หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ควันหลงเรื่องเล่าจากตลาดนัดความรู้ฯภาคใต้ (22) : ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เพื่อนบ้านช่วยกันลดน้ำตาลได้


จำ ไว้อย่างหนึ่งนะคะ บริบทของคนไข้จะได้มาผิดเพี้ยนหากใช้วิธีซักถามข้างเดียว การได้มาที่ง่ายกว่าคือชวนสนทนาแล้วปล่อยให้พูด เรานั่งฟังคนไข้ไปเงียบๆ ให้คนไข้คุย คุย คุย หรือบ่นได้ (ในสิ่งที่บ่นนั้นมีบริบทของเขาแทรกอยู่ด้วย)

เมื่อโพสต์บันทึกนี้ไปแล้วก็มีน้อง 2 คนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนว่า

"คนไข้เบาหวานมีมากมายครับ ที่น้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่ยอม admit กลับไปอาจมีภาวะแทรกซ้อนถึงตายได้ คำถาม 1 ความรู้แฝงเร้น ในการพูดให้คนไข้ยอม นอน รพ. คืออะไร? 2 หากคนไข้จะกลับบ้า้น จริงๆ เราจะติดตามดูแลคนไข้อย่างไร"

"กับคำถามท้ายข้อที่ 2 ของคุณศุภรักษ์ ยังไง ยังไงก็ไม่ยอมไป รพ. ยังไม่ต้องนอน รพ.หรอก แค่ไปพบแพทย์ที่ รพ. ยังไม่ไปเลย ???

ก็เลยเจอคำถามที่ตัวเองยังหาคำตอบ(ที่ไม่แน่ใจ) ไม่ได้ ด้วยคำถาม คนไข้ น้ำตาลเยอะขนาดนี้ CUP ควร จะทำอย่างไร??"


ทำให้ฉันฉุกคิดขึ้นว่า น่าจะมีเรื่องราวอยู่ในเรื่องเล่าของร.พ.ที่มา่วางแผงขายสินค้าในตลาดนัดความรู้ฯภาคใต้อยู่บ้างนะ

ทำให้กลับไปค้นดูเร็วๆว่ามีวิธีการอย่างไรสำหรับงานประเภทจะต้องตามคนไข้คนสำคัญไปถึงที่บ้านแล้วช่วยให้น้ำตาลที่สูงลดได้

ไม่เสียทีที่ไปค้น เก็บได้เรื่องเล่าของร.พ.ควนขนุนมาเรื่องหนึ่งที่มีวิธีการที่ทำได้ไม่ยากเลย  ลองอ่านดูนะคะ เผื่อว่าจะช่วยให้ 2 ท่านมีทางออกสำหรับช่วยคนไข้ที่ไม่ยอมนอนร.พ. ไม่ยอมมาพบหมอที่ร.พ.

วันหนึ่งที่คลินิกปันสุข ข้าพเจ้ากำลังทำการนัดคุณยายท่านหนึ่งมาพบแพทย์ในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า (ระดับน้ำตาล 285 มก/ดล.) คุณยายซึ่งมีอายุ 76 ปีแล้วได้บอกกับข้าพเจ้าว่า

"อีหนู นัดยายพร้อมเพื่อนอีก 3 คนจะได้ไหม ทั้ง 3 คนก็จะมารับยาพร้อมกันในครั้งหน้า นัดยายมาคนเดียว ยายมาไม่ได้หรอก ลำบาก ลูกๆเขาไปทำงานที่อื่นกันหมด ยายอยู่บ้านคนเดียวเอง พ่อไอ้หนูก็ตายซะแล้ว จะมาร.พ.แต่ละที ยายต้องอาศัยรถคนไข้เบาหวานที่อยู่ใกล้กันมา ยายต้องมาพร้อมเขา ยายจึงจะได้มา ลูกเอ๋ย มาไม่พร้อมเขา ยายต้องจ่ายค่ามอร์เตอร์ไซด์มาเองใช้ตังค์ตั้งหลายบาท 80 บาทเชียวนา ไป-กลับเสียตังค์ตั้ง 160 บาท ยายไม่มีเงินด้วย มอร์เตอร์ไซด์เห็นยายแก่อย่างงี้เขาไม่กล้าให้ยายมาด้วย หามอร์เตอร์ไซด์จะมาก็ลำบาก เวลามากับมอร์เตอร์ไซด์ เขาพานั่งเลาะมาตามถนนแคบๆ ซอยเล็กๆ ดินลูกรัง มีทั้งหลุมทั้งบ่อ แบบว่าทำนาบนถนนได้เลย หมาก็เยอะ วัวก็เยอะ ยายกลัวจริงๆ ไม่รู้จะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไร"

"คุณๆๆ มานี่หน่อย อยู่ใกล้บ้านคุณยายเหรอ มาคุยเรื่องคุณยายกันหน่อย" ฉันเรียกผู้ป่วย 3 คนที่คุณยายอ้างถึงมาชวนคุย "คุณยายแกต้องมาหาหมอใน 1 สัปดาห์ข้างหน้า แต่แกว่าแกมาไม่ได้ถ้าไม่มาพร้อมพวกคุณทั้ง 3 คน......."

แล้วการคุยก็ได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 คนยินดีมาร.พ.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า พร้อมเอายามาคืนและเข้าคิวรับยาไปใหม่ในวันนั้นตามขั้นตอนเดิมๆ คนทั้ง 3 รับปากว่าจะช่วยกันไปดูแลช่วยคุณยายให้ปรับปรุงระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติคล้ายๆกับค่าน้ำตาลในเลือดของเขาให้ได้ เพราะเขาก็ไม่สามารถมาร.พ.พร้อมคุณยายทุกสัปดาห์ได้ พวกเขาไม่อยากมารอนานและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น


สัปดาห์ต่อมา คุณยายมาตามนัด ปรากฎว่า ระดับน้ำตาลลดลงมาอยู่ที่ 170 มก/ดล. ไม่น่าเชื่อใช่ไหม คุณยายเล่าว่า

"กลับไปบ้านแล้ว ทั้ง 3 คนนั้นนะเขาเทียวไปเทียวมาไปหายายกัน เปลี่ยนกันคนละวันไปคุยกับยาย ดูแลยายเรื่องอาหารและการกิน ชวนยายเดินออกกำลังกายด้วย มาพูดมาคุยด้วย ยายสบายใจ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอยู่คนเดียว ยายมีความสุข อีหนูเอ๊ย"

หลังจากวันนั้น ทั้ง 4 คนก็ยังมาร.พ.ด้วยรถคันเดียวกัน และได้รับการนัดที่ห่างไปๆ 10 สัปดาห์จึงมาหาแพทย์อีกครั้ง แต่ละครั้งที่มาระดับน้ำตาลในเลือดก็ไม่เคยเกิน 130 มก./ดล. กันเลย

คนเล่าเรื่องเธอยังสรุปไว้ว่า "การได้รับทราบปัญหาจากผู้ป่วยในคลินิกได้จุดประเด็นของการพัฒนางานในคลินิกให้สอดคล้องกับบริบทของผู้ป่วย มีบริบทของผู้ป่วยที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีความลำบากกับการมาหาหมอแต่ละครั้งอย่างไร นับจากวันที่รู้ก็ทำให้ได้มีการทำให้ผู้ป่วยได้ช่วยเหลือกัน อย่างคน 4 คนนี้ ไม่มีใครอยากสร้างภาระให้ักัน จึงช่วยกันลดความเดือดร้อนให้กัน ผลพลอยได้ของเราก็คือ ยืดระยะเวลาของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยให้เรา คุณภาพชีวิตของเขาก็ยกระดับขึ้นด้วย ระบบของเราก็ยังคงเป็นไปได้อยู่ นัดผู้ป่วยมาตามค่าของระดับน้ำตาลเป็นสำคัญ ใครคุมได้ดีก็นัดนานหน่อย 10-12 สัปดาห์/ครั้ง ถ้าคุมไม่ได้ดีก็นัดบ่อยและถี่หน่อย เช่น ทุกสัปดาห์ ทุก 2 สัปดาห์..."

ขอบคุณน้องงามเนตร ทองฉิม พยาบาลชำนาญการ ผู้เล่าค่ะ


หมอเจ๊เดาว่าเหตุการณ์คล้ายเรื่องเล่านี้น่าจะเกิดมีอยู่ในทุกร.พ. ลองให้ความสำคัญกับบริบทของคนไข้ ทำความเข้าใจให้รอบด้าน แล้วทางออกให้คนไข้ก็จะออกมาเองค่ะ

จำไว้อย่างหนึ่งนะคะ บริบทของคนไข้จะได้มาผิดเพี้ยนหากใช้วิธีซักถามข้างเดียว การได้มาที่ง่ายกว่าคือชวนสนทนาแล้วปล่อยให้พูด เรานั่งฟังคนไข้ไปเงียบๆ ให้คนไข้คุย คุย คุย หรือบ่นได้ (ในสิ่งที่บ่นนั้นมีบริบทของเขาแทรกอยู่ด้วย)

ฝึกไว้นะคะ  ฝึกการฟังเอาไว้เยอะๆ ฟังแบบไม่โต้ตอบ ไม่ขัดจังหวะคนไข้ที่กำลังพูดค่ะ แล้วจะพบว่ามีอะไรอีกมากมายของคนไข้ที่เราไม่รู้

หมายเลขบันทึก: 311921เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2009 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะมาชื่นชมค่ะ
  • เห็นด้วยจริงๆค่ะ สำหรับ "การฝึกการฟัง ฟังแบบไม่โต้ตอบ ไม่ขัดจังหวะ" สามารถใช้ได้กับทุกอาชีพค่ะ ทั้งผู้บริหาร ผู้ให้บริการ คุณครู คุณหมอ กระบวนกรอบรม และอื่นๆ
  • คุณ อัญชลี อุชชิน ค่ะ
  • ยินดีที่แวะมาค่ะ
  • ^____________^
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท