การฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ ที่วัดห้วยเกี๋ยง


 

วัดห้วยเกี๋ยงอยู่ในชุมชน ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ดิฉันและทีมงานได้เคยไปเยี่ยมเยียนท่านพระครู มาครั้งนี้ เรื่องเล่าที่นี่ค่ะ เพื่อนร่วมทาง - ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ - ไปเชียงใหม่ เยี่ยมวัดห้วยเกี๋ยง

วันนี้ ท่านพระครูสุธรรมานุสิฐ (ท่านเรียกตัวเองว่า "ตุ๊ลุง" ค่ะ ... ดิฉันก็เลยขอเรียกตาม) จากวัดห้วยเกี๋ยง ซึ่งมี ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต อยู่ในวัดห้วยเกี๋ยงด้วย มาเล่าให้ฟังเองเลยค่ะ ท่านเล่าว่า

ที่วัดของอาตมาทำเรื่องการดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ประมาณ 3 ปี

เรื่องที่ภูมิใจที่สุด คือ สามารถดึงชุมชน และเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุข หน่วยราชการ เข้ามาทำงานร่วมกันที่วัดได้ โดยที่อาตมาเป็นผู้ประสานงาน หรือบริหารระบบ (คำย่อ ก็คือ "บวร" ค่ะ หมายถึง "บ้าน วัด ราชการ")

เทคนิคในการทำงาน คือ ใช้คนให้เป็น ตามบทบาทของแต่ละคนที่ทำ และหยิบยกให้เขามาทำ หรือขอความร่วมมือเข้ามาช่วยทำงานที่วัด เช่น นวดแพทย์แผนโบราณ หรือจิตอาสา หรืออาสาสมัคร หรือเยาวชน หรือ ผู้สูงอายุที่ทำงานเรื่องการฝึกอาชีพ มาทำที่วัดกัน

ตุ๊ลุงเห็นว่า คนกลุ่มนี้มีความสามารถ ... เพราะว่าที่บ้านนอก เชียงใหม่นี้ ตุ๊ลุงจะรู้จักชาวบ้านหมดเลย ว่า บ้านไหนมีกี่คน ทำงานกันเป็นยังไง จบที่ไหนมา รู้หมด จึงชวนเขามาทำงานด้วยกัน

เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาสู่กระบวนการ ก็มาถามตุ๊ลุงว่า จะมาทำกระบวนการที่นี่ ตุ๊ลุงเห็นว่าใครมีความเหมาะสม หรือว่ามีความคิด ที่จะมาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ ก็เรียกเจ้าหน้าที่มาคุยด้วย มาคุยกันกับคนทำงาน และก็ปรับเปลี่ยนความคิดทั้งสองฝ่าย ให้เข้ากัน และดำเนินการต่อเลย

เวลาที่เจ้าหน้าที่มาคุยกับตุ๊ลุง ก็ให้ความร่วมมือ เพราะในความคิดก็คือ คิดว่า เจ้าหน้าที่เขาคิดหมดแล้ว เบ็ดเสร็จมาแล้ว งานที่ทำคงดีแน่นอน ... เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่มากเลยค่ะ (น่าภูมิใจ)

เกี่ยวกับสุขภาพนี้ ตุ๊ลุงไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ... แต่ว่า เราจะศึกษาไปเอง โดยอัตโนมัติ ทำไป ศึกษาไป ดูไป ตอนไหนควรปรับปรุงก็ว่าไป ... ตอนนี้ ตุ๊ลุงพูดเรื่องสุขภาพได้ดี ต่อเนื่องมากเลยค่ะ

ส่วนที่วัดนั้น ตุ๊ลุงคิดเองว่า เจ้าหน้าที่มีความรู้ แล้วเอามาสู่ชุมชน ตุ๊ลุงเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชน เรื่องอุปกรณ์ สถานที่ บุคลากร ทุนในทางสังคม ให้เสริมเจ้าหน้าที่เข้าไป เพราะว่า เจ้าหน้าที่เขามีความรู้อยู่แล้ว เขาประชุมกันมาแล้ว ถึงลงมาได้

  • ก่อนหน้านี้ไม่มีเรื่องส่งเสริมสุขภาพเลย ทางวัดก็จะทำเรื่องผู้สูงอายุมาก่อน ตั้งแต่ปี 2537
  • เพราะว่า เดิมผู้สูงอายุไปรักษาที่โรงพยาบาล เวลาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลก็จะเกิดความกังวลว่า เป็นสถานที่ราชการ ไปลำบาก ทำอะไรก็กลับผิดระเบียบ ผิดกฎ
  • ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็มาปรึกษาว่า เราทำเรื่องผู้สูงอายุกันไหม มาอยู่ที่วัด ก็เลยตอบตกลง
  • เพราะว่า โครงการนี้เป็นโครงการของตุ๊ลุงอยู่แล้ว ว่าจะทำอย่างไรให้คนมาวัด นอกเหนือจากวันพระ เป็นโครงการแรก ... นี่เป็นจุดเริ่มแรกเลย ว่า จะทำอย่างไรให้คนมาวัด นอกเหนือจากวันพระ
  • เมื่อเจ้าหน้าที่เขาคิดแล้ว ดูแล้ว เขาทำมาก่อนแล้ว แต่ว่ายังไม่ค่อยจะดีเท่าไร ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานราชการ เข้าลำบาก แต่มาที่วัด ชาวบ้านก็ถือว่า วัดเป็นของชุมชน ชาวบ้านเป็นเจ้าของ จะดีกว่าที่ไปโรงพยาบาล เฉพาะในส่วนของเรื่องผู้สูงอายุ และเรื่องการตรวจสุขภาพ
  • ส่วนเรื่องการตรวจสุขภาพ ทำที่โรงพยาบาลดีไหม ก็ดีส่วนหนึ่ง คือ เริ่มต้น นอกนั้น พอทำที่โรงพยาบาลเสร็จแล้ว ถ้าเรายังเก็บไว้ในโรงพยาบาลอยู่ ก็จะล้นโรงพยาบาล ก็ขยายมาสู่ที่วัด
  • เพราะว่า มันเป็นโรคที่คนป่วย หรือญาติคนป่วยรับไม่ได้ ที่มันปุ๊บปั๊บเป็น วินาทีนั้นเดินไม่ได้เลย ก็ทำให้สุขภาพจิตของเขาเสื่อม กังวลว่า จะถูกทอดทิ้ง เป็นภาระของครอบครัว
  • เรามาดูแลที่วัด เราจะได้ทั้งสองอย่าง คือ ทางเจ้าหน้าที่ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เขามาแล้ว ก็จะทำในเรื่องของกาย ส่วนทางวัดจะดูแลในเรื่องของใจ ให้มาคุยกัน
  • เช่น ผู้ป่วยเข้ามา ทางเจ้าหน้าที่เขาก็รับส่วนหนึ่ง หลังจากเจ้าหน้าที่รับแล้ว ก็มาส่งให้ตุ๊ลุงรับอีกทีหนึ่ง คุยเรื่องของการปรับตัว ปรับสภาพ ว่า คนป่วย ญาติผู้ป่วย ต้องดูแลคนป่วยนะ ไม่ใช่เอาผู้ป่วยมาทิ้ง ถ้าญาติคนป่วยมาดูแลด้วย ตุ๊ลุงจะรับ ไม่งั้นไม่เอา เขาก็จะได้ใกล้ชิดกันระหว่างญาติ และระหว่างเรารักษา จะมีจิตอาสา ก็จะทำให้เหมือนกับว่า เขาไม่ถูกทอดทิ้ง จะยังมีคนดูแลอยู่ด้วยใจ ... ลักษณะของนายแพทย์สงวน เขาเรียกว่า มิตรภาพบำบัด
  • เข้ามาสู่วัด จะดีกว่าโรงพยาบาลตรงไหน
  • คือ ไปโรงพยาบาลตีห้า เจอหมอ 11 โมง 2 นาทีจบ ... แต่มาอยู่ที่เรา ก็จะอยู่ตลอดเวลา ลงรถ ก็เลือกทำได้เลย แต่ว่า ตอนแรกต้องมาฝึกญาติผู้ป่วย จากเจ้าหน้าที่เราก่อน ฝึกแล้ว 3 วันคล่อง ลงรถมาก็จัดการได้เลย ไม่ต้องรอใครแล้ว เพราะว่า เราเปิดแล้ว ดีกว่าที่ทำที่โรงพยาบาล (... เฉพาะโรคนี้ โรคอื่นๆ ไม่เกี่ยวนะ)

วิธีการดูแลรักษาของทางวัด

ทำอย่างไรให้คนป่วย และญาติคนป่วย เข้าใจในสิ่งที่เขากำลังเป็นอยู่ ให้รับสภาพให้ได้ แล้วก็จะหายช้าหน่อย ถามว่า โรคนี้จะหายเต็มร้อยไหม ไม่เต็ม แค่ 70-80% เราจะพูดให้คนป่วย หรือญาติคนป่วยไปทีละขั้น เช่น ... ตอนนี้ เดินไม่ได้ หนึ่งให้เดินได้ก่อน ให้อาบน้ำเองได้ก่อน

ส่วนคนป่วยที่ดูแล ปัญหาสำคัญ ถ้าจะเปรียบเทียบ คือ เหมือนกับขับรถ เกียร์หนึ่ง เกียร์สอง เกียร์สาม เกียร์สี่ ปรับได้ตลอด ถ้าเกียร์ห้า ผู้ป่วยก็จะท้อแล้ว มันจะหลับ ก็ตรงเกียร์ห้านี่ละ เพราะว่า มันจะยากแล้ว

... ผู้ป่วยพอมา สามวันก็เดินได้แล้ว มันจะเปลี่ยนแปลงไว คนป่วยก็จะดีใจ แต่พอไปถึงจุดที่เดินได้แล้วก็จะช้าแล้ว เพราะว่า พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงช้า เขาประเมินไม่ได้ ว่าไปยังไงมายังไง ก็จะทำให้คนไข้เกิดความท้อแท้ว่า ไม่หายแล้ว ตรงนี้สำคัญกว่าตอนแรกที่เดินไม่ได้

เราก็ต้องให้กำลังใจเขา

ที่ศูนย์ฯ มีเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด หมอนวด ประจำอยู่ที่วัดเลย มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับแช่สมุนไพรอยู่ที่วัด มีพยาบาลอยู่ที่วัด เพราะว่า ส่วนหนึ่งเป็นโครงการของผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่ให้เจ้าหน้าที่ลงสู่ชุมชน เมื่อเจ้าหน้าที่ลงสู่ชุมชน ก็อยู่แต่ในบ้าน เราก็เห็นว่า มันถูกใจเราด้วยว่า จะทำอย่างไร ให้คนมาอยู่ที่วัด คนที่จะมาอยู่วัด ต้องมีการทำกิจกรรม ถึงวันพระไม่มีกิจกรรม คนก็ไม่ไปวัด จะมองตรงนี้

เพราะฉะนั้น จะทำให้คนมาวัด ก็คุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า ตอนเช้า ตุ๊ลุงให้อยู่วัด ทำงานเชิงรับ และตอนบ่ายให้เชิงรุกไปดูแลชาวบ้านในชุมชน

มีการนวด สมุนไพร ยาต้ม มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำ เปิดทุกวัน ไม่มีวันหยุด ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ก็จะมี จิตอาสาอยู่

ตอนนี้ ทางฟัน เจ้าหน้าที่ทันตฯ เข้ามาดูแลชุมชน ดูแลฟันตั้งแต่อายุ 60-70 ตุ๊ลุงก็ดูจากตัวเอง ตอนนี้อายุ 54 แล้ว ฟันไม่เหลือแล้ว ไปแล้ว ... ก็ไปคุยกับ ผอ. หรือ เจ้าหน้าที่ทันตฯ ว่า ตุ๊ลุงอยากทำตั้งแต่ 55-65 ได้ไหม เพราะว่า ถ้า 60 ฟันก็จะไปแล้ว ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ 55 คน ฟันก็จะยัง รักษาฟันอยู่ได้ ... เพิ่งคุยไม่กี่วันมานี้ เจ้าหน้าที่ก็ตกลง ก็เริ่มทำเลย

คติของตุ๊ลุง ก็คือ "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด วันหน้าก็จะตามมาเอง"

ที่วัดยกกุฏิ 1 หลัง ให้เป็นที่ของหมอนวดประจำ ให้บริหารจัดการกันเอง กวาดถู จัดคิวอย่างไร เจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์สุขภาพ ก็จะมีพยาบาลดูแล บริหารจัดการกันเอง เราควบคุมภาพรวม

ผู้สูงอายุมาอยู่ที่วัด ตุ๊ลุงให้อาคาร 1 หลัง ให้ปัจจัยด้วย ให้ลูกกุญแจด้วย บริหารจัดการกันเอง ถ้าขัดข้องไม่เข้าใจตรงไหน มีปัญหา มาถามตุ๊ลุงได้

เทคนิคการประสานคนช่วยทำงาน ...

ยกตัวอย่าง การที่เราจะเป็นแฟนของคนรักเราได้ ก็ต้องใช้เวลา จีบครั้งหนึ่งก็ยังเป็นแฟนกันไม่ได้ ครั้งแรก ก็ยังไม่ ฉัน และ เธอ อย่างน้อยก็ต้อง 1 ปี กว่าที่ฉันจะรักเธอ กว่าจะเป็นแฟนกันได้ก็หลายปี

นั่นก็คือ เราก็ต้องทำให้เขารู้จักเราก่อนว่า เราทำเพื่อใคร คนที่ได้รับผลประโยชน์คือ ใคร เราได้อะไร เราจะให้เขามองว่า เราทำจริงไหม จริงใจกับเขาไหม ... ถ้าจริงใจกับเขาแล้ว เขาก็ให้ความร่วมมือกับเรา

อย่างจิตอาสา หนึ่งปีที่ผ่านมา ไม่มีค่าตอบแทนเลย เขาช่วยเรา 1 ปีเต็มๆ เขาไม่ได้ หลังจากครบ 1 ปี ตุ๊ลุงก็เริ่มให้ค่าตอบแทน

เราบริหารจัดการเอง โดยใช้ชุมชนเป็นหลัก ที่วัดทำหลายเรื่อง และจะเน้นชุมชน

หน่วยงานรับผิดชอบ คือ โรงพยาบาล เพราะว่า ถ้าไม่มีโรงพยาบาลก็ทำไม่ได้ เพราะว่า ผู้ป่วยจะมี 2 อย่าง คือ คุณเกี้ยว กับนายเกี้ยว

... ถ้านายเกี้ยวเขามารักษาที่เรา เขาจะไม่สอบถามเลยว่า มาตรฐานในการรักษา เขาจะไม่ถาม มาแช่ก็แช่เลย จับก็จับเลย

... แต่ถ้าคุณเกี้ยวมา ต้องถามมาตรฐานว่า มาตรฐานในการรักษามีอะไรบ้าง เราก็ตอบว่า มีพยาบาล นักกิจกรรมบำบัด อ๋อ พูดอย่างนี้ก็มาเลย แต่ถ้านายเกี้ยวไม่ถาม จะใส่รถมาเลย

ก็คือ ถ้าคนจนจะไม่ถาม ถ้าคนรวยจะถาม ในเรื่องมาตรฐาน

ผลของกิจกรรมที่เกิดขึ้น ตุ๊ลุงพอใจมาก เกินที่คาดไว้ด้วย พอใจเกินที่คิดไว้ ไม่นึกว่า จะมีวันนี้ได้ เพราะว่าตุ๊ลุงไม่สามารถจะคิดล่วงหน้าได้ เราถือว่า ปัจจุบันเป็นเกณฑ์ ถ้าปัจจุบันดี อนาคตก็จะดี แต่ว่าเราไม่รู้อะไร แต่ก็จะมาตามที่เราทำประจำไว้

คนไข้วันหนึ่งประมาณ 15-20 เฉพาะในศูนย์ฯ

คนไข้ประจำเมื่อก่อน มี 5 ห้อง รับทั้ง 5 ห้อง 5 คน มาอยู่ 10 เพราะว่ามีญาติอีก เราก็ลำบากเรื่องบริหารจัดการ เรื่องห้องน้ำห้องท่า ตรงนั้นก็เลยเลิกทำเลย

ถ้านับที่แช่สมุนไพร เยอะ  40-50 คนต่อวัน ในบางวัน บางหมู่บ้าน เหมารถมาเป็นกลุ่ม เจ้าหน้าที่รับไม่ทันก็มี

ที่วัดเปิดรับทั่วประเทศ คนต่างประเทศก็มา คนนนทบุรี ก็มา จันทบุรี ส่วนใหญ่คนแถวอำเภอสันทราย อำเภอเมือง แม่ริม สันกำแพงก็มี ส่วนใหญ่ภาคเหนือ

กิจกรรมของผู้ป่วย ก็จะมีฝึกอาชีพ เช่น ทำดอกไม้จันทน์ หรือเรื่องการทำอาหาร ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของฝึกอาชีพ จะเป็นการให้กำลังใจว่า เขาทำได้ เช่น คนมีมือข้างเดียว ก็คงทำอะไรไม่ได้ เราก็ต้องช่วยหยิบ เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ว่า เขาช่วยเหลือสังคมได้ มากกว่า บางคนก็ทำไม่ได้เลย

ที่วัดน่าจะถือว่า ครบวงจร เกี่ยวกับเยาวชน จนถึงคนแก่

ถ้าพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ทางวัดได้ช่วยเหลือประเทศชาติอยู่แล้ว ดูแลให้คนมีงานทำ 20 กว่าคน

ตอนนี้กำลังจะขยายไปอีกอาคารหนึ่ง ที่หน้าโบสถ์ และทางเทศบาล ก็จะให้โครงการน้ำดื่มมาอยู่ที่วัดด้วยด้วย

ตุ๊ลุงคิดว่า ตุ๊ลุงทำงานทุกวันนี้ ไม่มีเงินนำหน้า

โครงการทั้งเยาวชน ทั้งผู้สูงอายุไม่มีเงินน้ำหน้า ... ใครจะให้ก็เอา ไม่ให้ก็ไม่เอา เพราะถือว่า เราทำด้วยใจ เอาของรางวัล คือ สังฆทาน ของวัดเอง

แต่ถ้าพยาบาลให้มาทำ ก็จะทำ ถ้าไม่บอกไม่ทำ เพราะว่า เราไม่ได้เงินน้ำหน้า เราเน้นชุมชนมากกว่า เมื่อวันเยาวชน มีการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ก็เอาของที่วัดหมดเลย ไม่ต้องเงินหรอก ตุ๊ลุงมาอยู่ที่นี่ ลูกศิษย์โผล่มา ตุ๊ลุงก็บอก เอ้า กุญแจเปิดห้อง เอาสังฆทานแจกชาวบ้าน ไปเยี่ยมคนป่วย เยี่ยมผู้สูงอายุ เอาของที่มีอยู่แล้วทำ

นี่คงเป็นส่วนหนึ่งของ เรื่องเล่า จากวัดห้วยเกี๋ยง ค่ะ

 รวมเรื่อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน

 

หมายเลขบันทึก: 300912เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2009 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แม่น แล้ว ครับ ทำให้ดีที่สุด คิดเชิงบวกให้ได้ ครับ

  • ชุมชนเป็นคนเริ่ม
  • ไม่มีเรื่องของค่าตอบแทนเข้ามาแทรกแซง
  • ทำงานด้วยจิตอาสา 
  • ต้องยกให้เป็นชุมชนตัวอย่างอีกแห่งแล้วค่ะ...

 

  • เห็นด้วยเลยค่ะ อาจารย์ JJ
  • ขอบคุณค่ะ
  • ไปเยี่ยมเยียนมาหรือยังคะ ที่วัดห้วยเกี๋ยง
  • บรรยากาศดีมากเลยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท