หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

แรงไปแล้วเป็นลมได้นะ


ในฐานะ FA ของผู้ป่วย หากใช้ 6 ขั้นตอนของกระบวนการดูแลผู้ป่วย ( Care System) ในมาตรฐาน HA ฉบับฉลองราชสมบัติ 60 ปี ในขั้นตอนของการให้ข้อมูลและเสริมพลัง ผู้ป่วยจะออกกำลังกายด้วยตนเองสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังอย่างปลอดภัย ขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ คือ ขั้นตอนการประเมิน (assessment) และ ขั้นตอนของการดูแลต่อเนื่อง

วันที่ 24 มกราคม 2551 เป็นวันครบนัดที่หมอตาจะได้เจอกับมะบี๊อีกครั้ง  การได้เจอกันครั้งนี้ ทำให้หมอตาต้องชะลอความตั้งใจที่จะให้มะบี๊เดินเพิ่มขึ้นจนถึงระดับแอโรบิกของแก 

 

สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนใจ คือ ข้อมูลที่ได้เพิ่มขึ้นจากการพูดคุยกันในวันที่ได้เจอกัน  

 

ในกระบวนการกลุ่ม มีคำถามที่ให้ผู้เข้าร่วมทำ KM  เล่าข้อมูลของตนเองในประเด็น การเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)  โดยหมอตาเปิดประเด็นว่า 

 

" สังเกตอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้จากการมีอาการใจสั่น วิงเวียน เหงื่อออก   ใครบ้างในที่นี้ที่เคยมีอาการอย่างนี้"     มะบี๊เป็นผู้หนึ่งที่ยกมือตอบ

หมอตา  :  " ตอนที่มีอาการ มะมีอาการช่วงไหน"  

 

มะบี๊  :  " มักมีอาการช่วงก่อนเที่ยง"   

 

หมอตา  "มะกินยาวันละเท่าไร  กินยากี่โมง  กินข้าวเช้ากี่โมง  เกิดอาการตอนไหน"

มะบี๊   " กินยาตอนเช้า  ไปเดิน 15 นาที แล้วกลับมากินข้าวเช้า 7.00 น.  มีอาการ 11.00 น. " 

 

ฟังมะบี๊เล่าแล้ว หลายคนคงคิดว่า อย่างนี้ต้องเป็นเพราะยาขนาดสูงไป  และจะแนะนำให้มะบี๊กลับไปหาหมอเพื่อให้ปรับยา  แต่หมอตาไม่ได้คิดอย่างนี้ กลับชวนคุยต่อ   "วันที่มะมีอาการ มะเดินตอนเช้าหรือตอนเย็น  มะกินข้าวเช้ายังไง มีอาการทุกวันอย่างนั้นหรือ"

 

มะบี๊   "มะไปเดินตอนเช้า  ข้าวที่กินตักแค่ 1 ทัพพี  มีอาการวันที่เดิน  วันที่ไม่เดินไม่เป็นไร"

 

หมอตา  "มะกินข้าวเย็นมากแค่ไหน" 

 

มะบี๊   "มะกินข้าวเย็น 1 ทัพพี กินผลไม้ตอนเที่ยง  ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งครึ่งลูก ส้ม 2 ลูก กินข้าวเย็นราว 1 ทุ่ม เข้านอน 2 ทุ่ม  บางวันก็ไม่กินข้าวเที่ยง"

 

หมอตานึกในใจ      "มะกินน้อยจัง มิน่าจึงได้ผอมและซีด  นี่มั้งเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ   แต่มะเคยเล่าว่า ช่วงไหนที่กินได้ น้ำตาลในเลือดจะสูง  ขอดูบันทึกผลเลือดที่ตรวจจากร.พ. จากมะดีกว่า" 

สรุปแล้วหมอตาพบปัญหาของมะบี๊ ดังนี้ 

- ซีด  24%

- กินอาหารน้อย  มีความอยากอาหารขึ้นๆลงๆ 

- ด้วยยาขนาดนี้   ช่วงไหนอยากอาหารจะมีน้ำตาลในเลือดสูง  ช่วงไหนไม่อยากอาหาร น้ำตาลในเลือดจะพอดี   ตอนนี้เบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือด 106 มก./ดล.  น้ำตาลสำรองสูง 6.2% (HbA1C) 

- ควรได้รับการเสริมพลังให้ออกกำลังกาย

- มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในบางช่วงของวัน หลังการเดินตามปกติในวิถีชีวิต  ซึ่งมีความแรงในระดับเบา

"อย่างนี้ที่ตั้งใจว่าวันนี้จะเสริมพลังให้มะบี๊กลับไปเดินเพิ่มให้ได้ 30 นาทีต่อวันต้องรอก่อน  สิ่งสำคัญกว่า   คือ ต้องให้มะเข้าใจสาเหตุของการเกิดน้ำตาลต่ำ แล้วจัดการตนเองให้ได้เหมาะสมก่อน มะจึงจะปลอดภัยจากการออกกำลังกายที่จะให้เพิ่มหมอตาคิดในใจ    

ในวันนั้น คำแนะนำที่มะได้ก่อนการทำ KM ร่วมกัน คือ

"ถ้าจะเดินตอนเช้า ให้ออกกำลังกายก่อนใช้เวลาเท่าเดิมนะจ๊ะ   จะกินข้าวเช้ากี่โมง  ก็ให้กินยาก่อน 1/2 ชั่วโมงนะมะ"

ข้อเตือนใจ

- การออกกำลังกายอาจทำให้คนไข้เบาหวานเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้ หากคนไข้จัดการตนเองไม่เหมาะสม    

- คนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุ  คือ กลุ่มสำคัญที่ต้องใส่ใจว่า จะเกิดความไม่ปลอดภัย จากการให้คำแนะนำการออกกำลังกาย

- ความปลอดภัยจากการออกกำลังกายจะเกิดได้ ต้องประเมินความพอดีของระดับความแรงของการออกกำลังกายกับสมรรถนะของผู้ป่วยก่อนให้คำแนะนำทุกครั้งไป   

- ความพอดีของระดับความแรงของการออกกำลังกายในคนๆเดียวกัน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามสมรรถนะของคนไข้  ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว   ก่อนเพิ่มระดับความแรงของการออกกำลังกาย จึงต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยเสียก่อนให้รอบด้าน  จึงให้บริการดูแลต่อเนื่อง

24 มกราคม 2551

หมายเหตุ    "มะ"   เป็นคำเรียกขาน ผู้สูงวัยหญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม 

หมายเลขบันทึก: 161429เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท