บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ (19) ฟังเรื่องเล่า ถอดบทเรียนจังหวัดสตูล


 

สตูล ... มาแล้วค่ะ ... ปิดท้ายเรื่องเล่าวันนี้ ด้วย สตูล นี่ละค่ะ

น้องเปิ้ลมาแนะนำจังหวัดก่อน "สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์" คำขวัญ สั้นนิดเดียว แต่สตูลเรามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนปาย ก็คือ ถ้าจะไปสตูล ... เราต้องพกความตั้งใจเต็มกระเป๋า เพราะว่าสตูลไม่ใช่ทางผ่าน ถ้าจะไปสตูลต้องตั้งใจมากๆ แต่ว่าเดี๋ยวนี้สตูลเป็นทางผ่านเหมือนกัน เพราะว่าเขาผ่านสตูลไปเที่ยวลังกาวี หรือมาเลเซียกัน ... แต่ขอบอกว่า สตูลเรามีที่เที่ยวเยอะ และมีดีด้วย เพราะฉะนั้น เชิญชวนทุกๆ ท่านไปเที่ยวสตูลได้

สตูลเริ่มต้นเหมือนๆ กับจังหวัดอื่นๆ คือ รับนโยบายมา สสจ. รับนโยบายมาก็โยนเป้าหมาย คือ สุขภาพช่องปากผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพช่องปากที่ดี ไปสู่พื้นที่เลย

เรื่องของแรงจูงใจ

ในการทำงานของสตูล ถามว่า แรงจูงใจเกิดขึ้นครั้งแรกที่เริ่มการทำงานหรือเปล่า ... เปล่า … เราไม่มี เพราะว่าจังหวัดโยนมาอย่างไร เราก็ต้องรับ โดนเต็มๆ เราเริ่มทำงานนี้โดยไม่ได้มีแรงจูงใจ

แต่เมื่อทำไปสักพักหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงจูงใจที่ทำให้เราอยากที่จะทำต่อ เพราะเราไม่คาดคิดว่า เราเริ่มจากศูนย์ จากที่เราไม่ได้คิดว่า เราจะเดินทางไหน ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเดินไป เดินถูกทางหรือเปล่า แต่ผลที่เราได้รับกลับมา มีผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในชมรม เราเรียกร้อง บอกว่า เมื่อไรคุณหมอจะลงไปทำในพื้นที่เขาบ้าง เขาอยากทำบ้าง เขาอยากทำเหมือนของชมรมหมู่ที่ 4 เขาอยากทำเหมือนสถานีอนามัยโน้นจังเลย คุณหมอไปทำได้ไหม มีถึงขั้นที่ว่า เขาไปบอกกับทาง อบต. ว่า พาเขาไปดูชมรมของบ้านควนหน่อย เห็นเขาทำ ผู้สูงอายุได้รับการตรวจฟัน มีการแปรงฟันกันอย่างดีเลย เขาอยากได้กิจกรรมนั้นบ้างจังเลย นี่กลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงผลักดัน ที่จะให้เจ้าหน้าที่ของเราทำงานแบบมีกำลังใจมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับบทบาทเหมือนๆ กัน ในระดับจังหวัด และอำเภอ เราทำงานในเรื่องการประสานงาน การให้นโยบายต่างๆ เหมือนกัน

บทบาทของการทำกิจกรรมผู้สูงอายุเรา เกิดที่สถานีอนามัย ... ซึ่งเราถือว่า เป็นสิ่งที่ระดับอำเภอ และจังหวัดมองเห็นคือ เราเห็นพลัง ครั้งแรกเราโยนไปให้เขาทำ ก็รู้สึกว่า งานเขาก็เยอะอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ต้องทำ เพราะรู้สึกว่า เป็นงานนโยบายมา แต่พอเขาเริ่มเดินแล้ว เราก็เห็นว่าเขามีพลัง เขาสามารถที่จะนำเครือข่ายที่เขามีอยู่ในพื้นที่ มาขับเคลื่อนงานของเขาให้เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ก็จะเป็น บทบาทของท้องถิ่น เขาจะมาร่วมวางแผน กับเรา และสนับสนุนงบประมาณ

สภาพเป็นจริงที่ได้จากโครงการ

สิ่งแรกที่เห็น คือ ผู้สูงอายุกลัว แต่เมื่อทำกิจกรรมไปแล้ว ผู้สูงอายุก็เลิกที่จะกลัวการทำฟัน เมื่อ 4 ปีก่อน เรามีการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพ เราลงไปในพื้นที่ ไปหาผู้สูงอายุ เราพบว่า ผู้สูงอายุที่มาหาเรา มีฟันเหลือ 2-3 ซี่ก็มา มาบอกเราเพื่อที่จะถอนและใส่ฟันเทียม หรือไม่มีฟันเลยในช่องปาก และมาบอกเราว่า คุณหมอวันนี้มาใส่ฟันเทียมให้ใช่ไหม ... สิ่งที่ได้พบจากโครงการใหม่นี้ก็คือ ผู้สูงอายุเลิกกลัวการทำฟัน เดินเข้ามาหาเรามากขึ้น หมู่บ้านก็อยากที่จะร่วมกิจกรรมกับเรา และเจ้าหน้าที่มองเห็น ว่าเขาทำไปแล้ว เขาจะขยายกิจกรรมนี้ ไปในพื้นที่อื่นได้อย่างไร

และสิ่งที่เราพบจากโครงการคือ Teamwork เราทำงานกันหลายภาคส่วนจริงๆ โครงการนี้ถึงได้ขับเคลื่อนได้ เราสามารถที่จะบูรณาการงาน โดยการนำเอางานผู้สูงอายุเข้าไปในทุกๆ งาน ทำให้ หนึ่งกลุ่มเป้าหมายของเรา คือ ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ไม่ใช่มาแล้วก็ได้รับการดูแลเรื่องของฟันแต่อย่างเดียว แต่เขาได้รับในเรื่องของการตรวจสุขภาพ โรคเรื้อรัง เรื่องของอาหาร และการออกกำลังกายด้วย ซึ่งสุดท้าย เกิดเป็นนวัตกรรม ก็คือ ผู้สูงอายุเขาคิดว่า นอกจากเขาจะดูช่องปาก มาให้คุณหมอดูแล เขาแปรงฟันได้แล้วนี้ เขาควรที่จะดูแลเรื่องอาหารการกิน จนผู้สูงอายุเสนอโครงการกับเราว่า เขาอยากได้โครงการผู้สูงวัยเลิกกินหวาน ... นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

และการทำงานของเรา ที่บอกว่า เราไม่มีแรงจูงใจตั้งแต่ครั้งแรก ก็ได้เจอปัญหาอุปสรรคมากมาย ... อันดับแรก เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเรามาก คือ เรื่องของการเริ่มต้น เราเพิ่งเริ่มเดิน จึงไม่รู้ว่า จะเริ่มต้นกันอย่างไร มืดแปดด้าน จังหวัดเขาโยนคู่มือมาให้เล่มหนึ่ง เราก็มาคุยกันว่า จะทำอย่างไร จะเดินไปในลู่ทางไหน

และความไม่เข้าใจในการทำกิจกรรมของผู้สูงอายุครั้งแรก ... ตอนนี้เราขยายเป็น 3 ชมรมฯ แล้ว ที่เรานับหนึ่ง คือ เขาบอกว่าเราต้องทำ เราก็ลงไปทำเลย ผู้สูงอายุที่เขาอยู่มาได้ 70-80-90 ปี เขาไม่เห็นจะต้องใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากเลย เขามีฟันแค่นี้ เขาก็เคี้ยวข้าวเท่านี้ เขาก็อยู่ยืนยาวมาจนถึงบัดนี้

เราก็คิด ว่าเขาไม่รับกิจกรรมที่เราลงไปทำให้ จึงเป็นปัญหาให้เราได้เรียนรู้ และได้ค้นพบว่า "... การเริ่มต้น เราจะต้องทำความเข้าใจกับเขาก่อน ว่าเราจะลงไปทำอะไรให้เขา และต่อจากนั้น เขาจะต้องทำอะไรต่อด้วยตัวของเขาเอง เพื่อที่จะทำให้สุขภาพช่องปากของเขาดี ..."

เรามีข้อจำกัดในพื้นที่ ก็คือ เรื่องศาสนา ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่นี่เป็นมุสลิม ผู้สูงวัยจะใช้ภาษามาลายู หรือภาษายาวี แต่ถ้าเป็นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานขึ้นมาหน่อย ก็จะพูดไทยเหมือนเราได้ ซึ่งบุคลากรที่ลงไปทำงานตรงนี้ พูดภาษายาวีได้ท่านเดียว จากทีมทั้งหมด 5 ท่าน ค่อนข้างที่จะมีปัญหา เราก็เลยต้องมาคุยกัน

วิธีการทำงานของเราก็คือ ... หนึ่งคนที่พูดได้ เราก็ต้องไปสร้างแกนนำ สร้างเครือข่ายขึ้นมา เรามาคุยถึงรูปแบบการทำงานของเราให้เขาได้รับทราบ และนำเขาเหล่านี้มาช่วยเราในการที่จะไปพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย หรือผู้สูงอายุของเรา

แล้วก็ในส่วนของการประกอบอาชีพ ฤดูกาล ปรากฎว่าผู้สูงอายุ ยังต้องทำงาน ที่สตูลเขายังทำสวนยางกันอยู่ เพราะฉะนั้น เราลงไปทำงานในช่วงช่วงเวลาที่เขาว่าง และเข้าไปแทรก

แนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้

  • สิ่งแรกเลย ก็คือ ... เราต้องมาพูดคุย ทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายก่อน ว่าเราจะลงไปทำอะไร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดการไม่ยอมรับเรา และสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมที่เกิดจากผู้สูงอายุ และเขาคิดขึ้นมาเอง เพื่อที่จะได้เกิดความยั่งยืน
  • ตอนนี้ เมื่อเราให้เขาไปแล้ว กิจกรรมก็จะเกิดขึ้นมาเยอะ เขาก็เริ่มรู้สึกว่า สุขภาพของเขาไม่ได้ดูแต่เรื่องฟันอย่างเดียว เรื่องอาหารจะเข้ามาเพิ่ม เขาก็เลยมีความต้องการเพิ่มขึ้น ในเรื่องของไม่กินหวาน จึงมาถามว่า คุณหมอจะช่วยเขาได้อย่างไร
  • การแก้ไขอีกอย่างหนึ่ง คือ ทางท้องถิ่น ควรส่งเด็ก หรือเยาวชนในพื้นที่ได้ไปเรียนต่อ เพื่อที่จะได้กลับมาช่วยงาน

ความสำเร็จ

เราพบว่า จากโครงการที่ทำไว้ จะเกิดในเรื่องของทัศนคติ เปลี่ยนยากมาก แต่ทางสตูลเราค้นพบว่า เราสามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้สูงอายุได้ … โดยการสื่อสาร ... เราต้องไปคุยกับเขาครั้งแรกเลย ว่า จะไปทำอะไรให้กับเขา เขาจะได้อะไรกลับไป หลังจากที่เราทำ ก็ทำให้เขายอมรับ เขาสามารถที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และวัดจากการกลับเข้ามาหาเรา เพื่อการดูแลรักษา และการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เขาอยากได้ความรู้มากขึ้น เขาอยากให้คุณหมอเคลือบฟลูออไรด์วาร์นิชให้ รักษารากฟันให้ เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้มาเพื่อมาถอน และใส่ฟันเทียมแล้ว ... นี่เป็นสิ่งที่เราประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าเราเปลี่ยนเขาได้ เปลี่ยนทัศนคติ มุมมองของเขาได้

ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง คือ ชมรมฯ ขยายเร็วมาก เขาเหมือนเป็นกระบอกเสียง ประชาสัมพันธ์ต่อให้เราว่า ทำแล้วดี ผู้สูงอายุจะมีกลุ่มชมรมเยอะอยู่แล้ว เขามานั่งคุยกัน หรือว่า ตอนนี้จะโตลงไปในกลุ่มของวัยทำงาน คือ ลูกหลานที่พาผู้สูงอายุมารับบริการ เขามา และนั่งคอย เห็นคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่าเขาได้รับแล้วเขาก็อยากทำบ้าง กลุ่มเป้าหมายของเราเพิ่มขึ้น เพราะว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้สามารถที่จะเป็นแกนในการขยายเรื่องราวเหล่านี้ให้กับเรา

บทเรียนและข้อค้นพบที่ได้

สิ่งแรกที่ได้ ... เรื่องของการให้น้ำหนักในขั้นตอนของการเตรียมการทุกอย่าง โดยเฉพาะการเตรียมการณ์ในชุมชน การเตรียมพื้นที่ การเตรียมกลุ่มเป้าหมายของเราให้เขาพร้อม และเข้าใจว่าเราจะทำอะไร

ข้อค้นพบต่างๆ เราจะพบว่าผู้สูงอายุสามารถที่จะทำงาน และทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มากกว่าที่เราคิดเอาไว้ในครั้งแรกเยอะ และการทำงานที่เราคาดไม่ถึง ก็คือ การทำงานกับผู้สูงอายุทำได้ง่าย กว่าที่จะทำในกลุ่มนักเรียน หรือวัยอื่นๆ และพบว่า เราต้องทำงานเป็นทีม เราใช้ทีมสหวิชาชีพ เพราะว่าเขามาหาเราครั้งแรก แทบจะไม่คุยเรื่องในช่องปากกับเราเลย เขาบอกว่า คุณหมอ วันนี้ลุงปวดเข่าจังเลย ลุงเมื่อยตัว ปวดหัวจังเลย ซึ่งเราจำเป็นที่ต้องฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่ โดยเป็นทีมสหวิชาชีพ … นอกจากทำทันตกรรมในช่องปากแล้ว เราจะต้องดูในองค์รวมของเขาด้วย ดูทุกเรื่อง ทุกโรค

สิ่งที่เราได้อีกอย่างหนึ่ง คือ เกิดชมรมเพิ่มมากขึ้น ชมรมผู้สูงอายุเราโตขึ้นเยอะ และมีความเข้มแข็งมากขึ้น จากการเรียนรู้ต่อๆ กันไป

รวมเรื่อง บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

   

หมายเลขบันทึก: 388653เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

และแล้วก็มาถึงสตูลนะครับ...

น้องเปิ้ลนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการนำเสนอแบบเสียงดังฟังชัดนะครับ...

ขอบคุณมากครับ...

  • Ico32
  • น้องเปิ้ล เพิ่งได้พบในงานนี้ละค่ะ
  • น้องพูดเก่งมาก ได้อารมณ์จริงๆ
  • ได้ฟังเรื่องเล่าสตูลนิดเดียว ... อย่างฟังเต็มๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท