกรรมการส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ"
  • ประชุมให้ความรู้โดยทันตบุคลากร เดือนละ 1 ครั้ง
  • แปรงฟันพร้อมกันเดือนละ 1 ครั้ง
  • คัดเลือกผู้สูงอายุที่มีสุขภาพช่องปากดี มาเป็นตัวอย่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลทันตสุขภาพ

การแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในชมรมผู้สูงอายุ เขานัดกันเดือนละ 1 ครั้ง มาเจอกัน และผู้สูงอายุของควนกาหลงมาเยอะมาก 200-300 คน แต่มีสถานที่ให้แปรงฟันได้ 100 คน

ผู้สูงอายุบางคนก็บอกว่า ... อะไรอยู่กันไม่รู้ตั้งกี่ปีแล้ว เพิ่งมาแปรงฟันหลังอาหารที่ควนกาหลง นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่เราเริ่มด้วยกัน

บางคนก็บอกว่า นี่ ยังไม่เคยแปรงฟันเลยตั้งแต่เกิด ... นี่ละค่ะ ที่คุยกับผู้สูงอายุ เขาก็บอกว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีการแปรงฟันหลังอาหาร ก็ย่างเข้าไป 70 ปี แล้ว ก็ไม่เป็นไรนะคะ ยังไม่สาย

4. ชมรมสุดท้ายที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ก็คือ ชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

กิจกรรมที่สำคัญ

  • จัดทำโครงการ "ผู้สูงวัยไม่กินหวาน"
  • รณรงค์ในโอกาสพิเศษต่าง ฯ
  • ให้ความรู้ทางเสียงตามสายของเทศบาล/รพ.
  • ประชาสัมพันธ์บอกต่อ ปากต่อปาก
  • ดำเนินงานเชิงรุกในชุมชนต่าง ๆ

ดูภาพกิจกรรมแปรงฟัน และให้ความรู้กันค่ะ

ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ ซึ่งเป็นความสำเร็จเมื่อเริ่มต้น ยังไม่ใช่ความสำเร็จของโครงการ

  • ที่สำคัญก็คือ ... ทีมงานทุกระดับ มีความเข้มแข็ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พูดเป็นเรื่องเดียวกันในทุกระดับ เข้าใจตรงกัน สามารถทำงาน ช่วยเหลือแก้ไขปัญหากันได้
  • คณะกรรมการสาขาสภาผู้สูงอายุประจำจังหวัด เป็นบุคคลที่สำคัญ เป็นที่ยอมรับของผู้สูงอายุในจังหวัด เพราะว่าได้รับการคัดเลือกมาจากชมรมผู้สูงอายุต่างๆ เขาพูดอะไร คิดอะไร ทำอะไร ส่วนมากชมรมผู้สูงอายุก็จะเห็นด้วย คล้อยตาม เพราะเขาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ เพราะว่าจะเป็นนายอำเภอเก่า ปลัดอำเภอเก่า ครูเก่า อาจารย์ระดับซี 8, 9 ก็จะมีแนวทาง มีความคิด ที่ดีดีให้เราเยอะแยะมากมาย จะให้แนวคิด จุดประกาย ให้แนวทางกับเราที่ดีมาก
  • แกนนำชมรมผู้สูงอายุ เป็นตัวไปผลักดันกิจกรรมของเราให้เกิดขึ้นได้ แกนนำชมรมผู้สูงอายุจะเป็นศูนย์ฯ รวมของผู้สูงอายุทั้งหมด เข้าใจ สามารถที่จะทำงานเราได้
  • ความร่วมมือของชุมชน ที่สำคัญก็คือ อสม. มีส่วนช่วยผลักดันให้งานของเราสำเร็จได้
  • งบประมาณ เงินมาก็งานเดิน ถ้าไม่มีเงิน งานก็ไม่มี

ข้อเสนอแนะ

  • ต้องทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งชมรมฯ และเครือข่าย
  • นิเทศติดตาม เสนอแนะ สม่ำเสมอ ทั้งชมรมฯ จังหวัด และศูนย์อนามัย
  • สนับสนุนงบ ฯ ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สูงอายุ ... ผู้สูงอายุบอกว่า เขามีการ ลปรร. ภายในจังหวัด เขาก็มีการแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น แต่ถ้าได้ข้ามจังหวัด หรือสู่ระดับประเทศ ก็จะดีขึ้นมาก
  • ประชุมสัมมนาแกนนำผู้สูงอายุ เอาแต่ละจังหวัด มา ลปรร. กัน เพื่อให้มีกำลังใจ และมีความคิดใหม่ๆ

ปัญหาอุปสรรค

  • ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวมากมาย ... ผู้สูงอายุที่นี่ยังทำงานอยู่ ก็คือรับจ้างเฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน ไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่บ้าน ถ้าไม่อยู่บ้านก็ไม่มีใครเลี้ยงหลาน ผู้สูงอายุก็เลยบอกว่า ไม่ค่อยมีเวลาเลย
  • ปัญหาการเดินทาง เพราะว่าผู้สูงอายุเดินทางมารวมกลุ่ม หรือมารับบริการที่สถานพยาบาล ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องให้ลูกหลานพามา
  • ปัญหาด้านภาษา ส่วนมากเป็นภาษายาวี ก็ต้องหาเครือข่ายที่พูดภาษายาวีอยู่
  • ปัญหาด้านทัศนคติ ผู้สูงอายุส่วนมากคิดว่า ฟันคนแก่ ปล่อยไปตามอายุขัย แก่แล้วก็แก่เลย ฟันก็ไปตามอายุ ไม่มีใครจะเอาฟันไปได้ตลอดชึวิต เขาก็ปล่อยกันไป ตรงนี้ค่อนข้างเปลี่ยนยาก

สำหรับความรู้สึกต่อกิจกรรมผู้สูงอายุที่ได้ทำนี้ คุณเสรีบอกว่า

ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่า โครงการจะไปในทิศทางไหน เมื่อมีความชัดเจนเรื่องของการทำโครงการก็ดีใจกับทุกๆ ท่านที่ได้ทำ และผู้สูงอายุเองก็มีความจริงใจ เพราะว่าไม่ถูกทอดทิ้ง หรือไม่ถูกลืม และตอนนี้เราก็เข้าสู่ช่วงผู้สูงอายุ ก็จะเข้าถึงความรู้สึกนั้นจริงๆ ก็จะเข้าใจผู้สูงอายุ สามารถจะทำงานได้ด้วยความเข้าใจ แต่ก็อาจจะไม่ใช่ เพราะว่า น้องๆ ใน CUP ก็ยังหน้าตาละอ่อนกันอยู่เลย ก็ได้ทำงานในเรื่องของผู้สูงอายุได้ เพราะว่าผู้สูงอายุจะเข้าใจในคนที่ต่างวัยได้ดี เพราะเขาจะอยู่กับลูกกับหลาน และจะเข้าใจหลาน ลูกไม่ค่อยเข้าใจพ่อแม่ แต่หลานจะเข้าใจพ่อแม่ได้ดีกว่า เพราะฉะนั้น ในเรื่องวัยต่างๆ ก็ต่างกันเยอะ แต่ก็สามารถจะทำงานได้ โดยเฉพาะน้องที่อยู่ในพื้นที่ ที่จบมาไม่กี่ปี ก็สามารถที่จะทำงานให้กับผู้สูงอายุ และก็จะเข้าใจ เข้าถึงผู้สูงอายุได้ดี เพราะว่าทำงานง่าย

เรื่องของภาษาเฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะภาษาใต้ ก็เป็นเอกลักษณ์ แต่ไม่ใช่ว่า ภาคใต้จะไม่รับภาษาอื่น ... เขาก็ยินดีจะรับ และสามารถสื่อสารและเข้าใจ เขาฟังภาษากลางได้ แต่อาจจะพูดไม่ได้ แต่ก็สามารถจะสื่อสารกันได้ และเข้าใจได้ ... ภาษามลายูที่ยังมีปัญหาอยู่ ต้องมีล่าม หรือคนที่เข้าใจ ก็สามารถจะสื่อสารกันได้

เรื่องของความรู้สึกของผู้สูงอายุที่ได้รับ ได้พูดคุย เขาต้องการที่จะได้รับโอกาส ผลประโยชน์ ได้รับการให้บริการ หรือความสนใจจากภาครัฐ หรือบุคลากรของเรา หรือบุคลากรอื่น ที่จะเข้าไปให้การสนับสนุน ... เขาจะมีความภูมิใจ และดีใจ แต่ว่าการทำงานนั้นค่อนข้างจะหวังผล 100% ... ถ้าเรามีผลงานที่จะ show ได้ชัดเจน เราก็จะสามารถที่จะทำงานในชุมชน หรือว่าองค์กรของผู้สูงอายุ น่าจะดีกว่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องขององค์กรท้องถิ่นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา ว่า เรามีผลงานให้เขาเห็นชัดเจน เขาก็ยินดีสนับสนุน เพราะว่าอันนี้เป็นแนวทางที่สภาผู้สูงอายุได้ให้ไว้ว่า สิ่งที่เราต้องการ หรืออะไรก็แล้ว ในเรื่องของงบประมาณ หรือการสนับสนุนต่างๆ เราก็ต้องมีผลงานขึ้นมาบ้าง

สิ่งแรกที่เราอยากทำตรงนี้ก็คือ อยากจะให้สิ่งที่เราให้ไปกับผู้สูงอายุก็คือ ในเรื่องของสภาวะทันตสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุ ฟื้นฟูกลับมา หรือว่า ใส่ใจในเรื่องของการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะมีโครงการฟันเทียมพระราชทานเข้ามา ก็เป็นสิ่งที่ดี และเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้รับบริการตรงนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ยังพูดน้อยเนื้อต่ำใจเหมือนกันที่ว่า เรายังไม่สามารถที่จะเข้าไปได้ในทุกคนที่ต้องการฟันเทียม เราถามว่า ส่วนใหญ่ต้องการฟันเทียมไหม ทุกคนก็บอกว่าต้องการ ที่จะสวย อยากสาวเหมือนคนอื่นบ้างเหมือนกัน แต่ว่า ทางเราก็ไม่สามารถที่จะให้บริการได้ทั่วถึง โดยเฉพาะสิ่งที่ขาดอยู่ก็คือในเรื่องของทันตบุคลากร ซึ่งก็คือ ทันตแพทย์ ทันตาภิบาลของเราก็ยังน้อยอยู่

ความรู้สึกที่ดีที่ได้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ที่ชมรมผู้สูงอายุบ้านควน เป็นชมรมผู้สูงอายุที่ No name ไม่มีใครรู้จัก แต่ว่าพอมีกิจกรรมเข้าไป ชมรมผู้สูงอายุตั้งไว้นานแล้ว แต่ไม่มีกิจกรรม เพราะปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร ภาษาต่างๆ ก็จะไม่กี่ครั้งที่ลงไป เขาก็คิดกิจกรรมกลัวว่า โครงการจะล้ม แต่ว่าทีมงานของ PCU บ้านควน เห็นว่า มีโครงการนี้เข้ามาก็อยากจะลองเริ่มดูว่ามันจะ OK ไหม ปรากฎว่า ผู้สูงอายุก็ดีใจมาก พบว่า เป็นกิจกรรมที่เป็นโครงการแรกที่เข้าไปในเรื่องของการส่งเสริมทันตสุขภาพในช่องปาก เขาบอกว่า ไม่เคยมีกิจกรรมอะไรที่ทำให้เขาสามารถรวมตัวกันได้

ที่ชมรมผู้สูงอายุที่บ้านควน เขาบอกว่า ตอนมีโครงการนี้เข้ามา ประธานก็มีงานทำ สมาชิกได้มารวมตัวกัน ได้มาพูดคุยกัน เหมือนกับว่า ผู้สูงอายุได้มาเจอกัน เพราะว่าแต่ก่อนต่างคนต่างอยู่ ลูกหลานพาไปเที่ยวก็ได้เที่ยว ลูกหลานไม่พาก็ไม่ได้ไป แต่เมื่อมีโครงการนี้ขึ้นมา ก็รู้สึกว่า ดี และมารวมตัวกันได้ กรรมการก็ได้มาพูดคุยกัน ได้รู้จักกัน ประธานก็ได้รู้จักสมาชิก โดยมีกิจกรรมของงานทันตฯ ในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก และชุดสิทธิประโยชน์เข้ามา สามารถทำให้ชมรมผู้สูงอายุบ้านควนสามารถรวมกลุ่ม มาพูดคุย มาพบปะกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ภูมิใจ

และน้องที่อยู่ใน สอ. ก็มีความภูมิใจ ว่า เขาสามารถที่จะรวมกลุ่มผู้สูงอายุนี้ได้ ก็คิดว่า ในชมรมผู้สูงอายุที่เราบอกว่า ไม่ work ก็ลองทำดู ... เพราะบางทีเราคิดไปเอง แต่ว่าบางอย่างจริงๆ แล้วผู้สูงอายุก็มีศักยภาพพอ เขาพร้อมที่จะทำ แต่ว่า เราจะจุดประกายเขาได้ไหม

รวมเรื่อง ลปรร. กิจกรรมทันตฯ ชมรมผู้สูงอายุภาคใต้

 

หมายเลขบันทึก: 215619เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท