การฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ ที่ตำบลหนองรี ชลบุรี


 

คุณนิชานันท์ สมคำศรี จากศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพตำบลหนองรี จ.ชลบุรี มาเล่าให้ฟังว่า

การดูแลผู้สูงอายุที่นี่ มีการดูแลทั้งใน และนอกสถานีอนามัย

ในสถานีอนามัย จะมีการคัดกรองผู้ป่วย วัดความดัน เบาหวาน วัดรอบเอว สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง จะดูแลให้ความรู้ ปรับพฤติกรรม อาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ ถ้าเป็นผู้ป่วย จะดูแลรักษาให้ความรู้การปฏิบัติตน ปรับพฤติกรรม และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น

นอกสถานีอนามัย จะมีการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ และผู้พิการ อสม. ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และเจ้าหน้าที่ อบต. ปีละหนึ่งครั้ง มีการแจกของเยี่ยมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ

การดูแลผู้ป่วยจะดูแลแบบองค์รวม

  • ดูแลทั้งทางด้านร่างกายว่า เขาจะต้องฟื้นฟูทางด้านไหน
  • ดูแลจิตใจว่าเขายังยอมรับได้ไหม เพราะว่าถ้าเขาไม่ยอมรับก็จะฟื้นฟูได้ยาก
  • ทางสังคม เขามีญาติ เพื่อนบ้านดูแลไหม
  • ด้านจิตวิญญาณ ดูว่า เขามีความรู้ความสามารถทางด้านไหน ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือญาติต้องช่วยเหลือ
    - บางบ้านจะมีการซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย มาทำเป็นอุปกรณ์ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพของเขาเอง เช่น ราวหัดเดิน หรือว่ารอก
    - มี อสม. คอยแนะนำให้ชาวบ้านก็ทำ เช่น รอกหัดเดินเองที่บ้าน บางบ้านเป็นรอกแขวนกับเพดาน ทำเป็นอุปกรณ์ใช้ในบ้าน
  • มีการให้ความรู้กับญาติ เกี่ยวกับกิจกรรมฟื้นฟูสภาพ
    - ที่อนามัยจะมีศูนย์ มีอุปกรณ์ มีพยาบาลเป็นเจ้าหน้าที่ 1 คน
    - นอกนั้นเป็น อสม.
    - มีเจ้าหน้าที่ อสม. มาอยู่เวร วันละ 2 คน เพื่อดูแลคนไข้ให้

ที่ภูมิใจ มีอยู่ 1 ราย จากการไปเยี่ยมบ้าน เขาเป็นโรคหลอดเลือดสมอง กลับมาบ้านได้ 1 อาทิตย์ ที่บ้านยังขาดความความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย แม้แต่เรื่องการออกกำลังกาย การให้อาหารทางสายยาง การดูดเสมหะ

ครั้งแรกที่ไปเจอ ญาติใช้ลูกดูดยางแดง ดูดเสมหะจากท่อหลอดลม คนไข้ก็จะไอตลอด ญาติก็ไม่รู้ ถามหมอว่า ทำไมเสมหะออกตลอด ก็ไปแนะนำให้เขาหาเครื่อง suction เพื่อมาดูดเสมหะ ซึ่งมีคนสนับสนุนให้ เป็น อบต.

แต่ก็จะมีปัญหาอีก ในวันต่อมาที่ไปเยี่ยม ญาติก็ยังใช้ลูกสูบยางแดง ถามเหตุผลก็เพราะว่า ยังไม่กล้า กลัวที่จะใช้เครื่อง เพราะคนไข้เกร็ง ตัวงอ ญาติไม่กล้าทำ

วันหลังก็ให้ อสม. ไปช่วยสอน และให้คนไข้ได้ฝึกทำ ก็ดีขึ้น

และจะมีใส่สายยางให้อาหาร คนไข้ต้าน ไม่ยอมรับ พยายามดึงตลอด ใส่ 3 ครั้ง คนไข้ก็ดึงตลอด

ก็จะไป support ด้านจิตใจให้ โดยไปทำ counseling ... "ต้องยอมรับนะคะว่า ตอนนี้คุณลุงทานข้าวไม่ได้ ถ้าคุณลุงดึงสายนี้ออก คุณลุงก็จะขาดอาหาร อาจจะมีปัญหาโรคอื่นตามมา ลูกๆ หลานๆ เป็นห่วงคุณลุง คุณลุงจะต้องใส่สาย ต้องทนนิดหนึ่ง เพื่อที่จะได้อยู่กับลูกหลานนานๆ ก็ดีขึ้น" ... และหลังจากนั้นก็ไม่ดึงอีกเลย

ตอนแรกที่ไปหา ... คุณลุงไม่ยอมพูดด้วย ปฏิเสธ ตอนหลังเขาก็จะจับมือ และพยายามพูดด้วย

ที่นี่ พี่ๆ อสม. ให้ความร่วมมือดี ถ้าวันไหนพยาบาลไม่ว่าง พี่ อสม. ไปกันเองได้เลย เขาก็จะมีความรู้บ้าง ถ้ามีปัญหาเขาก็จะกลับมาถาม หรือโทรมาถามได้เลย เพราะว่าที่นี่มีพยาบาลคนเดียว

เกี่ยวกับ อสม. ที่นี่

อสม. ที่นี่เยอะ สมัครใจกันมาเป็น โดย อสม. จะชวนกันมา และเขาก็อยากทดลองดูด้วย เพราะว่าไปวัดความดัน หรืออื่นๆ เขาก็อยากไปลองทำ ถามว่าสมัครไหม ก็สมัครกันเยอะแยะเลย

เวลาทดลอง ทำผิด พยาบาลก็ไม่ว่า เขาบอกไม่เป็นไร ทำใหม่ ก็จะใช้เวลาให้เรียนรู้ก่อนก่อน ถึงจะปล่อยให้ไปทำ

อสม. นางปิยนุช จำนงค์ผล มาเล่าให้ฟังว่า

อสม. ที่นี่ ถ้าทางจังหวัดมีการอบรมอะไร ทาง รพ. ก็จะส่ง อสม. ไป ตำบลละ 2-3 คน ไปอบรม กลับมาแล้วก็มาคุยกัน ถึงเรื่องที่ไปอบรมกันมา ว่าจะมาปฏิบัติกันอย่างไร เรื่องของคนที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต คนที่เป็นความดันสูง เขาก็จะสอนการวัดความดัน วัดเอว ทุกอย่าง อบรมทั้งด้านทฤษฎี และปฏิบัติ แล้วแต่ว่า เราจะจำได้หรือไม่ได้ ถ้าจำไม่ได้ ก็จะมา check กับหมอว่า อันนี้ทำอย่างไร อันนี้วัดอะไรได้ วัดอันนี้ได้เท่าไร ความดันสูงเท่าไร ต่ำเท่าไร อีกครั้งหนึ่ง

อย่างออกไปตรวจตามโรงงานก็ออกไปกับเขา ใช้เครื่องมือได้ ไม่กลัวเครื่องมือ ครั้งแรกอาจกลัวบ้างนิดหน่อย แต่ก็พยายาม ก็จะได้ไปเอง ... “อาศัยหมอได้ดี”

อุดมการณ์ที่มาเป็น อสม. ของเธอ ก็คือ "อยากมีส่วนร่วม อยากอุทิศตนให้กับราชการ อยากช่วยเหลือคนที่เขาด้อยโอกาสกว่า" ละค่ะ น่ารักจริงๆ

ปัญหาไม่มี ถ้ามีเราก็แก้ แก้แล้วก็เรียบร้อย แต่โดยมากไม่มี

"อสม. จริงๆ มี 70 คน เจ้าหน้าที่อนามัยเป็นคนดูแล มีเจ้าหน้าที่ 5 คน อสม. ให้ความร่วมมือดีมาก ที่หนองรี อสม. เข้มแข็งมาก เขาให้ความร่วมมือเราทุกเรื่อง"

ตอนก่อนไม่มีค่าตอบแทน เพิ่งมามีตอนหลัง แต่ก็ทำงานหัวสั่นเลย ต้องทำตามระเบียบ ... จะยากแต่ครั้งแรก ครั้งต่อมาก็สบายแล้ว เพราะเราเรียนรู้แล้วว่า เราจะต้องบ้านนี้ บ้านนี้ชื่ออะไร บ้านนี้มีอะไรบ้าง ใครเป็นความดัน ใครเป็นเบาหวาน ใครเป็นอะไร อย่างไร

แอบนินทาเจ้าหน้าที่ที่หนองรี

  • เจ้าหน้าที่หนองรีใจดีทุกคน รักกันเหมือนพี่น้อง
  • ทุกคน ไม่มีใครถือยศถือศักดิ์
  • ไม่มีหมอคนไหนหน้างอเลย
  • เจอหมอทีไร มีแต่หมอจูงมือเข้าไปใน สอ. ไปนั่งคุยกันถึงเรื่องงาน อยู่กันเหมือนพี่น้อง
  • ที่นี่หัวหน้าอยู่มาแต่เปิดอนามัย ก็จะเต็มที่ เป็นคนพื้นที่เอง
  • คนไข้ที่นี่เยอะมาก เพราะว่าหมอใจดี บริการได้ทัน บางทีหมอก็ไม่ได้ทานข้าวกลางวัน ทานเอาบ่าย

สิ่งที่เราอยากทำ ก็ต้องให้หมอแนะ ถ้าหมอแนะมา ก็จะไปตามหมอได้ อันนี้เราก็พอใจ เพราะว่าหมอจะถามว่า อันนี้เราพอใจไหม เราก็ตามหมอ อันไหนที่ช่วยหมอได้ เราก็ทำให้หมอทุกอย่าง

สิ่งที่ภูมิใจที่สุด ... ก็คือได้เข้ามาอยู่ในศูนย์ฯ นี้ ได้มีโอกาสช่วยสังคม

การให้บริการคนไข้

เคยไปฟื้นฟูคนไข้ คนนี้ดูแลมาประมาณ 6 เดือน เวลาไปก็จะไปเป็นกลุ่ม เอากระเช้าไปเยี่ยม ไปแนะนำให้เขาทำกายภาพบำบัดอย่างไร ที่เขาจะฟื้นฟูได้ เขาเป็นไม่มาก เราก็แนะนำเขา เขาก็ดีใจ เพราะเห็นว่า เราไปช่วยเขา เขาก็จำได้

ประทับใจที่เรามีโอกาสไปดูแลเขา เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น

ประมาณอาทิตย์ที่แล้ว ก็ออกไปทีเดียว 14 หมู่บ้าน ทั้งวันที่จับรถตะลอนๆ ไป เอารถราชการ 1 คัน ของเรา 1 คัน น้ำมันออกเอง มีนักศึกษาสาธารณสุขจะมาเก็บข้อมูลในหมู่บ้าน มีอยู่ชุดหนึ่งบอกว่า ไม่มาหรอกหมู่ 9 เพราะว่าบ้านห่าง

แต่พอเขาหมอก็ประสานมา เราก็เรียก อสม. มาเลย ว่า เอา อสม. กี่คน เขาบอก เอา 4 คน จัดให้เลย 4 คน เขามา 8 คน เราจัดเลย กลุ่มละ 2 คน กระจายไปจุดนั้นๆ ชี้ให้เลย รถเราเองวิ่ง เขาเอารถมา 1 คัน วิ่ง รถเรา 1 คัน กระจายเป็น 4 กลุ่ม ครึ่งวันนั้น เก็บได้ 80 หลังคาเรือน เขาบอกว่า ไม่มีหมู่ไหนทำให้ได้อย่างนี้เลย แล้วเขาก็โทรกลับมา แล้วถามว่า ผู้ใหญ่ หมู่ผู้ใหญ่มีการส่งเสริมสุขภาพไหม และต้องการให้เขาส่งเสริมสุขภาพอะไรบ้าง ถ้ามีขอให้บอกเขา เขาจะช่วย

ก็เลยบอกว่า ไม่มีหรอก เพราะว่า ทางสถานีอนามัยเขาช่วยหมดแล้ว

วิธีการทำเช่นนี้ ... ตัวเองจะวางแผนเอง เราก็ขับรถ ชี้เลย สองคนนี้ จุดนี้ๆ และเอาสองคนนี้ไปทิ้งไว้จุดนั้น วิ่งมาส่งสองคนนี้ และเราก็ไปจับเอาคนนั้นมา ไปอีกจุดหนึ่ง และเอาคนนี้ไปปล่อย และกลับมารับจุดนี้ไปปล่อยอีกจุดหนึ่ง และก็ทำให้เสร็จ ค่าน้ำมันก็ประมาณ 300-400 บาท ออกเอง

การจัดการแบบนี้คิดเอง เพราะทำบ่อย เคยมีนักศึกษามา เขาศึกษาปริญญาโท เป็นหมอ ทำงานแล้ว เคยมาอยู่ประมาณ 1 เดือน ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เราก็จะทำให้เขาอย่างนี้ เขาก็เก็บข้อมูลไปได้

 รวมเรื่อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน

 

หมายเลขบันทึก: 301172เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แอบมาอ่าน

ก็จังหวัดเดียวกันนี่คะ

  • ตามมาดู อสม. ที่ชลบุรี
  • เครือข่ายใหญ่งานส่งเสริมสุขภาพ
  • งานแม่และเด็ก ก็ต้องอาศัย อสม.เหมือนกัน
  • มีคนบอกว่าเกษียณแล้วจะไปเป็น อสม.
  • สำหรับตัวเองยังไม่คิด เพราะอีกนานนนนนน...อิ  อิ
  • ได้รู้จักการทำงาน เรื่องผู้สูงอายุ ของจังหวัดชลบุรี ก็ครั้งนี้ละค่ะ
  • ได้รู้ว่า กิจกรรมของเขาก็เยี่ยมเหมือนกันเลย
  • เหรอ งั้นก็อีกนานเหมือนกันเลย
  • ตอนนี้ ก็จะเป็นกองหนุนไปก่อนนิ

อยากมีส่วนร่วมทำไงอะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท