หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ควันหลงเรื่องเล่าจากตลาดนัดความรู้ฯ ภาคใต้ (10) : เข้าใจฉันบ้างไหม


ถ้าการพูดของคนอื่นทำให้เกิดความหงุดหงิด แปลว่าตัวเขาเชื่อในสิ่งที่ตรงกันข้าม ถ้าทำให้เขาเห็นความเชื่อของตนเองนี้ได้ ความสามารถในการตัดสินใจเลือกให้คุณค่าจะเกิดขึ้น....เมื่อมีการเริ่มคุย สิ่งใหม่ๆที่ทำให้เกิดความประหลาดใจ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ไปจากเดิม สัมพันธภาพระหว่างคู่สนทนาก็งอกงามขึ้น

น้องมณฑิรา กิตติกาญจนาภา จากร.พ.ระนอง ได้นำเรื่องราวของคนไข้คนหนึ่งมาเล่าให้ฟังด้วยความภูิมิใจกับผลงานของเธอ ที่สามารถทำให้คนไข้เบาหวานของเธอ มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติตัวของตนในการดูแลเบาหวานได้ดีขึ้น

ลองมาฟังกันหน่อยมั๊ยว่า เรื่องเล่านี้มีเรื่องราวอยู่อย่างไร

มีคุณป้าคนหนึ่งอายุประมาณ 50 ปีเศษ เธอเป็นคนไข้ประจำที่คลินิกเบาหวานของร.พ.ระนอง วันหนึ่งที่เธอมาพบหมอ น้ำตาลในเลือดของเธอสูงถึง 300 มก.%

เมื่อป้อนคำถามเรื่องการคุมอาหารแก่เธอเท่านั้นแหละ คำพูดเหล่านี้ก็พรั่งพรูตามออกมา  

"คุมๆๆๆ อดจะตายอยู่แล้ว ไม่รู้ทำไมน้ำตาลยังสูง กินเหมือนคนอื่นเขาอยู่นะแหละ มื้อหนึ่งกินข้าวทัพพีครึ่งถึงสองทัพพี ของว่างระหว่างมื้อก็กินบ้างไม่กินบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าหิวหรือเปล่า ไอ้นู้นก็ห้าม ไอ้นี่ก็ห้าม ไม่รู้จะกินอะไรอยู่แล้ว....."

หลังคำพูดที่พรั่งพรูจบลง คำแนะนำจากน้องมณฑิราก็ถูกส่งมอบ

"เมื่อเวลาลดข้าวลง กินไม่อิ่ม ให้กินผักทดแทนจนอิ่มได้นะป้า  เป็นผักจิ้มน้ำพริก เกาเหลา แกงจืด มีหลากหลายรูปแบบที่กินได้ แต่อย่าใส่น้ำตาลและน้ำมันเจียวกระเทียมนะ  ส่วนระหว่างมื้ออาหารถ้าหิวให้กินน้ำเต้าหู้ที่ไม่มีน้ำตาล ใช้ได้เลยป้า...."

หลังจากให้คำแนะนำ น้องมณฑิราสังเกตว่า์คนไข้เธอผ่อนคลายขึ้น จากการติดตามต่อมา ระดับน้ำตาลของเธอลดลงเหลือ 200 มก.% แล้ว ซึ่งน้องมณฑิราเธอบอกว่า ดีใจที่สุดที่ได้ช่วยเธอ

เมื่อฉันได้ยินเรื่องเล่าเรื่องนี้ มีมุมบางอย่างที่สะกิดใจบอกตัวเองว่าให้สนใจเรียนรู้ในมุมสะท้อนให้สัมผัสใจของคนไข้เบาหวานนะ

กุหลาบพันปี

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ฉันเคยอ่าน คนเขียนเขียนไว้ว่า

"เมื่อเกิดความหงุดหงิดใจ เขาจะเห็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้เขามองเห็นความเชื่อที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ถ้าการพูดของคนอื่นทำให้เขาเกิดความหงุดหงิด แปลว่าตัวเขาเชื่อในสิ่งที่ตรงกันข้าม ถ้าทำให้เขาเห็นความเชื่อของตนเองนี้ได้ ความสามารถในการตัดสินใจเลือกให้คุณค่าจะเกิดขึ้น....เมื่อมีการเริ่มคุย สิ่งใหม่ๆที่ทำให้เกิดความประหลาดใจ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ไปจากเดิม สัมพันธภาพระหว่างคู่สนทนาก็งอกงามขึ้น..."

ฉันว่านำมาอธิบายผลที่เกิดในคนไข้รายนี้ได้้เลยนะ สัมผัสฉันฟังว่า ป้าเธอหงุดหงิดนะ เป็นเพราะป้าเชื่อและคาดคะเนอยู่กับอะไรบางอย่างอยู่ในใจ เสียงเล่ากำลังประท้วงว่าการอด การห้ามการกินอาหารนะไม่ใช่วิธีที่เธอเชื่อเลย ได้ยินอย่างนั้นแหละ ขอบอกกันไว้

เมื่อมีคนมาบอกให้ป้าแปลกใจว่าไม่อดแต่อิ่มก็ได้มีวิธีนะ ไม่สร้างความแปลกใจให้ป้าก็แปลกแล้วละ ความแปลกใจนี่ไงเล่าที่ทำให้ป้ารับฟังแถมยังนำคำแนะนำกลับไปลองปฎิบัติ ปฏิบัติไปแล้วได้ผลด้วย ป้าไม่แปลกใจแล้วกลับมาฟังอีกก็ไม่รู้จะว่าไงแล้ว

กุหลาบพันปี

แล้วเมื่อป้าได้ประสบการณ์เรียนรู้ที่แปลกใหม่จากเดิม ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อของป้า อย่างนี้สัมพันธภาพที่ดีระหว่างทั้งคู่จะไม่งอกงามขึ้นซะบ้าง ให้มันรู้ไป

เป็นไปตามที่คนเขียนหนังสือฉบับนี้เขาว่าไว้เป๊ะเลย น่าแปลกใจไหม

เคล็ดลับจากเรื่องนี้ ฉันเก็บไปใช้อย่างนี้นะจะบอกให่ ใครจะเลียนแบบก็ไม่ว่ากัน

"เมื่อได้ยินเสียงบ่นจากผู้คน ให้เข้้าใจเถิดว่า เขามีความเชื่อบางอย่างที่อยากบอกให้รู้ และความเชื่อนั้นก็สอดแทรกอยู่ในคำบ่นนั่นแหละหนา....ฟังให้ดีเหอะ"

สำหรับเรื่องเล่านี้ชื่อเรื่อง "เข้าใจฉันบ้างไหม" ฉันตั้งมันขึ้นมาเองแหละค่ะ

ชอบใจกับเรื่องราวที่ตรงใจคนไข้

ขอบคุณน้องมณฑิราสำหรับเรื่องราวที่น้องประทับใจนี้นะคะ

ขอบคุณคุณป้าด้วยที่ให้ชีวิตมาเป็นครู

4 ตุลาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 303053เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2009 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับคุณหมอเจ๊แซ่เฮ คนงาม ขอบคุณ น้องมณฑิรา ที่มีความล้ำลึกในการค้นหาสาเหตุ ที่แท้จริง ให้เวลารับฟัง นำมาคิด ตามไปดู เป็นรายๆเรื่องๆ แทนการเหมาโหล ยกเข่ง

ไปร่วมงานประกวดนวัตกรรมงานคุณภาพ ของโรงพยาบาล ปากพะยูน มีงานเรื่องเบาหวานหลายเรื่องที่นำเสนอ แต่ส่วนมากติดอยู่คัดกรอง กลุ่มเสี่ยง ยิ่งรักษาป้องกัน คนไข้ยิ่งเพิ่มครับ

สวัสดีค่ะ

- ขอบคุณค่ะ ที่แนะนำเรื่องราวดี ๆ ค่ะ

- เรามักจะมองทางกายมากกว่าจิตใจ

- น้อยนักที่จะเห็นการพัฒนาทางด้านจิตใจ

- เพราะคิดว่ามันทำยากเหลือเกิน

- การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจ จึงเหมือนคำพูดเพียงลอย ๆ หรือเปล่าค่ะ

ดีใจค่ะ วงการแพทย์เริ่มให้ความสำคัญกับการสัมผัสใจผู้ป่วย

ครูต้อยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ

น้องพี่หมอเจ้สบายดีนะคะ

วันนี้ได้รับเมล์ขอความคิดเห็นจากน้องผู้รับผิดชอบงานมหกรรมเบาหวาน

ครูต้อยจึงตะเวณอ่าน และเก็บข้อมูลซ้ำเพื่อนำไปเป็นแนวทางการร่วมปฏิบัติงานค่ะ

ขอบคุณบทความดีๆอย่างนี้นะคะ

  • บัง วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ค่ะ
  • ถ้าหากเราไม่เร็วเกินไป
  • เราจะพบว่า....มีคนอย่างน้องมณฑิราอยู่รอบกายเราในร.พ.เสมอ
  • .............
  • บังเป็นคนหนึ่งที่มีเรื่องเล่าที่บ่งบอกว่า
  • เป็นคนมีใจงามกับการไม่ให้คุณค่ากับการยกโหล เหมาเข่งในการทำอะไรลงไปค่ะ
  • .............
  • อยากบอกบังว่าในเรื่องเล่าทั้งหลาย
  • ที่คนเล่าออกมา
  • เมื่อมองเผินๆจะรู้สึกไปว่าเป็นเรื่องซ้ำซากอยู่เรื่อยๆ
  • เหมือนวนเรือในอ่างปิด
  • .............
  • แต่ถ้าลองยืนห่างๆ
  • แล้วปิดความคิดว่าเรื่องนี้เคยฟังมาแล้ว
  • เรื่องนี้เหมือนที่คนอื่นทำ
  • เรื่องนี้ทำซ้ำๆอยู่ได้
  • ไม่เห็นเลยเรื่องใหม่ๆ
  • ............
  • รับรู้เรื่องราวเหมือนเพิ่งได้ฟัง ได้รู้เป็นครั้งแรก
  • สิ่งที่รับรู้จะมีปรากฎการณ์บางอย่าง
  • ที่เป็นมุมต่างจากที่เคยรู้นะบัง
  • ............
  • หมอเจ๊เชื่อว่าในเรื่องราวของร.พ.บังนั้น
  • มีเรื่องดีๆซ่อนอยู่....
  • เพียงแต่เจ้าของไม่รู้ว่า....นั่นแหละเรื่องดีละ
  • ............
  • ทั้งนี้เป็นเพราะนิสัยคน...ถูกความคิดครอบงำ
  • ให้มองแต่สิ่งที่สูงกว่าเพื่อจะทะยานไปเอื้อมมาครองเสมอ
  • ............
  • เมื่อมองอย่างนี้
  • สิ่งที่อยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่า
  • จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยให้ค่า
  • จนทำให้ความรู้สึกดีๆที่มีต่อมัน
  • ลดน้อยถอยหายไปเกือบสิ้น
  • ............
  • การทำงานไปของผู้คน
  • หากมีแต่เจ้าของงานชื่นชมผลงานของตนเอง
  • มันทอนกำลังใจในการทำงานนะบัง
  • ............
  • KM คือเครื่องมือในการถอด
  • เสื้อผ้าของงานที่ได้ลงมือทำไปแล้ว
  • เพื่อค้นหาเพชรที่ซ่อนอยู่นะบัง
  • น้อง เพชรน้อย ค่ะ
  • การดูแลคนให้ได้อย่างที่น้องว่า
  • จำเป็นที่ผู้ดูแลพึงฝึกตนให้มากไว้ค่ะ
  • ฝึกการดูแลใจตัวเองให้เป็นก่อน
  • ฝึกการดูแลใจคนอื่นโดยไม่แสร้งทำก่อน
  • ฝึกการดูแลใจคนอื่นอย่างถ่อมตนก่อน
  • เมื่อนั้นทักษะที่ต้องการจะปรากฎผลในตัวเราเองค่ะ

มาอ่านเรื่องชวนคิดค่ะพี่หมอ

ปูคงต้องใช้เวลาอีกนานๆคิดๆ

ขอบคุณค่ะ เรื่องราวดีๆ อิ่มอร่อยมื้อเที่ยงยังคะ

สวัสดีคะ

มาติดตามอ่านนะคะ

จากที่มีประสบการณ์ เหมือนกับคนไข้ไข้หวัดใหญ่ H1N1ที่ไม่ยอมทานข้าวแล้วอ่อนเพลีย บอกว่าไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีคนหาให้ อยู่คนเดียว จะไปซื้อมาทานก็ไปไม่ไหว ได้ให้คำแนะนำไปว่า ให้ดูที่ตู้เย็น มีอะไรที่กินได้บ้าง ถ้ามีนม มีเครื่องดื่ม สำเร็จรูปที่ไม่มีไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ให้ดื่มก่อนตอนนี้ คุณทำตามหรือยัง พอคนไข้บอกว่าดื่มน้ำส้ม น้ำหวามนแล้ว ถามต่อข้อที่สอง มีโจ๊กสำเร็จรูปไหม หรือมีบะหมีสำเร็จรูป มีไข่ พอคนไข้บอกว่ามี ให้คุณต้มน้ำร้อน ทำโจ๊ก ใส่ไข่ แล้วให้ผสมน้ำหวานกับน้ำเย็น ดื่มตามระหว่างมืออาหาร แล้วให้ทานยาลดไข้ นอนพัก ตื่นขึ้นมาจะดีขึ้นะคะ

คนไข้บอกว่าทำไมผมคิดไม่ออก เรื่อง่าย ๆ คนไข้เป็นระดับอาจารย์ เวลาที่คนไข้เครียด จะคิดอะไรไม่ออก จะหงุดหงิด เรื่องง่าย ๆใกล้ตัว บางที่มองข้ามไปนะคะ พอให้คำแนะนำ เป็นขั้นตอนทางโทรศัพท์ บอกให้ทำทีละอย่าง ได้ผล พอไก่เล่าให้คนอื่นฟัง หลายคนบอกว่าเป็นไปได้หรือ ใครไม่ป่วย ไม่ประสบด้วยตนเองจะไม่ทราบว่าบางทีคิดอะไรไม่ออกจริง ๆ

  • พี่ krutoi ค่ะ
  • สัมพันธภาพระหว่างผู้คนจะงอกได้งามและให้ความสุขก็ต่อเมื่อคนไม่ปลูกต้นขัดแย้งค่ะ
  • ไม่น่าเชื่อก็พึงเชื่อ
  • ว่าคนให้บริการใช้พลังกันไปมากกับการปลูกสัมพันธภาพ
  • แต่ผลกลับเป็นได้มาแต่ต้นขัดแย้งที่เติบโตขึ้น
  • ส่วนต้นความสุขกลับงอกงามขึ้นมาน้อยกว่าน้อย
  • .........
  • ระบบบริการที่ดี ควรให้ผลที่มีต้นความสุขงอกงามอยู่ทั่วไปค่ะ
  • อยู่ในใจคนรับและคนให้....ทุกครั้งไปที่เจอกันค่ะพี่
  • .........
  • ยังเป็นความหวังที่ช่วยกันขับเคลื่อนไปอยู่
  • หมอเจ๊ยินดีนักที่รับรู้ว่าน้องมดได้พี่ครูต้อยเป็นฐาน
  • ดีใจกับน้องด้วยที่ได้กัลยาณมิตรอย่างพี่ค่ะ
  • .........
  • ขอบคุณในความดีและน้ำใจที่รินหลั่งช่วยปลูกความสุขให้กันค่ะ
  • น้อง poo น้อยหนีบมือเจ้าขา
  • กลับเข้ามาจากการอิ่มมื้อเที่ยง
  • แล้วมานั่งลำดับบันทึกเพื่อเพิ่มเรื่องเล่าเรื่องใหม่
  • ความเห็นของน้องปูก็โผล่ผุดมาปรากฎตรงหน้า
  • .........
  • แล้วสะดุดกับคำว่า "...ใช้เวลาอีกนานๆคิดๆ"
  • เวลาเป็นของมีค่านะน้องปู
  • หากใช้แต่กับคิด
  • บางครั้งโอกาสที่ได้ผลบางอย่างจะสูญหายไป
  • พี่ขอชวนน้องปูให้เวลากับการไปเยือน ที่นี่ และ ที่นี่
  • ดูหน่อยนะจ๊ะน้อง
  • เผื่อว่าจะช่วยน้องให้ได้คุณค่าของเวลาที่คิดๆ
  • คืนโอกาสมาให้เป็นเรื่องผลดีๆมากมาย
  • ..........
  • มื้อเที่ยงอิ่มซะ จนอยากบอกว่า...อิอิ จ๊ะน้อง
  • คิดถึงน้องปูจ๋ามากๆจ๊า
  • น้อง ประกาย~natachoei ที่~natadeeค่ะ
  • ขอบคุณเรื่องเล่าของคนไข้ที่นำมาให้เรียนรู้
  • พี่สัมผัสว่าคนไข้ของน้องมีความเชื่อต่างไปจากของน้องมณฑิรานะคะ
  • คนไข้โชคดีเรื่องจังหวะของการเข้าช่วยเหลือ
  • เนื่องมาจากระบบงานที่มีของน้องประกายที่มีการติดตามต่อเนื่อง
  • จึงเป็นการเอื้อให้เราได้ทำกุศลอันยิ่งใหญ่ช่วยคนด้วยวิธีง่ายๆ
  • ...........
  • รู้สึกดีใช่ไหมกับการที่ได้ลงมือช่วยคน
  • ความสุขที่งอกงามในใจเรา
  • ทำให้เราอิ่มใจใช่ไหมน้อง
  • ...........
  • เรื่องเล่าของน้องทั้งสองสอนพี่ในเรื่องเหล่านี้ค่ะ
  • ...........
  • ไม่ควรเชื่อและตัดสินว่า "คนไข้รู้แล้วน่า" 
  • ไม่ควรเชื่อและตัดสินว่า "สิ่งที่เรารู้ คนไข้ไม่รู้"
  • ไม่ควรเชื่อและตัดสินว่า "คนไข้ไม่ทำอะไรให้ตัวเอง"
  • ควรเชื่อและตัดสินว่า "ให้เชื่อว่า คนทุกคนรักตัวเอง
  • ควรเชื่อและตัดสินว่า " ทุกผู้คนรักตัวเองตามแบบของเขา"
  • ควรเชื่อและตัดสินว่า "้ คนไข้ทุกคนต้องการให้เราเดินเคียงข้างอย่างเพื่อนที่เข้าใจกัน "
  • ควรเชื่อและตัดสินว่า "คนไข้ไม่ได้ต้องการนาย เมื่อเขาเดินเข้ามาให้เราช่วย"
  • ...........
  • แล้วการสัมผัสใจคนไข้ จะไม่ยากเลย
  • ...........
  • นี่คือ ทักษะสำคัญที่พวกเราพึงฝึกตนกันซะใหม่ค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวอีกครั้งค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท