บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ (16) ฟังเรื่องเล่า ถอดบทเรียนจังหวัดราชบุรี


 

เรื่องบทเรียนการทำกิจกรรมทันตสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุของจังหวัดราชบุรี คุณหมอยุ้ย (ทพญ.ดลฤดี แก้วสวาท) จากศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี เป็นผู้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ทีมราชบุรีมาน้อยคน ก็เลยถือโอกาสแนะนำสมาชิกกลุ่ม ก็จะมี

  • ร.ต.ศิริ บันลือยุทธ สว. ค่ะ ท่านอยู่ชมรมคนรักฟัน ตำบลท่านัด รองประธานชมรมคนรักฟัน อำเภอดำเนินสะดวก และเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุตำบลท่านัด ... อิอิ ตำแหน่งเยอะแยะมากมาย
  • คุณศิริจินต์ ดำรงคดีราษฎร์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่านัด … ท่านบอกว่า มาเป็นตัวแทนของนายก อบต.ท่านัด ท่านนายกฯ บอกว่า ท่านเห็นความสำคัญของคำว่าผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้หมายความเรื่องทันตกรรมอย่างเดียว และพวกเราก็ตื่นตัวเรื่องคุณภาพชีวิตมากๆ
  • คุณกรรณิการ์ ชุติพงศ์ศาศวัต (น้องฮุย) เป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ อดีต เคยอยู่ที่ สอ.ท่านัด แต่ 7 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ สสอ.ดำเนินสะดวก ได้ทำการปรับเปลี่ยนบทบาท และนำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุจากระดับตำบล ไปสู่ระดับอำเภอ ได้ในระดับที่ 1 จากขั้นตอนที่วางไว้ 10 ขั้น ตอนนี้ได้ขั้นที่หนึ่งแล้ว ขั้นที่สอง สาม สี่ เราจะก้าวทีละ 2 ขั้น
  • คนสุดท้าย คุณหมอยุ้ย เป็นผูนำเสนอค่ะ

บริบทของราชบุรี มีหลายพื้นที่ ท่านัดเป็นตำบลหนึ่งในเขตอำเภอดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นตลาดน้ำ ... เป็นตำบลเล็กๆ มี 8 หมู่บ้าน ประชากร 8,900 คน ตอนนี้สมาชิกชมรมผู้สูงอายุประมาณ 290 คน เป็นชาวสวนผลไม้ สวนองุ่น เศรษฐกิจค่อนข้างดี เป็นเกษตรกรนิดหน่อย จะว่าเมืองก็ไม่เมือง ชนบทก็ไม่ชนบท แบบเป็นชนบทแบบใกล้เมือง มีความอบอุ่นแบบชาวสวน

งานนี้ คุณพ่อศิริ มาช่วยหมอยุ้ย เปิด Flipchart ให้ ... อิอิ หมอยุ้ยใช้งานผู้สูงอายุ

การก่อกำเนิดงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ เริ่มต้นจาก

ส่วนศูนย์อนามัย ดำเนินการหาพื้นที่ที่มีชมรมที่มีความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการที่เป็นพี่เลี้ยง พยายามให้เครือข่ายเจอกันบ่อยๆ สนับสนุนทุกสิ่งเท่าที่จะเอื้ออำนวยได้ และติดตามเป็นระยะ

ส่วนท้องถิ่น มีบทบาทค่อนข้างมากในการสนับสนุน ทำให้ชมรมฯ มีความเข้มแข็งขึ้น เนื่องด้วยผู้นำมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแบบองค์รวม คือ มองผลลัพธ์การดำเนินงานเป็นหลัก โดยมองในภาพรวมของผู้สูงอายุ หรือในเรื่องคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มากกว่าจะมองเป็นโครงการที่ส่งเสริมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

คุยกับปลัดฯ หมอเล็กบอกว่า ไม่ชอบโครงการที่เขียนย่อยๆ อยากให้สาธารณสุขเสนอในภาพรวมมากกว่า ทำโครงการนั้นๆ ว่าจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างไร กิจกรรมก็แล้วแต่ชมรมจะเสนอขึ้นมา

สิ่งที่ทำให้ชมรมมีความเข้มแข็ง

  • สิ่งสำคัญคือ เรื่องงบประมาณ เป็นค่ารถ หมายถึง รถที่ใช้รับส่งผู้สูงอายุมาร่วมกิจกรรมประจำเดือนทุกครั้ง ซึ่งทางชมรมได้รับการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2545 หรือ 2546 ก่อนที่จะมีกิจกรรมชมรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก
  • ส่วนชมรมผู้สูงอายุ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยงหลัก ชมรมผู้สูงอายุจะเอางานมาบูรณาการกับกิจกรรมที่มีอยู่แล้วในชุมชน โดยพิจารณาจากกิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเอง มีความเป็นไปได้ และมีการสอบถามความเห็นจากสมาชิกทุกครั้ง ว่า อยากให้มีการจัดกิจกรรมอะไรเพิ่มเติม และพยายามสร้างสรรค์กิจกรรมที่แปลกใหม่ เพื่อให้สมาชิกมาเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างมีความสุข และอยากเข้ามาร่วมกิจกรรมบ่อยๆ ทำให้กิจกรรมไม่ซ้ำ ไม่เป็นเรื่องเดิม มีเกมใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ เป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อย เป็น edutainment บ้าง เป็นละครบ้าง ทำให้สดชื่น สอดแทรกในทุกโอกาส เราไม่ได้ทำแต่เรื่องสุขภาพช่องปากอย่างเดียว แต่จะดูโภชนาการ โรคทางระบบ การส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ในองค์รวม และสุขภาพจิตด้วย

บทบาทของ CUP จะมาช่วยเมื่อศูนย์อนามัยได้ประสานการทำงานกับพื้นที่แล้ว

แรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรม

  • ทุกคนมีใจกันแต่แรก มีแรงร่วม คือ การมองในเรื่องคุณภาพชีวิต เพราะว่า อยากให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมร่วมกัน มีความสุข เรื่องกายอาจมีการเสื่อม เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ว่า ความสุขที่เกิดจากการมาร่วมกิจกรรม ร่วมกันทำให้ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีความรู้สึกสดชื่น มีพลังที่จะกลับไปทำงานต่อไป

การทำกิจกรรมที่นี่ ... เราเริ่มจากตัวชมรม ทำในชมรม ก็จะได้บ้าน จะได้ครอบครัว ไปสู่ชุมชนที่เป็นกลุ่มบ้าน และโชคดีที่ชมรมมีความเข้มแข็ง ทำให้ประมาณ 2 ปีที่ได้ทำมา เราก็ได้ไปจับกับอีกเครือข่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นชมรมคนรักฟันจังหวัดราชบุรี เพราะว่าผู้สูงอายุไปรู้จักกับทันตแพทย์ที่อยู่ในช่วงการก่อตั้งชมรมคนรักฟัน จึงได้ช่วยกันก่อตั้งชมรมคนรักฟันขึ้นมา ผู้สูงอายุจะเป็นผู้ชักชวน ทำให้กิจกรรมกระจายไปสู่อำเภอได้ และคุณพี่ฮุย (นักวิชาการสาธารณสุขประจำ สอ.) มีประสบการณ์หลายๆ อย่าง รู้จัก และมีสัมพันธภาพร่วมกันหลายปี ทำให้การขยายงานระดับอำเภอมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น

รากฐานของงานนี้ ... เรามีชมรมที่มีความเข้มแข็งอยู่เดิม หมายถึง การมีคณะทำงาน ที่มีความสนิทชิดเชื้อกัน มีการประชุม มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง สมาชิกมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทุกเดือนจะได้เจอกัน ตอนแรกอาจมีปัญหาที่กรรมการมองเห็นว่าผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ทุกคน เพราะว่าเป็นชาวสวน เป็นร่องสวน สวนองุ่นจะมาลำบาก ก็จะมีการติดต่อหารถ รับ-ส่ง จะเป็นรถสองแถว หรือรถของสมาชิก หรือคนที่รู้จัก มาเป็นสายรถ พอถึงวันนัดก็จะรับผู้สูงอายุมาร่วมกิจกรรม ทุกเดือนจะมีผู้สูงอายุมาร่วมกิจกรรมประมาณ 100 กว่าคนทุกครั้ง ด้วยการสนับสนุน จาก อบต. และเครือข่ายของชมรมผู้สูงอายุเอง ทำให้ผู้สูงอายุในเขตตำบลท่านัด ได้เจอกันบ่อยๆ

เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้กระตุ้น ... คุณพี่ฮุยจะเป็นผู้กระตุ้นที่ดีมาก มีมุข หาไอเดียเจ๋งๆ มานำเสนอให้กรรมการชมรมฯ และให้กรรมการชมรมฯ เป็นผู้ตัดสินว่า เรื่องนี้ทำกันไหม เอาไหม สนุกไหม ... สนุกนะ ทำกันเถอะ หรือว่า ลุงว่าไงล่ะ จะทำได้ไหม ... ส่วนเรื่องงบประมาณ หรืออุปกรณ์มาทีหลัง ให้ไอเดียมาก่อน อย่างที่บอกว่า ถ้าอยากได้ของแปลกๆ ใหม่ๆ ของสนุกๆ ทำร่วมกันแล้วจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น

ระยะขยายกิจกรรม ... คือ การที่เราเริ่มทำในเรื่องสิทธิประโยชน์ฯ จะมีการเชื่อมโยง บุคลากรในโรงพยาบาลจะเข้ามา และมีการจัดระบบบริการรองรับผู้สูงอายุ และขยายสู่ชมรมคนรักฟันระดับอำเภอ

ปัญหาของการดำเนินงานที่ผ่านมา

  • พื้นที่บอกว่า ไม่เป็นปัญหา แต่ว่าศูนย์ฯ มีปัญหา คือ การขาดช่วงต่อระดับจังหวัด เพราะว่า ศูนย์อนามัยจะส่งงานลงไปในพื้นที่ CUP เลย ลงไปที่ชมรมฯ เลย พื้นที่บอกว่า สะดวก รวดเร็วดี แต่ศูนย์ฯ บอกว่า จะขาดในเรื่องของการประสานงาน และเรื่องการสนับสนุน
  • ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่หลายๆ คนพูดถึง คือ เรื่องของการขาด generation คือ กรรมการรุ่นใหม่ ในชมรมฯ ก็จะมี สมาชิกที่มีอายุต่ำกว่า 60 เรียกว่า รุ่นวิสามัญ เข้ามาทำงานด้วย และเจ้าหน้าที่ที่มีการเลื่อนระดับ ก็ต้องคนใหม่มาช่วยดูแลต่อ
  • เรื่องของการขยายพื้นที่

บทเรียนที่ได้เรียนรู้

  • การที่เราเลือกชมรมเข้มแข็ง มีการดำเนินงานอยู่แล้ว การที่เราใส่สิ่งใหม่ๆ เข้าไป จะเป็นสิ่งที่มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น เนื่องจากมีความพร้อมสูง แต่ว่า ต้องทำในลักษณะของการบูรณาการกับสิ่งที่มีอยู่เดิม
  • การมีส่วนร่วม และการยอมรับของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงาน ถ้าเราขาดคนใดคนหนึ่งไป ก็อาจทำให้การขยายงานเป็นไปได้ยาก
  • การอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกของชมรมฯ ได้มาร่วมกิจกรรม ทำให้ชมรมมีความเข้มแข็งขึ้น จึงต้องมีกิจกรรมที่น่าสนใจ และมีวิธีเอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุเข้ามาร่วมกิจกรรมบ่อยๆ ... เมื่อชมรมฯ มีความเข้มแข็ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร งบประมาณ หรือวิทยากร
  • การสร้างสัมพันธภาพ ระหว่างผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ ทันตบุคลากรทุกระดับ จะทำให้เกิด lifely คือ ความสดชื่นที่ได้เจอกัน สนุกที่จะทำงาน ถึงแม้จะไม่มีเรื่องราวอะไร เราคิดถึงกัน เอาผลไม้ไปฝากกัน เจอหน้ากัน ก็จะดีใจ ไม่เบื่อกับการเจอกัน หรือการต้องมาทำงานร่วมกัน
  • เรามีนวัตกรรมหลายๆ อย่าง ที่ทำให้กิจกรรมมีความหลากหลาย
  • การที่เราพยายามเลือกชมรมที่เข้มแข็ง แต่ไม่ได้คิดว่าระหว่างทาง มันจะเกิดกลุ่มอะไรบ้าง ใครบ้าง คิดแต่ว่า ถ้าพื้นที่เข้มแข็ง ชมรมเข้มแข็ง ก็น่าจะดำเนินไปได้ เราลืมมองว่า ระหว่างทางจะมีบุคลากรอีกหลายส่วนที่เราไม่ได้พาไปด้วย บางทีเขาบอกว่า ลุยไปก่อน เดี๋ยวจะตามไปทีหลัง พอถึงจุดหนึ่งเขาจะตามไม่ทัน ก็จะงงๆ และต่อยาก ทำให้การขยายงานเป็นไปได้ยาก เพราะว่า จะช้ากว่าเราไป เขาไม่ได้มีประสบการณ์ตรงนี้ตั้งแต่แรก ... ข้อเสนอแนะแก่จังหวัดอื่นๆ หรือคนที่ทำ ก็คือ ถ้าทำไปตั้งแต่แรก เรียนรู้ไปด้วยกัน ก็จะดีกว่า ก็จะขยายงานไปพร้อมๆ กัน
  • อย่าลืมในเรื่องของระบบการติดต่อสื่อสารที่ดี เพราะว่าเราต้องมีการส่งงาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากร การทำทำเนียบสมาชิก ทีมงาน
  • อย่าคิดแต่ในเรื่องว่า ถ้ามีงบประมาณ จึงทำ เพราะว่ากิจกรรมบางอย่าง เราทำไปได้ด้วยศักยภาพของเราเอง ทำในสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวัน สิ่งง่ายๆ เพราะว่า จริงๆ แล้วจะเห็นประโยชน์ได้อย่างชัดเจน และเป็นกิจวัตรจนเคยชิน ทำให้เคยชิน ก็จะประสบความสำเร็จ และเมื่อประสบความสำเร็จ ก็จะมีแรงใจ ทำในสิ่งที่ดีดีมากขึ้น

รวมเรื่อง บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

   

หมายเลขบันทึก: 388479เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท