บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ (18) ฟังเรื่องเล่า ถอดบทเรียนจังหวัดอำนาจเจริญ


 

เรื่องเล่าจากอำนาจเจริญ น้องเอื้อง (เอื้องอรุณ สมนึก) จาก รพ.ลืออำนาจ มาเล่าให้ฟังค่ะ ว่า บทเรียนของอำนาจเจริญคืออะไร

“พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ งามล้ำถ้ำศักดิ์ เทพนิมิตรพระเหลา เกาะแก่งเขาแสนสวย เลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎร์เลื่อมใสใฝ่ธรรม" … คำขวัญของอำนาจเจริญ

วันนี้อำนาจเจริญมาระดมสมองกันจากทุกภาคส่วนเลย ก็คือ สสจ. โรงพยาบาล สถานีอนามัย ท้องถิ่นโดยเทศบาล และผู้สูงอายุ สิ่งที่เราได้พูดคุยกัน อันแรกคือ ความเป็นมาของโครงการ ที่คงไม่แตกต่างจากที่อื่นๆ ถึงความเป็นมา และมีโครงการเข้าเมื่อไร

บทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ... ทุกภาคส่วนมีบทบาทหน้าที่ต่างๆ คือ

  • อปท. เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ และให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้สูงอายุมาโดยตลอด
  • สถานีอนามัยเป็นผู้ประสานงานกับพื้นที่และจังหวัด
  • สสจ. เป็นผู้สนับสนุนด้านข้อมูล ประสานงานในส่วนกลาง และพื้นที่
  • โรงพยาบาลก็เป็นผู้ประสานงาน

แรงจูงใจที่ได้มาทำงานนี้

มีหลากหลายมากมาย เช่น บอกว่า "อยากทำอะไรคืนให้สังคมบ้าง" ... "อยากทำงานนี้เพราะได้สุขภาพดีให้กับตัวเอง" ... "ท่านนายกฯ บอกว่า อยากทำงานนี้มาก เพราะว่าพ่อของท่านเคยเป็นตัวแทนเข้าประกวดผู้สูงอายุฟันดีในระดับอำเภอ"

การทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุเรามีเป้าหมาย เรามองไปที่เป้าหมายของโครงการ และเลยไปถึงเป้าหมายของอนาคต ซึ่งเป้าหมายของเรา คือ "ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี ทั้งกายและใจ ชมรมผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างยั่งยืน มีความเหนียวแน่น และมีการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ" และยังมีเป้าหมายเพิ่มเติมในปี 2553 ที่สำนักทันตฯ ได้กำหนดให้มี 1 จังหวัด 1 ชมรมฯ แต่อำนาจเจริญเราขอล้ำเส้นนิดหนึ่ง ให้มี 1 อำเภอ 1 ชมรมต้นแบบ ซึ่งตอนนี้เราก็ทำได้ทุกอำเภอ

จากการทำงานจริง เราพบว่า มีทั้งสิ่งที่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ และสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

สิ่งที่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้

  • เรามี 1 อำเภอ 1 ชมรมฯ ตามเป้าหมาย
  • ผู้สูงอายุมีความภาคภูมิใจ มีความสุข กล้าโชว์กันมากขึ้น สุขภาพช่องปากดีขึ้น
  • ชมรมผู้สูงอายุมีความเข้มแข็ง มีการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น
  • และมีการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นปราชญ์ในท้องถิ่น

สิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

  • การเข้าร่วมกิจกรรมของผู้สูงอายุยังไม่ถึง 100% จริงๆ ตัวเจ้าหน้าที่เองไม่ได้คาดหวังว่าจะครบร้อย แต่ว่าประธานชมรมอยากให้ครบ 100%
  • ความร่วมมือที่ยังไม่สมบูรณ์ คือ ฝ่ายทันตฯ ยังไม่เปิดตัวออกมาทำงานชุมชนทั้งหมด
  • ยังกระจายไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ยังไม่เกิดความเข้มแข็งในทุกพื้นที่

หัวใจที่นำไปสู่ความสำเร็จ

  • ข้อแรกที่สำคัญที่สุด คือ การเปิดใจ เปิดใจให้กันและกันระหว่างภาคี ต่างคนต่างได้ประโยชน์ เอาประโยชน์เป็นตัวตั้ง
  • หัวใจข้อที่สองคือ ทีมงาน ทีมงานที่ทำงาน แกนนำเป็นที่ยอมรับ และมีบารมี ทุ่มเท ตั้งใจ มีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน และเป็นคนบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ที่นั่น ก็จะเป็นผลดีแก่การทำงานด้วย
  • หัวใจข้อที่สาม คือ บริบทความเป็นชุมชน ชุมชนเปือยจะมีความรัก สามัคคี มีความเป็นเครือข่าย พึ่งพากันสูง ทำงานด้วยง่าย ไม่ว่าเอาโครงการอะไรไปลงก็จะง่ายขึ้น
  • หัวใจข้อที่สี่ คือ ด้านงบประมาณ เราจะประสานการดำเนินงานส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งไปให้กับผู้สูงอายุ
  • อันที่ห้า คือ ผู้บังคับบัญชาให้โอกาส ทำงานเต็มที่ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเห็นความสำคัญของงาน
  • หัวใจข้อสุดท้าย คือ กระบวนการทำงานต้องเห็นเป้าหมายร่วมกัน ที่ชัดเจน ค้นหาตัวจริง หรือตัวตนของกลุ่ม หาวิธีการทำงานร่วมกัน มีการประสานงานความร่วมมือ มีการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ มีการให้ขวัญกำลังใจคนทำงานดูแลผู้สูงอายุ โดยอาจเป็นของขวัญ รางวัล หรือใบประกาศเกียรติคุณ และต้องมีเทคนิคด้วย เทคนิคในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ ก็คือ ติตัวเอง ไม่ได้ติคนอื่น ใช้ศิลปะในการพูดโน้มน้าว ทำให้ทุกคนทุกหน่วยงานรู้สึกว่าเป็นเรื่องของทุกคน และสร้างจิตสำนึกให้คนในชมรม

ปัจจัยที่ทำให้ไม่สำเร็จ

  • ความเป็นปัจเจก เช่น อายุของผู้สูงวัยที่มากขึ้น
  • การไม่ค่อยมีเวลาว่าง
  • วิธีคิดที่ยังไม่เปลี่ยน คือ ไม่ตระหนัก
  • บุคลากรทันตฯ มีน้อย
  • ระยะทางไกลไม่สะดวก
  • งบฯ ไม่ทั่วถึง

สิ่งที่ควรจะปรับปรุง นั่นก็คือ การทำงานกับผู้สูงอายุ

  • ในชมรมผู้สูงอายุ อันแรก ต้องค้นหาตัวจริง เป็น Key person ตัวจริงให้เจอ ให้มาร่วมงาน
  • เพิ่มจำนวนสมาชิกผู้สูงอายุให้เพิ่มขึ้น เพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้น เพิ่มกิจกรรม และกระตุ้นให้มีการ ลปรร. กันมากขึ้น
  • ในส่วนของทันตบุคลากรที่มีน้อย ก็จะหาตัวช่วย ได้แก่ อสม. อผส. เพื่อทำงานทันตฯ ในพื้นที่ให้มากขึ้น เพิ่มการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้เรื่องสุขภาพในช่องปาก ได้ตัวช่วย อย่างที่กล่าวไป และเจ้าหน้าที่ทันตบุคลากรก็จะเป็นที่ปรึกษาในพื้นที่ และมีการเชื่อมการทำงานกับ สอ. อย่างต่อเนื่อง
  • ในส่วนของผู้สูงอายุที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงความคิด มีข้อเสนอแนะว่า มีการพัฒนาต้นแบบตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดผู้ที่ยังไม่เปลี่ยนวิธีคิด สร้างความภูมิใจ ให้กับคนๆ นั้น เช่น อาจแนะนำให้เขาไปประกวดฟัน เอาเขาไปเป็นตัวแทนของอำเภอไปประกวด เพื่อให้เขายอมที่จะรับการรักษาทางทันตกรรม ค้นหาจุดเด่น ให้ความสำคัญกับเขามากขึ้น
  • ส่วนของพื้นที่ห่างไกล ควรปรับกับกลุ่มองค์กรท้องถิ่น ที่ที่อยู่ห่างไกลไม่สะดวก ประสานให้ อปท. จัดรถรับส่ง เพื่อมารับบริการทันตกรรมที่โรงพยาบาล
    ต้องค้นหาจุดคานงัดที่เป็นข้อต่อที่สำคัญ ที่จะเป็นตัวคลิ๊กการทำงานกับคนอื่น ทำให้เขารู้สึกว่าต้องทำแล้วตรงนี้ ค้นหาให้เจอ และมีการประสานงานในพื้นที่ให้มากขึ้น

จากที่ ลปรร. กันมา เราได้สรุปเป็นบทเรียนที่สำคัญ 4 ข้อ ก็คือ

บทเรียนที่หนึ่ง การค้นหาตัวตนที่แท้จริงในชุมชน เมื่อเริ่มต้นทำงาน อันแรกต้องค้นหาตัวตนที่แท้จริงในชุมชนก่อน ตัวตนที่แท้จริงคือ อะไร คือผู้นำ คือปราชญ์ คือตัวขับเคลื่อน ศักยภาพในชุมชน และความถนัดของคนในชุมชนนั้นด้วย

วิธีการที่จะค้นหาตัวตนที่แท้จริงในชุมชน โดย

  • อันแรกใช้แผนที่เดินดิน หรือฐานข้อมูลจากแหล่งข้อมูล ที่สถานีอนามัยในการวิเคราะห์ชุมชน ค้นหาตัวหลักที่จะทำงาน หรือเชิญชวนตัวหลักมาทำงานร่วมกิจกรรม สอดแทรกแนวคิดที่ต้องการสื่อสารด้วย เมื่อเราได้ Key person แล้ว ก็เข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับเขา และสอดแทรกสิ่งที่เราอยากให้เขาทำไปทีละเล็กทีละน้อย หาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมด้วยอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้กำลังใจเขาอย่างต่อเนื่อง
  • หลังจากที่เราหาตัวตนที่แท้จริงของชุมชนได้ บทเรียนข้อที่สองคือ ได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น และวิธีการทำงานต่างๆ
    - อันแรกคือ ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีก่อน ที่จะขยายถึงคนอื่น
    - อันที่สอง วิธีการทำงานกับคนอื่น เรายึดหลักสามประสาน (1) ประสานพลัง คือ ผนึกพลังความต่างอย่างสมดุล ร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ (2) ประสานใจ คือ ใช้สะพานประสานใจระหว่างคนต่อคน และคนต่อสังคม (3) ประสานสุข คือ การช่วยเหลือเกื้อกูล บูรณาการให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม สามประสานนี้จะทำให้เกิดกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
    - หลักในการทำงานข้อที่สาม คือ ใช้หลัก 3 ครอง คือ การรู้จักครองตน ครองคน และครองงาน
  • บทเรียนข้อที่สาม ต้องมีกลยุทธ์ในการทำงานที่หลากหลาย ข้อแรก ต้องมีความยืดหยุ่น มีแผนที่ดี ยือหยุ่นแต่ไม่หย่อนยาน ข้อสอง สร้างแรงจูงใจให้มีความรู้สึกอยากเข้าร่วม ภายใต้เงื่อนไข และบริบทที่เหมาะสมกับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ข้อสาม คือ มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนร่วมกัน เช่น การมีสุขภาพกายใจที่ดี
  • บทเรียนข้อสุดท้าย อาจเป็นบทเรียนเชิงลบ คือ การขาดแคลนบุคลากรทางด้านทันตสาธารณสุข ทำให้เกิดการเข้าถึงการรักษา อาจจะไม่ครอบคลุม และไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ข้อเสนอแนะ คือ
    - อปท. ให้ทุนการศึกษา ด้านทันตสาธารณสุข แก่บุตรหลานในชุมชน จำนวน 1 คน ต่อ 1 ตำบล ทุกปี
    - ข้อเสนอแนะที่สอง อปท. รองรับให้เข้าทำงานต่อเมื่อเรียนจบแล้ว
    - ข้อที่สาม พัฒนาเครือข่ายศักยภาพคนทำงาน เช่น อสม. อผส. หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ให้มาทำงานด้านทันตสุขภาพมากขึ้น
    - ข้อที่สี่ เพิ่มบทบาทให้ทันตบุคลากรเป็นที่ปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพช่องปาก ให้กับเครือข่าย อสม. อผส.
    - ข้อที่ห้า เชื่อมโยงระบบบริการ ระหว่างสถานีอนามัย และโรงพยาบาลให้ตอบสนองการดูแลผู้สูงอายุ
    - ข้อที่หกสำนักทันตฯ ควรผลักดัน และส่งเสริมความก้าวหน้าในสายนงาน อาชีพของบุคลากร เพื่อป้องกันการเปลี่ยนสายงาน
    ทั้งหมดนี้ คือ การนำเสนอของทีมออำนาจเจริญ

มีของฝากจากชมรมผู้สูงอายุตำบลเปือยค่ะ ... คุณพ่อเกิด เล่าว่า เรื่องฟันนี่ (สำเนียงอีสานนะคะ) จากปี 2549 เป็นต้นมา สสจ.อำนาจเจริญ จัดให้มีมหกรรมชมรมผู้สูงวัยใส่ใจสุขภาพช่องปาก ที่ รพ.อำนาจเจริญทุกปี โดยให้ผู้สูงวัยจากทุกอำเภอ ใน 7 อำเภอ มาจัดกิจกรรมร่วมกัน และอำเภอลืออำนาจได้แต่งกลอนเซิ้งอีสานขึ้น เพื่อเป็นการเชิญชวนให้พี่น้องได้รักษาเขี้ยว และช่องปาก ... เซิ้งอีสานเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวอีสาน มีว่าจังซี่ (ทำนองเซิ้งบั้งไฟยโสธร ... ดนตรีประกอบ เซิ้ง คือ กลองตุ้ม)

โอ ฮะ โอ ผู้สูงวัย เฮาเอย …
เฮานี้เคยมาพบกั๋นหลายเทื่อ อย่าเฝ้าเบื่อละการรักษาฟัน
พวกของฉันมาแต่ลืออำนาจ บ่อเคยพลาดรักษาแข้วของตน
ทุกทุกคนเขี้ยวงามเป็นตะนาย …

ขอแต่ฝ่ายละทันตะเมืองลือ เพิ้นกำชับให้พวกเฮาถูแข่ว
ตื่นเมื่อเซ้าและตอนเข้านอน ตาอ่อนซ้อนเขี้ยวงามเต็มปาก
อยากขอฝากเรื่องอาหารการกิน มีวิตามินมันจะมีประโยชน์
ของให้โทษจำพวกขนมหวาน พวกลูกหลานละเฮาเตือนเขาแน
คุณพ่อคุณแม่อยู่นี่ละคือกัน ให้ไปตรวจฟันปีละสองเทื่อ
หมอตรวจแล้วเฮาจะสบายใจ ไปไวไวถ้าพวกเขาปวดแข่ว
หมอตรวจแล้วบอกว่า จังซี่ … บ่อต้องถอน จังซี่ … บ่อต้องถอน … ฮื่อเฮาฮักษาไว้

ภาษาอีสานคำว่า เขี้ยว ก็คือ ฟัน เทื่อ ก็คือ ครั้ง

รวมเรื่อง บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

   

หมายเลขบันทึก: 388639เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ  ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

แวะมาเยี่ยมชมครับ

  • เสียดายไม่ได้ไปด้วยนะคะ
  • รับรองว่า จะประทับใจ
  • เพราะว่า ทีมอาจารย์เขาเจ๋งจริงๆ
  • บริบทของการถอดบทเรียนเลยละค่ะ

ตามมาดูผลงานของอำนาจเจริญค่ะ อยากรบกวนอาจารย์เอกด้วยค่ะ คือว่าอำนาจเจริญอยากได้ file VDO ที่อาจารย์นำเสนอช่วง Break อ่ะค่ะ (เป็นภาพประกอบเพลง) ดูแล้วกินใจลึกซึ้ง รู้สึกดีค่ะ หวังว่าคงไม่เป็นการรบกวนเกินไปนะคะ และอยากให้สำนักฯ ชวนไปเปิดหูเปิดตาแบบนี้บ่อยๆ ค่ะ ได้เรียนรู้เยอะมาก และได้สิ่งดีๆ ในชีวิตเยอะเลยค่ะ...ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท