เวลา...ศัตรูที่แท้จริงของชีวิต


ภายใต้โลกแห่งการแข่งขันและการต่อสู้ที่ซับซ้อน จะมีใครที่เข้าใจและได้ตระหนักรู้ว่า... ชัยชนะที่แท้จริงนั้นคือการ “ชนะใจ” ตนเอง ให้อยู่เหนือความปรารถนาที่นำมาซึ่งความทุกข์ ผู้คนที่เราคิดว่าเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ย่อมไม่ใช่ “คู่ต่อสู้” เพราะ “ศัตรู” ที่แท้จริงของชีวิตคือ “เวลา” ที่กลืนกินสรรพชีวิตและสรรพสิ่ง....

วันหยุดแบบนี้

เราน่าจะได้ทำอะไร

ที่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังทำอยู่นะ 

เรารำพึงกับตัวเองเบา ๆ ขณะที่นั่งคิดงาน เขียนงาน และติดต่องาน อยู่ที่ห้องทำงานในมหาวิทยาลัยเมื่อยามบ่ายของวันอาทิตย์

นอกจากด้วยความรู้สึกที่ว่า เราอยากกลับมาทำ บางสิ่งบางอย่าง ให้กับสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วม สร้าง เราขึ้นมา นอกจากภูมิทัศน์ของวิทยาเขตที่ โดนใจ คนรักและชื่นชมธรรมชาติอย่างเรา และนอกจาก ความคุ้นเคย ที่เรามีต่อผู้คน ณ สถานที่แห่งนี้แล้ว เหตุผลสำคัญที่เราเลือกมาอยู่ที่นี่ก็คือ...วิทยาเขตกำแพงแสนแห่งนี้มีบ้านพักอยู่ในมหาวิทยาลัย... เราไม่ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพียงเพื่อจะไปรถติดอยู่บนท้องถนน ไม่ต้องรีบกลับบ้านตั้งแต่บ่ายแก่ ๆ หรือเย็นย่ำเพียงเพื่อต้องการ หลบ ภาวะวิกฤติของการจราจรเหมือนเพื่อนๆ ที่มีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่  ด้วยว่าระยะทางจากบ้านพักเราไปถึงที่ทำงานนั้น ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาที...  

ทว่า ภายใต้สิ่งที่ดูเหมือน ได้เปรียบ กลับกลายเป็นความ เสียเปรียบ

เราแทบไม่มีวันเวลาแห่งการเป็น   วันหยุด  เอาเสียเลย เพราะแม้จะเป็นช่วงวัน เสาร์-อาทิตย์ เราก็พาตัวเองมานั่งอยู่ที่ทำงาน... 

เรานั่งทบทวนดูว่า เราใช้ เวลา ซึ่งเป็น ทรัพย์ อันมีค่าที่สำคัญที่สุดในชีวิตอย่างไร 

เวลาในแต่ละวันมี 24 ชั่วโมง หากแบ่งเวลานี้ออกเป็น 3 ส่วนจะได้ส่วนละ 8 ชั่วโมง ซึ่ง 8 ชั่วโมงแรกใช้ในการ ทำงาน เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิต ส่วน 8 ชั่วโมงที่สองใช้ในการ บริหารขันธ์ ได้แก่ การอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร พักผ่อน ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ และสำหรับ 8 ชั่วโมงสุดท้ายใช้ในการ นอนหลับ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน มีเรี่ยวแรงมายืนหยัดสู้อยู่บนโลกใบนี้ต่อไป 

เราคำนวณดูแล้ว....ในเวลา 1 วันเรานอนหลับประมาณ 4-5 ชั่วโมง และบางค่ำคืนเราก็นอนน้อยกว่านั้น... ส่วนกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อการบริหารขันธ์ก็ช่างน้อยมาก ประมาณ 4-5 ชั่วโมงเช่นกัน ด้วยว่าวิถีชีวิตของเรานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นวิถีแห่ง "ความสุขที่เรียบง่าย" ด้วยความ สมถะและความ สันโดษ ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ในแต่ละวันของเรา จึงเป็นไปเพื่อสิ่งที่เรียกว่า งาน ทั้งที่เป็นสิ่งที่มีเป้าหมายและเป็นความรู้ ทางโลก กับสิ่งที่มีเป้าหมายและเป็นความรู้ ทางธรรม ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ต่าง เสริมพลัง และ บูรณาการ ซึ่งกันและกัน 

จึงหมายความว่า... ในแต่ละวันของชีวิต... เวลาที่มีอยู่ของเราถูกใช้และเป็นไปเพื่อการทำงานประมาณ 14-16 ชั่วโมง 

แม้กระนั้นก็ตาม...ตารางการนัดหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสมุดบันทึกของเรา กลับทำให้เรารู้สึกว่า ...เวลาในแต่ละวันทำไมช่างมีน้อยจังยังทำ อะไร ได้ไม่เท่าไหร่เลย...

 เราเคยถามตัวเองด้วยเหมือนกันว่า... รู้สึก เหนื่อย หรือ อ่อนล้า หรือว่า ท้อถอย กับสิ่งที่ทำบ้างไหม?

คำตอบที่เรามีให้กับตัวเองในทุกครั้งก็คือ ไม่หรอก...อาจมีเหนื่อยบ้าง แต่ไม่เคยอ่อนล้าและไม่เคยท้อถอย

ที่สำคัญ...เรายังคงมี ความสุข กับทุกงานที่เราทำ 

หากแต่ช่วงสองสามเดือนมานี้...สัญญาณเตือนภัยของร่างกายบอกกับเราว่า คงต้อง หยุดพัก บ้างเสียแล้ว

แม้จะยังคงมี พลังใจ เต็มเปี่ยม ทว่า พลังกาย ของเราเสื่อมถอยตามวันเวลาที่ล่วงเลย และด้วยสภาพร่างกายที่ถูกใช้งานหนักมายาวนาน... เสมือนเครื่องจักรที่เดินเครื่องทำงานตลอดเวลา จึงต้องมีสักวันหนึ่งที่เครื่องจักรนี้จะ หมดสภาพ ลงได้ ระบบและกลไกของ สรีระยนตร์ นี้ก็คงเช่นกัน... ณ วันนี้... เมื่อใช้งานหนักโดยมิได้หยุดพัก จึงเกิดอาการ รวน โดยมิอาจ ซ่อมแซม ให้ฟื้นคืนสู่สภาพเดิมได้ 

เมื่อปีที่แล้วที่ร่างกายของเราเริ่มมีสัญญาณเตือนภัย หลานรักเราที่เป็น คุณหมอ มาช่วยดูแลให้และบอกกับเราว่า ถ้าน้าตุ้มไม่พัก หมอที่ไหนก็รักษาให้หายไม่ได้นะจ๊ะ

จริงของหลาน... เราคงต้องแบ่ง เวลา ในการ ดูแล ตัวเองให้มากขึ้น 

หากอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์ยืนยาวที่ 75 ปี...เราก็คงมีเวลาอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกไม่นาน...

ที่สำคัญ...เรามิอาจล่วงรู้ได้ว่า...เวลาบนโลกของเรา เหลือ อยู่เพียงใด

เราอาจละโลกในวันนี้หรือพรุ่งนี้  ด้วยว่า ความตายไม่มีนิมิตหมาย

ไม่ว่าจะมีเวลาของชีวิตเหลืออยู่เพียงใด หากในทุกขณะที่มีลมหายใจนั้น เราได้ทำในสิ่งต่าง ๆ ที่สมควรอย่าง ดีที่สุด หากวิถีชีวิตของเราเป็นไปเพื่อยัง ประโยชน์สุข ด้วยการไม่ เบียดเบียน ทั้งต่อผู้อื่นและต่อตัวเราเองแล้ว  การ จากพราก ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ควรเสียใจมิใช่หรือ 

ภายใต้โลกแห่งการแข่งขันและการต่อสู้ที่ซับซ้อน จะมีใครที่เข้าใจและได้ตระหนักรู้ว่า ชัยชนะที่แท้จริงนั้นคือการ ชนะใจ ตนเอง ให้อยู่เหนือความปรารถนาที่นำมาซึ่งความทุกข์ ผู้คนที่เราคิดว่าเป็น ฝ่ายตรงข้าม ย่อมไม่ใช่ คู่ต่อสู้เพราะ  ศัตรู ที่แท้จริงของชีวิตคือ เวลา ที่กลืนกินสรรพชีวิตและสรรพสิ่ง.... 

 กัลยาณมิตรควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า

เวลาที่ล่วงไป... ล่วงไป 

บัดเดี๋ยวนี้...เราทำอะไรอยู่   

หมายเลขบันทึก: 102327เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2007 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ชีวิตมนุษย์ทุกคนในโลก ต่างดำเนินไปสู่ความตาย ช้าเร็วแตกต่างกัน...เราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต
และฝึกจิตของตนให้สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ภัยต่างๆเทอญ..

P ใช่แล้วค่ะ คุณวรรธนชัย...นึกถึงพุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กล่าวไว้ก่อนดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานว่า...ท่านทั้งหลาย...จงยังชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด....
แม้จะ "รู้" แต่กลับเหมือน "ไม่รู้" หากจะว่าไปแล้ว เราต่างถูกหลอกล่อให้ติดอยู่ใน "กับดักชีวิต" ที่พอมารู้ตัวเข้าอีกที...บางครั้งก็อาจสายไปเสียแล้ว...เวลาที่ควรใช้ในเรื่องที่ "ต้องทำ" กลับเป็นไปเพื่ออะไรก็ไม่รู้นะคะ
อยากบอกทุก ๆ คนว่า เราไม่ควร "ประมาท" กับชีวิต เวลาที่มีอยู่และเหลืออยู่ควรเป็นไปเพื่อ "เป้าหมาย" ชีวิตที่แท้จริง นั่นคือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง... ทาน ศีล ภาวนา...การทำจิตให้ผ่องใสเพื่อก้าวล่วงพ้น "ความทุกข์" ที่มีอยู่ของชีวิตให้ได้...
นักจัดการความรู้ที่แท้จริง จึงต้องรู้จัก "ความรู้" ที่นำมาใช้ "จัดการชีวิต" ใช่ไหมคะ
  • ขอบคุณมากครับที่เตือนสติ
  • บางครั้งเราคิดว่าเรามีเวลาน้อยไป จะพยายามเร่งทำความดี
  • แต่ควรดุแลสุขภาพด้วย
  • อยากให้อาจารย์ไปเดินหรือวิ่ง รอบๆๆมหาวิทยาลัยบ้างเพื่อผ่อนคลายตอนเย็นๆๆ
  • ไม่มีใครดูแลสุขภาพเราได้ดีที่สุดนอกจากตัวเราเองครับ
  • ขอบคุณครับ
Bonsoir Professeur,

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ตัดสินใจไม่ยอมซื้อบ้านใกล้ที่ทำงาน ตอนซื้อตึกเพื่อทำ Home Office ก็คิดว่าซื้อมันสองหลังติดกันเลยมั้ย ทำบ้านเราหลังนึง แต่ก็คิดได้ว่า แย่แน่ ขนาดบ้านไกลกับที่ทำงาน 10 กิโลเมตร วันนึงยังทำงานเฉลี่ย 12-15 ชม. ถ้าอยู่ติดกันคงเสร็จ วันนึงคงไม่แคล้วได้ทำ 25 ชม. 555

เป็นคนหนึ่งที่นอนดึกมาก ส่วนใหญ่ตี 2-3 เดี๋ยวนี้ชักเลยไปตีสี่ ตื่นแปดโมงเช้า ทำอย่างนี้มาสิบกว่าปี สุขภาพชักแย่เหมือนกันค่ะ อาจารย์เองก็ต้องระวังนะคะ ตอนนี้ที่เป็นโรคประจำตัวไม่หายขาดก็คือ ไมเกรนกับโรคกระเพาะ กำเริบเป็นระยะ เกิดจากความเครียดทั้งนั้น จะเป็นมากช่วงสิ้นเดือนที่ต้องจ่ายเงินเดือนเด็ก : )

แต่ตั้งใจนานแล้วว่า 45 เมื่อไหร่เกษียณจากการทำงานหาเงินแน่ ถ้าเก็บได้มากพอเท่าที่คำนวณไว้ จะไปทำอย่างอื่นที่เป็นความสุข หรือเป็นประโยชน์แก่คนอื่นรอบข้างบ้าง ที่ต้องรีบเกษียณแต่อายุน้อยเพราะ กลัวมีเงิน มีเวลา แต่ไม่มีแรง ช่วงนี้ยังไหวต้องรีบตุนเก็บไว้ก่อนค่ะ

take care ka,
Petite Jazz
สวัสดีครับท่าน
P
มาขออนุญาติค้ดนำข้อความดีๆไปรวมในตะกอนนะครับ ขอบคุณมากครับ  http://gotoknow.org/blog/mrschuai/102160

เหมือนการทบทวนตัวเอง ผมพลอยได้ทำตามไปด้วย

          ความจริงผมก็ทบทวนตัวเองอยู่ทุกวันเหมือนกันส่วนใหญ่ตอนเย็น ๆ ที่ขี่จักยานออกไป

          "กับดักชีวิต"  ครับ มันขังผมด้วยเหมือนกัน

           แต่ก็พยายามใช้เวลาให้มีความสุข แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย  หน้าที่หนึ่งคือการตอบแทนพ่อแม่ ก็เป็นกับดักอันหนึ่งที่ผมต้องกังวลกับเรื่องนี้บ่อย ๆ

           ก็ทิศทั้ง 6 นั่นล่ะครับ ก็กับดัก  ทั้งนั้น  ก็เป็นหน้าที่ของคนเราที่ต้องทำ

          ทำสิ่งที่ดีต่อตัวเราและดีต่อผู้อื่นด้วยดีกว่านะครับ  อย่าหนักเกินไปเลย

ดีใจที่ได้อ่านบันทึกความรู้สึกสดๆ ของอาจารย์ตุ้ม ...ได้พบกับแง่คิดเรื่องการใช้ชีวิตมากมายหลายแง่มุม ...เคยจำคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านสอนว่า "ร่างกายคือเครื่องมือที่เราใช้สื่อสารกับโลก เราต้องดูแลให้ดีๆ จะได้ใช้ไปได้นานๆ..." อาจารย์อย่าลืมดูแล อย่าลืม Take Care มันนะครับ

แต่ก่อนเรามักจะพูดกันติดปากว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" แต่พอเอาเข้าจริงๆ หลายๆ ครั้ง "กายก็เป็นนาย" ด้วยเหมือนกัน จะสังเกตได้ว่าถ้าร่างกายอ่อนแอไม่สบาย จิตใจก็พลอยเศร้าหมองไปด้วย

ผมเคยเปิด office ในบ้าน ช่วงที่รับงานเป็น Consultant ...รู้สึกว่าไม่ค่อยได้พัก เพราะไม่มีการแยกเวลางานกับเวลาพักผ่อนอย่างตัดขาด ผมว่าชีวิตคนเราต้องมีอะไรที่ก้าวออกจาก Routine (สิ่งที่จำเจ) บ้าง เป็นการสร้างสีสันให้กับชีวิต

ที่เขียนนี้แท้จริงแล้วไม่ได้กำลังให้คำแนะนำอะไรอาจารย์นะครับ เพียงแต่เกิดความรู้สึกร่วมก็เลยปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์ครับ ...ขอให้อาจารย์ดูแลรักษาสุขภาพนะครับ

P ขอบคุณนะคะอาจารย์น้องขจิต ใช่แล้ว...ไม่มีใครดูแลสุขภาพเราได้ดีที่สุดเท่ากับตัวของเราเอง...ช่วงเย็น ๆ ของบางวันพี่ก็ออก "กำลังกาย" ด้วยการเดินและขี่จักรยานค่ะ ส่วนการออก "กำลังใจ" ก็ใช้วิธีง่าย ๆ คือ การ "หยุดคิด" ค่ะ ช่วงก่อนนอนหรือตอนเช้า ๆ ก่อนมาทำงานก็ฝึกหยุดความคิดสัก 20-30 นาที และระหว่างทำงานก็จะพยายามแบ่งเวลาของแต่ละชั่วโมงสัก 4-5 นาทีเพื่อ "หยุดคิด"เช่นกันค่ะ ....สมองจะได้ไม่ล้าและใจจะได้มีพลังค่ะ
จะพยายามเตือนตัวเองให้ทำเป็น "กิจวัตร" ค่ะ
P Bonjour ...Petite Jazz ค่ะ
ขอบคุณสำหรับความห่วงใยนะคะ เช่นกันค่ะ...อยากให้คุณ Little Jazz แบ่งเวลาดูแลตัวเองด้วยนะคะ ...หลานที่เป็นหมอก็บอก...อาจารย์ขจิตก็บอก...ใคร ๆ ก็บอก...ไม่มีใครดูแลเราได้เท่ากับตัวเราเอง
งานที่ทำเป็นเพียงให้เรามีปัจจัยในการดำรงชีวิต แต่ไม่ได้ทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์...ต้องหมั่น "เตือนตัวเอง" เช่นนี้บ่อย ๆค่ะ
คุณ Little Jazz ไม่ต้องรอให้มีเงินมาก ๆ แล้วค่อยไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์หรอกนะคะ เพราะตัวเองคิดว่าสิ่งที่คุณ Little Jazz ทำอยู่นี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่แล้วค่ะ ที่สำคัญหากงานนั้นเป็น "สัมมาอาชีวะ" ก็จะทำให้ทั้งผู้ทำงานคือเรา และผู้ที่ได้รับผลจากการทำงานของเรามี "ความสุข" ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณสิทธิรักษ์

ยินดีเสมอค่ะ หากสิ่งที่คิดและถ่ายทอดจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้างค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียนโดยตลอดนะคะ

P ขอบคุณคุณสุมิตรชัยมากค่ะสำหรับคำพูดนี้
 ทำสิ่งที่ดีต่อตัวเราและดีต่อผู้อื่นด้วยดีกว่านะครับ  อย่าหนักเกินไปเลย
ทุกวันนี้ก็ปฏิบัติตามหลักของ "สิงคาลกสูตร" ที่กล่าวถึงทิศทั้งหกและหน้าที่ที่เราต้องมีต่อทิศทั้งหกนั้นเช่นกันค่ะ...
การดูแลคุณพ่อคุณแม่ซึ่งถือว่าเป็น "พระอรหันต์" ของลูกนั้นเป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ คุณสุมิตรชัยทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้วค่ะ ขอเพียงแต่ให้ทำโดยพยายามตัดสิ่งที่เป็น "ความกังวล" ออกนะคะ... ใจจะได้ใส ๆ และจะได้มี "พลัง" มาก ๆ ค่ะ ...ขออนุโมทนาบุญกับคุณสุมิตรชัยด้วยนะคะ
P สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ดร.ประพนธ์
ดีใจมากค่ะที่อาจารย์เข้ามาทักทายและขอบคุณมากสำหรับคำแนะนำนะคะ แม้อาจารย์จะออกตัวว่าไม่ได้แนะนำ แต่อ่านสิ่งที่อาจารย์เขียนแล้ว...ใช่เลยค่ะ...ไม่มีการแยกเวลางานกับเวลาพักผ่อนอย่างเด็ดขาด...จะพยายามมี "วินัย" ในการใช้เวลาของชีวิตให้มากขึ้นค่ะ ที่สำคัญต้องเรียนรู้ที่จะ "Just Say NO" คือนอกจากจะ "เกรงใจผู้อืน" แล้ว คงต้องฝึกการ "เกรงใจตัวเอง" ด้วยค่ะ
ขอให้อาจารย์ดูแลสุขภาพด้วยเช่นกันนะคะ อย่างที่เคยบอกอาจารย์... พวกเราหลายคนเป็น "แฟนพันธุ์แท้" ของอาจารย์ค่ะ  สิ่งที่อาจารย์ทำอยู่เป็นประโยชน์มากสำหรับบ้านเราค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ทิพวัลย์ พีหายไปนาน คิดถึงอยู่เสมอไม่ได้มาเยี่ยม มาเยือนนานแล้ว

เพิ่งจะเขียนต้นฉบับหนังสือเสร็จวันนี้เองค่ะ ความที่ไม่ใช่นักเขียนอาชีพและสูงวัยทำให้คิดช้า เขียนด้วยมือด้วยเพราะพิมพ์ภาษาไทยช้ามากๆๆๆๆๆ ระหว่างเขียนไม่อยากเข้ามาในบล็อก เพราะจะอดไม่ได้ต้องอ่าน ต้องเขียน แล้วจะกลับมาbuildอารมณ์ในเรื่องที่กำลังเขียนยาก หากไม่ใช่เขียนหนังสือ คือทำงานอื่นๆพอเริ่มเหนื่อยหรือเบื่อเข้ามาในบล็อกจะพบเรื่องดีๆมากมายเป็นการเติมพลังอย่างหนึ่ง

บอกหลายๆคนไปว่าหายไปเพราะการปฏิบัติธรรมผ่านการเขียนหนังสือ ก็ตามที่ท่านพุทธทาสท่านเทศนาไว้ว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ใช่มั้ยคะ

ดีค่ะที่อาจารย์คิดว่าต้องพัก ต้องให้เวลาตนเองบ้าง แหม บอกตั้งหลายครั้งให้มาพักผ่อนที่อยุธยาบ้าง ใกล้แค่นี้เอง จะทำอาหารจากธรรมชาติให้ทานบำรุงสุขภาพ สงสัยต้องเขียนเล่าอะไรๆที่น่าสนใจให้อยากมามากขึ้น จะได้มาซะทีนะคะ

  • ตามท่านอาจารย์คนเมืองกาญจน์ข้างบนมาครับ
  • มาทักทายว่าอาจารย์สบายดีไหมครับ
  • วันก่อน พบชายหนุ่ม ปฐพี ใน gotoknow
  • ท่านไปที่วังน้ำเขียวมาครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท