หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

อยากให้ละอ่อนทำยังไง


หากจะออกกำลังกาย ควรเข้าใจความหมายของระดับการออกกำลังกายและรู้ว่าสุขภาพของส่วนใดที่ตัวเราต้องการบ้าง จึงเลือกวิธีออกกำลังกายที่สร้างสุขภาพของตนได้

เมื่อยังไม่รู้เรื่องของการออกกำลังกาย ฉันยังแก้ตัวกับตัวเองได้ว่า "ไม่มีเวลา จึงไม่ได้ออกกำลังกาย" และเมื่อรู้แล้ว ฉันก็ยังออกกำลังกายให้สุขภาพตัวเองดีทุกเรื่องไม่ได้ทั้งหมด หากฉันไม่ลงมือเริ่มทำ

ปัจจุบัน ระบบโครงร่าง ข้อต่อและกล้ามเนื้อ  และ ระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ออกกำลังกายจะมีความแก่โดยเจ้าของไม่รู้ตัว    

คนที่ไม่เชื่อว่า ความแก่ของระบบโครงร่าง ข้อต่อ และกล้ามเนื้อของท่านแก่ ให้ลองเอื้อมมือในท่าจะเกาหลัง โดยมือหนึ่งข้างอ้อมบ่าข้างนั้นไปข้างหลัง และอีกมืออ้อมหลังข้างเดียวกันไปข้างหลัง แล้วพยายามให้มือทั้งสองข้างจับถึงกัน  ท่านอาจจะพบว่า มือสองข้างของท่าน ไม่สามารถทำได้อย่างใจท่าน หรือทำได้แต่ท่านก็ร้องโอยเพราะปวดไหล่  ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้ แสดงว่า ไหล่ของท่านแก่กว่าคนแก่ (กรณีท่านอายุไม่อยู่ในวัยเกษียณ)

 

การเคลื่อนไหวที่ทำให้ข้อต่อเป็นหนุ่มสาวซู่ซ่าทุกส่วน เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่นกัน  มีศัพท์เรียกว่า "การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ"

 

ท่าเคลื่อนไหวในท่าทางที่ยืดเส้นยืดสาย ที่ถูกเรียกว่า "ท่ากายบริหาร" ในวิชาพละศึกษานั่นแหละ คือ การออกกำลังกายแบบนี้   ใครที่จะออกกำลังกายแบบนี้  ให้นึกย้อนไปในวัยเด็ก นึกถึงชั่วโมงพละศึกษา ก็น่าจะมีท่ากายบริหารที่มีประโยชน์นำมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อต่อของตนเองได้ออกกำลัง  เพื่อให้ข้อต่อของตนเองเป็นหนุ่มสาวตลอดเวลาได้ และบางทีบางท่าที่ยกมาใช้อาจถึงระดับที่ทำให้หัวใจซู่ซ่าด้วยนะจะบอกให้ (กล่าวถึงหัวใจซู่ซ่าไปแล้วในบันทึกก่อน)

 

หากใครนึกท่ากายบริหารไม่ออก คงจะเคยเห็นท่าอุ่นเครื่องก่อนออกกำลังกายของใครบางคนได้ ท่าเหล่านั้นก็เป็นท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อที่กำลังกล่าวถึง (ต้องขออภัยที่ใช้บรรยาย เพราะยังมือใหม่ เรื่องการเขียนบันทึก เลยยังแทรกรูปไม่เป็น เคยไปเปิดบันทึกแนะนำวิธีแทรกรูปแล้วละ แต่ยังทำไม่เป็นอยู่ดี)

 

 ประสบการณ์ของฉันพบว่า เมื่อไปสอนให้เจ้าหน้าที่ร.พ. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ มีคนมากหลายถึงเหงื่อซึมเมื่อให้ทำซ้ำๆเพียงไม่กี่ครั้ง ทั้งๆที่ให้นั่งทำหรือยืนกับที่ทำ ไม่ได้ให้กระโดด  อะไรจะแก่กันเร็วขนาดนี้  ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ  และก็ต้องเชื่อ เพราะฉันเองก่อนหน้านี้ก็เหมือนเขาเหล่านั้น  จนเมื่อต้องมาเป็นผู้สอนเรื่องการออกกำลังกาย ฉันจึงได้เปลี่ยนตัวเอง   

 

ประสบการณ์ที่ฉันพบ คือ การที่ฉันไม่ออกกำลังกาย  หาใช่ไม่มีเวลาไม่ แต่เป็นเพราะฉันไม่ลงมือต่างหาก  และติดรูปแบบว่า  ต้องเล่นกีฬาหรือวิ่งเท่านั้นจึงเป็นการออกกำลังกาย  ด้วยไม่เข้าใจว่า การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมีรูปแบบที่ต้องเลือกเพื่อให้เหมาะกับสุขภาพของร่างกายแต่ละส่วน 

 

ในกรณีของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อสุขภาพ เพียงให้โอกาสตัวเองยืดเส้นยืดสาย ไม่นั่งเฉยๆหรือยืนนิ่งๆหรือเอาแต่นอนเป็นเวลานานๆ  ก็ได้ออกกำลังกายในรูปแบบหนึ่งแล้ว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกองออกกำลังกายแนะนำว่า ให้มีการเคลื่อนไหวอย่างนี้ 5-7 วันต่อสัปดาห์  ก็จะได้ความกระชุ่มกระชวยของข้อต่อคืนมา 

 

เวลาของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อโดยทั่วไปเมื่อถูกนำมาใช้อุ่นเครื่องก่อนเล่นกีฬาหรือเต้นแอโรบิก มักจะอยู่ที่ 15-20 นาที เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อให้ตื่นตัวเตรียมใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงานจากอาหาร

16 มกราคม 2551

 

หมายเลขบันทึก: 160076เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2008 01:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท