บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ (13) ฟังเรื่องเล่า ถอดบทเรียนจากทีมเมืองนครฯ


 

นำมาด้วยด้วยคำขวัญจังหวัดนครศรีธรรมราชค่ะ ก็คือ "เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชื่นฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัดมากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู"

และทีมสามสาว PowerPub มานำเสนอค่ะ ก็คือ พี่เลี๊ยด (ชุติมา พงศ์อำไพ) ทพญ.สุภา เนตรจรัส (ศูนย์อนามัยที่ 11) และ ทพญ.ศิรานันท์ พราหมณี (รพ.ทุ่งใหญ่ ค่ะ)

บริบทของ โครงการยิ้มสดใสผู้สูงวัยฟันดี ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มมาจาก พระราชดำรัสของในหลวง ที่ตรัสไว้ว่า ... เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง ... แสดงถึงความห่วงใยในพสกนิกร จึงได้มีนโยบายจากกระทรวงขึ้น

จังหวัดนครฯ จึงได้เข้าร่วมโครงการฟันเทียมพระราชทานตั้งแต่ปี 2548 และจากการทำงานร่วมกันมาในระยะหนึ่ง ก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของความต้องการการรับบริการมากขึ้น จากเดิมผู้สูงอายุเดินเข้ามาเพื่อจะถอน ใส่ฟันอย่างเดียว ระยะหลังเริ่มมีความตระหนัก มีการปรับเปลี่ยนการรับบริการมากขึ้น ผู้สูงอายุบอกว่า อยากทำอย่างไรให้ฟันที่มีอยู่อยู่ได้นานที่สุด ช่วยหน่อย ... ก็เลยปรับเปลี่ยนแนวคิดว่า งั้นเรามาเล่นงานเรื่องส่งเสริมป้องกันกันในกลุ่มผู้สูงอายุกันดีกว่า ในเมื่อผู้รับบริการมีความต้องการ แล้วทำไมเราจะไม่สนองเขา

จึงเริ่มมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในปี 2552 มีเป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่ดีขึ้น ให้ท่านได้รับบริการทันตกรรมตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง และนำความรู้ความสามารถที่ท่านมีอยู่แล้ว และที่เราเสริมเพิ่มเติม ไปเผยแพร่แก่ลูกหลาน คนรอบข้าง และขยายวงกว้างต่อไป ตอนนี้จะมีกลุ่มชมรมฯ ของทั้งจังหวัด รวมทั้งหมด 25 ชมรมฯ

กิจกรรมที่เกิดขึ้น ก็จะมี

  • การให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุข
  • การตรวจคัดกรอง การมีการส่งต่อ เพื่อรับบริการตามชุดสิทธิประโยชน์
  • มีการอบรม อสม. ผู้สูงอายุอาสา เพื่อสร้างเป็นเครือข่าย และเป็นแกนนำช่วยในการขับเคลื่อนการทำงาน
  • การแปรงฟันหลังอาหาร
  • การประชุมหลังการรวมกลุ่ม
  • แปรงเก่าแลกแปรงใหม่
  • การผลิตนวัตกรรม เช่น กระบวยบ้วนปาก ยาสีฟันสมุนไพร ยาแก้ปวดฟัน
  • มีการแต่งเพลงพื้นบ้าน เพื่อการส่งเสริมการดูแลสุขภาพช่องปาก
  • เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาระหว่างกัน
  • นอกจากนี้ มีกิจกรรมเสริมจากจังหวัด ได้แก่ โครงการประกวดภาพถ่าย ประกวดกิจกรรม ประกวดผู้สูงวัยฟันดี ครอบครัวฟันดี เพื่อที่จะเป็นแกนนำ ให้เกิดการขยายต่อ

ผลลัพธ์ที่ได้

ต้องบอกว่า การดำเนินกิจกรรมของนครฯ เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เร่งรีบ เพิ่งเริ่ม ก็ไม่เคี่ยวเข็ญอะไรมาก ให้ได้รู้ว่ามีชมรมที่สนใจ และมาร่วมดำเนินกิจกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากร่วมกัน และพบว่าเกินความคาดหวัง เพราะว่ามีผู้สูงอายุสนใจมากขึ้น

กิจกรรมเน้นการต่อยอดจากของเดิม เป็นการบูรณาการเข้ากับกิจกรรมที่มีอยู่ เช่น มีการดูแลสุขภาพร่างกาย อาหารอยู่แล้ว ก็ไปช่วยเชื่อมโยงถึงช่องปาก เพื่อที่จะได้มีร่างกายที่สมบูรณ์

เมื่อท่านเห็นความสำคัญ ก็จะแรงความจูงใจว่า มาช่วยกันทำกิจกรรมอะไรที่จะได้ตรงนั้น ... กิจกรรมจึงมักมาจากกลุ่มผู้สูงอายุเอง ... ส่วนใหญ่ได้รับความสนใจ ทำให้มีการดูแลสุขภาพช่องปากได้ดียิ่งขึ้น และเผยแพร่ไปยังลูกหลาน

สิ่งที่เห็น คือ ทุกคนที่เข้าร่วมในกิจกรรมตื่นตัวมากขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้ามารับบริการ แต่เดิมที่ว่าจะ ถอน-ใส่ อย่างเดียว มาเป็น ทำอย่างไรให้ช่วยกันรักษาให้ได้ดียิ่งขึ้น หรือบางทีผู้สูงอายุบอกว่า มีอะไรให้ท่านช่วยเจ้าหน้าที่ได้บ้างด้วยซ้ำไป และเรื่องความตื่นตัวของภาคเอกชน เริ่มมีมากขึ้นที่ให้การสนับสนุน

ปัจจัยความสำเร็จ

  • อันดับแรก คือ เรื่องแรงใจของเจ้าหน้าที่ เพราะว่าเป็นโครงการจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทำให้คนทำโครงการรู้สึก เกิดแรงบันดาลใจ ความซาบซึ้ง และความภาคภูมิใจที่มาร่วมกันทำ
  • การสนับสนุนจากส่วนกลางมีผลในเรื่องของนโยบาย สิ่งสนับสนุน และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ส่วนของสมาชิกชมรม มีความเข้มแข็ง มีความร่วมมือร่วมใจกันอยู่แล้ว พอเราไปให้ช่วยกันต่อยอด ระดมความคิด จึงเลยได้รับความร่วมมือที่ดี
  • เรื่อง การบริหารจัดการงบประมาณ เนื่องจากโครงการนี้ ใช้งบ PP-areabased จึงไม่ค่อยวุ่นวายเรื่อง ต้องทำให้เสร็จในปีงบประมาณ มีความยืดหยุ่น ทำให้ทำงานสบายใจ
  • การทำงานโครงการนี้จะได้ประโยชน์ร่วมกันเกือบทุกฝ่าย ... ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ผลงาน ได้ความภูมิใจ ได้ความสนุก สบายใจ ... ในผู้สูงอายุ ได้ประโยชน์กับตนเอง กับลูกหลาน กันคนรอบข้าง กับสังคมที่ท่านอยู่ เกิดความภูมิใจในตนเอง ... องค์กรท้องถิ่น/องค์กรเอกชน ได้ชื่อ ได้เสียง ... มาร่วมตรงนี้ ทุกคนก็จะ win-win จึงมีแรงที่จะช่วยกัน
  • จุดเด่นของเครือข่าย คือ ชมรมค่อนข้างจะตื่นตัวอยู่แล้ว พอมีเจ้าหน้าที่ มีอาสาสมัครเข้าไปเสริม เขาก็จะให้ความร่วมมือดี
  • องค์กรท้องถิ่น/ภาคเอกชน ให้การสนับสนุน ถือเป็นทุนของพื้นที่ ในเรื่อง การเดินทาง งบประชุม สถานที่ การ PR
  • ส่วนใหญ่แกนนำผู้สูงอายุจะเป็นข้าราชการที่เกษียณ หรือเป็น อสม. เจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน มีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ เมื่อไปขอความร่วมมือ ก็จะไปด้วยกันได้
  • กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการต่อยอด จากฐานที่พอมีอยู่บ้างแล้ว ก็จะง่าย ค่อยเป็นค่อยไป
  • การทำงาน อาศัยแผน ปฏิทินของชุมชน ... สมมติเราจัดกิจกรรมวันนี้ แล้วทุกคนไม่ว่าง ไปทำงานกันหมด หรือไปอยู่วัด มีงาน เราก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องมา เราก็จะปรับเปลี่ยนว่า เราต้องปรับให้เจ้าหน้าที่เข้าสู่ชุมชน โดยการไปเจอกันที่วัด ถ้าหลังงานบุญเสร็จ คุยกันนิดหนึ่ง ก็จะสนุกสนานเฮฮา และความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ กับผู้สูงอายุก็จะทำให้กิจกรรมลื่นไหลมากขึ้น

เรื่องบทเรียนที่ได้ และข้อเสนอแนะ

  • เรื่อง กระบวนการตอนยังไม่ชัดเจน ควรจะมีการประเมินผล และติดตามผล ให้มากขึ้น ด้วย การทำคู่มือ หรือสมุดประจำตัวผู้สูงอายุในเรื่องของสุขภาพช่องปาก
  • เรื่อง การบริหารจัดการเวลา โดยจัดเวลาการให้บริการกับผู้สูงอายุมากขึ้น มีการนำจิตอาสา เช่น โรงเรียน อสม. เข้ามาเป็นเครือข่าย ช่วยให้ความรู้ระหว่างคนไข้นั่งรอรับบริการ และประชาสัมพันธ์ให้คนไข้ได้เข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์มากขึ้น
  • เรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา ทางช่องทางต่างๆ เช่น เวป เอกสารประชาสัมพันธ์

เป้าหมายในอนาคต

  • เชิงปริมาณ ... เป้าหมายคือ อำเภอละ 1 ชมรม ที่มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ มีการบูรณาการตั้งแต่ระดับจังหวัดไป และประธานชมรมผู้สูงอายุของจังหวัดได้มาเป็นกรรมการในการบริหารโครงการด้วย
  • ในส่วนของจังหวัด จากการดำเนินงานโครงการนี้ จะมีการขยายไปในเรื่องของโครงการชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ให้มีการดำเนินการตามชุดสิทธิประโยชน์ทุก โรงพยาบาล มีการพัฒนาศักยภาพของทันตบุคลากรและทีมงาน พัฒนาศักยภาพ อสม. ให้มีการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นลำดับต้นๆ ก่อน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพิ่มขึ้น โดยการไปศึกษาดูงานในพื้นที่ร่วมด้วย

รวมเรื่อง บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

  

หมายเลขบันทึก: 388269เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท