หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ช่วยกันฝึกปรือฝีมือ


ธรรมชาติที่สงบ ทำให้ใจสงบ การรู้สติตนเองจะช่วยทำให้ทักษะของ deep listening เกิดได้ดีขึ้น และเกิดความเข้าใจคนอื่นมากขึ้น Deep listening ทำให้เรามีสติและเรียนรู้ตนเองไปด้วย

วันนี้ ทีมร.พ.กระบี่ได้นัดกันมา ลปรร ในเรื่องของประสบการณ์ที่ได้ร่วมกันทำงานมาระยะหนึ่งในเรื่อง Day care เบาหวานและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บริบทใหม่ของการปรับระบบบริการ

เราเริ่มมีการเตรียมทีมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา เริ่มจาก การตั้งทีมงานขึ้นทำงานบริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ที่เข้าเกณฑ์ Heavy weight จำนวน 3 รุ่น

ประสบการณ์ของการทำงานทำให้ทีมงานส่วนหนึ่งสว่างไสวในความคิดว่า  จะให้บริการอย่างไรจึงสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ และมีมุมมองใหม่ว่า การให้บริการปรับพฤติกรรมไม่ได้ยากอย่างที่คิด นี่คือที่มาที่ทำให้ เราอาจหาญคิดจะทำงานค่ายเบาหวานให้กับเจ้าหน้าที่เราที่ป่วยแล้วทั้งๆที่เราไม่มีความรู้มาก่อนว่าจะทำอย่างไร

เมื่อเริ่มคิดต่อว่า การทำงานแบบค่าย ต้องทำงานแบบสหวิชาชีพ ทำอยู่ในร.พ. ก็ทำอยู่แล้ว จะเอาไปใส่ในค่ายอย่างไร เพื่อนเราจึงจะสนใจเข้ามาร่วมค่ายเราไม่หนีหายไปเสียก่อนวันนัดหมาย  ใครคือสหวิชาชีพที่จะมาทำด้วยกัน แล้วจะทำกันอย่างไร  อย่างไรจึงทำให้ค่ายไม่กลายเป็นคลินิกเคลื่อนที่ แต่เป็นค่ายปรับพฤติกรรมซึ่งส่งผลต่อการดูแลตัวเขาแบบ secondary prevention โดยเข้าใจและทำได้เอง และไม่กลายเป็นการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน

ในที่สุดก็มาถึงบางอ้อว่า หนีไม่พ้นต้องการใช้ทีมงานผสมผสานที่คล่องตัวไปทำงานด้วยกัน และใช้ทฤษฎีของการดูแลเบาหวานตั้งแต่เริ่มเป็น เริ่มต้นจากจุดเดียวกันไปช่วยกันสอนให้เกิดการดูแลตนเอง แบบทำให้ดูและจับมือให้ทำ  เราจึงเริ่มการพัฒนาทีมผ่านหลักสูตรการสร้าง ครู ก. ดูแลเบาหวาน ของร.พ.  โดยในหลักสูตรแฝงแนวคิดของการให้สหวิชาชีพเข้ามา ลปรร. ร่วมกันในฐานะ ครูบ้าง นักเรียนบ้าง แล้วจับมาฝึกงานเพื่อให้ ลปรร. กันเองในฐานะทีมทำงานภาคสนามกับคนไข้จริงๆ น่าจะดี 

เภสัชกร หมอสอนพยาบาล เป็นเรื่องที่ไม่แปลก แต่ในหลักสูตรเรา เราให้พยาบาล โภชนากร เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย ทันตแพทย์ได้สอนหมอ และเภสัชกร โภชนากรของเราเรียนรู้การพยาบาล การดูแลเท้า การแนะนำการให้ยา ครูเราจึงหลากหลาย ทุกคนที่เข้าสู่หลักสูตรตื่นตาตื่นใจ กับความรู้ใหม่ที่ได้สัมผัสเรื่อง อาหาร  การออกกำลังกาย และความรู้เก่าสมัยเรียนปีหนึ่งที่ถูกปัดฝุ่นเอามาสอนเพื่อให้ใช้ดูแลคนไข้ ( เรื่องพื้นฐานด้านสรีรวิทยา)  แล้วเราก็เริ่มค่ายแรกของเรา

การทำค่ายคนไข้รุ่นแรกเป็นจุดเริ่มเล็กๆ ที่ทำให้ ทีมเบาหวาน ร.พ.กระบี่ ได้เรียนรู้ตัวเอง ว่า การทำงานร่วมกันเป็นทีมในลักษณะสหวิชาชีพของเรายังไม่เนียนเป็นเนื้อเดียว  กระบวนการของทีมมีการสะดุดเมื่อลงมือทำ การร่วมกันคิดเพื่อ CQI งานไม่ลื่นไหล และเราพบว่าเป็นเพราะเราขาดทักษะในการพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา  

เราได้ค้นพบความรู้ใหม่จากคนไข้รุ่นแรกของเราด้วยว่า สิ่งที่เราให้ความดูแลคนไข้มาตลอดนั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราไม่รู้ คนไข้ที่มาร่วมกับเราทำให้เราได้รู้ มีหลายเรื่องที่เราพร่องในการดูแลเขา ซึ่งบางเรื่องเขารู้และมีคำถาม แต่เขาไม่กล้าถามเราเมื่อเขาไปหาเราที่ร.พ.  บางเรื่องเขาก็ไม่รู้    มีคนในทีมรำพึงความคิดให้ฟังว่า ที่เราพร่องเพราะเราไม่มีเวลาพอเมื่อทำอยู่ในร.พ. ใช่ว่าเราไม่คิดจะทำ  การทำค่ายทำให้เป็นโอกาสให้เราได้ดูแลเขาดีขึ้น

เราได้รู้จักกับ G2K  ผ่านการปชส.ของผอก.พรพ. แต่เราก็ไม่ได้ตั้งใจจะผ่านเข้ามาแวะอ่านสักเท่าไร เมื่อเราหาคำตอบว่าจะ CQI กระบวนการของเราอย่างไรดี  และใช้ internet ค้นหาผ่านคำว่า "การจัดการความรู้"  เราก็เข้ามาถึง G2K และพบกับ blog ของคุณหมอนิพัธ แล้วอ่านเจอเรื่อง MiniKM ที่บันทึกไว้ ก็เลยปิ๊งแว๊ปว่า มีทางออกแล้ว ชวนคุณหมอนิพัธมากระบี่ดีกว่า ให้มาช่วยฝึกทำ KM ให้เลยดีกว่า  จุดเริ่มเล็กๆนี้ ได้ทำให้เราก้าวต่อมาเร็วขึ้นในกระบวนการทำงานในทีมของเรา

วันนี้ ทีมงานได้มานั่งร่วมกันเพื่อทำ AAR ประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปรับพฤติกรรมและทำงานร่วมกัน ทำ BAR เพื่อเตรียมทำงานเป็นทีมร่วมกันต่อไปกับคนไข้รุ่นที่ 3  แล้วแบ่งงานกัน

การลปรร ในวันนี้ ทำให้ได้รับรู้ร่วมกันว่า ต้นกล้าที่ถูกเพาะขึ้นอย่างตั้งใจจากโครงการสร้างครู ก. เริ่มงอกขึ้นแล้ว และจะเติบโตต่อได้อย่างงดงามต่อไป  หากแต่ต้นกล้าเหล่านี้ยังอ่อนนัก จึงยังสู้ลมแรงไม่ได้ ยังต้องการการทำนุบำรุงที่ดีต่อไป จึงจะเติบโตขึ้นอย่างงดงาม

ทุกคนที่มา ลปรร. กล่าวว่า KM ทำให้เขาได้เรียนรู้เพื่อนำพัฒนาตน และสอนเขาว่า การฝึกฝนคนให้มีความรู้ด้วย KM ได้ผลดีกว่าการสอนในห้องเรียนแบบครูสอนนักเรียน    หลายคนเปิดใจพัฒนาตนในการเปิดใจ หลายคนได้เรียนรู้คนอื่น และได้มิตรใหม่

ถ้าเรามอง KM เป็นเพียงเครื่องมือการสอนแนะ หรือ เป็นเวทีของกิจกรรมการนำความรู้ที่มีอยู่ไปแลกเปลี่ยนแบบใหม่เท่านั้น เราจะเป็นเหมือนน้ำเต็มแก้ว ที่เติมเต็มเรื่องของ Deep listening ไม่เป็น  เราก็จะเสียโอกาสรู้เท่าทันตนเอง เสียโอกาสเรียนรู้คนอื่น  เสียโอกาสในการเข้าใจคนอื่น และทีสุด เสียโอกาสที่จะได้ทำให้คนอื่นมีความสุขได้ด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการ "เพียงแต่ฟัง สิ่งที่อยากบอก โดยไม่ต้องตอบ" ไปอย่างน่าเสียดาย

หมายเลขบันทึก: 157320เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2008 01:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท