ม่วนซื่นโฮแซว กับผู้สูงอายุ ที่พื้นที่เขตอุบลฯ (12) ชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็งที่ พิบูลมังสาหาร


ผู้สูงอายุจะกวาดบริเวณบ้าน หน้าบ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งมีการผสมผสานกิจกรรมขจัดน้ำเน่าขัง คว่ำกระป๋องกะลา ป้องกันไข้เลือดออก และผู้สูงอายุได้ริเริ่มให้มีการปลูกตะไคร้หอมในที่สาธารณะเพื่อไล่ยุง กิจกรรมเหล่านี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุ ได้ออกกำลังกาย ที่อยู่อาศัยสะอาด ได้พบปะพูดคุยสารทุกข์สุขดิบ ระหว่างเพื่อนบ้านในบ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี

 

คุณหมอฟันคนเก่ง ทพญ.อารยา พิเสก หัวหน้าฝ่ายทันตสาธารณสุข รพ.พิบูลมังสาหาร มานำเสนอด้วยวิดีโอ เสียงพากย์ของเธอเองค่ะ พร้อมประธานชมรมผู้สูงอายุ เหรัญญิกของชมรม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเวชปฏิบัติ ... พอจะสรุปเนื้อหามาให้ฟังกันได้ว่า ...

ชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2536 เป็นการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเทศบาล เพื่อพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือสังคม ... สมาชิกแรกเริ่มประมาณ 200 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ. ร่วมให้คำปรึกษาในการจัดกิจกรรม และการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชมรมฯ ... มีเงินทุนจาก ค่าบำรุงรายปีของสมาชิก เงินจาก สสส. และเงินสนับสนุนกิจกรรมจากเทศบาล ... ปัจจุบัน ชมรมผู้สูงอายุได้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลฯ โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น 803 คน

ชมรมฯ มีกิจกรรมต่อเนื่อง โดยจัดประชุมทุกอังคารที่ 2 ของเดือน โดยใช้วัด และ รพ. เป็นสถานที่จัดกิจกรรม ต่อมา ใช้ศาลาเทศบาลเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรม ... ในการประชุมทุกครั้ง

  • จะมีการตรวจสุขภาพ
  • ชั่ง นน.
  • วัดความดันโลหิต
  • แจ้งข่าวสารภารกิจ และการดำเนินงานของชมรมในแต่ละเดือน
  • กิจกรรมการออกกำลังกาย
  • กิจกรรมสันทนาการ
  • การรับความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และการปฏิบัติตัวของผู้สูงวัย โดยวิทยากรจาก รพ. หรือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพช่องปาก การบริหารตนเองในท่าฤาษีดัดตน การใช้ยาที่ถูกต้อง หรือโภชนาการที่เหมาะกับผู้สูงวัย

กิจกรรมอื่นๆ ของชมรม เช่น

  • กิจกรรมสัญจร เช่น การจัดทัศนศึกษาผู้สูงอายุ
  • ชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมด้านศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เช่น การแห่เทียนเข้าพรรษา การฟ้อนรำในขบวนแห่งานประเพณี งานบุญบั้งไฟเดือนหก การแข่งขันเรือยาวประเพณี การไหลเรือไฟออกพรรษา เรือสะเดาะเคราะห์ หรือการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และการทำบุญประเพณีต่างๆ ซึ่งล้วยแล้วแต่ได้รับการถ่ายทอด และเป็นแม่งานหลักโดยผู้สูงอายุ ช่วยถ่ายทอดประเพณีเก่าแก่ของชุมชน ให้ลูกหลานได้สืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องต่อไป
  • กิจกรรมชุมชนทำความสะอาดด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาล ตั้งแต่ปี 2538 โดยมีผู้สูงอายุแต่ละคุ้มเป็นอาสาสมัครกำกับดูแลการทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ ผู้สูงอายุจะกวาดบริเวณบ้าน หน้าบ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งมีการผสมผสานกิจกรรมขจัดน้ำเน่าขัง คว่ำกระป๋องกะลา ป้องกันไข้เลือดออก และผู้สูงอายุได้ริเริ่มให้มีการปลูกตะไคร้หอมในที่สาธารณะเพื่อไล่ยุง กิจกรรมเหล่านี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุ ได้ออกกำลังกาย ที่อยู่อาศัยสะอาด ได้พบปะพูดคุยสารทุกข์สุขดิบ ระหว่างเพื่อนบ้านในบ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี
  • สภากาแฟ หรือสภาโอวัลติน เป็นอีกกิจกรรมที่ริเริ่มโดยเทศบาล ร่วมกับชมรมผู้สูงอายุ ที่จะพบปะพูดคุยสารทุกข์สุขดิบของผู้สูงอายุ ในคุ้มต่างๆ จะจัดตอนเช้า เดือนละ 1 ครั้ง หมุนเวียนไป เพื่อให้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย รับทราบกิจกรรม ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ
  • มีการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน หรือเจ็บป่วย
  • การมอบของขวัญวันเกิด เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดความสนิทสนม ความอบอุ่นใจ แก่ผู้สูงอายุในชุมชน ในคุ้มวัดต่างๆ
  • งานมหาสงกรานต์แก่งสะพือ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัว ขอพรผู้สูงอายุ และมีกิจกรรมครอบครัวชาวพิบูล แต่ละครอบครัวจะนำข้าวปลาอาหารมากินข้าว ที่ลานแก่งสะพือ มีกิจกรรมการแสดงบนเวที และสีสันสำคัญของงานนี้ อยู่ที่ งานรำวงย้อนยุค ที่จะมีสาวงามสูงอายุจากทุกคุ้มมาเป็นสาวรำวง แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองให้ผู้ร่วมงานซื้อตั๋วโค้งไปรำวง ซึ่งสร้างความสนุกสนาน และสันทนาการแก่ผู้สูงอายุ สร้างสายสัมพันธ์อันดีภายในชุมชน
  • วัดโพธิ์ตาก วัดเก่าแก่ของอำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นตัวอย่างของความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของการพัฒนาวัด นำโดยมัคทายกวัด และ กชช. หรือกรรมการชุมชนซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ชักชวนสมาชิกในชุมชน มาร่วมกันสำรวจปัญหาภายในวัด มีการระดมสมอง เพื่อหาแนวทางการพัฒนาวัดร่วมกัน เกิดการพัฒนาโดยคนในชุมชน และพระสงฆ์ภายในวัด อาทิเช่น การทำความสะอาดภายในวัด โดยฆราวาส และพระสงฆ์ร่วมกัน การจัดห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการ การจัดสร้างโรงครัว และระบบระบายน้ำภายในวัด เป็นต้น และวัดโพธิ์ตากแห่งนี้ ได้รับรางวัล วัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่นระดับเขต และเป็นวัดต้นแบบ
  • การถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลานเยาวชน ซึ่งโรงเรียนในเขตเทศบาลพิบูลฯ ได้เชิญพ่อเฒ่า แม่เฒ่าในชุมชน ที่เก่งงานฝีมือมาสอนนักเรียนทำบายศรีสู่ขวัญ และงานใบตองใน รร. รวมทั้งในกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน

นี่ละค่ะ ตัวอย่างโครงการที่เกิดจากการดำเนินงานของผู้สูงอายุ ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ภายใต้ความสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ในอำเภอ

คุณพ่อนิคม ประธานชมรมผู้สูงอายุ มาเล่าให้ฟังหลายเรื่องค่ะ

  • ... ถ้าชาติใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล ถ้าชาติย่อยยับอับจน ปวงชนจะอยู่สุขได้อย่างไร ... อันนี้คือ คติเตือนใจของผมครับ ที่จะดำเนินการให้ชมรมเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น
  • ชมรมฯ ของเราชาวพิบูลมังสาหาร มีบุคลากรล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความเสียสละ ในการทำงานร่วมกัน และมีความซื่อสัตย์
  • การประชุมใหญ่ จัดขึ้นทุกเดือน ในวันอังคารที่ 2 ของเดือน โดยมีการนัดหมาย เริ่ม บ่าย 1 โมง เป็นต้นไป
  • สมาชิกของชมรมฯ มีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าสมาชิกของชมรมล้วนมีแต่บุคคลสำคัญ ที่มาเป็นคณะกรรมการ เช่น หมอดู หมอสูตร หมอถอด พิธีกร จะรวมอยู่ในชมรมผู้สูงอายุพิบูลมังสาหาร กิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย จะได้ใช้บุคลากรซึ่งเป็นผู้อาวุโสไปช่วยงานทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ บวชนาค งานแต่ง จนถึงงานตาย เราก็มีพิธีกรไปช่วย
  • เมื่อ 2547 ในฐานะที่ผมเองเป็นสมาชิกเทศบาลได้รับเลือกตั้ง ผมมีแนวคิดว่า สมาชิกชมรมผู้สูงอายุนี้ ควรจะมีเบี้ยยังชีพ ก็เลยปรึกษาหารือกับท่านนายกฯ ให้เบี้ยยังชีพแก้ผู้สูงอายุ เดือนละ 100 บาท เพิ่มจากปี 2547 เป็นต้นมา ต่อมา ปี 2549 เพิ่มเป็น 300 ปี 2550 เดือน มีค. เพิ่มให้เป็น 500 ต่อ 1 เดือน ต่อ 1 คน
  • สมาชิกแต่ละคนได้รับความช่วยเหลือ และมาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

คุณสมพร ได้เล่าให้ฟังถึงการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาล ในกิจกรรมของผู้สูงอายุ ว่า

  • รพ. มีส่วนร่วมในการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ เราจะออกตรวจชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อการคัดกรองโรคในผู้สูงอายุ
  • จัดหาวิทยากรให้ทางชมรมผู้สูงอายุแต่ละเดือน ว่าจะมีการประชุม และประสานทางคุณพ่อว่า เดือนนี้เราจะเอาเรื่องอะไรเกี่ยวกับเรื่องวิชาการเข้าไป ก็ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ให้กับหน่วยงานผู้สูงอายุ
  • เป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือชมรมฯ
  • เวลาที่ชมรมฯ จัดกิจกรรม รพ. จะร่วมด้วยทุกครั้ง

คุณพ่อดำรง ได้เล่าให้ฟังในส่วนงานของเทศบาล ที่มีส่วนร่วมกับชมรมผู้สูงอายุค่ะ ... 

  • มีการประสานจากคำแนะนำของผู้สูงอายุ เช่น เรื่องเบี้ยยังชีพ เพื่อจัดให้เป็นสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ ครั้งแรกเราก็จัดให้ คนละ 100 บาท ทุกคนไป พอมาได้ประมาณปีที่ 3 ปรับให้เป็น 300 บาท ครบทุกคน และตอนนี้ปรับให้ 500 บาท ครบทุกคนเช่นเดียวกัน (มี 800 กว่าคน)
  • เรื่องที่ 2 เพื่อเป็นการให้ผู้สูงอายุได้มีความภูมิใจในคุณค่าของตนเอง ได้ช่วยเหลือสังคม และได้มีคุณค่า ก็คือ เดือนนี้เรามีกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้มาดูแลรักษาความสะอาดหน้าบ้านตนเอง ทุกหมู่บ้าน ทุกหลัง ทุกถนน ผู้สูงอายุจะออกมาปัดกวาดถนนตั้งแต่เวลา ตี 5 ถึง 6 โมงเช้า ... ผู้สูงอายุได้ความภาคภูมิใจ ช่วยสังคม และได้ในส่วนของการออกกำลังกาย … ซึ่งเมื่อก่อนอาศัยพนักงานเทศบาล ตอนนี้เอาไปทำหน้าที่อื่น
  • จัดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้กับผู้สูงอายุ คือช่วยในกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สูงอายุจะทำ ตั้งแต่ ตั้งเครื่องเสียง เต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ และมีพนักงานของเทศบาลไปติดตั้งให้ และไปรื้อถอนเมื่อเสร็จภารกิจ
  • ส่งเสริมเกี่ยวกับทัศนศึกษาตามโอกาส โดยจัดงบประมาณ จัดพาหนะให้ เช่น ผู้สูงอายุไปกราบไหว้พระมหาเจดีย์ ที่อำเภอหนองป้อ ร้อยเอ็ด ... ผู้สูงอายุไปกราบไหว้พระบรมธาตุ พระธาตุพนม
  • จัดรางวัลให้ผู้สูงอายุในวันสำคัญ เป็นต้นว่า วันพ่อ วันแม่ วันปีใหม่ วันสงกรานต์ ผู้สูงอายุดีเด่นเราก็จะจัดของขวัญให้เป็นกำลังใจ
  • มีการประสานงานระหว่างผู้สูงอายุ คณะกรรมการในคุ้มต่างๆ และคณะกรรมการเทศบาล ผู้บริหาร
  • การสนับสนุนสถานที่ในการออกกำลังกาย โดยปรับปรุงสนามกีฬากลางเมือง และซื้อเครื่องออกกำลังกายแบบฟิตเนส สมัยใหม่ไปลงในสนามกีฬากลางประมาณ 100 ตัว ทำให้พี่น้องประชาชนได้ไปออกกำลังายได่ทุกวัน ทั้งตอนเช้า เที่ยง บ่าย เย็น สามารถไปออกกำลังกายได้
  • ซื้อเครื่องเสียงให้กับชมรมแอโรบิค ของอำเภอ และทำให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย และสุขภาพดีขึ้น
  • ทางเทศบาลเปิดให้ผู้สูงอายุมาใช้ห้องประชุมที่สภาฯ มีกิจกรรมอะไรก็สามารถเข้าไปประสาน หรือขอกับผู้บริหารโดยตรง ขอใช้ห้องประชุม ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยพิมพ์เอกสารให้ เจ้าหน้าที่จะบริการให้

นี่ก็คือ อีก 1 ชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็งค่ะ

 



ความเห็น (10)

ดีจังคะ  ที่สุรินทร์ ก็มีรุ่นพี ประสานงานชมรมผู้สูงอายุ ในเมือง รวมกลุ่มทำเรื่องอาชีพ พบปะแลกเปลี่ยนกัน

บางท่านก็เข้าร่วมกิจกรรมตลาดนัดสีเขียว ปลูก พืชผักปลอดสารเคมีมาขาย

ถ้ามาเยี่ยมชมรมผู้สูงอายุที่สุรินทร์ บอกข่าวกันนะคะ 

คุณดอกแก้ว อยู่ที่สุรินทร์หรือคะ ... มีโอกาสจะแวะไปเยี่ยมค่ะ

... กิจกรรมของผู้สูงอายุทางอีสาน รู้สึกว่า เขาจะมีความเป็นจิตอาสา อยู่มากนะคะ แม้จะถูก involve ด้วยแรงสนับสนุนมากสักหน่อย แต่ประโยชน์ก็น่าจะยังคงตกถึง ประชาชนผู้สูงอายุเรานะคะ

... และอีกอย่างหนึ่ง รู้สึกว่า ประชาชนชาวชนบท นี่ เขาอยู่อย่าง เศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ ค่ะ ... มีความเป็นธรรมชาติ ที่ชาวเมืองต้องอิจฉาค่ะ

จริงๆแล้วผู้สูงอายุมีอะไรดีดีที่เราๆรุ่นหลังๆควรศึกษาและเอาแบบอย่างมากมาย เปรียบเหมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาขุมใหญ่.... ยินดี และดีใจกับเพื่อนร่วมทางที่มองเห็นสิ่งนี้ในตัวพวกเรา.....ขุดค้นต่อ ...ทำต่อไปเถอะนะคะ อย่าย่อท้อ.เป็นกำลังใจให้คุณๆ....

คุณนุ้ยที่รักจ๊ะ

ตัวพวกเรา คือ ตัวคุณหรือคะ ... รู้หมดเลยว่าอายุมากแล้วน๊อ ... คณะทำงานผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่มีท้อค่ะ ตอนนี้กำลังเยอะแยะเต็มไปหมดเลย ... ฮิ ฮิ

เป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่อุทิศตนในการทำงานเพื่อผู้สูงอายุและสังคม ยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ครับ

http://www.phiboon.net

  • ขอบคุณค่ะ คุณวิบูลย์
  • แบบนี้ต้องขอจองตัวไว้เป็นเครือข่ายเลยนะคะ

.....

 

ยินดีด้วยนะครับ สงสัยต้องสมาชิกด้วยคนแล้วล่ะ...

อ่านแล้วยิ้มอีกแล้วค่ะ ขอบคุณพี่หมอค่ะมีเรื่องดีๆมาให้อ่านเรื่อยๆ  : )
  • คุณ esso ค่ะ
  • สมัครเป็นสมาชิกได้เลย ... ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ
  • มีบันทึกไหม (blog) ค่ะ
  • จะได้ไปพาเข้ามาร่วม planet สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ด้วยกันอะค่ะ
  • หมอมัท คะ
  • ต่อไปจะมีเรื่องมาให้อ่านเรื่อยๆ ค่ะ
  • เพราะว่ายิ่งทำ ยิ่งมีเรื่องราวเยอะ
  • ยิ่งมีภาคีเยอะ
  • เขาก็อยากทำกันเยอะ เพราะว่าเห็นว่า เพื่อนๆ ทำได้ เขาก็ทำบ้าง
  • มีที่ลำปาง บุรีรัมย์ ค่ะ ที่ปีที่แล้ว มี รพ.นำร่อง 2 แห่ง ทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุ ... เราก็ตามไปใช้ KM ... appliciate ... ปีที่ 2 ก็เลยต่อยอดมาอีกเยอะเลยค่ะ
  • สรุป ว่า ปี 2550 นี้ จะต้อง set เวลาไปเยี่ยมชม กับหลายที่เลยละคะ
  • คอยอ่านนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท