หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

กะ size SML ยังไง


ข้อห้ามทำการทดสอบสมรรถภาพทางกายด้วยการออกกำลังกาย เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเตือนไม่ให้เผลอให้คำแนะนำการออกกำลังกายในคนที่มีความเสี่ยง

ปีนี้  มะบี๊  มีอายุ 60 ปีแล้ว ถ้ามองหน้าตามะบี๊ จะคิดว่ามะบี๊อายุ 80 ปีแล้ว  มะบี๊มีรูปร่างผอมบาง  เริ่มเป็นเบาหวานเมื่ออายุ 40 กว่าปี  ชีวิตของมะบี๊เติบโตมาในชนบท  ส่วนใหญ่มะบี๊จะมีชีวิตอยู่กับบ้าน มีเพียงบางวันที่เดินออกจากบ้านไปตกปลาหมึกบ้าง  มะบี๊บอกว่า ตอนที่รู้ว่าเป็นเบาหวาน รู้สึกเฉยๆเพราะไม่รู้จักเบาหวาน มีน้องสาวเป็นเบาหวานด้วย เคยเห็นคนเป็นเบาหวานชักด้วย   ผลเลือดของมะบี้ในวันที่ได้พบกัน มีค่าน้ำตาลในเลือด 106 มก./ดล.  น้ำตาลสำรอง 5.9%  และมีค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงเพียง 23%  ไขมันดี (HDL-C) 42         ไขมันเลว   (LDL-C)  91  มะบี๊ดูไม่ค่อยมีแรง  ชีพจรขณะพักของมะบี๊ อยู่ที่ 69 ครั้งต่อนาที 

 

มะบี๊เล่าว่า การออกไปนอกบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นการไปทำธุระ ช่วงเช้าบ้าง เย็นบ้าง ถ้าไม่มีธุระอะไร มะบี๊จะอยู่แต่ในบ้าน  

 

เมื่อจะให้คำปรึกษาการออกกำลังกาย ฉันก็นึกถึงข้อเตือนเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้  ข้อเตือนที่ว่าต้องเตือนให้หยุดการออกกำลังกายหากเกิดอาการ อาการเหล่านี้ได้แก่ 

  • อาการเจ็บแน่นหน้าอก 
  • เมื่อเพิ่มความหนักของการออกแรงแล้วความดันค่าบนลดลงเกินกว่า 20 มม.ปรอท  หรือไม่เพิ่มขึ้น 
  • ความดันเลือดค่าบนสูงกว่า 260 มม.ปรอท  หรือค่าล่างสูงกว่า 115 มม.ปรอท 
  • มีอาการเป็นลมหน้ามืด สับสน เซ  หน้าซีด เขียว คลื่นไส้ ผิวหนังเย็นชืด
  • เมื่อเพิ่มความหนักของการออกแรงแล้วอัตราหัวใจไม่เพิ่มขึ้นตาม
  • จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลงผิดปกติชัดเจน

 

จากค่า HDL-C  ฉันว่ามะบี๊ยังต้องออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอีก ฉันจึงคำนวณค่าการเต้นสูงสุดของหัวใจมะบี๊จากค่าชีพจรของแก   

ถ้าต้องการให้ออกแรงถึงระดับแอโรบิกของหัวใจมะบี๊ จะได้ค่าดังนี้  {(220-60-69) x 0.8} + 69  =  141  ถ้าต้องการให้แข็งแรงมาก  แต่ถ้าแค่ให้แตะระดับแอโรบิก จะได้ค่า{ 220-60-69 x 0.5} + 69 = 115  

 

ในเมื่อแกไม่อ้วน การออกกำลังกายที่ฉันอยากให้แกทำก็เพียงแค่ 30 นาทีต่อวัน  ฉันจึงมาดูระดับแรงและวิธีออกกำลังกายที่แกใช้อยู่  แกใช้การเดินเพียงวิธีเดียว  ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางราบ การเดินไปตกหมึก ก็เป็นการเดินเลียบป่าชายเลน ไม่ค่อยลำบากนัก 

 

หากฉันต้องการให้แกออกกำลังให้ได้ระดับแอโรบิกด้วย  ด้วยอายุ  โรคประจำตัว  และแกดูไม่ค่อยมีแรง และซีดด้วย ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการข้างต้นหลังการออกกำลังกายน่าจะมีได้  และถ้าเลือกวิธีที่ไม่เหมาะ อาจมีผลให้แกมีแผลที่เท้าและเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำจากการออกกำลังกายได้ด้วย   ฉันจึงต้องหาวิธีออกกำลังกายมาสอนให้เหมาะกับตัวแก

 

เมื่อไปเปิดตาราง  Metabolic equivalent  (ซึ่งในบันทึก ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ความหมายที่เข้าใจไม่ตรงกัน ฉันเรียกว่า "โพย" )  เพื่อค้นหากิจกรรมที่เหมาะกับวิถีชีวิตประจำวันของแก ก็พบว่า การเดินด้วยความเร็ว 1.6 กม.- 3.2 /ชม. จัดเป็นการออกแรงระดับเบา   การทำกายบริหารจัดเป็นการออกแรงระดับปานกลางถึงหนัก 

 

ฉันเทียบกับลักษณะที่แกเดิน ความแรงที่แกเดินจัดเป็นการออกแรงระดับเบา  หากฉันต้องการให้แกมี HDL-C เพิ่มขึ้นอย่างเดียว  ฉันแค่ขอแกว่าให้แกเดินทุกวันอย่างที่แกทำ สะสมให้ได้วันละ 30 นาที ฉันก็พอใจแล้ว และฉันก็เชื่อว่า แกเองก็ยินดีทำให้ เพราะแกทำอยู่แล้ว เพียงเพิ่มเวลาสะสมให้ได้วันละ 30 นาที ไม่ยากแน่ๆ  

แม้ว่าชีพจรขณะพักบอกว่า แกมีสมรรถนะหัวใจของแกอยู่ในระดับดีแล้วก็ตาม  ฉันก็ยังต้องการให้แกเพิ่มสมรรถนะหัวใจแกให้ดีขึ้นกว่าเดิม  ฉันจึงแนะนำให้แกใช้ท่ายืดเหยียดด้วยยางยืดในการออกแรงด้วย  เท่านี้มะบี๊ก็ได้รูปแบบของการออกกำลังกายที่เหมาะกับแกแล้ว  

หน้าที่ต่อไปของน้องๆในทีมของฉัน ก็เพียงแต่คอยให้กำลังใจและเสริมพลังให้แกทำสม่ำเสมอ คอยยั้งๆแกไม่ให้ใช้ยางยืดเกินเลยไปมากนัก  ทำให้แกรู้จักอาการที่แกต้องหยุดออกกำลังกายทันทีถ้าเกิดขึ้น ทำให้แกรู้จักวิธีเตรียมตัวก่อนออกกำลังกายและวิธีแก้ปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำขณะออกกำลังกายเท่านั้นเอง

20 มกราคม 2551

  

 

หมายเลขบันทึก: 160362เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จากที่อ่านเรื่องการปรับพฤติกรรมการออกกำลังกาย...หมอเจ๊เยี่ยมมากค่ะ

ได้ข้อคิดหลายอย่างที่จะนำไปใช้กับคนไข้เบาหวานในคลินิกเบาหวานค่ะ

ดีใจค่ะ ที่นำเอาไปใช้ได้  ได้ผลอย่างไรนำมาเล่ากันบ้างนะค่ะ

เรื่องของมะบี๊มีต่อนะค่ะ ตามอ่านในบันทึกดูค่ะ

หมอเพียงแต่พยายามเอาองค์ความรู้อีกมุมที่ตัวเองพอเข้าใจมาประยุกต์ใช้ต่อค่ะ    

ถ้าเอาความปลอดภัยของคนไข้เป็นตัวตั้ง จะมองเห็นความไม่ปลอดภัยหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในการกระทำที่เราคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆเสมอค่ะ  แล้วความคิดใหม่ๆในการดูแลคนไข้กลุ่มนี้จะตามมาค่ะ

 

กาลามสูตร บอกว่า อย่าเชื่อในคำบอกของใคร   ก็ไม่อยากให้เชื่อหมอทั้งหมด ขอให้เอาแต่แนวคิดไปประยุกต์ใช้นะค่ะ

 

หมอไม่ชำนาญการดูแลเบาหวานหรอกนะค่ะ แต่ใช้มุมมองความปลอดภัยมาวิเคราะห์เรื่องที่ทำๆกันอยู่ แล้วก็เอามาทำ และที่เอามาบันทึกไว้   ก็เพื่อให้น้องๆหมออนามัยและพยาบาลที่ดูแลคนไข้ของร.พ. ที่กำลังเผยแพร่ 5อ. ตระหนักว่า ความปลอดภัยของคนไข้ขึ้นอยู่กับเรามากๆๆๆ   และเผื่อจะกระตุ้นให้ใครได้ idea ดีๆเพิ่มค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท