หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

รู้ไว้นะมันอยู่ไม่นานหรอกเธอ


ความคงอยู่ของสุขภาพที่เป็นผลจากการออกกำลังกาย มีลักษณะคล้ายความคงอยู่ของความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้กระดาษ

เมื่อวานนี้น้องผอบแวะมาคุยเรื่องงานกับฉัน   ระหว่างพักงานได้ยินเสียงบ่นแว่วๆว่า  น้องหยุดออกกำลังกายไปตั้งเดือนหนึ่งแล้ว   ไม่มีเวลาเลย     เมื่อสองวันก่อนไปออกกำลังกายใหม่   เหนื่อยมากเลย  ไม่รู้ทำไม  

แล้วทำไมตอนนี้ น้องผอบมีอาการเหนื่อยอีกละ   มีโรคอะไรเกิดกับเธอ  ฉันนึกในใจ   ก็เธอเคยเล่าว่า น้องรำคาญตัวเองที่เป็นหวัดบ่อย ไม่สบายบ่อย  และก็แพ้อากาศจนหอบด้วย  พอน้องถูกส่งไปเรียนเป็นครูสอนแอโรบิก   น้องจึงมีโอกาสไปออกกำลังกาย  หมอเชื่อไหม ไอ้ที่เคยไม่สบายทั้งหลาย หายหมดเลย    ด้วยความสงสัยฉันจึงถามเธอว่า ทำไม น้องจึงหยุดออกกำลังกายไปเสียเล่า ยุ่งมากหรือไง   หรือคิดว่าแข็งแรงแล้วเลยหยุด     

เธอตอบว่า  ใช่ค่ะหมอ  พอมันสบายไม่ค่อยป่วย น้องชักจะขี้เกียจ  ก็ออกกำลังกายติดต่อกันมาตั้ง 2  ปีแล้ว  หยุดมั่งคงไม่เป็นไรมั๊ง     

ฉันให้เธอเล่าว่า ครั้งใหม่นี้ เธอออกกำลังกายวิธีไหน  นานเท่าไรถึงได้เหนื่อย    เธอบอกว่า  น้องเดินที่หลังบ้าน  เดินไปยกแขนชูขึ้นลงพร้อมไปด้วยตลอดเวลา  เดินได้ประมาณ 15 นาทีก็เริ่มรู้สึกเหมือนเหงื่อซึม  เริ่มเหนื่อยแล้ว  ก็เลยเดินต่ออีกหน่อยให้ครบครึ่งชั่วโมง   พอลองนับชีพจรดูได้ตั้ง 140 ครั้ง/นาที  เท่ากับอัตราหัวใจเต้นสูงสุดของน้องเลย  แต่ก่อนตอนออกกำลังกาย ถ้าออกแรงระดับนี้ ชีพจรน้องแค่ 100 ครั้ง/นาที เท่านั้นเอง   วันนั้น อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา น้องเลยเดินขึ้นลงบันไดบ้าน 1 ชั้นต่ออีก 30 นาทีให้ได้แรงระดับแอโรบิกอย่างที่หมอเคยบอก  ครบ 30 นาทีแล้วก็เดินช้าๆแล้วก็พัก  ตอนพักรอตั้งนานกว่าใจที่เต้นแรงจะหาย   และนานกว่าจะหายเหนื่อย    บอกแล้วเธอก็มองหน้าฉันนิ่งนานเหมือนรีรออะไร  

ลูกน้องฉันค่อนข้างรู้ใจเธอว่า  ถ้ามีท่าทางอย่างนี้  น้องผอบมีอะไรในใจที่อยากถาม แต่ไม่กล้า   จึงช่วยเปิดประเด็นคุยต่อว่า  อบอยากรู้อะไร  ก็พูดซิ  ดีเราจะได้รู้ด้วย     คำถามเธอ คือ หมอค่ะ ทำไมหนูจึงเหนื่อยเร็วกว่าเดิมนะ ในเมื่อแต่ก่อนเต้นแอโรบิกตั้งครึ่งชั่วโมง  ไม่เห็นเป็นไรเลย   ฉันจึงถามว่า อดนอนไหม   กินข้าวอิ่มเกินไปไหม     คำตอบคือ ไม่      

ฉันจึงบอกเธอว่า  การที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า  ความแข็งแรงที่เกิดหลังการออกกำลังกายจะสะสมอยู่นานไม่มีวันหมดนั้นเข้าใจผิด   การออกกำลังกายให้ผลคล้ายกับการเผากระดาษ   เปรียบการออกกำลังกาย คือ กระดาษ  ความแข็งแรงที่เกิดจากการออกกำลังกาย คือความร้อนที่เกิดจากการเผากระดาษ   เมื่อเผากระดาษ  ความร้อนจะได้จากไฟและขี้เถ้าที่ยังร้อน  เมื่อไฟมอด ขี้เถ้าเย็น  ความร้อนก็จะหายไป     ประสบการณ์ของน้องผอบ ที่เล่าก็เหมือนกับการเผากระดาษ   เคยเผานาน 2 ปี  หยุดเผา 2 เดือน อย่าว่าแต่ไฟเลย ขี้เถ้าก็หายไปหมดแล้ว   เมื่อมาเริ่มใหม่ก็เลยเหมือนเริ่มเผากระดาษใหม่  ให้ไฟลุกจะได้ให้ความร้อน   เมื่อเริ่มออกกำลังกายใหม่หัวใจก็ต้องปรับตัวใหม่   ก็เลยใจเต้นแรงไงเล่า   ที่เหนื่อยก็เพราะความแข็งแรงถอยไปเหมือนเมื่อ 2 ปีก่อนไงเล่า        

น้องผอบบอกว่า  น้องไม่อยากติดวัณโรค  แต่น้องขี้เกียจ  คอยแก้ตัวกับตัวเองว่า เอาไว้ก่อน

ฉันบอกเธอว่า  ถ้าจะใช้วิธีเดินออกกำลังกาย  และเดินให้สนุก ให้ไปที่ blog  health2you  อ่านเรื่อง  8 วิธีเดินออกกำลังให้สนุกและไม่เบื่อของ อาจารย์ น.พ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ ดู มีคำแนะนำดีอยู่ให้เลือก 

30 มกราคม 2551

หมายเลขบันทึก: 162554เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2008 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาติดตามเรื่องราวและสาระดีๆ ครับ
  • ผมเองก็คล้ายๆ กับกรณีที่คุณหมอว่าครับ
  • ตอนนี้ผมกำลังเอาจริงเอาจังกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งสำคัญครับ
  • ขอบคุณอีกหนึ่งแรงกระุตุ้นและแรงบันดาลใจครับ
ดีใจค่ะ ที่ได้ช่วยให้คุณกลับมาสร้างสิ่งดีๆให้ชีวิตคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท