หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ช่องว่างนี้....เพื่อใครรึ?


ถ้าแพทย์จบใหม่ รู้แต่เรื่องในตำรา เมื่อจบมาเป็นหมอเต็มตัว จะรักษาคนไข้ได้อย่างไร ไม่เข้าใจจริงๆ

วันนี้ หลังกลับจากการไปร่วมประชุมทำความตกลงเกณฑ์การจัดการกองทุนระดับอำเภอร่วมกับอำเภออื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่นาน  ก็มีโทรศัพท์จากหน้าห้องผอก.มาถึง ขอเชิญเข้าพบทีมอาจารย์แพทย์จากร.พ.รามาธิบดี   ฉันค่อนข้างงง! เพราะส่วนใหญ่ฉันจะไม่ใคร่ได้เกี่ยวดองหนองยุ่งเชิงระบบกับเรื่องการฝึกแพทย์โดยตรง

 

อาจารย์บอกว่า มาขอเยี่ยมศิษย์ทุนแพทย์ชนบทที่จบมาจากร.พ.รามาธิบดีเพื่อประเมินผล  ครั้งนี้เป็นการมาของ field  หมอจิตเวช นิติเวช  ต่อๆไปก็จะเวียนสาขาอื่นๆมา    ปีนี้ ร.พ.เรามีน้องที่จบทุนแพทย์ชนบท 2 คน  การลปรร.ระหว่างอาจารย์กับน้อง 2 คนไม่ใคร่มีเรื่องราวอะไรมาก  เพราะน้องตอบว่า ความรู้ที่เรียนมาเอามาใช้งานได้   การใช้เวลาของบ่ายนั้น จึงกลายเป็น การลปรร.ระหว่างรุ่นพี่แพทย์ที่ร่วมพบอาจารย์เสียมากกว่า  

 

ความรู้ที่ได้จากการลปรร.

  • การชันสูตรศพ เป็นเรื่องที่แพทย์เท่านั้นลงความเห็นได้  การตรวจหลักฐานประกอบอื่นๆทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ด้านกฎหมาย(นิติวิทยาศาสตร์) เป็นเรื่องของนิติวิทยาศาสตร์

 

  • คนที่จบนิติวิทยาศาสตร์  ยังไม่นับเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับการรับรอง

 

  • คนที่รู้นิติวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถตรวจศพแทนแพทย์ได้  แต่ช่วยแพทย์ตรวจศพได้

 

  • หากศพอยู่ในที่ซึ่งไม่สะดวกในการตรวจ  แพทย์สามารถสั่งเคลื่อนย้ายศพได้  และให้สั่งได้เมื่อพนักงานสอบสวนที่กฎหมายกำหนดไปครบทุกฝ่าย (3-4 ฝ่ายรวมแพทย์แล้วแต่กรณี)

 

  • แพทย์ที่ไปชันสูตรศพในเรือนจำ  ควรรอให้มีพนักงานสอบสวนที่กฎหมายกำหนดครบทุกฝ่ายแล้ว  จึงลงมือพิสูจน์ศพ  หากมีไม่ครบทุกฝ่ายแล้วลงมือก่อนเป็นความเสี่ยงสำหรับตัวแพทย์เอง  และหากรอแล้วก็ไม่ครบทุกฝ่าย  แพทย์สามารถปฏิเสธการตรวจศพนั้นได้

 

  • คณะแพทย์รามาฯ สามารถจัดหลักสูตรนิติเวชระยะสั้น ไว้รองรับให้ตามที่ร้องขอ ติดต่อโดยตรงได้เลย

 

  • ไม่จำเป็นต้องตรวจทางนิติเวชในกรณีที่เกินศักยภาพ เช่น  การ่ผ่าตรวจศพ  การพยายามระบุสาเหตุตายทั้งๆที่บอกไม่ได้   กรณีเกินศักยภาพ  ให้เขียนความเห็นไว้ในใบชันสูตรศพว่า ไม่สามารถให้ความเห็นสาเหตุตายได้   แนะนำส่งต่อเพื่อตรวจเพิ่มเติม

 

  • กรณีตำรวจให้ร.พ. ส่งศพไปตรวจเพิ่มเติมให้  สามารถปฏิเสธได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้มีหน้าที่ส่งต่อศพเพื่อตรวจเพิ่มเติมคือ ตำรวจ

 

  • การให้ความเห็นเกี่ยวกับบาดแผลคดีที่ยังไม่ลงความเห็น  หากแพทย์ที่ดูแลคนไข้ โยกย้ายไปแล้วจากร.พ.นั้นๆ  แพทย์อื่นๆให้ความเห็นแทนได้  โดยให้ระบุว่า ความเห็นที่ให้ได้จากเวชระเบียน  กรณีต้องไปเป็นพยานศาล ก็ให้การตามที่เวชระเบียนบันทึกไว้ หากมีกรณีต้องตอบเกินกว่าที่มีบันทึกเวชระเบียน สามารถตอบได้ว่า ไม่ทราบเพราะไม่ใช่ผู้ดูแลคนไข้เอง

 

  • ปัจจุบัน โรงเรียนแพทย์พัฒนาแพทย์ภายใต้หลักสูตรที่แพทยสภากำหนด   ขอบเขตของการเรียนการสอน ไม่อนุญาตให้นักเรียนแพทย์ลงมือปฏิบัติการใดๆกับผู้ป่วย ให้เรียนให้สอนด้วยตำราและบทเรียนเท่านั้น 

 

  • การพัฒนา Therapeutic skill, investigative skill, และ Operative skill ที่จำเป็นสำหรับโรคที่พบบ่อยซึ่งนักเรียนแพทย์เมื่อ 20 ปีที่แล้วสามารถทำกับคนไข้ได้  ปัจจุบันห้ามฝึกให้ทั้งหมด  ให้ส่งออกมาฝึกตามร.พ.ที่แพทยสภารับรองให้เป็นที่เพิ่มพูนทักษะแพทย์ อย่างร.พ.กระบี่นี่แหละ

 

  • ถ้าอยากเปลี่ยนอะไรเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์ ให้เสนอได้ที่แพทยสภา โรงเรียนแพทย์เปลี่ยนแปลงหลักสูตรเองไม่ได้

 

  • การพัฒนา communication skill  ได้มีการแทรกไว้อยู่แล้วในวิชาสอนต่างๆ 

 

ฉันไม่ใคร่เข้าใจวิธีคิดของแพทยสภาเท่าไร  คนที่เก่งที่สุดในวงการแพทย์น่าจะเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์  แต่แทนที่อาจารย์แพทย์จะเป็นคนสอนแพทย์ในเรื่องทักษะต่างๆก่อนปล่อยแพทย์จบออกมา  กลับบอกว่า คนที่จะสอนให้นักเรียนแพทย์มีทักษะต่างๆได้ดีกว่าโรงเรียนแพทย์อยู่ตามร.พ.ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่โรงเรียนแพทย์  แล้วถ้าเกิดแพทย์รุ่นพี่ในต่างจังหวัดที่จะเป็นครูไม่ได้เรื่อง หรือไม่ว่างสอน เพราะงานบริการรัดตัวเยอะ  นักเรียนแพทย์จะได้เรื่องละหรือ  แล้วใครคือผู้รับผล แพทย์หรือประชาชน 

 

 

29 กุมภาพันธ์ 2551

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 168536เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2008 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท