บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ (12) ฟังเรื่องเล่า ถอดบทเรียนจากทีมเมืองตรัง


 

คุณหมอพิมพ์วิภา เศรษฐวรกุล จากโรงพยาบาลนาโยง และ นายเจริญพร เยาว์ดำ รองปลัด อบต. นาหมื่นศรี มาเล่าให้ฟังค่ะ

คำขวัญ เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา ภาษาอังกฤษก็มีนะคะ คือ The city of Phayarassda; broad-hearted citizen; dilicious roast pork; origin place of para rubber; lovely sritrang flower; beautiful coral reef; charming sandy beach; and wonderful waterfall. [http://www.trangtrip.com/index.php?mo=10&art=178771]

ที่มาที่โครงการเข้ามาสู่จังหวัดตรัง

ในปี 2548 มีนโยบายจากกระทรวงลงมาในระดับจังหวัด ว่า จะมีโครงการฟันเทียมพระราชทาน ตอนนั้น งานนี้ทำในทุกโรงพยาบาล ปัจจุบันทำมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นโครงการ routine

เราทำมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2551 จึงโครงการที่เราไปเสนอตัวทำ เป็นกลุ่มจังหวัดนำร่อง เข้าโครงการชุดสิทธิประโยชน์ฯ เราเป็นหนึ่งในสี่อำเภอ ที่จังหวัดเลือก ก็คือ อ.นาโยง จังหวัดตรัง และจะมีการทำโครงการในชมรมผู้สูงอายุด้วย โดยจังหวัดทำใน 4 ชมรม สำหรับนาโยงเลือกที่ อบต.นาหมื่นศรี

โครงการแรกที่ทำในโครงการของชมรมผู้สูงอายุ มีชื่อว่า โครงการผู้สูงอายุถ่ายทอดประสบการณ์ สอนลูกหลานรักฟัน เราเน้นที่ชมรมผู้สูงอายุ เน้นให้มีการถ่ายทอด และเน้นในกลุ่มของลูกหลาน และชุมชน

โครงการนี้ดำเนินการมาถึงปี 2552 ได้รับความสำเร็จอย่างดี และมีการขยายเครือข่าย ในเรื่องชุดสิทธิประโยชน์ และการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ เพิ่มจาก 3 อำเภอ เป็น 7 อำเภอ

ชมรมผู้สูงอายุนาหมื่นศรี เป็นชมรมต้นแบบของจังหวัด เราได้อาศัยรูปแบบการดำเนินกิจกรรมเป็นตัวอย่าง และอาศัยการถ่ายทอดจากชมรมฯ สู่เครือข่าย และการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับจังหวัด

หลังจากนั้น รุ่น 2 มีการขยายเครือข่ายไปที่ ชมรมผู้สูงอายุนาโยงเหนือ ชื่อโครงการ พัฒนาเครือข่ายผู้สูงอายุถ่ายทอดประสบการณ์สอนลูกหลานรักฟัน และรักชุมชน

ปี 2553 เราได้ขยายเครือข่ายต่อเนื่องในจังหวัด ทั้งในส่วนของโครงการชุดสิทธิประโยชน์ และการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ ครบทุกอำเภอ และเกิดเป็นชมรมผู้สูงอายุดีเด่นระดับจังหวัด มี 2 ชมรม คือ ชมรมผู้สูงอายุตำบลนาหมื่นศรี และ ชมรมผู้สูงอายุต้นสมอ อำเภอเมือง และจัดให้มีชมรมผู้สูงอายุดีเด่นระดับอำเภอขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ชมรมอื่นเป็นตัวอย่าง และทำต่อไปเป็นเครือข่าย

รุ่นที่ 3 ของนาโยง จะทำที่ อบต.ช่อง

การส่งเสริมและสนับสนุน เราได้รับมาจากทุกภาคส่วน มีผู้เข้าร่วมการทำงานเยอะ ทั้งทีมงานในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ชาวบ้าน และผู้นำชุมชนในทุกระดับ เราทำงานกันเป็นภาคีเครือข่าย

เรามีปัญหาอะไรบ้าง

  • ปัญหาด้านปัจจัยนำเข้า บุคลากรทันตฯ มี 8 คน ทำงานใหญ่ๆ ก็คงทำกันไม่ได้ เราก็ได้สร้างทีม โดยดึงทุกภาคส่วนของโรงพยาบาล ทั้งแพทย์แผนไทย กลุ่มการพยาบาล กลุ่มส่งเสริมฯ กลุ่มเวชปฏิบัติครอบครัว เข้ามาเป็นทีม เพื่อสร้างให้สามารถทำกิจกรรมเป็น 10 ฐานได้ ในการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ
  • เรื่องงบประมาณ เราอาศัยขอเอา และอาศัยจิตอาสาจากแต่ละหน่วยงาน
  • ปัญหาอื่นๆ ก็ยังเล็กๆ

ความคิดใหม่ๆ

เราคิดว่า จะจัดตั้งทีมสุขภาพ ไม่ได้ทำงานแต่ในฝ่าย ทีมประกอบไปด้วย ครู บุคลากรสาธารณสุข ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทย เวชปฏิบัติ และภาค อบต.นาหมื่นศรีด้วย ... ปี 2551 ทีมสุขภาพเราแค่นี้ แต่ในปี 2552 กลุ่มผู้สูงอายุของนาหมื่นศรี ก็จะเป็นหนึ่งในทีมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นงาน 21 ตุลา หรืออื่นๆ ที่เรามีโอกาส เราก็จะดึงเขาเข้ามาเป็นทีมสุขภาพ ต่อไป ทีมสุขภาพของเราก็จะใหญ่ขึ้น ทุกงานที่เราทำก็จะมีเขา

สรุป

  • ทีมสุขภาพปี 2551 จะมีบุคลากร เจ้าหน้าที่ เป็นแค่เครือข่าย พอปี 2552 เราจะมีทั้งบุคลากร เจ้าหน้าที่ และกลุ่มผู้สูงอายุมาทำงานด้วยกัน
  • มีเทศบาลนครสงขลา มาดูงานที่เรา
  • ถามว่า ทำไมนาหมื่นศรีเข้มแข็ง และประสบความสำเร็จ เพราะว่า เรามีกลุ่มต่างๆ เยอะ เช่น กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี

ความฝันในอนาคต

เราต้องการให้มีเครือข่ายในนาโยงครบทุกเครือข่าย ทุกอำเภอ และฝันว่า ทุกชมรมจะเข้ามาสู่เครือข่ายนี้ และสามารถนำรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นไป ปรับเปลี่ยน ประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ และทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้ง กาย จิต วิญญาณ อารมณ์ สังคม ด้วย

สาเหตุที่ทำให้เราเปลี่ยนแนวความคิด

  • เราคิดว่าผู้สูงอายุมีคุณค่า ... ก่อนทำกิจกรรม ทุกคนต้องเข้าใจว่า ผู้สูงอายุมีคุณค่า ผู้สูงอายุเป็นบุคคลสำคัญของครอบครัว เราต้องทำให้เขาเข้าใจว่า เขาเป็นบุคคลสำคัญของครอบครัว เขามีคุณค่ากับครอบครัว เพราะฉะนั้น ความรู้ที่เขาได้รับ ก็จะถ่ายทอดจากตนเอง คนรอบข้าง และไปสู่ชุมชน
  • และเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อไป จำนวนผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญ เราก็จะพลาดทรัพยากรที่ดีของชุมชนไป

จุดอ่อน-จุดแข็ง

  • ปัญหา คือ เรื่องบุคลากรน้อย
  • การทำกิจกรรม เราก็ได้เข้าไปพบ ส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุที่อยู่ในชมรมฯ แต่ก็จะมีผู้สูงอายุอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในชมรม ที่พลาดโอกาสนี้ไป เราก็จะคิดกันว่า ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุทั้งหมดได้รับโอกาส ได้รับความรู้ หรือได้เข้ามาร่วมในโครงการ

บทเรียนการทำโครงการนี้ หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้

  • กิจกรรมที่ทำใน 3 แห่ง มีความแตกต่างกัน ครั้งแรกทำที่นาหมื่นศรี ก็ได้รับผลเป็นชมรมต้นแบบระดับจังหวัด ที่ได้ไปรับรางวัล พอมาทำที่นาโยงเหนือ ก็ได้เรียนรู้ว่า เรา copy มาทั้งหมดไม่ได้ ต้องปรับไปตามบริบท ว่าของนาโยงหนือที่เป็นรุ่นสองเป็นชมรมกึ่งเมือง กึ่งชนบท ขณะที่นาหมื่นศรีเป็นชนบท รูปแบบต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะว่าถึงแม้เราจะมีรูปแบบอันแรกที่ใช้มาแล้วประสบความสำเร็จ เรามาใช้กันที่ที่สองไม่ได้ จึงต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
  • สิ่งที่สำคัญ คือ ทัศนคติของผู้นำ ต้องมีวิสัยทัศน์มองว่า โครงการนี้ ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ผู้นำต้องเปิดความคิดของตัวเองก่อน ต้องคิดในแง่บวกว่า โครงการนี้เข้ามา ชุมชนได้อะไรบ้าง ... ถ้าผู้นำไม่เปิด โครงการนี้ก็จะไม่เกิด
  • การเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย ทำอย่างไรให้โครงการอยู่ได้ จะมีน้าเริญที่เป็นรองปลัดฯ ท่านจะมีส่วนสำคัญที่จะเชื่อมโยงกับผู้บริหาร ให้เข้าใจว่าเราทำอะไรกันมา และมีการส่งผ่านงาน

ข้อเสนอแนะ

  • ความสำคัญของความร่วมมือ โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีความร่วมมือในหน่วยงาน ไม่ได้ทำงานเป็นทีม เพราะว่า งานทันตฯ จะมีงานบริการในคลินิก และงานชุมชน ถ้าหัวหน้าฝ่ายไม่เห็นความสำคัญ ให้งานชุมชนเป็นงานรองฯ เราก็ต้องอยู่ในคลินิกมาก แต่ถ้าเมื่อไรหัวหน้าให้ความสำคัญกับงานชุมชนด้วย เราก็จะทำงานได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่า เราออกไปชุมชนแล้ว จะเป็นภาระให้งานคลินิก
  • เรื่อง แกนนำผู้สูงอายุมีความสำคัญ เพราะว่า การเข้าไปถึงผู้สูงอายุในชมรมฯ คือเป้าหมาย แต่เราไม่สามารถเข้าไปถึงเป้าหมายทุกคนได้ เราก็ต้องเข้าไปในส่วนของแกนนำก่อน เพื่อปรับความเข้าใจ และให้แหนนำเชื่อมโยงต่อ ทั้งข้อมูล ความรู้ ไปสู่ผู้สูงอายุที่อยู่ในชมรมฯ เท่ากับเป็นกลยุทธ์ของเราที่เข้าหาความร่วมมือ
  • เรื่อง ผู้นำของท้องถิ่น เพราะว่า จะมีผู้นำแบบทางการ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพื้นที่ และผู้นำธรรมชาติ ที่เกิดจากจิตอาสา สมัครเข้าร่วมโครงการ และโครงการที่ประสบความสำเร็จ ต้องเกิดจาก 3 ฝ่ายหลัก คือ สาธารณสุข อบต./ผู้นำท้องถิ่น ผู้สูงอายุ ... เราจึงต้องหาทีมสุขภาพ
  • อีกอย่างหนึ่ง คือ ชุมชนของเรามีความเข้มแข็ง และมีต้นทุนของชมรม และหลายอย่างที่เป็นสิ่งสนับสนุน

รวมเรื่อง บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

  

หมายเลขบันทึก: 388229เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท